Giro ดราม่า: รางวัลนักลงเขายอดเยี่ยม ถูกยกเลิกก่อนเปิดสนาม

ถ้าใครติดตามข่าววงการโปรทัวร์ช่วงนี้จะเห็นว่ามีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจครับ สำหรับสนาม Giro d’Italia ปีนี้ ผู้จัดแข่งได้เพิ่มรางวัลใหม่เข้ามาหนึ่งหมวด นั่นคือ “Best Descender Prize” หรือรางวัลนักลงเขายอดเยี่ยม แต่ล่าสุดต้องยกเลิกไปแล้วเพราะถูกประท้วงจากหลายฝ่าย มาดูกันว่ามันเกิดอะไรขึ้นและมีที่มาที่ไปยังไง

 

ใจกล้าก็คว้าไป 180,000

ในการแข่งประเภทสเตจเรซร่วมสามสัปดาห์แบบนี้มีรางวัลเล็กๆ น้อยซ่อนอยู่มากมายครับ ไม่ได้มีแค่รางวัลสำหรับเสื้อผู้นำทั้งสี่ประเภท (เวลารวม, เจ้าความเร็ว, เจ้าภูเขา, นักปั่นเยาวชนยอดเยี่ยม) เรายังมีรางวัลสำหรับเบรคอเวย์ดีเด่น, เงินรางวัลที่จุดสปรินต์กลางสเตจ รางวัลทีมยอดเยี่ยม, ทีมสุดแฟร์ สมัยก่อนมีรางวัลที่โหล่ด้วย ที่เราเรียกว่า Lantern Rouge (ใครเข้าเส้นชัยคนสุดท้ายในแต่ละสเตจจะได้รางวัลนี้! แข่งกันยิ่งกว่าอันดับเวลารวมเสียอีก)

RCS Sport ผู้จัดถึงกับถูก UCI ต่อว่าว่ามีรางวัลอะไรมากมาย ล่าสุดผู้จัดอยาดจะเพิ่มความสนุกเข้าไปอีกโดยการเพิ่มรางวัลสำหรับนักปั่นใจกล้า ลงเขาเร็วที่สุด สนับสนุนโดย…ยาง Pirelli (!!)

วิธีการเฟ้นหานักปั่นใจเด็ดนั้น จะคิดเป็นคะแนนรวม ส่วนใหญ่จะเป็นในสเตจที่มีภูเขา (สเตจ 8,9,111,12,15,16,17,18,19,20) ซึ่งจะเลือกจับเวลาโดยใช้ชิปบนจักรยานนักปั่น เฉพาะเซกเมนท์ที่ลงเขา (เหมือน Strava)

นักปั่นที่ลงเร็วที่สุด 5  อันดับ 1-2-3-4-5 จะได้คะแนน 8-5-3-2-1 แต้มตามลำดับ ใครได้คะแนนรวมเยอะสุดจะมีรางวัลให้สามอันดับ ที่หนึ่ง 5,000 ยูโร ที่สอง 3,000 ยูโร และที่สาม 2,000 ยูโร และถ้าคนไหนลงเร็วที่สุดในเซกเมนท์ของสเตจนั้นๆ จะได้รางวัล 500 ยูโร โดยรวมแล้วเงินรางวัลน้อยมากเมื่อเทียบกับหมวดอื่น

ด้วยที่ใช้การจับเวลา นักปั่นจะไม่รู้ว่าต้องแข่งกับใคร เพราะแต่ละคนอาจจะลงไม่พร้อมกัน เช่นในเบรคอเวย์ลงก่อน หรือมีกลุ่มรั้งท้ายที่หลุดกลุ่มผู้นำ พยายามทำความเร็วลงทีหลัง ปกติแล้วนักปั่นที่ลงเขาเร็วที่สุดในแต่ละสเตจนั้นมักไม่ใช่พวกตัวเต็งครับ แต่จะเป็นพวกสปรินเตอร์และผู้ช่วยที่ขึ้นเขาได้ช้า หลุดกลุ่มไปหลายสิบนาที ต้องรีบเร่งทำความเร็วเข้าเส้นชัยในแต่ละวันเพื่อให้ทัน time cut (ถ้าเข้าเส้นชัยหลังผู้ชนะสเตจเป็นเวลาประมาณหนึ่งอาจจะถูกตัดสิทธิไม่ให้ลงแข่งวันต่อไปได้)

 

ทำไมถึงดราม่า?: ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ

ฟังดูเผินๆ เหมือนไม่มีพิษภัยอะไร ก็น่าจะสนุกดี? ปัญหาอยู่ที่ว่ามันเป็นการสร้างแรงกระตุ้นให้นักแข่งเร่งทำเวลาหรือทำความเร็ว ซึ่งเราการันตีไม่ได้ว่าใครจะพยายามคว้ารางวัลนี้บ้าง บางทีทีมเล็กๆ ที่ไม่มีสิทธิคว้ารางวัลใหญ่อาจจะสนใจรางวัลแบบนี้ ?

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ นักปั่นบางคนอาจจะเสี่ยงลงเขาด้วยความเร็วสูง ซึ่งอาจจะมีผลต่อความปลอดภัยของนักปั่นคนอื่นๆ ในเปโลตอง เพราะการแข่งจักรยานถนนนั้นเป็นการแข่งกลุ่ม การแข่งย่อยภายในการแข่งใหญ่อย่างการสปรินต์กลางสเตจก็ไม่อันตรายในแบบนี้ เพราะส่วนใหญ่ก็ชิงกันไม่กี่คน ไม่กี่ทีม แย่งสปรินต์กันออกมาหน้ากลุ่มแบบไม่ต้องกลัวพ่วงใครล้ม

ยิ่งเป็นการจับเวลาแบบตัวใครตัวมัน การพยายามทำความเร็วลงเขานั้นอาจจะเกิดขึ้นเมื่อไรกับกลุ่มไหนก็ได้

ที่สำคัญ ถ้ามีนักปั่นล้มระหว่างลงเขา เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเพราะเขาพลาดเอง เป็นอุบัติเหตุหรือตั้งใจไล่ล่ารางวัล

 

นักปั่นต่อต้าน

การจัดรางวัลหมวดนี้จะไม่เหมาะสมสำหรับนักปั่นอาชีพหลายคน เมื่อความทรงจำที่เวาเธอร์ เวย์แลนด์ นักปั่นประจำทีม Leopard Trek เสียชีวิตเพราะล้มระหว่างลงเขาใน Giro ปี 2011 และล่าสุด Chad Young นักปั่นวัย 21 ปี จากทีม Axeon ในอเมริกาก็เพิ่งเสียชีวิตสัปดาห์นี้ เพราะล้มกลุ่มระหว่างลงเขาในงานแข่ง Tour of the Gila

แม้แต่กรรมการของทาง UCI เองก็ออกมาบอกว่าไม่เหมาะสมและควรยกเลิกบัดเดี๋ยวนี้

ไม่น่าแปลกใจที่นักปั่นอาชีพหลายคนจะต่อต้านครับ เพราะกฏมันออกมาในช่วงเวลาที่ดูไม่เหมาะสม และดูเหมือนผู้จัดไม่ใส่ใจกับความปลอดภัยของนักปั่นเท่าไร ถ้าอยากมีรางวัลที่น่าสนใจ ก็น่าจะลองคิดรางวัลอื่นๆ เช่น โดเมสติก (ผู้ช่วยทีม) ยอดเยี่ยม หรือลีดเอาท์ (หัวลากสปรินเตอร์) ยอดเยี่ยม แบบนี้ก็น่าดูไม่น้อย

ปีเตอร์ สเต็ติน่า นักปั่นจาก Trek-Segafredo ให้สัมภาษณ์กับ Veloews ในประเด็นนี้ได้กระชับและชัดเจน:

“นักปั่นอาชีพเป็นผู้สร้างความบันเทิงในการแข่งขัน แฟนๆ ชอบชมความสามารถเหนือมนุษย์ของพวกเรา แต่เราก็ยังเป็นมนุษย์ธรรมดา เป็นสามี เป็นลูกชาย เป็นพ่อ เป็นพี่ เป็นน้อง และเป็นเพื่อนให้คนที่เรารัก พวกเราผิดพลาดได้ เพราะฉะนั้นเราอย่าจัดการแข่งขันที่ทำให้ความผิดพลาดเล็กน้อยส่งผลร้ายแรงถึงชีวิต เราเห็นมาแล้วใน Giro ปี 2011 ที่เวย์แลนด์​เสียชีวิตในสนามนี้ ผู้จัดควรไม่ควรลืมโศกนาฏกรรมครั้งนั้น ควรให้เกียรติเขาด้วยการเพิ่มความปลอดภัยในเส้นทางแข่ง ไม่ใช่สร้างความเร้าใจความเสี่ยงของผู้เข้าแข่งขัน”

 

 

ผู้จัด RCS: “เราแค่อยากทำให้สนามแข่งมันสนุกขึ้น”​

ล่าสุดวันนี้ ผู้จัดงานแข่ง RCS Sport ให้สัมภาษณ์กับทาง นสพ La Gazzetta dello Sport ว่าต้องขอยกเลิกรางวัล หลังจากที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์

แต่ก็ทิ้งท้ายว่า ไม่พอใจที่คนไม่เข้าใจและต่อว่าโดยเฉพาะนักปั่นอาชีพ

“เราแค่อยากสร้างหมวดการแข่งขันใหม่ที่แฟนๆ น่าจะชอบครับ น่าเสียดายว่าหลายคนไม่เข้าใจถึงจุดประสงค์ของเราแล้วก็ตีโพยตีพาย เราเลยขอยกเลิกรางวัลนักลงเขายอดเยี่ยม แต่เราจะยังจับเวลาการลงเขาของนักปั่นในแต่ละสเตจ แล้วจะให้ข้อมูลพวกเขาภายหลัง”

“ผมเชื่อว่ารางวัลนี้เป็นแนวคิดที่ดีครับ เราจะได้เห็นข้อมูลนักปั่นมากขึ้น แฟนๆ ก็อยากเห็นตัวเลขความสามารถนักปั่น โดยเฉพาะนักปั่นที่ไม่มีโอกาสชนะบ่อยๆ แบบพวกตัวเต็ง จนเราแทบไม่รู้จักพวกเขา”

 

รวมกันเราอยู่ แยกกันเราเจ็บ

ตั้งแต่ผมเห็นข่าวนี้ออกมาก็คิดในใจแล้วว่า รางวัลนี้โดนตียับแน่ๆ เพราะ timing มันดูไม่เหมาะสมเอาเสียเลย ความทรงจำของเวย์แลนท์ยังอยู่ในใจนักปั่นอาชีพหลายๆ คน และทุกปีเรามีภาพหวาดเสียวที่นักปั่นพลาดล้มแหกโค้งลงเขาด้วยความเร็วสูงจนเจ็บหนักกันเยอะ การให้รางวัลกระตุ้นการแข่งขันซ้อนการแข่งขันที่น่าจะมีผลอันตรายต่อผู้ร่วมแข่งคนอื่น ก็ไม่น่าจะเป็นไอเดียที่ผ่านง่ายๆ ครับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่มีการสอบถามนักปั่นอาชีพ หรือผู้เข้าแข่งขันก่อนว่ามันโอเคหรือเปล่า

ตรงนี้มันสะท้อนให้เห็นเหมือนกันว่า นักปั่นอาชีพนั้นไม่มีอำนาจต่อรอง ต้องลงแข่งขันในกฏและกรอบที่ผู้จัดกำหนดให้ บางครั้งต้องลงแข่งเส้นทางที่อันตรายและยากเกินมนุษย์ ราวกับว่าเป็นหุ่นที่ต้องเล่นตามบทของผู้กำกับ

สองสามปีมานี้นักปั่นเริ่มตระหนักถึงอำนาจต่อรองของตัวเอง ยิ่งเมื่อโปรทีมแทบไม่มีเงินเลี้ยงนักปั่น ต้องหาสปอนเซอร์ใหม่แทบทุกปี ถ้าไม่มีก็ต้องยุบ ก็ยิ่งทำให้ทีมตระหนักว่า ในฐานะ “พระเอก”​ ของสนามแข่งใหญ่เหล่านี้ ที่ไม่เคยแบ่งรายได้จากการถ่ายทอดสดให้พวกเขา ทำไมพวกเขาจะต้องทำตามกฏที่มีผลต่อความอยู่รอดปลอดภัยของตัวเองด้วย ถ้ามันดูอันตรายและไม่มีเหตุผล

ประเด็นดิสก์เบรคที่เราเห็นดราม่าต่อต้านจากทีมอาชีพก็เป็นอีกตัวอย่างที่นักปั่นได้รวมตัวกัน ไม่ยอมเดินตามแผนธุรกิจของผู้ผลิตอะไหล่ที่อยากจะผลักดันอุปกรณ์ที่อาจจะมีอันตรายกับพวกเขาให้ใช้ลงแข่งจริง เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้ซื้อตามครับ เรื่องนั้นเลยยังไม่จบสักที เพราะก็ยังงัดกันอยู่ ทางสหพันธ์นักปั่นอาชีพก็ใช้เวลานานกว่าจะรวมตัวสรุปเป็นเสียงเดียวกันได้

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *