รีวิว Paris-Roubaix ’19: ชัยชนะที่จะสร้างตำนานให้ฟิลลิป จิลแบร์

Photo: Tim De Waele / Getty Images

ในโลกนี้มีนักปั่นอาชีพแค่ 3 คนที่สามารถคว้าชัยชนะสนามแข่งวันเดียวระดับ Monument ได้ครบทั้ง 5 รายการ 3 คนที่ว่าคือ เอ็ดดี้ เมิร์กซ์, โรเจอร์ เดอ เวลมิงค์และริค แวน ลูย

นับจากนั้นมาก็ยังไม่มีใครทำได้อีกเลย การจะเก็บแชมป์รายการคลาสสิคให้ได้ครบทั้ง 5 รายการใหญ่มันยากขนาดนั้นเชียวหรือ?

ในยุคที่นักปั่นอาชีพกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเส้นทางแล้ว ต้องบอกว่ายากกว่าสมัยก่อนที่โปรยังสู้กันด้วยความถึกและความแรงล้วนๆ ครับ การมีนักปั่นที่ถนัดเส้นทางแบบเฉพาะทางก็หมายควมว่าคนที่เก่งรอบด้านอย่างเดียวยากที่จะเอาชนะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

ยกตัวอย่างง่ายๆ ทอม โบเน็นและเฟเบียน แคนเชอลารา เป็นผู้เชี่ยวชาญสนามคลาสสิคแบบถนนหิน ทั้งคู่เป็นแชมป์ Tour of Flanders และ Paris-Roubaix หลายสมัย แคนเชอลาราเคยได้แชมป์ Milan-San Remo ซึ่งไม่ใช่รายการถนนหิน แต่ก็เป็นรายการคลาสสิคระดับ Monument เช่นกัน

ทั้งคู่ไม่สามารถชนะครบทั้ง 5 รายการได้เลย เพราะอีก 2 รายการที่เหลือ (Liege-Bastogne-Liege และ Giro d’Lombardia) เป็นรายการที่ต้องปีนเขาเยอะ ไม่เหมาะกับนักปั่นตัวใหญ่อย่างทั้งสองคน

มันเลยทำให้ชัยชนะใน Paris-Roubaix ของฟิลลิป จิลแบร์ในปีนี้เป็นเรื่องที่น่านับถือมากๆ

ฟิลลิป จิลแบร์ (Deceuninck-QuickStep) เป็นนักปั่นคนเดียวในวงการอาชีพตอนนี้ที่ชนะสนามระดับ Monument ได้ถึง 4 รายการ

เขาขาดแชมป์แค่รายการเดียวคือ Milan-San Remo นั่นคือเขาผันตัวจากนักปั่นตัวเบา ที่ถนัดเกมแนวระเบิดเนินระยะสั้น มาเป็นนักปั่นล่าแชมป์รายการถนนหิน

การจะเป็นแชมป์รายการใหได้ทั้งสองประเภทนั้นเป็นเรื่องยากครับ เพราะสนามแต่ละประเภทอาศัยลักษณะทางกายภาพที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

ยุครุ่งเรืองของจิลแบร์ช่วงแรกคือระหว่างปี 2008-2011 โดยเฉพาะปี 2011 ที่เขากวาดแชมป์สนามคลาสสิคได้ 5 รายการในปีเดียว และปีถัดมา 2012 เขาได้แชมป์โลกจักรยานถนน

ระหว่างปี 2012-2016 ที่เขาย้ายไปอยู่กับทีม BMC จิลแบร์หลุดไปอยู่ในยุค “หลุมดำ” ที่เขาแทบไม่ชนะอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย จนในปี 2017 เขายอมลดค่าตัวและย้ายมาอยู่กับทีม Quickstep โดยตั้งเป้าหมายชีวิตใหม่ว่าจะคว้าแชมป์สนามคลาสสิค Monument ให้ได้ก่อนอำลาวงการ เขาให้สัมภาษณ์ไว้ประโยคนึงได้น่าสนใจมาก

“ตอนผมอยู่กับ BMC ก็พอเห็นว่าทีมพยายามจะคว้ารางวัลในสนามคลาสสิค แต่หัวใจของทีมมันอยู่ที่สเตจเรซ ซึ่งพวกเขาไม่เคยชนะเลย พวกเราชุดทีมที่แข่งสนามคลาสสิคก็เสียสละ ทุ่มเท แต่ไม่มีทางชนะ เพราะใจของทีมไม่ได้อยู่ที่สนามแข่งประเภทนี้ สุดท้ายผมถามตัวเองว่า เรากำลังทำอะไรอยู่วะ” 

“ผมมองไปที่ Quickstep ผมเห็นพวกเขาชนะ ชนะกันทั้งทีม ลงแข่งอย่างดุดันทุกรายการ…ทั้งชีวิตผม ทีม Quickstep เป็นเหมือนหนามยอกสีข้างเสมอ พวกเขาเป็น “ปัญหา” สำหรับผมในทุกรายการแข่งครับ จนผมคิดว่า ถ้าทีมนี้มันเป็นปัญหา ผมก็น่าจะไปอยู่กับพวกเขาเพื่อกำจัดปัญหาซะ!” 

และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้จิลแบร์เข้ามาอยู่กับทีม Quickstep ซึ่งเป็นทีมที่จุดไฟความกล้าของเขาให้กลับมาลุกโชนอีกครั้ง หลังจากที่มอดไปหลายปี

เข้าทีมมาปีแรก เขาก็สร้างผลงานใหญ่เลยทันที คุณน่าจะจำภาพนี้ได้

ฟิลลิป จิลแบร์หนีเดี่ยวใน Tour of Flanders ปี 2017 ร่วม 50 กิโลเมตรคนเดียว โดยมีเพื่อนร่วมทีมคอยคุมเกมข้างหลังให้ จนเขามีเวลานำห่างที่สองมากพอที่จะลงจอดหน้าเส้นชัย แล้วเดินชูจักรยานข้าม

Tour of Flanders ไม่ใช่รายการสำหรับนักปั่นตัวเพรียวบางสายระเบิดเนินอย่างจิลแบร์ แต่ภายในเวลาปีเดียว ด้วยเป้าหมายใหม่และฟอร์มการแข่งขันใหม่ เขาโชว์ความสามารถรอบด้านอย่างแท้จริงจนกลับมาชนะสนามที่ต้องการสมรรถภาพร่างกายต่างจากรายการอื่นๆ ที่เขาเคยชนะสมัยยังหนุ่ม

เป้าหมายของจิลแบร์เข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นอีกครั้ง เมื่อเขาเอาชนะนีลส์ โพลิท (Katusha-Alpecin) เมื่อคืนนี้ หลังจากหนีเข้ากลุ่มเบรกอเวย์ออกมาด้วยกันหลายสิบกิโลเมตร ก่อนจะสปรินต์แซงโพลิทท์ได้สำเร็จที่หน้าเส้นชัย

 

เกิดอะไรขึ้นใน Paris-Roubaix 2019

Photo: ASO

Paris-Roubaix ปีนี้เป็นไปตามที่เราคาดไว้ นั่นคือไม่มีตัวเต็งที่โดดเด่นชัดเจน ไม่มีเบรกอเวย์ไหนหนีได้สำเร็จในช่วงต้นเกม ไปเริ่มคึกคักกันจริงๆ ก็ช่วงถนนหิน แต่ก็ต้องรอจนถึง 67 กิโลเมตรสุดท้ายที่เริ่มบอกว่าใครแน่กว่าใครในสนามนี้

นีลส์ โพลิท (Katusha) ม้ามืดจาก Katusha ที่มีผลงานดีต่อเนื่องในรายการคลาสสิคปีนี้ เปิดเกมโจมตีหลังจุดรับอาหาร และเป็นจิลแบร์ที่ไล่ประกบเป็นคนแรก

ทั้งคู่หนีไปด้วยกัน มีเบรกอเวย์จากทีมอื่นขึ้นมาประกบบ้างประปราย แต่มาคัดตัวเต็งกันจริงๆ ที่ช่วงถนนหิน Mons-en-Pévèle ที่ 45 กิโลเมตรสุดท้าย ที่เหลือกลุ่มหนีแค่ 6 คนเท่านั้น ประกอบด้วย จิลแบร์, โพลิท, ซากาน (Bora-Hansgrohe), อีฟ แลมพาร์ท (Quickstep), เซป ฟานมาร์ค (EF) และเวาท์ แวน อาร์ท (Jumbo-Visma)

Bonus Point สำหรับ แวน อาร์ท ก่อนหน้าที่เขาจะมาทันกลุ่มเบรกอเวย์ตัวเต็งสุดท้าย เขาเปลี่ยนจักรยานหนึ่งครั้ง (หลุดกลุ่ม) ล้มคว่ำอีกหนึ่งครั้ง (หลุดกลุ่มรอบสอง) และตามไล่กลุ่มคนเดียวหลายสิบกิโลเมตร จนมาทันเปโลตองแล้วแซงขึ้นไปแปะกลุ่มหน้าสุดของจิลแบร์!

https://www.instagram.com/p/BwPMxWclYGF/

Quickstep ที่เป็นทีมเดียวในเบรกอเวย์ที่มีนักปั่นสองคน เปิดไพ่เป็นทีมแรกด้วยการส่งจิลแบร์กระแทกกลุ่มพยายามชิงหนีออกไปก่อนหลายครั้ง แต่ซากานขึ้นประกบทุกครั้ง

จังหวะนี้ดูเหมือนว่าซากานจะฟอร์มสดกว่าสนามอื่นๆ ที่เขาลงแข่งมา แต่กลับเป็นโพลิทที่เปิดบลัฟซากาน เมื่อเขาปั่นแซงกลุ่มหนีไปดื้อๆ คนเดียวบนช่วงถนนหินปลายการแข่งขัน ช็อตนี้มีแค่จิลแบร์ที่ตามมาสำเร็จ และเป็นจุดที่แวน อาร์ท (Jumbo-Visma) ต้องจ่ายดอกราคาแพง หลุดกลุ่มตัวเต็งไปอย่างน่าเสียดาย เพราะหมดแรงไปตั้งแต่ตอนไล่กลับเข้ากลุ่มหลังล้ม

Photo: ASO

และมันเป็นจังหวะเปลี่ยนเกมสำคัญ​ เพราะด้านหลังโพลิทและจิลแบร์ เหลือแค่ฟานมาร์ค ซากาน และแลมพาร์ท

ฟานมาร์คมีปัญหาเกียร์ค้าง พยายามขอเปลี่ยนจักรยาน แต่ก็ยังรั้งกลุ่มมา ส่วนแลมพาร์ทก็ถือการ์ด “ไม่ไล่ทีมตัวเองที่อยู่ข้างหน้า” ปล่อยภาระการไล่กลุ่มหน้าทั้งหมดให้เป็นของอดีตแชมป์โลก แน่นอนว่านักปั่นคนเดียวยากที่จะไล่คู่หน้าสองคนที่ช่วยเวียนกันนำอย่างต่อเนื่อง โอกาสป้องกันแชมป์ของซากานจบลงที่ตรงนี้ เมื่อคู่หน้าทำเวลาห่างออกไปได้เรื่อยๆ และเส้นชัยใกล้เข้ามาทุกทีๆ สุดท้ายซากานหมดพลัง และแลมพาร์ทขึ้นแซงไป

ด้านหน้ากลุ่ม ใกล้ถึงเส้นชัยเข้ามา จิลแบร์อยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบที่สุด เพราะเขาสามารถบังคับให้โพลิทขึ้นนำบ่อยครั้งกว่า จิลแบร์มีการ์ด “ทีมสั่งให้รอเพื่อนข้างหลัง” โพลิทเองถ้าไม่ลากนำ ก็เสี่ยงที่จะโดนแลมพาร์ท เพื่อนร่วมทีมจิลแบร์ขึ้นมาสมทบ กลายเป็น 2 รุม 1 ซึ่งเป็นเกมที่เขาไม่ต้องการ สู้พาจิลแบร์ไปดวลกันหน้าเส้นชัยในเวโลโดรม ยังมีลุ้นกว่า

ถึงหน้าเวโลโดรม ทั้งคู่หนีเข้ามาด้วยกัน จิลแบร์โดนบังคับให้ขึ้นขอบเวโลโดรมก่อน แต่เปิดจังหวะสปรินต์ก่อนที่โพลิทจะไหวตัวทัน แซงเข้าเส้นชัยคว้าแชมป์รายการได้สำเร็จ

อีฟ แลมพาร์ทตามเข้ามาเป็นอันดับ 3, เซป ฟานมาร์คได้ที่ 4, ซากานได้ที่ 5

ชัยชนะครั้งนี้ทำให้จิลแบร์ชนะสนามคลาสสิคระดับ Monument ไปแล้ว 4 รายการ ความฝันที่จะเป็นชายคนที่ 4 ในโลกที่เก็บครบทั้ง 5 สนามก็ใกล้เข้ามาอีกนิด

ผลการแข่งขัน

วิดีโอไฮไลท์

 

สรุป

Photo: Tim de Waele / Getty Images

ผมว่าปีนี้เป็น Roubaix ที่สนุกมากๆ อีกปีหนึ่งครับ เป็นรายการที่วุ่นวายอลหม่านเหมือนเดิม นักปั่นหลายคนแพ้เพราะโชค (แวน อาร์ท) อีกหลายคนก็แพ้เพราะจังหวะ (แวน เอเวอร์มาร์?) บ้างก็เสียท่าเพราะอุปกรณ์ (แวน มาร์ค)  อีกหลายคนก็หมดแรงเอาเสียดื้อๆ (ซากาน)

ทั้งหมดนี้ก็ยังพิสูจน์ว่าจะชนะ Roubaix ได้ก็ต้องแข็งแกร่งจริงๆ และโชคดีจริงๆ

Photo: ASO

ชัยชนะของจิลแบร์มาจากความแกร่งของเขา แต่ขณะเดียวกันก็มาจากทีมด้วย การที่จิลแบร์มีแลมพาร์ทช่วยในช่วงสุดท้ายเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เขาได้แชมป์ (ในความคิดผม) เพราะมันเปิดโอกาสให้ทีม Quickstep เล่นเกมได้หลายแบบกว่าทีมอื่นๆ ทั้งยิงก่อนบังคับทีมอื่นไล่ หรือหนีหลุดไปแล้ว ถ่วงทีมอื่นให้ไล่เพื่อนไม่สำเร็จ และสุดท้ายคือ บังคับให้คนที่หนีไปกับเพื่อนข้างหน้าต้องลากมากกว่าเพื่อนตัวเอง

การที่แลมพาร์ทรออยู่ในกลุ่มซากานเป็นแรงกดดันมหาศาลให้โพลิท เขาไม่มีสิทธิเกี่ยงบ่นว่าจิลแบร์ไม่ลาก ยิ่งจังหวะนั้นซากานหมดก็อกไปแล้ว และฟานมาร์คก็รถพัง ยิ่งโพลิทรอเท่าไร ก็ยิ่งมีสิทธิโดนรุมหน้าเส้นชัยมากขึ้นเท่านั้น

พอเห็นแบบนี้แล้ว การที่จิลแบร์ตัดสินใจ เข้ามาอยู่กับทีมที่เป็น “ปัญหา” ให้เขาทั้งชีวิตนั้นคงเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุด เพราะชัยชนะใน Tour of Flanders และ Paris-Roubaix ของเขาจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากทีมครับ

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *