เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา RCS Sports ได้เปิดตัวเส้นทาง Giro d’Italia ปีหน้า ซึ่งออกมาค่อนข้างสวนทางกับ Tour de France พอสมควร เพราะ TdF ปีหน้าแหวกแนว ฉีกจากสูตรเดิม ๆ ไปมาก TT เหลือสั้นนิด มีสเตจภูเขาแซมตลอด 3 สัปดาห์ ส่วนสเตจสปรินต์กระจัดกระจาย (คล้าย Giro กับ Vuelta มากขึ้น) แต่ Giro ปีหน้ากลับดูอนุรักษ์นิยมมากขึ้น จากปรกติชอบใส่กิมมิคอย่างทางกรวดหรือสเตจสั้นกุด กลายเป็นมีสเตจยาว ๆ เกิน 200 กม. หลายสเตจ ไม่มีลูกเล่นแปลก ๆ เหมือนปีก่อน (คล้าย TdF มากขึ้น !) อย่างไรก็ดี ถึงจะดูวินเทจมากขึ้น แต่ไม่น่าเบื่อแน่นอน เพราะอะไรไปดูโดยละเอียดจากต้นจนจบกันครับ
สามสเตจแรก ไปออกสตาร์ตที่กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี สเตจแรกเป็นโพรล็อกไทม์ไทรอัล ความยาว 8.6 กม. ที่จบด้วยการไต่เนินขึ้นไปจบที่พระราชวังบูดา สถานที่ประทับของกษัตริย์ในสมัยก่อนและเป็นสัญลักษณ์ของกรุงบูดาเปสต์ ส่วนสเตจ 2 กับ 3 เป็นทางราบที่ควรจะจบด้วยการสปรินต์
สเตจ 4 บินกลับเกาะซิสิลี่แล้วแข่งต่อเลย กฎใหม่ของ UCI ทำให้ผู้จัดการแข่งไม่สามารถแทรกวันพักตรงนี้ได้เหมือนปีก่อนที่ไปเริ่มแข่งไกลถึงเยรูซาเล็ม RCS Sports ก็เลยทำสเตจ 4 ให้สั้นแทนแล้วจบด้วยการสปรินต์ขึ้นเนิน ปีเตอร์ ซากาน ถูกใจสเตจนี้แน่นอน
จากนั้นสเตจ 5 ก็เจอภูเขาลูกแรกเสียแล้ว ถ้า La Planche des Belles Filles คือออเดิร์ฟของ TdF ดูเหมือนว่าภูเขาเอ็ตน่าก็คือออเดิร์ฟของ Giro เพราะเป็นเขาลูกแรกของการแข่งมาหลายครั้งแล้ว ครั้งนี้ก็เช่นกัน ตัวเต็ง GC คงอ่านฟอร์มกันในสเตจนี้ แต่ไม่น่าจะมีใครอยากแบกเสื้อชมพูตั้งแต่ตอนนี้เพราะยังอีกไกลมาก เปลืองแรงคุมเกมเปล่า ๆ
สเตจ 6 เป็นสเตจสปรินต์ ส่วนสเตจ 7 ที่อยู่ตรงกลางยาวถึง 223 กม. แล้วจบด้วยภูเขาสูง แต่เส้นชัยอยู่ทางลง ชัยชนะน่าจะมาจากเบรคอเวย์ที่โจมตีออกมาตอนเขาลูกสุดท้าย
สเตจ 8 และ 9 ยังคงเป็นสเตจสปรินต์ สำหรับสเตจ 10 น่าจะเป็นของเบรคอเวย์เพราะมีเนินชัน ๆ แต่สั้น ๆ คล้ายอาเดนส์คลาสสิคอยู่ตอนท้าย 3 ลูก
สเตจ 11 และ 13 ก็เป็นสเตจสปรินต์ ส่วนสเตจ 12 ที่อยู่ตรงกลางเป็นของเบรคอเวย์แน่นอน
แล้วก็มาถึงสเตจที่ 14 หลังจากอารัมภบทมานาน สเตจ 14 เป็นไทม์ไทรอัลเดี่ยว 33.7 กม. ในพื้นที่ไร่องุ่นและแหล่งผลิตไวน์โปรเซกโกอันเลื่องชื่อในจังหวัดเทรวิโซ อย่างที่หลายท่านอาจทราบว่าองุ่นมักปลูกได้ดีตามเชิงเขา แถมยิ่งชันยิ่งดี โปรเซกโกก็ไม่ทำให้ผิดหวังด้วยเนินชันสูงสุด 19% ตั้งแต่กิโลเมตรที่ 7 แถมเส้นทางที่เหลือก็โรลลิ่งไปตามภูมิประเทศไร่องุ่น จึงเป็นสนาม ITT ที่ยากเอาการเพราะต้องบาลานซ์ทั้งการปั่นทางราบและการอัดเนินชันให้ดีและไม่หมดแรงไปเสียก่อน ลำดับ GC หลังจบสเตจนี้ได้มีสลับขึ้นลงกันอลม่านแน่นอน
สปรินเตอร์คนไหนยังไม่มีผลงานตอนนี้ แพ็กกระเป๋ากลับบ้านได้เลย เพราะสเตจ 21 ก็ไม่ใช่สเตจสปรินต์กลางเมืองด้วย และหลังจากนี้คือไต่ไม่หยุด ไต่ไปจนกว่าจะเป็นลมครับ
สเตจ 15 คืออารัมภบทของสเตจภูเขาอันโหดร้ายละครับ นั่นหมายความว่าการต่อสู้แย่งชิงเสื้อชมพูที่แท้จริงระหว่างตัวเต็ง GC ที่ยังไม่บาดเจ็บหรือเจอเหตุร้ายอื่น ๆ จะเริ่มจากตรงนี้เป็นต้นไป สเตจนี้ข้ามเขาสามลูก และจบที่ยอดเขาเพียนคาวาลโล่ซึ่งมาร์โค ปันตานีชนะในปี 1998
ถัดมาสเตจ 16 แม้ว่าเขาแต่ละลูกในสเตจนี้จะไม่ได้อยู่ในเทือกเขาแอลป์จึงไม่สูงมาก แต่ครึ่งหลังของสเตจเป็นการปั่นเซอร์กิตขึ้นเขาซึ่งสั้นแต่ชันถึงสามครั้ง (2.8 กม. ชันเฉลี่ย 10.4% และชันสูงสุด 16%) จึงคล้ายพวก Giro di Lombardia หรือ Liege Bastogne Liege ครับ ตัวเต็ง GC ที่ระเบิดเนินสั้น ๆ พวกนี้ได้ดีจะได้เปรียบ
จากนั้นสเตจ 17 คือสเตจแรกจากสามสเตจที่ระยะไต่เกิน 5,000 เมตร ด้วยเขา 4 ลูก และจบบนยอดเขามาดอนน่า ดิ คัมพิกลิโอ หนึ่งในสกีรีสอร์ตในเทือกเขาโดโลไมตส์ แต่มีชื่อเสียงในวงการจักรยานเพราะเป็นที่ที่มาร์โค ปันตานีชนะสเตจขณะใส่เสื้อชมพู แล้วจากนั้นถูกไล่ออกจากการแข่งเพราะฮีมาโตคริต (ค่าความเข้มข้นเลือด) สูงเกินกำหนด
สเตจ 18 คือควีนสเตจ (สเตจที่ยากที่สุด) ของจิโรปีหน้าครับ ระยะไต่มากที่สุดในบรรดาทุกสเตจ นอกจากปีนเขาอันเป็นสัญลักษณ์ตลอดกาลของจิโร “สเตลวิโอ” จากด้านที่ยากที่สุด (ฝั่งตะวันออก) แล้วไปจบที่เขาอีกลูกนึงซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กันแล้ว ยังเป็นอีกสเตจที่ระยะไต่เกิน 5,000 เมตรด้วยเขา 4 ลูกด้วย ใช่ครับ มันอยู่ติดกับสเตจ 17 ที่เพิ่งไต่สวรรค์มานั่นแหละครับ
สเตจ 19 เป็น “สเตจเปลี่ยนผ่าน” คือปั่นจากตีนเขาลูกนึงไปอีกลูกนึงผ่านทางราบสนิท เป็นสเตจทางราบที่อยู่กึ่งกลางสเตจเขาสูงชันสองสเตจ
สเตจ 20 เป็นสเตจสุดท้ายในสามสเตจที่ระยะไต่เกิน 5,000 เมตร รวมดาวเขาแอลป์ไว้ในสเตจเดียว ลูกแรกคือโคลเลอ เดล อะเญลโล่ ที่ที่สตีเวน เคราซ์เวกเสียหลักพุ่งชนกำแพงน้ำแข็งจนเสียเสื้อชมพู สังเกตในแผนที่จะเห็นว่าไต่จาก 170 เมตรไปทีเดียวถึง 2,744 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลเลย จากนั้นข้ามฝั่งไปฝรั่งเศสเพื่อไต่โคล ดีซวาร์ ซึ่งเป็นไอคอนหนึ่งของตูร์ แล้วค่อยลงเขากลับเข้าฝั่งอิตาลี ขึ้นเขาอีกหนึ่งลูก ก่อนไปจบที่ยอดเขาเซสตริเอเร ซึ่งก็เป็นเขายอดนิยมของจิโรเช่นกัน
สเตจ 21 เป็นไทม์ไทรอัล 16.5 กิโลเมตรเข้าสู่ใจกลางเมืองมิลาน เส้นทางราบสนิทและไม่มีโค้งหักศอกยาก ๆ อะไรเลย เป็นคอร์สต้นแบบสำหรับตัว TT สายเพียวแท้ ๆ และเราคงได้เห็นการแข่ง 2 อย่าง ทั้งชิงแชมป์สเตจและชิงแชมป์รายการในวันสุดท้ายนี้ครับ
สรุป
ทางราบ 6 สเตจ
โรลลิ่ง 7 สเตจ
เขาสูงชัน 5 สเตจ อยู่สัปดาห์แรก 1 สเตจ สัปดาห์ที่สองไม่มี และสัปดาห์ที่สาม 4 สเตจ
ไทม์ไทรอัล 3 สเตจ รวมระยะทาง 58.8 กม. (ตูร์ปีหน้ามีแค่ 36 กม. เอง)
ระยะทางรวม 3580 กม. ระยะไต่ >45,000 เมตร
สเตจที่น่าติดตาม: สเตจ 1, 5, 14, 17, 18, 20, 21
ถ้ามีเวลาดูแค่น้อยนิด: ดูสเตจ 17 กับ 18 ครับ
ความเห็น
เป็นจิโรที่เส้นทางคลาสสิคและปราศจากกิมมิคอย่างไม่น่าเชื่อ หลังจากประกาศเส้นทางมาได้สองสัปดาห์มีซูเปอร์สตาร์ประกาศว่าจะลงจิโรแล้วสามคนแน่ ๆ คือปีเตอร์ ซากาน, วินเชนโซ นิบาลี, และโรมาน บาร์เดต์ ซึ่งก็น่าแปลกใจว่าบาร์เดต์ทั้งที่เป็นคนฝรั่งเศสและตูร์ก็ระยะไทม์ไทรอัลน้อยกว่า กลับเลือกมาลงจิโรแทน น่าจะเพราะเล็งโอลิมปิกที่โตเกียวไว้ ไม่เช่นนั้นก็ไม่น่ามีเหตุผลอื่นครับ
ด้วยระยะไทม์ไทรอัลที่ทั้งมากและทั้งยากแล้วน่าจะดึงดูด GC ที่ปั่น TT เก่ง ๆ อย่างเกเรนต์ โทมัส, พริมอซ โรกลิจ และ ทอม ดูมูลาน ได้ดี แต่สองคนหลังอยู่ทีมเดียวกันไปแล้วก็สงสัยต้องเป่ายิ้งฉุบกัน ทั้งนี้ปีหน้าเป็นปีโอลิมปิกทำให้การตัดสินใจลงจิโรหรือตูร์ไม่ตรงไปตรงมา ถ้าใครเล็งโพเดี้ยมโอลิมปิกก็คงต้องมาลงจิโรเหมือนบาร์เดต์ เพราะเส้นทางโอลิมปิกที่โตเกียวก็ไต่เขาบ้าระห่ำเข้าทางพวก GC เหมือนกัน ถ้าไปลงตูร์ก็น่าจะลุ้นแชมป์โอลิมปิกยากมาก ๆ เพราะโอลิมปิกชิงแชมป์จักรยานถนนแข่งหลังตูร์จบแค่ 7 วันเท่านั้นครับ