7 บทสรุปจาก Giro d’Italia 2018

1. ชัยชนะของฟรูมอาจจะไม่ได้เกินคาดอย่างที่เราคิด

เราอาจจะแปลกใจที่คริส ฟรูม ผู้ซึ่งเสียเวลาให้คู่แข่งบนเขาแทบทุกลูก และมีเวลาตามหลังผู้นำเวลารวมร่วมสามนาทีกว่าหลังสเตจ 18 จะพลิกเกมมาชนะได้ในวันเดียว (สเตจ 19) แต่จริงๆ แล้วเราอาจจะมองข้ามเขาเร็วเกินไปครับ

ฟรูมเริ่ม Giro ปีนี้ด้วยความเสียเปรียบหลายประการ

  1. เขาล้มตั้งแต่ก่อนแข่งสเตจ 1 ในเยรูซาเล็มเสียอีก ระหว่างเช็คเส้นทาง Time Trial ซึ่งก็บาดเจ็บพอสมควร
  2. ฟรูมไม่ได้เริ่มแข่ง Giro ด้วยฟอร์มที่พร้อมทำเกมเหมือนคนอื่นๆ อย่างที่เราทราบกันเขาเตรียมไปลงแข่ง Tour de France ด้วย เพราะงั้นฟรูมไม่ได้กะฟอร์มการแข่งให้พีคในสัปดาห์แรกหรือสองเหมือนที่ผ่านมา แต่กะมาเดิมพันเอากับสัปดาห์สุดท้าย คล้ายๆ กับที่นิบาลีชอบทำ

อีกปัจจัยที่ทำให้เรามองข้ามฟรูมคือความแข็งแกร่งของไซมอน เยทส์ (Mitchelton-Scott) ที่ดูจะไร้เทียมทาน ครองเสื้อชมพูถึงครึ่งการแข่งขัน และได้แชมป์สเตจอีกสามสเตจ เรียกได้ว่าทุบคู่แข่งทุกวันที่มีการขึ้นเขา ยิ่งเยทส์ชนะมากเท่าไร คนยิ่งพูดถึงฟรูมน้อยลงเท่านั้น

เราเคยชินกับการที่ตัวเต็งเสียเวลาไป 2-3 นาทีหลังผู้นำเวลารวมแล้วยากที่จะตีตื้นพลิกเกมกลับมา เพราะแทบทุกแกรนด์ทัวร์มันยากมากที่จะเอาคืน 3 นาที+ ในช่วงวันท้ายๆ ยกเว้นว่าจะเกิดอะไรเกินคาดขึ้นจริงๆ กับตัวเต็งรายการ ซึ่งในกรณีนี้ก็คือไซมอน เยทส์ที่ฟอร์มร่วงในสเตจ 19 ไม่ใช่ร่วงให้ฟรูมคนเดียว แต่ร่วงให้ตัวเต็งทุกคน (ถ้าเราสังเกตดีๆ จะพบว่ารายการนี้มีอะไรแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยมาก เช่นพินอท์ (FDJ), ชาเวซ (Mitchelton-Scott) และพอซโซวิโว่ (Bahrain-Merida) ที่มีอาการผีเข้าผีออก วันนึงฟอร์มดี เกาะกลุ่มผู้นำได้ วันถัดมาฟอร์มตกเสียเวลาให้คู่แข่ง

เช่นนั้นแล้วคนที่คงเส้นคงวาที่สุดใน Giro อาจจะเป็นดูโมลานและฟรูม นั่นคือถึงจะเสียเวลาให้คู่แข่งบ้าง แต่ก็ไม่เยอะจนกู้คืนไม่ได้ หลังจากที่เยทส์ฟอร์มร่วงจากการเดินเกมหนักสะสมมา พร้อมๆ กับที่พอซโซวิโว่ตามกลุ่มหน้าไม่ไหว ฟรูมเลยได้โอกาสเลื่อนขึ้นมาอยู่ใน Top 5 ของตารางเวลารวม

การเดิมพันของ Sky ในสเตจ 19 โชคเข้าข้างหลายประการ จริงอย่างที่ฟรูมว่า เขาไม่มีอะไรจะเสีย และการโจมตีใกล้ๆ บนเขาลูกสุดท้ายแบบที่ทุกคนชอบทำกันนั้นไม่มีระยะมากพอให้เขากู้คืนสามนาที ฟรูมโชคดีที่ดูโมลานตัดสินใจพลาด เลือกหวังว่า FDJ, Movistar และ Astana จะช่วยเขาไล่ ทำให้ต้องชะลอตลอด 80 กิโลเมตรที่ตามฟรูม ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเวลาดูโมลานขึ้นมานำเองเขาสู้กับฟรูมได้แบบวัตต์ต่อวัตต์

 

2. ไม่ใช่แค่ฟรูมที่พลิกเกม

เมื่อเราโฟกัสที่คริส ฟรูมกับการปั่นสเตจ 19 ของเขาอย่างเดียว ก็อาจจะดูเหลือเชื่อ แต่จริงๆ ยังมีอีกคนที่พลิกเวลาตามผู้นำร่วมสองนาที แต่สุดท้ายกลับขึ้นมายืนโพเดี้ยมได้ นั่นก็คือมิกูเอล โลเปซ​ (Astana) ครับ

โลเปซล้มในสเตจ 5 ทำให้เข้าเส้นชัยช้ากว่าแชมป์สเตจ +43 วินาที บวกกับเวลาที่เสียไปในตอนที่เขาล้มในสเตจแรกกับหลุดกลุ่มในช่วงสัปดาห์แรก ภายในเวลาห้าวันเขาหลุดไปอยู่อันดับ 39 GC ตามหลังผู้นำเวลารวม +1:57 นาที ซึ่งดูแล้วเป็นสถานการณ์ที่ไม่น่าจะกู้ได้

แต่โลเปซพลิกเกมในสเตจ 14 บนทางขึ้นเขา Zoncolan (ที่ฟรูมได้แชมป์สเตจ) ตีตื้นคู่แข่งมาได้หลายคนและไล่ตอดเล็กตอดน้อยในสัปดาห์ที่สามระหว่างที่เขาแข่งชิงเสื้อขาวกับริชาร์ด คาราพาซ​ (Movistar) บวกกับที่พอซโซวิโว่ฟอร์มร่วงด้วย ก็เปิดโอกาสให้โลเปซได้ยืนโพเดี้ยม นับจากตัวเต็งทั้งหมดแล้ว โลเปซดูเป็นนักปั่นดาวรุ่งที่ดูน่าลุ้นแชมป์แกรนด์ทัวร์กว่าคนอื่นๆ จากความสามารถในการไต่เขาที่สู้ทั้งฟรูมและดูโมลานได้ และการฟื้นตัวที่ดีกว่าคู่แข่งอย่างเยทส์และชาเวซ อายุก็เพิ่งจะ 24 เท่านั้น

 

3. เยทส์ยังอนาคตไกล

Giro ปีนี้ต้องบอกว่า Mitchelton รีดเอาความสามารถเยทส์ออกมาได้หมดเกลี้ยง แต่ก็อาจจะเป็นการคำนวนที่ผิดพลาดด้วยหรือเปล่า? ทีมเดิมพันกับการชิงเวลานำคู่แข่งให้ได้มากที่สุดก่อนสเตจ Time Trial ซึ่งสุดท้ายพบว่าเยทส์รุกหนักเกินความสามารถ (เช่นเดียวกับพิโนท์และอารู) จนหมดไม่เหลือแรงไปสู้กับคู่แข่งคนอื่นๆ ในสามสเตจสุดท้าย (18-20) แต่ก็นั่นหละครับ การแข่งขันก็คือการเดิมพัน เช่นเดียวกับที่ฟรูมเดิมพันกับสเตจ 19 ซึ่งอาจจะไม่เวิร์กก็ได้ เยทส์ก็เดิมพันกับเวลานำและ time bonus ที่เขาหวังว่าจะมากพอคลุมเวลาที่จะเสียในสัปดาห์สุดท้าย

เยทส์อาจจะฟื้นตัวได้ไม่ดีเท่าโลเปซ หรือยืนระยะไม่ดีเท่าดูโมลาน ส่วนหนึ่งก็อาจจะมาจากประสบการณ์ที่ยังไม่ได้แข่งแกรนด์ทัวร์เยอะเท่าคนอื่นๆ แต่ผมว่าเป็นปัญหาที่แก้ไม่ยาก เพราะชัดเจนว่าศักยภาพมีพอจะชนะได้ แค่ยังขาดประสบการณ์ และคำนวณศักยภาพตัวเองได้ไม่แม่นเท่าไร เมื่อเจอคู่แข่งชั่วโมงบินสูงกระทุ้งให้ก็เลยร่วงไป

เยทส์เพิ่งจะอายุ 25 ปีเท่านั้นและอนาคตไกลแน่นอน แมท ไวท์โค้ชของทีมเคยตอบนักข่าวไปว่า

“ไซมอนจะปั่นต่อไม่ไหวก็ไม่แปลก ผมถามคำนึงเหอะ ตอนคริส ฟรูมอายุ 25 ปี เขานำแกรนด์ทัวร์อยู่หรือเปล่า?”

 

4. เกิดอะไรขึ้นกับ อารู พิโนท์และชาเวซ ?

คนที่ผิดหวังที่สุดในรายการนี้คงไม่พ้นเอสเตบาน ชาเวซ​ (อันดับ 72, จบรายการที่ +3:21:31 ชั่วโมง) ที่เสียเวลาไป 25 นาทีตั้งแต่สเตจ 10 และหลุดจากการแข่งขันไปเลย เป็นเรื่องที่หลายคนรวมถึงเจ้าตัวสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ทั้งๆ ที่โชว์ศักยภาพมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา คว้าที่สองใน Giro 2016, ที่สาม Vuelta 2016, ที่ 11 Vuelta 2017 และแชมป์ Giro d’Lombardia และยิ่งปีนี้เป็น contract year (ปีหมดสัญญา)​ กับทีมด้วยแล้วก็น่าสงสัยว่าทีมจะตัดสินใจจ้างชาเวซต่อหรือเปล่า

ฟาบิโอ้ อารู (DNF) เป็นเสมือนความหวังของชาวอิตาเลียนที่อยากจะให้นักปั่นชาติตัวเองคว้าแชมป์สนามที่ใหญ่ที่สุดในอิตาลีให้ได้ แต่ก็ผิดหวังอีกครั้งเมื่ออารูฟอร์มไม่คงเส้นคงวาและแข่งไม่จบในที่สุด อารูเป็นอีกคนที่ฟอร์มขึ้นๆ ลงๆ ดูจะยังหาจังหวะและความแน่นอนไม่ได้เหมือนดูโมลาน แต่ก็เข้าใจได้เพราะเขาเองก็เพิ่งย้ายทีมมาอยู่กับ UAE ผลงานที่ดีที่สุดของเขาคือแชมป์ Vuelta 2015 และนี่ก็ผ่านมาสองปีกว่าแล้วที่เขายังไม่โชว์ศักยภาพอีกเลย

ทิบอต์ พิโนต์ (DNF) ยังคงเป็นเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ของชาวฝรั่งเศส ถึงจะคงอันดับ top 10 มาได้ตลอดแต่ฟอร์มก็ไม่นิ่ง เกาะกลุ่มตัวเต็งตามฟรูมได้ในสเตจ 19 แต่สเตจต่อมาร่วงหลุดตั้งแต่เขาลูกแรกและต้องถอนตัวเข้าโรงพยาบาล แชมป์ตูร์ชาวฝรั่งเศสคงไม่มีให้เราเห็นเร็วๆ นี้ครับ

 

5. คาราพาซและชัคมันน์น่าจับตามอง

Giro เป็นสนามคัดดาวเด่นให้เราได้เห็นทุกปี เพราะปกติทีมจะคัดแต่ตัวเต็งไปลง Tour de France ไม่ค่อยเปิดโอกาสให้นักปั่นหน้าใหม่ได้แสดงฝีมือเท่าไร ยกเว้นทีมจะขาดตัวเก่งๆ จริงๆ Giro ปีนี้เราได้เห็นนักปั่นนอกสายตาสองคนที่ผลงานดีจนน่าจับตาครับ นั่นคือริชาร์ด คาราพาซ​ (Movistar) ที่จบการแข่งขันด้วยอันดับ 4 ช้ากว่าฟรูมแค่ 5:44 นาที และยังได้แชมป์กลับบ้านไปหนึ่งสเตจอีกด้วย เขาอายุแค่ 24 ปีเท่านั้น แต่สัปดาห์สุดท้ายนี่ไต่เขาดีกว่า อารู พิโนต์ และเยทส์ ดูมีทั้งความอึดและความกระตือรือร้น จะเห็นว่าคาราพาซและโลเปซหวดกันทุกวันที่ขึ้นเขาเพื่อชิงเสื้อ Best Young Rider ซึ่งโลเปซก็ชนะไปด้วยฟอร์มที่ดีกว่าเล็กน้อย ถ้า Movistar เลี้ยงดีๆ คาราพาซน่าจะช่วยทีมได้มากครับ

 

มักซ์ ชัคมันน์ (Quickstep) จบการแข่งขันที่อันดับ 31 ถึงจะไต่เขาได้ไม่เดือดเท่าคาราพาซหรือโลเปซ​แต่ก็ได้แชมป์สเตจกลับบ้านไปหนึ่งครั้งในสเตจ 18 ที่ทำเกมกระชากหนีกลุ่มเบรคอเวย์ เราไม่ค่อยเห็นนักไต่เขาจาก Quickstep เท่าไร ปีนี้ชัคมันน์อายุ 24 ปี น่าดูว่าอนาคตจะพัฒนาไปทางไหน

 

6. ความมั่นใจของวิวิอานีและแซม เบนเน็ต

สองสปรินเตอร์ที่เก่งที่สุดในงานนี้ วิวิอานีเก็บแชมป์ไป 4 สเตจ ในขณะที่แซม เบนเน็ตได้ไป 3 เรียกได้ว่าจากสเตจสปรินต์ทั้งหมด มีสปรินเตอร์แค่สองคนที่มีผลงานครับ เหนือกว่าสปรินเตอร์คนอื่นๆ อย่างชัดเจน ทั้งสองคนมีปัญหาเดียวกันก่อนหน้า Giro นี้คือจังหวะไม่เป๊ะ และดูไม่มั่นใจเทียบกับสายเก๋าอย่างคิทเทล ซากาน ไกรเปิล หรือกระทั่งน้องใหม่อย่างกาวิเรียและคาเล็บ ยวน แต่กับผลงานแกรนด์ทัวร์ขนาดนี้ก็น่าจะสร้างความมั่นใจได้ไม่น้อย และน่าจะได้เห็นบทบาทของทั้งคู่มากขึ้นในสนามต่อๆ ไป

ในฐานะทีมที่ไม่มีตัวเต็ง GC ทั้งเบนเน็ตและวิวิอานีจัดว่าประสบความสำเร็จที่สุดในรายการกับผลงานแชมป์หลายสเตจครับ

 

7. สรุป

Giro ยังคงเป็นแกรนด์ทัวร์ที่สนุกที่สุดสำหรับผู้ชม กับเกมที่คาดเดาอะไรไม่ได้เลยตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย มีดราม่าให้ดูกันเต็มอิ่ม แต่อาจจะดูยากสักหน่อยสำหรับคนที่เพิ่งติดตามการแข่งขันจักรยาน เพราะนักปั่นชื่อดังไม่ค่อยมาลงกัน

กระนั้นแล้วก็คุ้มค่าที่ติดตามตลอดสามสัปดาห์ครับ คงไม่มีรายการไหนที่เราได้เห็นตัวเต็งว่าที่แชมป์รายการที่ถือเสื้อชมพูเป็นสิบวันฟอร์มร่วงกะทันหันจนหลุดโผ เปิดช่องให้คนอื่นได้โอกาสทำเกมรุก และเราคงไม่ได้เห็นคริส ฟรูมโจมตี 80 กิโลเมตรใน Tour de France แน่ๆ ไหนจะศึกชิงเสื้อ Best Young Rider ที่เดือดยิ่งกว่าเกม GC

และที่แน่ๆ เราได้รู้ว่าดูโมลานยังคงเป็นตัวเต็งที่ต้องพึ่ง Time Trial มากกว่าสกิลการไต่เขา พร้อมยังไม่เก๋าเกมเท่าคริส ฟรูม กับการเจอกันแบบตัวต่อตัวที่ดูโมลานถือตำแหน่งหัวหน้าทีมเทียบเท่ากับฟรูมเป็นครั้งแรก

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือการที่ UCI ลดจำนวนนักแข่งจาก 9 คนต่อทีมเหลือ 8 คนส่งผลต่อการแข่งขันพอสมควรครับ หลายๆ สเตจทีมตัวเต็งไม่สามารถคุมเกมได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งในสเตจภูเขาและสเตจสปรินต์ ยิ่งสเตจยาวเท่าไรยิ่งเห็นผล ซึ่งก็ดีสำหรับผู้ชม เพราะตัวเต็งต้องเอาตัวรอดด้วยตัวเองจริงๆ เกมเลยคาดเดายากขึ้นอีกขั้นครับ

คำถามต่อจากนี้คือผลการแข่งขัน Giro จะเป็นยังไงเมื่อคดีของคริส ฟรูมยังไม่สิ้นสุด? บางทีฟรูมอาจจะรู้ตัวว่าเขาไม่น่าจะรอดพ้นจากการต้องรับโทษก็เป็นได้ เพราะว่าตามตรงเคสแบบฟรูมในอดีตมีคนรอดน้อยมาก การเลือกลงแข่งให้ได้มากที่สุดสร้างชื่อให้ได้เยอะที่สุด ก่อนที่จะโดนพักแข่งยาว (แถมได้เงินจากผู้จัดให้มาลงแข่งอีก)​ อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเขา

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

1 comment

  1. วิเคราะห์และพิจารณ์ได้ลึกซึ้ง แถมเก็บประเด็นหลักๆ ของการแข่งได้ตกผลึกหมดจดจริงๆ ครับ…เห็นด้วยตามนั้นเลยครับ…ชอบ ชอบ และกราบขอบพระคุณมากครับ
    หมายเหตุ : ครบเครื่องเรื่องจักรยาน ก็ทีม DT นี่แหละ :0

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *