รีวิว: 5 หมวกแอโรที่น่าสนใจที่สุดชั่วโมงนี้

ยุคนี้เวลาไปซื้ออะไหล่จักรยานที่ไหนเรามักได้ยินคำว่า “แอโร”​ ไม่ว่าจะเป็นเฟรมจักรยานหรือชุดปั่นยันรองเท้า ต่างต้องมีคีย์เวิร์ดแอโรเข้ามาแทรกให้เรารู้สึกว่าของที่มีอยู่มันช้า มันล้าหลังได้เสมอ

คำว่าแอโร นี้ย่อมาจาก แอโรไดนามิก แปลตรงตัวว่าอากาศพลศาสตร์ แต่ในเชิงประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์ต่างๆ เราหมายถึง “ความลู่ลม”​

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? ในการปั่นจักรยานให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้านั้น 80% ของแรงที่เราต้องออกต้านก็คือการแหวกอากาศนั่นเองครับ เช่นนั้นแล้วอุปกรณ์ใดๆ ก็ตามที่ช่วยลดแรงต้านอากาศ จะทำให้เราออกแรงปั่นน้อยลง โดยที่ยังได้ความเร็วเท่าเดิม เบาแรงกว่าเดิมนั่นเอง เหตุผลที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนจักรยานหันมาโหมประโคมแอโรไดนามิกกันก็เพราะว่าการทดสอบความลู่ลมทำได้ง่ายขึ้นและใช้มีใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น

เมื่อเทียบเงินที่ต้องจ่ายต่อความลู่ลมแล้ว หมวกกันน็อคจักรยานเป็นของที่จ่ายเงินอัปเกรดน้อยที่สุดแต่ได้ผลมากที่สุด เทียบกับล้อ เฟรมหรือชุดปั่น เพราะประหยัดแรงได้อย่างเป็นนัยสำคัญ (5-8 วัตต์ เทียบกับหมวกกันน็อคธรรมดาๆ ที่รูระบายอากาศเยอะๆ)

แต่ใช่ว่าลู่ลมที่สุดแล้วจะดีทีสุดเสมอไป เพราะหมวกกันน็อคไม่ได้มีไว้แค่ลู่ลม แต่จะเป็นหมวกที่ดีต้องระบายอากาศได้ดี ไม่อมความร้อน น้ำหนักเบา และปลอดภัยด้วย

วันนี้ Ducking Tiger รีวิวทดสอบหมวกกันน็อคแอโร 5 รุ่น มีทั้งรุ่นที่เพิ่งเปิดตัวและรุ่นที่ลงตลาดมาสักพักแล้ว ทั้งที่ถูกและแพง หมวกที่ส่งเข้าประกวดประกอบด้วย HJC Furion, Specialized Airnet, Lazer Bullet, Bilmola AR-1 และ Giro Vanquish MIPS

Note: ขนาดศีรษะผู้ทดสอบ เส้นรอบวง 58cm

1. HJC Furion

ราคา: 6,800 บาท

ในฐานะหนึ่งในผู้ผลิตหมวกมอเตอร์ไซค์รายใหญ่ที่สุดในโลกจากเกาหลีใต้ HJC มีชื่อเสียงมายาวนานแต่เพิ่งกระโดดมาร่วมวงหมวกจักรยานเมื่อปลายปีที่แล้วนี่เอง และเปิดตัวแรงด้วยหมวกแอโร HJC Furion ที่ผ่านการทดสอบในอุโมงค์ลม

เจ้านี้เคลมว่าหมวกเขาเร็วไม่แพ้หมวกแอโรคู่แข่ง, ระบายอากาศได้ดี และที่สำคัญ เบากว่าหมวกแอโรแทบทุกใบในตลาดที่น้ำหนัก 190-220g เท่านั้น

ฟิต / ความสบาย

ภายในหมวกเป็นทรงรี ใส่แล้วหมวกบีบหัวเล็กน้อยตรงด้านหลังเยื้องจากกลางศีรษะไปประมาณ 2-3cm ด้านหน้าไม่บีบ แนะนำว่าก่อนซื้อลองสวมก่อนก็ดี

คุณภาพงาน

หมวก Furion ที่เราได้มาทดสอบเป็นสีดำด้าน งานโดยรวมเนี้ยบใช้ได้ สติกเกอร์โลโก้ดูแน่นหนา ระบบปรับกระชับคุณภาพดีดูทนทาน

น้ำหนัก

เบาที่สุดในบรรดาหมวกที่ทดสอบ แต่ยังเกินน้ำหนักที่เคลม ไซส์ S/M เคลม 210g แต่ชั่งจริงหนัก 220g

คุณภาพฟองน้ำ

ฟองน้ำที่ใช้ในหมวก HJC Furion เป็นของบริษัท Polygiene ซึ่งเคลมว่าไม่สะสมเหงื่อ ไม่อับ ไม่เก็บเชื้อแบคทีเรีย ตัวเนื้อฟองน้ำสัมผัสดีและคุณภาพดีมาก ติดมาในหมวก 6 จุด

ระบายความร้อน

ถึง HJC จะเคลมว่าหมวกระบายความร้อนดีมาก แต่ใส่จริงก็ยังไม่ได้รู้สึกว่ามันเย็นสบายขนาดนั้นโดยเฉพาะในอากาศร้อนประเทศไทยครับ ด้านหน้าหมวกมีรูรับอากาศเข้าห้าช่อง ด้านหลังอีก 6 ช่อง ด้านบน 2 ช่องเล็กๆ ถ้าปั่นเร็วหน่อยจะรู้สึกว่าลมเข้าสะดวกดี แต่เวลาขี่ช้าหรือขึ้นเขาก็อมเหงื่อใช้ได้ ตามประสาหมวกแอโร

ช่องเก็บแว่น

จุดอ่อนของ HJC Furion คือไม่มีรูเสียบแว่นกันแดด คือรูน่ะมี แต่เสียบไม่ได้ครับ ขาแว่นมันจะติดหัว ไม่แน่ใจว่าหลายคนชอบเก็บแว่นบนหมวกหรือเปล่าแต่เป็นอะไรที่ผมใช้บ่อยและจะรำคาญมากถ้าต้องถอดแว่นแล้วไม่มีที่เสียบบนหมวก ถามว่าถอดตอนไหนบ้าง ก็เช่นตอนปั่นขึ้นเขาที่เหงื่อออกเยอะๆ หรือหากปั่นเช้าหรือเย็นก็อยากมีที่เก็บแว่นเวลาฟ้าเริ่มมืด

ของแถม

แพคเกจจิ้งหมวก Furion ทำมาดีมาก แถมถุงผ้าใส่หมวกเดินทางหนึ่งใบและฟองน้ำสำรองอีกหนึ่งชุด

* * *

2. Specialized Airnet

ราคา: 6,000 บาท

Specialized Airnet เป็นหมวกแอโรรุ่นประหยัดจากค่าย Big S รูปทรงเดียวกับ Specialized Evade แต่มีน้ำหนักมากกว่า และรูระบายอากาศเยอะกว่า Specialized อ้างว่าหมวก Airnet เร็วกกว่าหมวกทรงธรรมดาอย่าง Spe Prevail 21 วินาที แต่ช้ากว่า Evade 25 วินาทีในการปั่นระยะทาง 40 กิโลเมตร

ดูเผินๆ แล้ว Airnet ไม่เหมือกหมวกแอโรเท่าไร เพราะรูระบายอากาศเยอะมาก

ฟิต / ความสบาย

ฟิต Airnet เหมือนหมวกทั่วไป ใส่ง่ายไม่บีบข้างศีรษะ ถ้าใครใส่หมวก Specialized มาก่อนก็จะเป็นรูปทรงเดียวกันทั้งหมด ระบบปรับกระชับ ดึงให้ตัวล็อคต่ำหรือสูงได้

คุณภาพงาน

หมวกสีดำด้านของเราดูเรียบๆ ธรรมดา ไม่ได้โดดเด่นหรือมีตำหนิ สายรัดคาง ระบบล็อกปรับกระชับต่างๆ อยู่ในมาตรฐานราคานี้

น้ำหนัก

Specialized เคลมน้ำหนัก 314 กรัม แต่ชั่งจริงหนักแค่ 289 กรัม สมดุลน้ำหนักทำได้ดี ไม่รู้สึกว่าหนักหัวครับ

คุณภาพฟองน้ำ

เป็นจุดเด่นของ Airnet เพราะใช้ฟองน้ำเป็นเมอริโน นิ่มสบายไม่อมเหงื่อ

ระบายความร้อน

ดีที่สุดในบรรดาหมวกทั้งห้าใบนี้ ไม่น่าแปลกใจเพราะมีรูระบายอากาศเยอะที่สุด ใส่แล้วก็ฟีลคล้ายๆ หมวกธรรมดาที่ไม่ใช่หมวกแอโร

ช่องเก็บแว่น

เก็บแว่นได้ปกติ แถมมีลูกยางบากร่องมาให้ด้วยทั้งรูเสียบแว่นด้านหน้าและด้านหลังหมวก ไม่ต้องกลัวแว่นหล่น ต้องบอกว่าคิดมาดีครับ และขาแว่นไม่ติดหัวด้วย

ของแถม

ได้ฟองน้ำสำรองหนึ่งชุด และฟองน้ำหน้าหมวกที่มีหมวกแก็ปเล็กๆ ติดมาใช้บังแดด น่าจะเหมาะสำหรับคนชอบปั่นกลางแจ้ง โดยที่ไม่ต้องใส่หมวกแก็ปจักรยานซ้อนข้างในให้อมเหงื่อ

* * *

3. Lazer Bullet

ราคา: ยังไม่เปิดตัว

Lazer Bullet เป็นหมวกแอโรจากทางฝั่งเบลเยียม ออกแบบให้เป็นหมวก all in one ใช้ได้ทุกสถานการณ์ แม้แต่ในสภาวะอากาศร้อน บริเวณตรงกลางหมวกมีสิ่งที่เรียกว่าระบบ “Airslide” คือเราสามารถเลื่อนเปิดปิดรูระบายอากาศได้นั่นเองครับ ถ้าอยากทำความเร็วจัดไม่อยากเสียแรงก็ปิดรู แต่ถ้ากลัวร้อนก็เลื่อนมันขึ้น

จากการทดสอบในอุโมงค์ลม Lazer อ้างว่าหมวก Bullet เซฟแรงได้ 7 วัตต์ที่ความเร็ว 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และถ้าลุกสปรินต์จะประหยัดได้ถึง 10 วัตต์เลยทีเดียว

ฟิต / ความสบาย

หมวกเป็นทรงรี ฟิตค่อนข้างกระชับ แต่ไม่บีบหัว รวมๆ แล้วได้ลุคที่ดูเรียวซิ่ง ที่สำคัญมีให้เลือกถึง 4 ไซส์ มากกว่าหมวกอื่นๆ ในรีวิวนี้

คุณภาพงาน

ปกติไม่โดดเด่นเป็นพิเศษ ระบบ Airslide เลื่อนขึ้นลงยากนิดนึง ปรับยากเวลาปั่น

น้ำหนัก

เคลม 315 กรัม ชั่งจริง 309 กรัม ในไซส์ S

คุณภาพฟองน้ำ

ธรรมดาเมื่อเทียบกับ HJC/ Specialized

ระบายความร้อน

ถึง Lazer จะเคลมว่าเป็นหมวกที่ใช้ได้ในทุกสภาพอากาศ แต่ก็ยังให้ฟีลอบๆ ของหมวกแอโร ถึงเราจะเปิด Airslide เลื่อนขึ้นสุดก็ตาม (ถ้าปั่นในเมืองหนาวคงไม่มีปัญหานี้) ทำได้ดีกว่า Furion แต่ไม่เท่า Airnet ถ้าต้องไต่เขานานๆ น่าจะอบใช้ได้

ที่ดีหน่อยคือมีรูระบายอากาศด้านข้างของหมวกด้วย ทำให้รับลมได้มากกว่าแค่ด้านหน้าทิศทางเดียว

ระบบ Airslide จริงๆ มีฝาปิดให้เลือกสามแบบ แบบที่ไม่มีรูระบายอากาศเลย มีรูปานกลาง และมีรูมากแล้วแต่จะเลือกใช้

ช่องเก็บแว่น

ใบนี้เจอปัญหาเดียวกับ HJC คือ มีรูให้เสียบ แต่เสียบขาแว่น แต่เสียบไม่ได้เพราะรูอยู่ต่ำ บวกกับหมวกที่เป็นทรงรีแคบทำให้ขาแว่นเสียบหน้าผากพอดี

ของแถม

มีถุงใส่หมวก แต่ไม่มีฟองน้ำสำรอง

* * *

4. Bilmola AR-1

ราคา: 2,950 บาท

Bilmola หมวกจักรยานแบรนด์ไทยราคาโคตรประหยัดที่ DT เคยรีวิว/แจก รุ่นธรรมดา ST-1ไปแล้ว รอบนี้ Bilmola ส่งรุ่น AR-1 หมวกแอโรแบบมีชิลด์มาให้เราทดสอบกัน

หมวก AR-1 ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย CE EN 1078 เช่นเดียวกับหมวกทุกรุ่นในรีวิวนี้ เพราะงั้นไว้ใจได้เรื่องความปลอดภัย แต่ด้วยที่ไม่ได้มีงบการตลาดมากนัก Bilmola ไม่ได้เคลมอะไรเป็นพิเศษครับ

ฟิต / ความสบาย

ฟิตหมวกใส่ง่ายไม่บีบไม่รัด แต่ด้วยที่เป็นหมวกราคาประหยัด AR-1 จะมีแค่ลูกบิดปรับความกระชับ แต่จะดึงตัวปรับรัดขึ้น/ลง เหมือนหมวกใบอื่นๆ ไม่ได้ (ถามว่าการเลื่อนตัวปรับขึ้นลงจำเป็นแค่ไหน ก็ไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น แต่ผู้หญิงที่เก็บผมในหมวกอาจจะติดตำแหน่งลูกบิด)

คุณภาพงาน

โดยรวมงาน finishing งานสี งานสติกเกอร์ดีไม่แพ้หมวกคู่แข่งใบอื่นๆ ครับ เป็นจุดเด่นของ Bilmola มาตั้งแต่รุ่น ST-1 ที่ทำงานได้เนี้ยบเกินราคา ระบบล็อกคางใช้แม่เหล็ก Fidlock ทำให้ถอดหมวกได้ง่ายๆ ด้วยมือข้างเดียว

น้ำหนัก

Bilmola เคลมน้ำหนักพร้อมชิลด์ 370 กรัม แต่เราชั่งจริงหนัก 317 กรัมเท่านั้น ถ้าถอดชิลด์ออกจะหนัก 280 กรัม ก็ถือว่าทำได้โอเคสำหรับหมวกแอโรที่แทบไม่มีรูระบายอากาศเลย

คุณภาพฟองน้ำ

แผ่นฟองน้ำของ Coolmax คุณภาพใช้ได้ ไม่มีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษ

ระบายความร้อน

อยู่ในเกณฑ์หมวกแอโรธรรมดา มีรูระบายอากาศด้านหน้าสี่รู ด้านหลังอีกสี่รูที่ใหญ่กว่าด้านหน้า ต้องปั่นเร็วๆ ถึงจะรู้สึกว่าลมไหลเข้าศีรษะ และร้อนพอสมควรเวลาปั่นขึ้นเขา แต่มีข้อดีตรงที่ชิลด์หน้าเจาะรูมาให้ด้วยสองรูทำให้ลมช่วยไหลผ่านเข้าได้เพิ่มอีก

ช่องเก็บแว่น

เป็นอีกใบที่เก็บแว่นลำบาก เพราะขาแว่นเสียบติดศีรษะเหมือน Lazer Bullet แต่การที่เขาให้ชิลด์กันแดดมาแล้วก็อาจจะไม่จำเป็นต้องใส่แว่นกันแดดของตัวเอง

ของแถม

ไม่มีถุงใส่หมวก หรือแผ่นฟองน้ำสำรอง แต่ Bilmola ให้ชิลด์มาถึงสองชิ้น เป็นเลนส์กันแดดสีดำหนึ่งชิ้น และเลนส์ใสสำหรับปั่นเช้า/เย็นที่แสงน้อยอีกหนึ่งชิ้น ตัวเลนส์กันแดดเคลมว่ากันรังสี UV และกันฝ้าด้วย เลนส์ค่อนข้างมืดเพราะงั้นใช้ตอนแสงจ้าๆ จะดีที่สุด

ชิลด์ยึดติดกับหมวกด้วยระบบแม่เหล็กซึ่งก็แน่นหนาดี

* * *

5. Giro Vanquish MIPS

ราคา: 7,990 บาท

มาที่ใบสุดท้าย เป็นใบที่มีอะไรให้พูดเยอะที่สุด เพราะ Giro เป็นหนึ่งในผู้ผลิตหมวกจักรยานที่เก่าแก่ที่สุดในวงการและมี R&D เยอะกว่าเพื่อน

Giro Vanquish MIPS เป็นหมวกแอโรเจนเนอเรชันที่สองของ Giro ต่อจากหมวก Giro Air Attack และได้มีการวิจัย ทดสอบผ่านทั้งระบบ CFD และอุโมงค์ลม และมันก็สะท้อนออกมาในรูปทรงของหมวกที่ดูไฮเทคทีเดียว

จะเห็นว่าด้านหลังของหมวกนั้นมีจุด “เหลื่อม”  ที่ระนาบไม่เท่ากับหน้าหมวก ช่วงหลังจะต่ำลงกว่าประมาณ 1-2mm ตรงนี้ Giro เรียกว่า aerodynamic cliff ซึ่งเคลมว่ามันช่วยให้ลมไหลผ่านได้เร็วและไม่เสียรูปการไหลของลมเหมือนหมวก Time Trial ทรงหางยาว โดยไม่จำเป็นต้องมีหาง

นอกจากนี้ยังเคลมว่าหมวก Vanquish ที่ไม่ได้ใส่ชิลด์ เร็วกว่าหมวกแอโรคู่แข่งอย่าง Met Manta 9 วินาที, เร็วกว่า Bontrager Ballista 10 วินาที และเร็วกว่า Giro Synthe MIPS ซึ่งเป็นหมวกทรงธรรมดาไม่แอโร 18 วินาที

ฟิต / ความสบาย

รูปทรงด้านในหมวกธรรมดาและใส่ง่าย หมวกเป็นทรงรีแต่ไม่บีบเข้าเหมือน Lazer หรือ HJC แต่ก็ทำให้หมวกมันดูอูมๆ อยู่ไม่น้อย แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นเป็นหัวเห็ด แนะนำว่าใส่ให้พอดีไซส์ อย่าใส่เกินเพราะมันจะดูใหญ่ตลก

ระบบลูกบิดปรับกระชับค่อนข้างแข็ง หมุนยาก แต่ก็ใช้งานได้ปรกติดี

ปัญหาหนึ่งที่ผมเจอคือ ตัวโครงสีขาวด้านในที่มีรูเล็กๆ ตามในภาพ มัน “กิน” เส้นผม (!!)

อาจจะเป็นเพราะผู้เขียนเป็นคนที่มีผมเส้นเล็ก เวลาใส่แล้วผมเข้าไปติดในรู จะถอดเข้าออกทีมันก็จะดึงผมด้วยทำให้เจ็บมาก แต่ลองให้เพื่อนที่ลักษณะเส้นผมไม่เหมือนกันทดลองใส่เขาก็บอกว่าไม่เจอปัญหานี้

คุณภาพงาน

Vanquish MIPS งานดีและเนี้ยบที่สุดในบรรดาหมวกที่เราทดสอบครั้งนี้ Finishing สีขาวด้าน ตัดกับท้ายหมวกสีเทากลอสที่เคลือบมาดูมีราคา ฮาร์ดแวร์ต่างๆ ทั้งโครงหมวกพลาสติกด้านใน ลูกบิดกระชับ ตัวล็อกดูทนทานและเคลือบสีมาดีมาก

น้ำหนัก

Giro เคลมน้ำหนัก 305 กรัม (ไม่ติดชิลด์) ชั่งจริงได้ 294 กรัม และถ้าติดชิลด์จะหนัก 345 กรัม ต่ำกว่าน้ำหนักที่อ้าง ใส่แล้วก็สมดุลดีไม่รู้สึกหนักศีรษะ

คุณภาพฟองน้ำ

คุณภาพใช้ได้ ไม่อมเหงื่อ แต่ก็ไม่ได้โดดเด่นเป็นพิเศษ

ระบายความร้อน

Vanquish MIPS เป็นหมวกแอโรที่เย็นที่สุดที่เราเคยใส่มา (ไม่นับ Airnet เพราะรายนั้นรูเยอะจริงๆ)

ด้านหน้าหมวกมีรูระบายอากาศ​ 4 รู แต่ถึงจะน้อยและเล็ก เรารู้สึกได้ถึงลมที่ไหลผ่านศีรษะต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่องอากาศทางซ้ายและขวาถึงจะปั่นด้วยความเร็วไม่สูงมากนัก

ถ้าส่องมองผ่านช่องระบายอากาศด้านหน้าจะเห็นว่ามันตรงกับรูด้านหลัง หลักการง่ายๆ คือลมไหลเข้าด้านหน้า ผ่านด้านบนศีรษะ (อากาศร้อนจะลอยตัวขึ้นสูง) แล้วลมเย็นนั้นก็ผลักอากาศร้อนให้ออกไปทางรูด้านหลัง ไม่แน่ใจว่า Giro ทดสอบมายังไงแต่ได้ผลดีทีเดียวครับ

ช่องเก็บแว่น

รูระบายอากาศด้านซ้ายกับขวาใช้เป็นช่องเก็บแว่นได้พอดีเป๊ะ ขาแว่นไม่เกี่ยวหรือชนหัว และสอดแว่นได้สุด

ของแถม

ไม่มีถุงผ้าและไม่มีแผ่นฟองน้ำสำรองมาให้ แต่หมวกมากับชิลด์กันแดด Carl Zeiss Vivid ซึ่งนอกจากจะช่วยกันแดดกันลมแล้ว Giro ยังเคลมว่าช่วยให้ลู่ลมเพิ่มขึ้นด้วยประมาณ 1.75 วัตต์ที่ความเร็ว 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เลนส์ Vivid นี่ใช้ดีครับ ตัดแสงสะท้อนได้ดี ไม่มืดจนเกินไปในสภาพแสงหลายๆ แบบทั้งตอนแดดจ้าและฟ้าปิด

ระบบแม่เหล็กที่ใช้ยึดกับหมวกก็แน่นหนาดี ไม่มีทางหลุดออกมาง่ายๆ ระหว่างปั่นแน่นอน พอมันไม่ติดกับใบหน้าเราเหมือนแว่นกันแดดก็ทำให้สบายดั้งกว่าด้วย โดยรวมแล้วผมชอบใส่ชิลด์มากกว่าแว่นกันแดด

อย่างไรก็ดี ลองให้เพื่อนที่เป็นคนท้วม หน้าอวบใส่ ปรากฏว่าชิลด์ติดโหนกครับ อันนี้ต้องทำใจเพราะแก้ไขอะไรไม่ได้จริงๆ คนตัวอวบ หน้าอวบควรลองก่อนซื้อ ไม่งั้นก็ต้องถอดชิลล์ใส่แว่นกันแดดตัวเอง

ปัญหาที่สองคือสำหรับคนที่ใส่แว่นปั่น ถ้ากรอบแว่นหนาจะใส่ชิลด์ทับไม่ได้ มันจะติดแว่น แต่ถ้าใช้แว่นกรอบบางเลนส์บางก็น่าจะพอใส่ได้ ต้องขอร้านทดลองก่อนจะดีกว่า

แล้วถ้าจะถอดชิลด์ออกชั่วคราวจะเอาไปไว้ไหน?

เราพลิกมันไปแปะไว้กับหมวกผ่านระบบยึดแม่เหล็กได้ แต่ต้องบอกว่าต้องเล็งตำแหน่งยึดให้แม่นๆ หน่อย หรือหัดใส่ให้ชิน ไม่งั้นมันจะติดแค่ข้างเดียว แล้วอาจจะหลุดได้ เวลาพลิกมาแปะไว้บนหมวกแล้วก็ไม่ได้บังช่องลมเท่าไร

อีกอย่างที่ได้ในหมวกนี้คือระบบ MIPS (Multi-directional Impact Protection System) พูดง่ายๆ คือ ช่วยซับแรงกระแทกเชิงบิด เขาเคลมว่าปลอดภัยกว่าหมวกที่ไม่มี ส่วนจะเชื่อไหมหรือเวิร์กแค่ไหนอันนี้ขอไม่ทดสอบดีกว่าครับ 555

* * *

น้ำหนักชั่งจริง

สรุป

น่าจะพอได้ไอเดียคร่าวๆ ว่าหมวกแต่ละตัวใช้งานเป็นยังไง หมวกที่ส่งมาให้เราทดสอบถึงจะเป็นหมวกทรงแอโรเหมือนกันแต่ก็มาในหลายระดับราคา ยากที่จะสรุปว่ารุ่นไหนดีที่สุด ถ้าจะให้สรุปคร่าวๆ ตามจุดเด่นแต่ละด้านก็จะได้ประมาณนี้ครับ

เบาที่สุด: HJC Furion

เย็นที่สุด: Giro Vanquish MIPS, Specialized Airnet

คุ้มราคาที่สุด: Bilmola AR-1

ลูกเล่นเยอะที่สุด: Lazer Bullet, Giro Vanquish MIPS

งานเนี้ยบที่สุด: Giro Vanquish MIPS

ประสิทธิภาพโดยรวมดีที่สุด: Giro Vanquish MIPS

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!