[dropcap letter=”ลู”]คา พาวลินี (Katusha) ไม่ใช่คนที่เราเห็นบนยอดโพเดี้ยมได้บ่อยนัก ว่ากันตามตรง ครั้งล่าสุดที่เขามีผลงาน Top 3 ต้องย้อนกลับไปเกือบสองปี ในสเตจ 3 Giro d’Italia ที่เขาได้แชมป์จากการดิ่งลงเขา แล้วเบรคอเวย์หนีคู่แข่งท่ามกลางสายฝน เช่นเดียวกับในสนาม Ghent-Wevelgem สนามคลาสสิครายการใหญ่ในเบลเยี่ยมเมื่อคืนนี้ ที่เขากระชากหนีกลุ่มในจังหวะที่ทุกคนลังเล เข้าเส้นชัยนำห่างตัวเต็งจาก Quickstep และ Sky ร่วม 11 วินาที
ด้วยอายุ 38 ปี พาวลินีไม่ใช่คนที่แกร่งที่สุดในบรรดาตัวเต็งที่เบรคอเวยย์ออกมาด้วยกัน แต่เขาคือคนที่ฉลาดที่สุดในกลุ่ม ซึ่งมันทำให้ชัยชนะของเขายิ่งน่าประทับใจครับ เชื่อว่าคนที่ชมสนามคลาสสิคบ่อยๆ คงเห็นเขาอยู่ในกลุ่มตัวเต็งตลอด คอยชงเกมให้เอซสปรินเตอร์ของทีม อเล็กซานเดอร์ คริสทอฟ โดยเฉพาะในสนามซานเรโมปี 2014 ที่เขาพาคริสทอฟเปิดสปรินต์ได้สมบูรณ์แบบ
The 2015 Ghent-Wevelgem
Ghent-Wevelgem อาจจะขึ้นชื่อว่าเป็นสนามคลาสสิคสำหรับสปรินเตอร์ แต่ไม่ใช่เมื่อคืนนี้แน่นอน ระยะทางกว่า 240 กิโลเมตร กับสภาพอากาศฝนตก ลมแรง อุณหภูมิประจำวันสูงสุดแค่ 11 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ตัวเต็งและนักปั่นหลายคนล้มบาดเจ็บกันหลายคนทีเดียว
ผ่านไปแค่ 71 กิโลเมตร ทีมตัวเต็ง Etixx-Quickstep ก็เสียท่าเมื่อมาร์ค คาเวนดิช ลื่นล้มถึงสองครั้ง ตามด้วยยางรั่วอีกหนึ่งครั้ง ชเน็ค สตีบมาร์ก็ยางรั่วกลางทางเช่นกันจนไล่เข้ากลุ่ม peloton ไม่ทัน ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมจบรายการมีคนแข่งจบแค่ 39 คนเท่านั้น (จาก 248 คน)
The Breakaway
กิโลเมตรที่ 150 peloton เร่งปีนขึ้นเนิน Kemmelberg เนินยุทธศาสตร์สำคัญของสนาม เป็นจังหวะที่ LottoNL ส่งมาร์ติน ทาลิงกี้ออกหนีกลุ่ม อีกไม่กี่กิโลเมตรถัดมา Lotto-Soudal ส่งเอซของทีม เยอร์เกน โรแลนท์หนีกลุ่มด้วยเช่นกัน เพียงไม่กี่กิโลเมตร โรแลนท์ขึ้นแซงทาลิงกี้
เมื่ออดีตอันดับสาม Tour of Flanders (ที่คุณอาจจะไม่รู้จัก — โรแลนท์เป็นคนเอซคลาสสิคของทีม Lotto-Soudal มาตลอดครับ) หนีเดี่ยวออกไปได้ห่างเกือบครึ่งนาที กลุ่มข้างหลังเริ่มเดือดร้อน สไตน์ แวนเดนเบิร์ก (EQS) ออกไล่ตามเป็นคนแรก ตามมาด้วยเกอเรนท์ โทมัส (Sky), เซป ฟานมาร์ค (LottoNL), ลูคา พาวลินี (Katusha), นิกี้ เทิร์ปสตรา (EQS), แดนเนียล ออส (BMC) ปิดท้ายด้วยแชมป์เสือหมอบเบลเยียม เยนส์ เดอบูเชียร์ (Lotto-Soudal) กลุ่มทำงานด้วยกันแข็งขัน จนทิ้งห่าง peloton ร่วม 6 นาที ชัดเจนว่าผู้ชนะจะมาจากกลุ่มตัวเต็ง 7 คนด้านหน้านี้แน่นอน
50 กิโลเมตรสุดท้าย กลุ่มหนีพยายามกระชากกันหลายครั้งอาศัยจังหวะที่ลมแรงและถนนแคบ จนพาวลินีและออสหลุดกลุ่ม (แต่ก็ตามกลับมาได้อีกครั้ง) ขณะเดียวกัน เกอเรนท์ โทมัสลื่นล้ม (แต่ไม่เจ็บ เปลี่ยนจักรยานและตามเข้ากลุ่มได้สำเร็จ)
The Last 20k: แผนซ้อนแผนซ้อนแผน
ถ้าคุณอยากรู้ว่าสนามคลาสสิคสนุกยังไง ให้ดูที่ 20 กิโลเมตรสุดท้ายของรายการนี้ครับ
สถานการณ์: กลุ่มหนีนำ peloton 6 นาที ห่างพอที่จะลองเชิงกันได้โดยไม่เสียความเร็วมาก ฝนยังคงตก ลมยังคงแรง อากาศยังคงหนาว นักปั่นแบกภาระระยะทางเกิน 220 กิโลเมตรมาแล้ว แต่เส้นยังห่างไปอีก 20 กิโลเมตร
EQS เป็นทีมที่รับภาระเยอะที่สุดเพราะมีนักปั่นสองคน เทิร์ปสตรา และแวนเดนเบิร์ก ทั้งคู่ไม่ใช่สปรินเตอร์ แวนเดนเบิร์กเสียพลังไปมากจากการหนีกลุ่ม peloton เป็นคนแรก
เกอเรนท์ โทมัส (Sky) เป็นตัวอันตรายเพราะฟอร์มน่าจะดีที่สุดในบรรดานักแข่งคลาสสิคตอนนนี้
ฟานมาร์ค (Lotto) และพาวลินี (Katusha) ดูเหนื่อยและออกอาการหลุดกลุ่มนำให้เห็นเป็นบางครั้ง ส่วนเดอบูเชียร์ (Lotto-Soudal) ที่ตามหมกกลุ่มมาตลอดน่าจะเหนื่อยน้อยที่สุดในกลุ่มนี้
ด้วยสถานการณ์แบบนี้ชัดเจนว่าคงไม่มีใครอยากรอวัดดวงสปรินต์พร้อมกันที่หน้าเส้นชัย นิกี้ เทิรป์สตราเปิดหนีเป็นคนแรก พาวลินีไล่ประกบ ด้านหลังโทมัส พานักปั่นที่เหลือเร่งไล่ตาม สุดท้ายทุกคนกลับเข้ากลุ่มพร้อมกันหมด การผลัดโจมตีของกลุ่มตัวเต็งทำให้โรแลนท์ที่นำอยู่โดนรวบที่ 17 กิโลเมตรหน้าเส้นชัย
ถึง Lotto-Soudal จะมีนักปั่นสองคน และเดอบูเชียร์แทบไม่ได้ผลัดลากเลยตลอด 30 กิโลเมตรที่ผ่านมา แต่เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่วันของทีมเจ้าถิ่นครับ เพราะทั้งเดอบูเชียร์และโรแลนท์ไล่ตามปิดการกระชากหนีของคนอื่นไม่ได้เลย
The Final
เหลืออีกไม่ถึง 8 กิโลเมตรสถานการณ์ยิ่งแย่ลงกว่าเดิมเมื่อไม่มีตัวเต็งคนไหนอยากจะออกแรงหนี ทุกคนมองหน้ากันคอยระแวงการโจมตีครั้งต่อไปของคู่แข่ง Quickstep ยังเหลือสองคน โทมัสยังดูแกร่งกว่าเพื่อน 6.5 กิโลเมตรสุดท้าย พาวลินีตัดสินใจ (แอบ) โจมตีกลุ่มเร่งหนีจนได้ระยะห่าง ด้านหลังทุกคนเกี่ยงไม่มีใครขึ้นไล่เขา จนทิ้งระยะห่างได้ร่วม 15 วินาที กว่าเทิร์ปสตราและโทมัสจะขึ้นไล่ก็สายเกินไป ทั้งคู่ทำได้แค่เก็บอันดับโพเดี้ยม ในขณะที่พาวลินีเก็บผลงานที่ดีที่สุดในอาชีพการปั่นของเขาได้สำเร็จ ราวกับรู้ตัวว่าเขาไม่ได้ชนะด้วยความแกร่ง แต่ด้วยสมองและประสบการณ์ ก่อนเข้าเส้นชัยเขาชี้มือไปที่ศีรษะ มืออีกข้างชี้ไปที่หน้าบนโลโก้เสื้อทีม Katusha
วิดีโอไฮไลท์
The Takeaway
ชัยชนะของพาวลินี ในแว่บแรกอาจจะดูคาดไม่ถึง แต่สำหรับแฟนสนามคลาสสิค ถือว่าไม่น่าแปลกใจครับ ชายหนวดคนนี้เคยขึ้นโพเดียม San Remo และ Tour of Flanders มาแล้ว กับประสบการณ์การแข่ง 15 ปี ขึ้นชื่อว่าเป็นคนที่อ่านเกมการแข่งขันได้ขาดที่สุดคนหนึ่ง จนได้รับหน้าที่ให้เป็น Road Captain ของทีม Katusha (ช่วยทีมวางแผนระหว่างแข่ง)
ปกติเราเห็นพาวลินีชงเกมให้คริสทอฟบ่อยๆ วันนี้ได้เห็นวิธีแข่งของเขาจริงๆ นับว่าไม่ธรรมดาครับ ตอนแรกก็หลุดกลุ่มหนีบ้างดูแรงตก แต่ก็ไล่กลับมาทัน ตอนที่เทิรป์สตราหนี (ซึ่งผมคิดว่าเป็นจุดตัดสินเกมได้เลย) พาวลินีเป็นคนเดียวที่ไล่จับ และจังหวะสุดท้ายที่แกหันมามองกลุ่มหลายครั้ง น่าจะอ่านออกว่าเป็นจังหวะที่ดีที่คนเกี่ยงกัน จุดเด็ดคือ จังหวะที่แกเร่ง แกนั่งเร่งรอบ ไม่ได้ยกสปรินต์ หลายคนคงชะล่าใจ อาจจะคิดว่าพาวลินีคงหนีไม่รอด
ผมว่า EQS คงคิดถึงโบเน็น ปัญหาของทีมตอนนี้ดูจะไม่ใช่พละกำลัง แต่ดูจะเป็นแผนการมากกว่า เป็นอีกครั้งที่ทีมมีนักปั่นมากกว่า แต่ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ แผนของทีมดูยังไม่เด็ดขาด จังหวะที่คนอื่นหนี ทั้งเทิร์ปสตราและแวนเดนเบิร์กผลัดกันไล่เก็บ ซึ่งถ้าปล่อยให้แวนเดนเบิร์กเป็นคนไล่คนเดียว ก็น่าจะช่วยเทิร์ปสตราเก็บแรงไว้ใช้เวลาที่จำเป็นจริงๆ ได้ ยังไม่รวมเรื่องความซวย ทั้งแวนเดนเบิร์กและเทิร์ปสตราจักรยานมีปัญหาช่วงกิโลเมตรสุดท้าย (ไม่ใช่ยางรั่ว) ซึ่งก็ต้องเสียแรงไล่กลับเข้ากลุ่มอีก
ฟานมาร์คเองก็ยังดูแกร่งเหมือนกับทุกสนาม แต่ท่าทางปีนี้โชคจะยังไม่เข้าข้างครับ เขาหลุดกลุ่มนำหลายครั้ง จนต้องไล่เข้าอยู่คนเดียว ไม่ต่างอะไรกับใน Strade Bianche และ E3 ส่วนโทมัสเองก็ดูฟอร์มดี ครั้งนี้แพ้กึ๋นพาวลินีจริงๆ
กลายเป็นว่ากลุ่มเบรคอเวย์ที่ตัดสินการแข่งขันครั้งนี้ไม่มีตัวเต็งสปรินเตอร์เลย ซากาน, คริสทอฟ, โบซซันฮาเก็น หายกันหมด แต่นี่คือสเน่ห์ของสนามคลาสสิคครับ คุณอาจจะฟอร์มดีพร้อมแข่ง แต่ถ้าเจอกับสภาพอากาศแบบใน Ghent-Wevelgem อะไรก็เกิดขึ้นได้จริงๆ
สัปดาห์นี้มีแข่ง 3 Days of De Panne สนามคลาสสิค 3 วันช่วงกลางสัปดาห์( 31 มีค — 2 เมษา) สำหรับสปรินเตอร์ ก่อนที่จะเริ่มแข่งรายการใหญ่ Tour of Flanders วันอาทิตย์นี้ครับ