Giro 2018: วิเคราะห์เส้นทางและ 7 สเตจที่ไม่ควรพลาด

ในที่สุดเราก็มาถึงการแข่งขันแกรนด์ทัวร์รายการแรกของปี กับสนาม Giro d’Italia (Tour of Italy) ประจำปี 2018 สนามแข่งจักรยานทางไกลสามสัปดาห์ที่ขึ้นชื่อว่าสนุกตื่นเต้นและเส้นทางงดงามที่สุดในบรรดาแกรนด์ทัวร์ทั้งสามรายการครับ

Giro ปีนี้มีอะไรน่าสนใจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสามสเตจแรกที่ไปแข่งกันในอิสราเอล และที่คริส ฟรูม (Sky) จะเจอกับทอม ดูโมลาน (Sunweb) เป็นครั้งแรก ยังไม่รวมคดีการใช้ยาแก้ภูมิแพ้ของฟรูมที่ยังไม่คลี่คลายและมีสิทธิออกจากการแข่งขันกลางคัน

แต่โพสต์นี้เราจะยังไม่พูดถึงนักปั่น เราจะดูเส้นทางการแข่งขันกันก่อนครับ สเตจไหนน่าสนใจ? สเตจ Time Trial มีทั้งหมดกี่ครั้ง? เส้นชัยบนยอดเขาเยอะขนาดไหน? และสเตจไหนบ้างที่ไม่ควรพลาด?

กำหนดการแข่งขันและเวลาถ่ายทอดสด

เช็ควันเวลาแข่งขัน สภาพเส้นทาง และเวลาถ่ายทอดสด (ผ่านช่อง Eurosport หรือลิงก์สตรีมมิงออนไลน์ที่ Duckingtiger.com/live) ได้ที่ตารางข้างล่างนี้ครับ

สเตจที่มีเลขสีแดงนำหน้าคือสเตจที่ไม่ควรพลาด

เส้นทาง Giro 2018

giro 2018 big route

อย่างที่ทราบกันดัน Giro d’Italia ปีนี้มีความพิเศษตรงที่ยก 3 สเตจแรกไปเริ่มแข่งขันกันในประเทศอิสราเอลครับ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เลยที่ผู้จัดแกรนด์ทัวร์มาจัดนอกทวีปยุโรป เรื่องการเมืองและความเหมาะสมจะเป็นยังไงนั้นก็ขอไม่พูดดีกว่า เอาเป็นว่าเราสนใจแต่เรื่องการแข่งขันละกันนะ

giro 2018 route

ภาพรวมเส้นทางเป็นยังไง?

รูปข้างบนนี้คือโปรไฟล์สเตจ 1-21 ครับ สีเหลืองคือสเตจจับเวลาเดี่ยว (ปีนี้ไม่มี Team Time Trial) จะเห็นว่าเส้นทางค่อนข้างบาลานซ์ดีนะครับ สเตจจับเวลาไม่ยาวมาก แต่มีสองครั้ง และสเตจภูเขาก็ไม่ได้เน้นเค้นจนสาย TT จะคุมเกมไม่อยู่

แต่ละสัปดาห์​จะเริ่มด้วยทางราบและเนิน แล้วไปอัดแน่นด้วยสเตจภูเขาในช่วงสุดสัปดาห์ ยกเว้น week 3 ที่เป็นสเตจภูเขาเกือบทั้งสัปดาห์เลย แต่ที่น่าสังเกตคือสเตจทางราบมีน้อยมาก ทำให้สปรินเตอร์ชื่อดังหลายคนไม่มาลงแข่งครับ

จุดเด่นของ Giro d’Italia คือความไม่แน่ไม่นอนและคาดเดายากเมื่อเทียบกับ Tour de France นั่นก็เพราะมันเป็นแกรนด์ทัวร์รายการแรกของปีที่ตัวเต็งทุกประเภทยังไม่ชัวร์กับฟอร์มตัวเองหรือคู่แข่ง สไตล์การแข่งขันของ Giro จึงจะมีความอลหม่านกว่ารายการอื่นๆ อยู่ไม่น้อย แต่มันก็ทำให้ชมได้สนุกและน่าติดตามทุกวันครับ ยิ่งมีสเตจทางราบน้อยแบบนี้แล้ว วันที่ไม่ใช่สเตจภูเขา เราน่าจะได้เห็นนักปั่นที่เราไม่รู้จักมาก่อน มาจากทีมเล็ก หรือเป็นม้ามืดมีบทบาทมากขึ้น ไม่ได้ถูกกลบด้วยสปรินเตอร์และนักไต่เขาเกรด AAA เหมือนใน Tour de France

7 สเตจที่ไม่ควรพลาด

จริงๆ แล้วแกรนด์ทัวร์นี่ก็ปกติสนุกแทบทุกสเตจ ยิ่งใน Giro ปีนี้ที่เส้นทางแต่ละวันมีเนินชันผสมเยอะ ไม่ค่อยมีสเตจทางราบแบบราบเรียบ เกมก็น่าจะดูได้สนุกทุกวัน แต่ก็ใช่เวลาทุกคนจะมีเวลานั่งเฝ้าหน้าทีวีครับ DT เลยขอแนะนำห้าสเตจที่น่าลุ้นจริงๆ ดีกว่า

1. สเตจ 6, พฤหัส 10 พ.ค. – Mount Etna 

Stage 6

Giro เป็นแกรนด์ทัวร์เดียวที่ชอบเอาภูเขาสูงชันมาไว้ในสัปดาห์แรก และปีนี้ก็ยังคงเอกลักษณ์ครับ จับภูเขายาว 15 กิโลเมตรชันเฉลี่ย 6.5% ไว้ตั้งแต่สเตจที่ 6 ดูเส้นทางเผินๆ แล้วช่วง 40 กิโลเมตรสุดท้ายนี่เป็นการปั่นขึ้นตลอดเวลาไปจนถึงเส้นชัย

Etana

Etna นั้นเป็นภูเขาไฟที่ยังคุกกรุ่นอยู่ และมันจะเป็นสเตจที่สะท้อนว่าตัวเต็งคนไหนฟอร์มคุกกรุ่นเหมือนภูเขาไฟที่พร้อมจะปะทุ สเตจ 1 ที่เป็น time trial 10 กิโลเมตรอาจจะพอบอกฟอร์มตัวเต็งได้บ้าง แต่ไม่ชัดเจนเท่าสเตจ 6 นี้แน่นอนครับ

ในจิโรปีที่แล้วภูเขา Etna ก็ถูกใช้ในสัปดาห์แรกของรายการเช่นกัน ปีนี้ก็ใช้ซ้ำอีก แต่ขึ้นจากคนละด้านกัน การขึ้นจากฝั่ง Nicolosi ในปีที่แล้วเจอลมสวนเต็ม ๆ ทำให้กลุ่มตัวเต็งยิงกันไม่ขาด เข้าเส้นแทบจะพร้อมกันหมด ก็หวังว่าปีนี้เปลี่ยนมาขึ้นจากฝั่ง Regalna แล้ว จะมีลมส่งและยิงกันสะบัดครับ !

2. สเตจ 9, อาทิตย์ 13 พ.ค. – Campo Imperatore 

Stage 9

ภูเขา Campo Imperatore รู้จักันในอีกชื่อหนึ่งว่า “ทิเบตแห่งอิตาลี” เป็นเขตภูเขาโล้นสูงชัน ลมแรง ปีนเขาตลอดทั้งวันโดยเฉพาะช่วง 47 กิโลเมตรสุดท้ายที่เป็นการขึ้นเขาทั้งหมด เรียกได้ว่าโคตรมาราธอนครับ ยิ่งถ้าสภาพอากาศแปรปรวนด้วยแล้วสเตจนี้คงอลังมากๆ

Campo Imparatore

ถ้าสเตจ Etna เค้นฟอร์มตัวเต็งได้ไม่หมด สเตจนี้รับรองว่าอันดับเวลารวมจะเริ่มเห็นผลต่างชัดแน่นอน

3. สเตจ 11, พุธ 16 พ.ค. – Osimo

Stage 11

สเตจนี้ดูโปรไฟล์เผินๆ อาจจะไม่ตื่นตาตื่นใจเท่าไร แต่ช่วงห้ากิโลเมตรสุดท้ายเป็นเนินชันเฉลี่ย 11% และเป็นถนนหิน pave โปรไฟล์เส้นทางเหมาะกับพวก classic specialist ซัดกันหน้าเนินครับ

4. สเตจ 14, เสาร์ 19 พ.ค. – Monte Zoncolan

Stage 14

ถ้าจะบอกว่านี่เป็นสเตจภูเขาที่ทรมานนักปั่นที่สุดก็คงไม่ผิด Monte Zoncolan เขาลูกสุดท้ายของสเตจนี้ยาว 10 กิโลเมตร แต่ความชันเฉลี่ยมากถึง 12% จัดเป็นหนึ่งในเขาที่ยากที่สุดสำหรับนักปั่นในยุโรปครับ ถ้าอยากจะเห็นตัวเต็งทำเวลาห่างกันก็ต้องสเตจนี้แหละ ครั้งสุดท้ายที่ Giro เวียนมาขึ้นเขาลูกนี้ นักปั่น 21 คนแรกมีเวลาห่างกันถึง 5 นาที – มากพอจะเสียแชมป์หรือหลุด top 10 กันได้ง่ายๆ เลย

5. สเตจ 16, อังคาร 22 พ.ค. – Rovereto (Time Trial) 

Stage 16

สเตจ Time Trial ที่สองของรายการนี้ กับระยะทาง 34 กิโลเมตร ซึ่งต้องบอกว่ายาวใช้ได้เลย ตัวเต็ง GC ที่ปั่น TT ดีๆ อย่างฟรูม หรือดูโมลาน น่าจะทำเวลานำนักไต่เขาได้ 90-120 วินาทีเป็นอย่างน้อยๆ เป็นสเตจที่จะมีผลต่ออันดับโพเดี้ยมวันสุดท้ายแน่นอน

6. สเตจ 19, ศุกร์ 25 พ.ค. – Jafferau

Stage 19

อีกหนึ่งสเตจที่ยากไม่แพ้ Monte Zoncolan ไม่ใช่ขึ้นเขาอย่างเดียว แต่มีทางลงที่มากพอๆ กันรีดสกิลตัวเต็งกันเต็มที่ พร้อมเปิดโอกาสให้โจมตีกันได้หลายครั้ง ว่าตามตรงเขาแบบลูกเดียวยาวๆ ยากๆ ชันมักจะดึงเกมให้อืด เพราะตัวเต็งรอโจมตีกันที่ใกล้ๆ เส้นชัย แต่เขายาวๆ แบบนี้ คนที่ใจถึงอาจจะชิงทำเกมก่อน ที่สำคัญสเตจนี้จะผ่าน Colle delle Finestre ซึ่งเป็นเขาชันที่เป็นทางลูกรัง!

7. สเตจ 21, อาทิตย์ 27 พ.ค. – Rome

Giro 2018 Stage 21

ไม่บ่อยที่ Giro จะมาจบในกรุงโรม เมืองหลวงเก่าแก่ของอิตาลีและศูนย์กลางอารยธรรมที่ปูพื้นฐานวัฒนธรรมตะวันตกอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้ สเตจสุดท้ายเป็นทางราบสนิทแแต่เป็นทางราบที่แข่งแบบเซอร์กิตเรซวนกันกลางเมืองครับ เปลี่ยนบรรยากาศจากเส้นทางภูเขาสูงชันอัดแน่นในสัปดาห์สุดท้าย

Stage 21

ระยะทาง 115km แข่งกันทั้งหมด 10 รอบรอบละเกือบๆ สิบกิโลเมตร ผ่านจุดสำคัญอย่าง The Forum และโคลีเซียมด้วย ปกติแล้วสเตจสุดท้ายใน Giro นี่ไม่ได้การันตีว่าสปรินเตอร์จะชนะเสมอไป เพราะก็มีปีที่เบรคอเวย์หนีไปชนะได้ดื้อๆ เหมือนกัน

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *