อยู่อย่างยักษ์

“We are the stories we tell ourselves.”

เคยได้ยินประโยคนี้มั้ยครับ “ชีวิตของเรานิยามด้วยเรื่องราวที่เราบอกกล่าวแก่ตัวเอง”

วิธีคิดของมนุษย์ คือคิดเป็นเรื่อง เป็นสตอรี่

“เช้านี้ตื่นแล้ว เดี๋ยวลงไปทานข้าวดีกว่า เสร็จแล้วอาบน้ำ แต่งตัว ออกไปทำงานนะ ต้องเจอกับพี่คนนี้ ลูกค้าคนนี้ เดี๋ยวจะคุยด้วยวิธีนี้ เจรจาแบบนี้นะ เสร็จแล้วเย็นนี้ไปตีแบดกับน้องคนนี้ แล้วก็จะไปดื่มต่อที่ซอยนั้น”

เราอยู่ด้วยเรื่องราว
เราเชื่อเรื่องราวที่เราบอกตัวเอง
เรื่องราวเหล่านั้นจำกัดความเป็นตัวเรา
แม้แต่ของที่เราจับจ่าย เลือกหามาใช้ก็เช่นกัน
น้อยคนที่จะซื้อของเพราะอรรถประโยชน์ของสิ่งของจริงๆ
เพราะถ้าเราเลือกใช้ของสินค้าตามอรรถประโยชน์ ทุนนิยมคงไม่เกิดขึ้น โลกเราคงไม่เดินทางมาอย่างที่เราเห็นและเป็นอยู่ในตอนนี้

แม้แต่ในสิ่งของที่เราซื้อก็มีเรื่องราว “น้ำยาล้างห้องน้ำอันนี้อยู่ในโฆษณานี่นา น่าซื้อกว่าอีกแบรนด์ที่วางอยู่ข้างๆ นะ”​

“ก๋วยเตี๋ยวร้านนี้ดารามากินเยอะ สงสัยจะอร่อย”
“จักรยานยี่ห้อนี้ได้แชมป์ตูร์เดอฟรองซ์เลยนะ”
“รถยนต์คันนี้ผลิตในอิตาลี”​
“ทีมนี้ชนะพรีเมียร์ลีกหลายสมัย เราเป็นแฟนทีมนี้แหละ”
“นักบอลคนนี้ชีวิตดราม่า เราชอบ underdog เชียร์คนนี้แหละ”

มันคือเรื่องราวของสินค้าที่เราบอกตัวเอง
มันสร้างความต่าง หรือความเหมือน ทั้งคู่ทำให้เราสบายใจ
ให้เรารู้สึกมีคุณค่าจากเรื่องราวที่มันถ่ายทอดออกมา
เพราะเมื่อเราใช้มัน คุณค่าที่เรา assign ให้มันก็ถ่ายทอดผ่านทางตัวเราด้วย
เราเลือกหยิบเอาเรื่องราวในสิ่งที่อยู่รอบตัวมานิยามตัวเรา

ตอนที่ขี่ Giant TCR รุ่นรองคันนี้ กับล้อ Mavic Aksium กากๆ ผมตกใจ
เพราะแม่มมันดีมาก นุ่ม พุ่ง ไหล นี่มันอะไรกัน รถคันละสี่ห้าหมื่นมันทำแบบนี้ได้ด้วยเหรอ
ส่วนผสมมันลงตัวไปหมด นี่ขนาดล้อและยางธรรมดาๆ ยังขี่ดีกว่ารถคันละแสนเกือบทั้งตลาด ไม่ได้โม้ และไม่ได้อวย นี่เสียค่าแทกซี่ไปลองฟรีๆ ไปกลับ 800 บาท โดยที่คนให้ทดลองก็ไม่ได้สนใจอะไรเราขนาดนั้นด้วย เขามาขายรถให้ดีลเลอร์มากกว่า (แอบบ่น)

แต่มันคือ Giant…

และ Giant ก็คือ Giant

เช่นเดียวกับแบรนด์เอเชียอื่นๆ ที่ถึงจะมีวิศวกรรมที่ดีแค่ไหน ก็ยังไม่มีเรื่องราวที่ดีพอที่ผู้บริโภคหลายคนอยากจะหยิบมานิยามชีวิตของเขา
หลายคน “อัปเกรด” Giant TCR Advanced SL ตัวท็อป เพื่อไปจักรยานที่แพงกว่า และเรื่องราวสวยงามกว่า ไม่ใช่เพราะมันขี่ดีกว่า แต่มันเติมเต็มเรื่องราวในชีวิตเขาได้มากกว่า

Giant คงไม่สนใจ เพราะเขาเป็นผู้ผลิตจักรยานเบอร์หนึ่งของโลก แบรนด์อื่นๆ ที่เรื่องราวดีๆ นั้นก็ Giant นี่แหละเป็นโรงงานผลิตให้ คนจะซื้อชื่อ Giant หรือจะซื้อโครง Giant ในชื่ออื่น Giant ก็รับทุกด้าน

Branding คือทุกสิ่งทุกอย่าง

และ Giant คือบรรทัดฐานของวงการเรื่องประสิทธิภาพ เรื่องราวของ Giant อาจจะไม่หวือหวาน่าสนใจ แต่ด้วยความที่เขาเป็นเบอร์หนึ่งก็คงไม่เดือดร้อนอะไร แต่ถ้าคุณเป็นแบรนด์น้องใหม่อยากจะสร้างเรื่องราวที่คนจะผูกตัวเองเข้าไปได้นั้น…ก็สู้กันต่อไปครับ

ผลิตรถนั้นไม่ง่าย
แต่สร้างแบรนด์ที่จะทำให้คนรัก ก็ไม่ง่ายเหมือนกัน

 * * *

Sidenote: จริงๆ ใช่ว่า Giant ไม่มีแบรนด์หรือสตอรี่ที่แข็งแกร่งนะครับ ในทรรศนะของผม  Giant มีวัฒนธรรมทั้งภายในและภายนอกที่ตรึงใจหลายๆ คนครับ  แต่จะมาในแบบ asia / oriental สักหน่อยที่ไม่เน้นการตลาดใหญ่โต เน้นเรื่องความสัมพันธ์ของคน ความเรียบง่าย ไม่ต้องโอ่อ่าหรือโฆษณาคุณสมบัติอะไรมากมายนัก วิญญาณความเป็น Giant อาจจะสื่อได้จากวิดีโอข้างบนนี้ ที่คิง หลิว ผู้ก่อตั้งแบรนด์อายุ 80 ปียังคงออกปั่นรอบเกาะไต้หวันทุกปีเป็นระยะทางครั้งละเกือบหนึ่งพันกิโลเมตร

Giant มีแบรนด์ Loyalty สูงมากทีเดียว (ไม่งั้นคงก็ไม่ขายดีแบบนี้…) เพียงแค่ว่าสตอรี่ที่เขาเล่านั้นไม่ใช่เรื่องราวที่หวือหวาโฉ่งฉ่าง ไม่มีการเสกสรรปั้นแต่งให้ดูยิ่งใหย่อลังการ ซึ่งมันง่ายที่คนส่วนใหญ่จะนิยามตัวเองลงไปในจักรยานของ Giant ได้ (ลองนึกถึงจักรยานอย่าง Cipollini หรือ Storck ที่ดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่เด่นชัด แต่ไม่ได้ถูกใจทุกคนง่ายๆ)…

แน่นอนว่าความเป็นกระแสหลักของ Giant นั้นก็อาจจะไม่ดึงดูดคนที่หาความต่างในสินค้าที่เขาใช้สักเท่าไรเช่นกันครับ

เมื่อผู้ก่อตั้งจักรยาน Giant อายุ 80 ปีปั่นรอบไต้หวัน 966 กิโลเมตร

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *