Giro d’Italia: ไตรมหากาพย์แห่งราชันย์ทางเรียบ (2)

การแข่งขัน Giro d’Italia ในปี 1921 Girardengo หลังจากที่พลาดหวังแชมป์ในปี1920  มาหมาดๆ จากการประสบอุบัติเหตุ ปี1921 ดูเหมือนว่า Girardengo กำลังจะกลับมาทวงคืนความยิ่งใหญ่ได้ในสี่วันแรกของการแข่งขัน

Girardengo สามารถชนะถึงสี่ช่วงสี่วัน  แต่ในการแข่งขันในช่วงที่ห้าหมอก็เข้าไปสังคยานากับอุบัติเหตุอีกครั้งในช่วงกิโลเมตรที่ 60 (37ไมล์) จากเส้นเริ่มต้น  อาการบาดเจ็บของ Girardengo ทำให้ความแข็งแกร่งถูกลดทอนไป จึงเป็นโอกาสทองของ Giovanni Brunero คู่แข่งสามารถคว้าชัยมาครองโดยเริ่มโจมตีหนีคู่แข่งในการแข่งขันช่วงที่เจ็ด  และ Brunero ก็คว้าแชมป์ Giro ประจำปี1921โดยควบศัสตราวุธคู่ใจทักทายกรุงมิลานโดยทิ้งคู่แข่งกว่านาท

ในปี 1922 เป็นการแข่งขันปีแรกที่เริ่มมีข้อถกเถียงในกติกาการแข่งขัน หลังจากการแข่งแบบตัวใครตัวมันพัฒนามาเป็นระบบทีม  ในช่วงการแข่งขันในวันแรก Brunero แชมป์เมื่อปีกลายเกิดปัญหาที่ล้อหลัง  หมอได้เปลี่ยนล้อกับเพื่อนร่วมทีมคือ Alfredo Sivocci ซึ่งถ้าเป็นการแข่งขันในปัจจุบันคงมิใช่เรื่องใหญ่โตและผิดกติกา  แต่ในสมัยนั้นนักปั่นระดับแชมป์อย่าง Costante Girardengo และ Gaetono Belloni จากทีม Maino และทีม Bianchi เห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่ยุติธรรมต่อนักปั่นคนอื่นๆ  นักปั่นในสมัยนั้นเห็นว่า Brunero จะต้องถูกตัดสิทธิ์ออกจากการแข่งขันทันที  แต่คณะกรรมการมีมติให้ทำโทษ Brunero ตัดเวลาออก 25 นาที  และ Brunero ก็สามารถคว้าชัยมาครองสำเร็จ  ในขณะที่สองคู่แข่งที่น่ากลัวได้ประท้วงด้วยการไม่ร่วมแข่งขันต่อ

giro his#15 

ในปี1923 เป็นการแข่งขันGiroอีกปีหนึ่งที่เป็นการตอกย้ำในศักดาของนักปั่นผู้แข็งแกร่งอย่าง Constante Girardengo หมอสามารถชนะจากแปดช่วงการแข่งขันจากสิบช่วง  และสามารถเก็บเกียรติประวัติคว้าแชมป์อีกสมัยโดยมีชัยชนะฉิวเฉียดเฉือน Giovanni Brunero เพียง 37 วินาที  ในปี1924 นักปั่นระดับแนวหน้าอย่าง Girardengo,Brunero และ Belloni ไม่ยอมเข้าแข่งขันเนื่องจากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในเรื่องค่าเหนื่อยจากการปั่น  เมื่อไม่มีสามเสือระดับแชมป์เข้าแข่งขัน  Giuseppe Enrici จึงแจ้งเกิดด้วยการพิสูจน์ในชัยชนะของเขาด้วยการมิใช่ต้องต่อสู้กับนักปั่นคนอื่นๆเท่านั้น แต่หมอจะต้องต่อสู้กับสภาพอากาศที่เลวร้ายที่Giroไม่เคยประสบมาก่อนอีกด้วย

มีสิ่งพิเศษเกิดขึ้นอีกอย่างใน Giro1924และถือได้ว่าเป็นประวัติศาสรต์สำคัญของโลกแห่งวงการจักรยาน  เมื่อมีนักปั่นแม่เนื้อนิ่มสาว Alfonsina Strada ลงร่วมแข่งขันกับนักปั่นชาย เธอสามารปั่นจบจบระยะทางแต่ตามหลังที่หนึ่งมาหนึ่งวันเต็มๆ Stradaเธอไม่ใช่ธรรมดาที่เดินออกจากร้านชำแล้วถกกระโปรงมาคร่อมอานจักรยานเลย Stradaเป็นนักจักรยานหญิงระดับอาชีพมีฉายาว่า The Devil in a Dress เป็นนักจักรยานทั้งประเภทถนนและลู่  ชนะการแข่งขัน  36 รายการ ปี1911 ทำความเร็วสถิติโลกที่ 37 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและในปี1938สามารถครองสถิติโลกด้วยเวลา 1 ชั่วโมงเธอปั่นได้ 32.58กิโลเมตร เธอเสียชีวิตลงเมื่ออายุ 69 ปีในอุบัติเหตุทางมอร์เตอร์ไซด์ที่เธอบิดตามชมการแข่งขันGiroในปี 1959

Giro d’Italia 1925-1935 ช่วงเวลาทองของ Alfredo Binda

ปี1925ของการแข่งขัน Giro เป็นปีแห่งการเกิดดาวเจิดจรัสดวงใหม่ของ Giro อีกดวงหนึ่ง  Alfredo Binda หลังจากกำชัยชนะมาถึงห้าช่วงของการแข่งขันและอยู่ในฐานะผู้นำ  Bindaหนีกลุ่มพร้อมกับนักจักรยานกลุ่มเล็กๆในขณะที่นักปั่นที่ยิ่งใหญ่อย่าง Girardengo ง่วนอยู่กับการปะยางรถจักรยานของตน  และ Binda ก็คว้าชัย Giroปี1925 เป็นผลสำเร็จ ปีต่อมามีนักจักรยานถึง 204 คนพร้อมกันที่จุดเริ่มต้นการแข่งขันในมิลาน  แต่เหลือรอดมาถึงเส้นชัยในช่วงสุดท้ายในมิลานเพียง 40 คน ในปีนั้นของช่วงการแข่งในวันแรกBinda ประสบอุบัติเหตุและสูญเสียเวลาไปมากโข แต่ Binda ก็ได้ Brunero ช่วยเหลือจนสามารถชนะการแข่งขันถึงหกช่วง  และส่งให้ Brunero ชนะการแข่งขันในปีนั้นนับเป็นชัยชนะ Giro ครั้งที่สามของ Brunero

ปี1927ไม่มีใครหยุดBinda ได้อีกแล้วเขาชนะการแข่งขันทั้ง 12 ช่วงของการแข่งขันGiroในปีนั้น และสถิตินี้ยังไม่มีใครทำลายได้จนถึงปัจจุบัน  มีเพียงCostante Girardengo เป็นคนแรกที่ชนะทุกช่วงการแข่งขันในปี1919แต่ช่วงการแข่งขันน้อยกว่า  ปี1928 คณะผู้จัดได้เพิ่มกติกาเข้ามาใหม่ให้ผู้ชนะช่วงการแข่งขันในแต่ละวันได้รับโบนัสเวลา 1 นาที  Binda เป็นเป็นนักปั่นคนที่สองที่เป็นผู้ชนะการแข่งขันGiro สามสมัย และในปีนั้นมีนักปั่นร่วมเข้าแข่งขันถึง 298 คน 126 คนสามารถฟันฝ่าอัปสรรคและระยะทางจนถึงกรุงมิลาน

giro his#14 

ปี1929 Binda ก็ประกาศศักดาอีกครั้งหลังจากที่คว้าชัย Giro มาสามสมัย Binda สามารถชนะถึง 8 ช่วงการแข่งขันที่เริ่มต้นการแข่งขันจากโรมมิใช่มิลาน  ปี 1930 Binda ไม่ลงแข่งขันด้วยเหตุผลแปลกๆเพราะมีการจ้างให้เขางดลงแข่ง Giro ในปีนี้ด้วยค่าจ้างเท่ากับผู้ได้รับชัยชนะคือ 22,500 ลีร์  ผู้ชนะในปีนั้นจึงตกเป็นของ Luigi Marchisio ที่ชนะมาสามช่วงการแข่งขัน  Marchisio เป็นนักปั่นที่สร้างประวัติศาสตร์ของGiroคือ เป็นนักปั่นอายุน้อยที่สุดที่คว้าชัยสำเร็จด้วยอายุ 21 ปี 1 เดือน 13 วัน สถิตินี้ยาวนานมาถึง 10 ปีจนถูกทำลายลงโดย Fausto Coppi

ปี1931หลังจากที่Giroได้เปิดสนามประลองยุทธ์ของจักรยานทางเรียบและอาจจะไม่เรียบในบางช่วงมาหลายปี  เสื้อแห่งเกียรติยศสีชมพูสำหรับนักจักรยานผู้มีคะแนนนำ มีเวลารวมน้อยกว่าคนอื่นหรือชนะเลิศประเภททั่วไป  ได้รับการ บรรจุเข้าในการแข่งขันGiroในปีนี้เอง  สีชมพูถูกเลือกมาเป็นสีเสื้อแห่งเกียรติยศเพราะหนังสือพิมพ์ La Gazzetta dello Sport นั้นพิมพ์บนเนื้อกระดาษสีชมพูนั่นเอง  Pink Jersey หรือ Maglia Rosaถูกสวมใส่โดยนักจักรยานคนแรกคือ Learco Guerra  ปี1932เป็นการกลับมาอีกครั้งของ Binda แต่เขาขาดความพร้อมที่จะเป็นแชมป์  Binda จึงลงแข่งขันในฐานะเพื่อนร่วมทีมโดเมสติคที่คอยช่วยเหลือ Antonio Pesenti ซึ่งในระหว่างการแข่งขันHermann Buse นักปั่นเยอรมันชนะไปสองช่วงการแข่งขันจากหกช่วง ทำเวลาไล่จี้มาอย่างน่ากลัว  แต่ในท้ายที่สุดPesenti ก็โซโลเดี่ยวเข้าเส้นชัยและทำเวลารวมมีชัยเหนือนักปั่นคนอื่นๆ

การจัดให้มีรางวัลสำหรับผู้ชนะที่ขึ้นถึงยอดเขาก่อนนักปั่นคนอื่นๆ (Moutains Classification) เริ่มนำมามอบให้นักจักรยานครั้งแรกใน Giro ปี 1933  รวมถึงรางวัลสำหรับประเภทการจับเวลาบุคคล (Individual Time Trial) ผู้จัดการแข่งขันยังมีมติให้ Giro แข่งเพิ่มขึ้นเป็น 17 ช่วงการแข่งขัน  พอมีการมอบเสื้อผู้ชนะจ้าวภูเขาBinda ก็สามารถคว้าไปครองทั้งเสื้อผู้ชนะเวลารวมและจ้าวภูเขาไปครองโดยนับเป็นนักจักรยานคนแรกที่ชนะการแข่งขัน Giro ถึงห้าสมัย  ปี1934 Learco Guerra ชนะช่วงการแข่งขันถึงสิบช่วงในการแข่งขันของกฎใหม่คือ สิบเจ็ดช่วง หลังจากที่ Binda ประสบอุบัติเหตุต้องออกจากการแข่งขันหลังจากถูกมอเตอร์ไซด์ตำรวจพุ่งชน  Francesco Camusso กลับกลายมาเป็นคู่ต่อสู้ที่น่ากลัว  นักปั่นทั้งคู่ถนัดในการแข่งขันคนละแบบ  ในขณะที่ Camusso เป็นเสมือนแพะภูเขาส่วนในขณะที่ Guerra เป็นนักจักรยานที่ใช้ความเร็วสูง  แม้ Guerra จะถูกทิ้งห่างในช่วงการปั่นขึ้นเขา  แต่ในการแข่งขันช่วงจับเวลาบุคคล Guerra ก็ควบจักรยานประชิดเวลาเข้ามาได้จนเหลือระยะห่างจาก Camusso เพียงสี่นาที การต่อสู้เส้นทางสู่มิลานที่เหลือทั้งคู่ต่อสู้แบบกัดกันไม่ปล่อย  และ Guerra ก็สามารถคว้าชัยชนะไปครองโดยมีเวลาน้อยกว่าที่สองเพียง 51 วินาที

 

Giro d’Italia 1936-1953 การชิงเป็นจ้าวตำนานระหว่าง Bartali และ Coppi

เมื่อมีการเมืองระหว่างประเทศร้อนแรงช่วงก่อนเกิดสงครามโลกเข้ามามีอิทธิพลในวงการกีฬา Giro1936 อิตาลี่ก็ไม่ได้เชิญนักปั่นจักรยานชาวต่างชาติเข้าร่วมการแข่งขัน ปีนี้คณะผู้จัดได้เพิ่มการแข่งขึ้นเขาด้วยการจับเวลาบุคคลเข้ามาด้วยระยะทางยาว 20 กิโลเมตร(12ไมล์)ขึ้นสู่ยอดเขาTerminillo  Gino Bartali โจมตีในช่วงขึ้นเขาในช่วงที่ 9 และนำโด่งเข้าเส้นชัยที่มิลาน  ปี1937คณะผู้จัดก็เพิ่มการแข่งขันแบบทีมจับเวลาเข้ามา  โดยกำหนดระยะทาง62 กิโลเมตร(39ไมล์)  และทีมที่ชนะคือ Legnano ก็เป็นทีมของBartali ที่ชนะประเภททั่วไปเป็นสมัยที่สองนั่นเอง หลังจากที่คว้าชัยGiro มาถึงสองสมัยรัฐบาลของอิตาลี่ได้ขอร้อง(แกมบังคับ)ให้Bartali ลงแข่งขันจักรยานในรายการTour de France แทนในปี1938  ส่งผลให้ผู้ชนะGiro กลายเป็นGiovanni Valetti ที่ทำเวลาทิ้งคู่แข่งคือ Ezio Cecchi ไปเก้านาที

giro his#12

หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองระเบิดขึ้นเป็นปีที่สอง  การแข่งขันจักรยานทางไกลของอิตาลี่ก็ยังไม่มีการระงับ  Bartali กลับมาด้วยความพร้อมทั้งตัวเองและทีมหินผา Legnano และแล้วเหมือนฟ้าลิขิตให้เกิดดาวดวงใหม่  ความฝันของ Bartali ก็พังทลายเมื่อหมอประสบอุบัติเหตุในช่วงที่สอง  ส่งผลให้หน้าที่ที่จะต้องคว้าชัยมาให้กับทีมให้ได้ต้องเปลี่ยนมือตกไปอยู่กับ Fausto Coppi ที่ถูกทีมวางตัวให้เป็นผู้กำชัยแทน  ในช่วงการแข่งขันที่สิบเอ็ด Coppi โจมตีกลุ่มนักจักรยานแหวกลมแหวกเนินขึ้นเขา Abetone ไปตามลำพัง  และหมอก็โซโลเดี่ยวแบบปั่นคนเดียวไร้เพื่อนไปจนถึงเมืองมิลาน  ดาวดวงใหม่แห่งวงการจักรยานนอกจากคว้าชัยชนะเป็นหนแรกของ Giro แล้ว Coppi ยังเป็นนักจักรยานที่มีอายุน้อยที่สุดที่สามารถชนะรายการแกรนทัวร์ของอิตาลี่ได้ คือ อายุ 20 ปี 8 เดือน กับอีก 25 วันทำลายสถิติที่ Luigi Marchisio ทำไว้ ส่วนBartali ถึงจะลงวัดพื้นแต่หมอก็ไม่กลับบ้านมือเปล่า  เพราะการชนะสองช่วงภูเขาใกล้กรุงมิลาน  ทำให้ Bartali คว้าเสื้อจ้าวภูเขาไปครอง  ปี 1942 อิตาลี่เข้าร่วมสงครามโลกโดยอยู่ฝ่ายอักษะเป็นพันธมิตรกับเยอรมัน Coppi ถูกเกณฑ์ทหารและส่งไปรบที่ตูนีเซีย  ส่วน Bartali ถูกส่งไปประจำการที่วาติกัน ช่วงเวลาสงครามโลกทำให้รู้เลยว่าคนยุโรปนั้นคลั่งกีฬาจักรยานทางไกลมากแค่ไหน แม้แต่จอมเผด็จการอย่างเบนนิโต มุสโสลินีของอิตาลี่ก็ยังอยากให้คงการแข่งขันจักรยานไว้แม้ประเทศจะเผชิญกับสภาวะสงคราม  แต่ในสภาวะสงคราม อาหาร น้ำมัน ยานยนต์และยุทธปัจจัยอื่นๆ  ไม่สามารถนำมาใช้อย่างสิ้นเปลืองกับการแข่งขันจักรยาน รัฐบาลจึงปรับเปลี่ยนการจัดการแข่งขันจักรยานแบบแบ่งเป็นช่วง  มาเป็นการแข่งขันแบบวันเดียวและมอบคะแนนสะสมให้กับผู้ชนะ  จึงเป็นที่มาของการแข่งขัน Milan-San Remo และ Giro di Lombardia  การให้คะแนนสะสมแบบใหม่ (Point Series) ผู้ได้รับชัยชนะคนแรกคือ Gino Bartali ในปี 1942   ถัดมาปีเดียว 1943 เป็นปีที่กองทัพสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่ซิซิลี และมุสโสลินีเองก็ถูกโค่นอำนาจลงทำให้การแข่งขันจักรยานทั้งหมดในประเทศอิตาลี่ต้องยุติลงชั่วคราว

ปี 1946 หลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบ Giro ก็กลับมาสู่อ้อมอกของชาวอิตาเลี่ยนอีกครั้ง มาคราวนี้ก็เกิดความคิดแผลงๆขึ้นมาคือ คณะผู้จัดใจร้ายที่กำหนดเสื้อดำขึ้นมา (Black Jersey, Maglia Nera) มีไว้ (ประจาน) สำหรับนักปั่นที่มีเวลารวมช้าที่สุดในการแข่งขัน  Bartali และ Coppi กลับมาแข่งขันอีกครั้งแต่แยกย้ายไปคนละทีม  ในการแข่งขันGiro1946 ช่วงการแข่งขันที่12เส้นทางจะต้องผ่านPieris มีชาวยูโกสลาฟที่กำลังมีพิพาทพรมแดนกับอิตาลี่ได้ระดมปาหินและระดมยิงปืนมาที่ทหารรักษาการณ์ของกองทัพอิตาลี่  ทำให้การแข่งขันในช่วงนี้ต้องถูกยกเลิกลง Bartali กลับมาเป็นผู้นำในช่วงที่สิบสาม  ถึงแม้จะไม่ชนะช่วงการแข่งขันเลย แต่เวลารวมและการเป็นจ้าวภูเขาทำให้หมอกวาดไปทั้งสองรางวัลใหญ่

ปี1947 Giro ได้ปรับเปลี่ยนระบบทีมธรรมดาๆมาเป็นทีมที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภาคเอกชนอย่างเต็มรูปแบบ  ในปีนี้เป็นการต่อสู้ของเสือร้ายสองตัวแบบชิงไหวชิงพริบ ทั้ง Coppi และ Bartali ผลัดกันนำและผลัดการโจมตี  โดยมีอุปสรรคคอยขวางกั้นคือ โซ่หลุดและยางแบน แต่ในท้ายที่สุดไม่มีใครหยุด Coppi ไว้ได้ Coppi โจมตีเป็นครั้งสุดท้ายที่ Passo Pordoi และเก็บเวลารวมนำห่างBartali จนถึงกรุงมิลาน    ปี1948 ผลการแข่งขัน Giro ก็เกิดความสูสีกันอีกครั้ง Fiorenzo Magni ชนะEzio Cecchi เพียง 11 วินาที  มีการร้องเรียนจากCoppi และทีม Bianchi ว่า Magni ทำผิดกติกาเพราะได้รับความช่วยเหลือจากคนดู  คณะกรรมการตัดสินให้ถูกปรับไปสองนาทีแต่มันก็ยังไม่พอที่จะหยุดยั้งในชัยชนะของMagni ไว้ได้

giro his#11

Giro 1949 Coppi กลับมาอีกครั้งโดยตั้งเป้าว่าจะต้องชนะในการแข่งขันในปีนี้ให้ได้ หลังแข่งไปได้ 9 ช่วง Coppi ตามห่างผู้นำ Adolfo Leoni อยู่สิบนาที  และในช่วงที่สิบ Coppi ก็ควบม้าศึกไล่ผู้นำจนเหลือหนึ่งนาที  หนึ่งในตำนานการแข่งขัน Giro ก็เกิดขึ้นในการแข่งขันช่วงที่ 17 Coppi โจมตี (เร่งความเร็วหนีนักปั่นคนอื่นๆ) ตั้งแต่เริ่มปล่อยตัวและต้องเผชิญกับขุนเขาถึงห้าลูกรอเขาอยู่  Coppi สามารถเข้าเส้นชัยโดยมีเวลาทิ้งผู้เข้าที่สองอยู่สิบเอ็ดวินาทีคว้าชัยการเป็นแชมป์ Giro เป็นครั้งที่สามในอาชีพนักปั่น  ปี1950 Coppi ลงแข่งขันเช่นเดิมพร้อมกับความมุ่งมั่นที่จะเก็บชัยชนะ  แต่เป็นอีกปีที่สิงห์ผยองต้องบาดเจ็บ ในช่วงที่เก้า Coppi ก็ลงวัดพื้นอย่างแรงจนกระดูกเชิงกรานแตก  ในการแข่งช่วงแรกๆ Fritz Schar มีเวลารวมนำ แต่ Hugo Koblet โจมตีตามมาจนมีเวลารวมนำจนถึงกรุงมิลาน  และนั่นเป็นประวัติศาสตร์การแข่งGiroที่ถูกจารึกไว้ว่ามีนักปั่นจากต่างชาติคนแรกที่ชนะการแข่งขันทั้งประเภททั่วไปและประเภทจ้าวภูเขา

ผ่านไปสามปีหลังจากเก็บชัยชนะ Giro Fiorenzo Magni ก็กลับมาทวงคือตำแหน่งแชมป์อีกครั้ง ปี 1951 นักปั่นระดับพระกาฬหายหน้าไปเป็นจำนวนมาก  ที่จะดูพอวัดรอยเท้ากันได้ก็จะมีเพียงนักปั่นจากเบลเยี่ยม Rik Van Steenbergen ซึ่งหมอปั่นได้อย่างน่าทึ่งในช่วงผ่าน Dolomites  Magni ทำได้สุดยอดในการถลาลงเขาในช่วงที่ 18 และคว้าชัยไปในที่สุด ปี 1952 เป็นปีที่มีนักปั่นเสียชีวิต Orfeo Ponsin ลงเขาที่ Merluzza มาอย่างความเร็วสูงจนสูญเสียการควบคุมรถจักรยานและชนเข้ากับต้นไม้ข้างทางอย่างจัง  Coppi กลับมาอีกครั้งและโจมตีกลุ่มที่ Passo Pordoi จากนั้นหมอก็ปั่นเดี่ยวกับสิบช่วงการแข่งขันที่เหลือคว้าชัยไปอย่างไร้คู่แข่งหายใจรดต้นคอ

ปี 1953 นักปั่นสวิส Hugo Koblet ทำท่าว่าจะครองแชมป์เป็นปีที่สองได้ไม่ยาก หลังจากการแข่งขันแบบปล่อยเดี่ยวจับเวลาในช่วงที่แปด   Koblet มีเวลารวมนำ Coppi จนถึงช่วงที่ยี่สิบ แต่ในช่วงที่ยี่สิบเอ็ดความซวยก็บังเกิดกับนักปั่นสวิส Koblet ได้ทานยาแอมเฟตามีนเข้าไปเป็นจำนวนมากในคืนก่อนแข่งในช่วงที่สิบเอ็ดจนอาการอ่อนเพลียเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด Coppi เมื่อได้ข่าวการใช้ยาเกินของคู่แข่ง  ก็มั่นใจพอที่จะเอาชนะคู่ต่อสู้ได้และ Coppi ก็สามารถชนะไปสองนาทีหลังจากที่ตามหลังอยู่  ทำให้ Coppi สร้างประวัติศาสตร์แห่งเกียรติยศนักจักรยานอาชีพคือ สามารถชนะ Giro ได้ถึงห้าสมัย

แปลและเรียบเรียงโดย: จำปี

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

1 comment

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *