บทสรุป Giro d’Italia 2022

แล้ว Giro d’Italia ครั้งที่ 105 ก็สิ้นสุดลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยรางวัลเจ้าภูเขาเป็นของ คืน บาวมัน (TJV) เจ้าความเร็วเป็นของ อานอด์ เดมาร์ (GFC) และผู้ชนะเวลารวมคือ ไจ ฮินด์ลี (BOH) วัย 26 ปีที่ตอกย้ำว่าที่เขาได้อันดับสองเมื่อ 18 เดือนก่อนไม่ใช่เรื่องฟลุ๊คแต่อย่างใด เขาคือผู้ท้าชิง GC คนล่าสุด เป็นแชมป์จิโรคนแรกจากประเทศออสเตรเลีย แชมป์แกรนด์ทัวร์คนที่สองถัดจาก คาเดล เอแวนส์ ที่ชนะตูร์เมื่อสิบเอ็ดปีก่อน และเป็นผู้ชนะแกรนด์ทัวร์ใด ๆ คนแรกของทีม Bora-Hansgrohe นับตั้งแต่ก่อตั้ง (สมัย NetApp-Endura โน่นเลย)

ในอันดับเวลารวมสุดท้าย ฮินด์ลีนำอันดับสอง ริชาร์ด คาราพาซ (Ineos-Grenadiers) อยู่ 1:18 นาทีเท่านั้น เวลานำที่เขาทำแซงแชมป์โอลิมปิกได้ในสเตจภูเขาสุดท้ายของการแข่งขัน จากที่เขาตามคาราพาซ 3 วินาที เขาทำเวลาแซงกลับมาในสเตจนั้นนำห่างคาราพาซถึง 1:25 นาที และป้องกันระยะห่างนี้ไว้ได้โดยฮินด์ลีย์เสียเวลาให้คาราพาซในสเตจไทม์ไทรอัลสุดท้ายแค่ 7 วินาทีเท่านั้น

 

การเปลี่ยนแปลงของ Bora

จากสองปีก่อนที่เขาพ่ายแชมป์ Giro ให้กับเทโอ โกเกนฮาร์ท (Ineos-Grenadiers) ฮินด์​ลีย์ก็ย้ายสังกัดจากทีม Sunweb (ปัจจุบัน DSM) มาอยู่ Bora-Hansgrohe ที่เพิ่งผ่านพ้นยุคของการเป็นทีมของปีเตอร์ ซากาน ผันตัวมาเป็นทีมที่เปลี่ยนเป้าหมายจากแชมป์รายการคลาสสิคเป็นแชมป์แกรนด์ทัวร์ กับการจากไปของปีเตอร์​ ซากาน (และผองเพื่อน) พูดได้ว่า Bora-Hansgrohe เป็นทีมที่ “เปลี่ยน” เยอะที่สุดในบรรดาทีมดิวิชันหนึ่งทั้งหมด

ราล์ฟ เดงค์ ผู้จัดการใหญ่ทีม Bora ให้สัมภาษณ์เมื่อสัปดาห์ก่อนไว้ว่า “ไม่มีใครในโลกเข้าใจหรอกว่าทำไมเราไม่จ้างปีเตอร์ ซากานต่อ” สิ่งที่เขาอาจจะไม่ได้พูดในวันที่เขาตัดสินใจไม่ต่อสัญญาให้ซากานคือ การที่ทีม Bora-Hansgrohe ต้องการจะเปลี่ยนเป้าหมาย จากการเป็นแชมป์สนามคลาสสิค มาเป็นการคว้าแชมป์แกรนด์ทัวร์ให้ได้

และเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น ทีมเปลี่ยนนักปั่นออกยกแผง นักปั่นออกจากทีม Bora ไปร่วม 10 คน และได้นักปั่นหน้าใหม่เข้ามา 11 คน โดยแทบทั้งหมด เป็นนักปั่นประเภท GC และนักไต่เขา เพื่อฟอร์มทีมสำหรับคว้าแชมป์แกรนด์ทัวร์ หลายคนคนอ่าน Ducking Tiger ก็น่าจะรู้จักกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น อเล็กซานเดอร์ วลาซอฟ (จาก Astana) ที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำทีม Tour de France ในเดือนกรกฏาคมนี้, ไจ ฮินด์ลีที่ย้ายมาจาก Sunweb, เซอร์จิโอ ฮิกิต้า นักไต่เขาชาวโคลอมเบียที่ย้ายมาจาก EF Education First ทั้งสามคนมาเสริมทัพให้กับตัว GC เก่าของทีม ทั้งเอมมานูเอล บุคแมน (จบอันดับ 7 ใน Giro ปีนี้), เลนนาร์ด แคมนา (จบอันดับ 19), ถ้านับนักปั่นสายเขาในทีม Bora แล้ว ตอนนี้ก็บอกได้เลยว่าแทบจะไม่แพ้ทีมอย่าง Ineos, Jumbo และ UAE ตรงประเด็นนี้พวกเขาก็แสดงให้เห็นศักยภาพของ “รถไฟภูเขา รุ่น Bora” ในสเตจ 14 ที่เป็นเซอร์กิตเรซรอบเมืองตูริน (ฟอร์แมตคล้ายสนามชิงแชมป์โลกที่มีเขาเตี้ย ๆ ลูกสองลูกแล้วก็ลูปซ้ำ ๆ หลาย ๆ ที) ทั้งทีมขึ้นมาตั้งเพซเร็วและแรงตั้งแต่วนลูปรอบแรก ทำให้คนไม่ทันตั้งตัวแล้วพลาดกลุ่มหน้าหลายคน ตัวเต็งคนอื่น ๆ เสียเวลากันมากมาย เช่น แลนดา +36 วินาที (จากฮินด์ลี, คาราพาซ, และนิบาลี แค่สามคนที่ไม่เสียเวลาวันนั้น), วาลเวอเด้ +7’49”, และ กิลลอม มาร์ไทน์ +9’22” สองคนหลังนี่หมดสิทธิ์ลุ้นโพเดี้ยมก็วันนั้นที่ Bora ลากจนขาดกระจุยหมดนี่ล่ะครับ

อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ Bora-Hansgrohe เปลี่ยนเป้าหมายจากรายการคลาสสิคมาเป็นแกรนด์ทัวร์ ก็น่าจะมาจากแรงกดดันของสปอนเซอร์ ที่ตอนนี้เซ็นสัญญากับทีมยาวถึงปี 2024 ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะการได้แชมป์รายการอย่าง Giro d’Italia, Tour de France , และ Vuelta a Espana นั้นคนทั่วไปเข้าถึง รู้จัก และเข้าใจได้มากกว่าสนามคลาสสิคที่ไม่ได้รู้จักกันในวงกว้าง

ใครจะรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของทีมจะประสบความสำเร็จตามเป้าในเวลาไม่ถึงหกเดือน Bora เองจัดตัวนักปั่นต่างจากทีม GC อื่นๆ อยู่พอสมควร ตรงที่ทีมมีผู้นำหลายคนที่พร้อมจะช่วยกันทำผลงาน แต่ถ้าถึงเวลาต้องเจอทีม GC ที่นำโดยตัวแรงแค่คนเดียวอย่าง Jumbo-Visma และ UAE ทีมจะใช้นักปั่นชุดนี้ต่อกรอย่างไร? แทคติคนี้ไม่ใช่วิธีการใหม่ เพราะ Movistar เองก็ใช้มาตลอด สำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง แต่อย่างน้อยมันน่าจะทำให้เกม GC ใน Tour de France ปีนี้สนุกขึ้นแน่ๆ

 

Italian, Dutch, Belgian

นอกจากเรื่องของทีม Bora แล้ว นักปั่นอีกคนที่ทำผลงานได้ดีเยี่ยมก็คือแมทเทโอ โซเบรโร แชมป์ไทม์ไทรอัลจากอิตาลีจากทีม Bike Exchange ที่คว้าแชมป์สเตจสุดท้ายที่เป็นการแข่งไทม์ไทรอัล เรียกว่าเป็นการปิดสนามที่ดีเยี่ยมสำหรับแฟนๆ ชาวอิตาลี ซึ่งปีนี้นักปั่นชาวอิตาเลียนก็คว้าแชมป์สเตจไปถึง 5 สเตจ พอจะช่วยลบความผิดหวังที่ไม่มีนักปั่น GC อิตาเลียนติดโพเดียม ใกล้เคียงที่สุดเป็นวินเชนโซ นิบาลี (Astana) อดีตแชมป์สองสมัยที่คว้าอันดับ 4 overall และตัดสินใจรีไทร์เลิกแข่งหลังจบฤดูกาล 2022 นี้

อึกชาตินึงที่ทำผลงานได้โดดเด่นไม่แพ้กันคือเนเธอร์แลนด์ เริ่มจากแมธธิว แวน เดอ โพลล์ (Alpecin Fenix) ที่คว้าแชมป์สเตจแรกและครองเสื้อชมพูได้จนถึงสเตจ 4 ต่อจากนั้นเป็นคืน บาวมัน (TJVM) ที่คว้าแชมป์สเตจภูเขาต่ออีกสองสเตจ และจบรายการด้วยผลงานแชมป์เจ้าภูเขา

ไม่น้อยหน้าอิตาเลียนและดัทช์ ฝั่งเบลเยียมนำโดยทีม Intermarché-Wanty-Gobert ก็ป็นอีกหนึ่งทีมที่ทำผลงานได้ยอดเยี่ยม แม้ว่าจะเป็น WorldTeam หน้าใหม่ที่ขยับขึ้นมาจากระดับ ProTeam โดยซื้อลิขสิทธิ์การแข่งขันมาจาก CCC Pro Team ที่ยุบไป บิเนียม เกรอเมย์ นักปั่นจากเอริเทรียซึ่งเป็นดาวรุ่งของทีม ติด top-5 บ่อยมาก และสุดท้ายเขาก็ชนะจนได้ที่สเตจ 10 กลายเป็นชาวแอฟริกันผิวดำคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ชนะสเตจในแกรนด์ทัวร์ แถมได้การยอมรับและให้เกียรติด้วยนิ้วโป้งจากแมทธิว แวน เดอ โพล (AFC) ซึ่งได้ที่สองไปวันนั้น ก่อนจะโดนจุกคอร์กจากแชมเปญยิงตาซ้ายตอนพิธีฉลองชัย และต้องถอนตัวไปแบบอิหยังวะสุด ๆ

นับเป็นสามเหตุการณ์ใน 24 ชั่วโมงที่น่าจดจำอย่างมากของจิโรปีนี้ แต่แม้ว่าดาราของทีมจะไม่ได้แข่งต่อ ทีม IWG ก็แสดงให้ทุกคนเห็นว่า ทีมไม่ได้มีดีแค่บิเนียม เพราะ ยาน เฮิร์ต คว้าชัยให้ทีมได้อีกหนึ่งครั้ง ในสเตจ 16 จากการเบรคอเวย์ ซึ่งความพิเศษของสเตจ 16 นี้คือ เป็นสเตจที่ระยะไต่เขามากที่สุดของจิโรปีนี้ด้วย (เกือบ 5,300 เมตรในวันเดียว บ้าบอ) กลายเป็นทีมหน้าใหม่ที่ผลงานดีอันดับต้น ๆ ของตาราง WorldTeam ในปีที่ระบบตกชั้น-เลื่อนชั้นของ UCI (เหมือนฟุตบอล) จะถูกบังคับใช้เป็นครั้งแรกตอนสิ้นฤดูกาลนี้ ถ้าดูการจัดอันดับตอนนี้ จะเห็นว่า IWG นี่ลอยลำมาก ๆ

 

ฉากสุดท้ายของ Landismo?

อีกประเด็นที่น่าหยิบยกมาคุยกันคือ มิเคล แลนดา จบที่อันดับ 3 ของรายการ เจ็ดปีเต็มหลังจากที่เขาติดโพเดี้ยมแกรนด์ทัวร์ใด ๆ (จิโรปี 2015, อันดับ 3 เช่นกัน) แลนดา กลายเป็นกระแสไวรัลในโลกจักรยานเมื่อ 5 ปีก่อน ตอนที่เขาต้องเป็นผู้ช่วยให้ คริส ฟรูม ตอนปีสุดท้ายที่อยู่กับ Team Sky หลายครั้งเขาดูฟอร์มดีกว่าฟรูมซึ่งเป็นหัวหน้าทีม หลายครั้งที่เขาต้องชะลอเพื่อพยุงฟรูมให้จบสเตจยาก ๆ ด้วยเวลาที่ดีพอ แทนที่เขาจะได้โอกาสไล่ล่าชัยชนะของตัวเอง จนเป็นเหตุให้แฟน ๆ สร้างแฮชแท็กและแคมเปญขำ ๆ ว่า #FreeLanda (#ปล่อยแลนดา) เพื่อให้เขาได้ลองสร้างผลงานด้วยตัวเอง

ปีถัดจากนั้นเขาย้ายไป Movistar คนก็คาดหวังเต็มประดังว่าคนสเปนในทีมสเปน น่าจะได้ทำผลงานเสียที แต่ด้วยการบริหารแบบงง ๆ ของ Movistar เขาก็ต้องไปแย่งบทการเป็นพระเอกแข่งกับ ไนโร คินทานา, มาร์ค โซแลร์, และดาวค้างฟ้า อเลฮานโดร วาลเวอเด้ แทนอยู่ดี จนมาปีหลัง ๆ นี้ที่เขาย้ายทีมอีกทีมาอยู่ Bahrain-Victorious และได้รับบทผู้นำ GC ของทีมแต่เพียงผู้เดียวในจิโรปีนี้ พร้อมด้วยผู้ช่วยระดับหัวกะทิอย่าง เวาท์ พูลส์ อดีตมือขวาของ คริส ฟรูม นี่เป็นผลงาน GC ที่ดีที่สุดของเขาในรอบหลายปี ถึงจะปั่นได้ดีและอยู่แถวหน้าเกาะกลุ่มกับฮินด์ลีและคาราพาซได้ตลอด แต่แลนด้าดูไม่มีฟอร์มแชมป์ตลอดการแข่งขัน ก็น่าเสียดายว่าจบที่อันดับสาม พร้อมทั้งตำนาน #FreeLanda ซึ่งคงถึงบทสรุปแล้วในครั้งนี้

 

ริชาร์​ด และ Ineos

สำหรับริชาร์ด คาราพาซ​ แชมป์โอลิมปิกที่ดูลอยลำครองเสื้อชมพูตลอดช่วงท้ายการแข่งขัน แต่พลาดท่าให้ฮินด์ลีในสเตจรองสุดท้าย Ineos-Grenadiers เองไม่ได้ส่งทีมที่ดีที่สุดมาซัพพอร์ทคาราพาซ (คงเก็บไว้ใช้ใน Tour de France) คาราพาซเองก็ปั่นได้ไร้ที่ติตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้าย ขาดแค่จังหวะเดียวเขาตามฮินด์ลีไม่ได้ จริงๆ จุดนี้ค่อนข้างน่าคิด เพราะสภาพทีม Ineos ตอนนี้เอง ผมคิดว่าคาราพาซเป็นนักแข่งแกรนด์ทัวร์ที่ดูมีหวังที่สุด เพราะอีแกน เบอร์นาลยังพักฟื้นจากอุบัติเหตุร้ายแรงอยู่ แต่เก็เข้าใจได้ว่าทีมอาจจะสัญญาตำแหน่งใน Tour de France ให้กับเอซอีกสองคนไว้ (อดัม เยทส์และเกอเรนท์ โทมัส) ทำให้โยกคาราพาซมาลง Giro แทน

ผู้จัดการทีม Ineos กล่าวไว้ว่าทีมอยากเปลี่ยนภาพลักษณ์จากทีมที่พึ่งนักแข่งไม่กี่คนเพื่อเอาแชมป์แกรนด์ทัวร์กับสไตล์การแข่งแบบเดิมๆ ที่คาดเดาได้ง่าย มาเป็นทีมที่อยากฝากอนาคตไว้กับนักปั่นรุ่นใหม่ (เช่นอดัม) Ineos เป็นทีมที่เข้าสู่ปีที่ 12 ของการแข่งขันแล้ว แน่นอนว่าคงหวังพึ่งพิงนักปั่นรุ่นพี่ไม่กี่คนให้ทำผลงานไปตลอดไม่ได้ แต่โจทย์ที่สำคัญคือในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ทีมจะยังรักษาผลงานแชมป์แกรนด์ทัวร์ไว้ได้อย่างเคยหรือไม่? ตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา Ineos (Sky) ได้แชมป์หรืออย่างน้อยติดโพเดียมแกรนด์ทัวร์ติดต่อกันทุกปีอย่างน้อยหนึ่งรายการโดยที่ไม่มีปีไหนไม่เคยไม่ติดโพเดียมแกรนด์ทัวร์เลย ว่าตามตรงมันเป็นผลงานที่ไม่ธรรมดาเลยครับ ในขณะที่ทีมอื่นๆ แค่เพียงได้โพเดียมแกรนด์ทัวร์ก็เป็นความสำเร็จระดับสูงแล้ว และไม่สามารถทำได้ทุกปีเหมือน Ineos ด้วย

 

เดอมาร์และโลเปซ

Juan Pedro López

สองคนสุดท้ายที่ต้องพูดถึงคืออานอด์ เดมาร์ (FDJ) และฮวน เพโดร โลเปซ (Trek-Segafredo) คนแรกคว้าเสื้อเจ้าความเร็วใน Giro เป็นครั้งที่สองและเก็บชัยชนะสเตจไปสามครั้ง เป็นสปรินเตอร์ที่ผลงานดีที่สุดในปีนี้ ส่วนโลเปซนักไต่เขาชาวสเปนวัย 24 ปี คว้าแชมป์ Best Young Rider หลังจากครองเสื้อชมพูถึงสิบวันเต็ม และจบด้วยอันดับ 10 บนตาราง GC พอจะเห็นแววดาวรุ่งจากคนคนนี้อยู่ครับ

 

สรุป

Giro d’Italia ปีนี้ถึงเกม GC จะไม่ดุเดือดมากนัก แต่ก็เป็นการแข่งอีกสไตล์หนึ่งที่เราได้เห็นนักปั่น 3-4 คนที่ฟอร์มไล่เลี่ยกันจนมาเฉือนกันจริงๆ ในสเตจภูเขาวันสุดท้าย ขณะเดียวกันก็เป็นเวทีให้นักปั่นและทีมที่เราอาจจะไม่ได้เห็นหน้าเห็นตาได้สร้างผลงานและเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของโปรทัวร์ ทั้งแชมป์สเตจในแกรนด์ทัวร์ครั้งแรกของชาวเอริเทรียโดยบิเนียม เกรอเมย์ , ความสำเร็จของทีม Bora กับโจทย์ใหม่หลังยุคซากาน, แมธธิว แวน เดอ โพลล์และทีม Alpecin-Fenix ที่ผลงานทัดเทียมทีมดิวิชัน 1 ถึงแม้จะอยู่ดิวิชัน 2 ความยั่งยืนของมาร์ค คาเวนดิช ที่ชนะไปหนึ่งสเตจ และอเลฮานโดร วาวเวอเด้ ที่ยังจบด้วยอันดับ 11 Overall ในวัยเฉียด 42 ปี!

Viva Valverde!

 

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott