GCN x DT: ยืนปั่นหรือนั่งปั่นขึ้นเขาประหยัดพลังกว่ากัน?

หลายๆ คนชอบนั่งปั่นขึ้นเขาในขณะที่หลายๆ คนก็ชอบยืนโยก แม้แต่โปรระดับโลกเองก็มีความต่างในสไตล์การขึ้นเขาอย่างชัดเจน น้อยครั้งมากที่เราจะได้เห็นคาเดล เอวานส์, แบรดลีย์ วิกกินส์, คริส ฟรูมยืนขึ้นไต่เขา ในขณะที่อัลเบอร์โต้ คอนทาดอร์, และวินเชนโซ นิบาลิ ยืนปั่นจนเป็นเอกลักษณ์

วิดีโอล่าสุดจากช่อง GCN เขาลองทดสอบวิธีการปั่นขึ้นเขา ทดลองหาท่าปั่นที่ขึ้นเขาที่ประหยัดแรงที่สุด ระหว่างยืนปั่นและนั่งปั่น ไปทดสอบในห้องแล็บมหาวิทยาลัย Bath ที่อังกฤษครับ

วิธีการทดลอง

วิธีการทดสอบคือเปรียบเทียบค่า blood lactate อัตราการเต้นหัวใจ และอ๊อกซิเจนที่ใช้ในการนั่งปั่น เทียบกับยืนสลับนั่งทุกๆ 30 วินาที  (ทั้งสองการทดสอบใช้เวลา 10 นาที และให้นักปั่นพักเต็มที่ระหว่างการทดสอบ) ทดสอบบนเครื่องวิ่ง ที่ความยากประมาณความชัน 6% ความเร็ว 18 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

ค่าที่วัด

  • Blood lactate คือค่าความเข้มข้นของแลคเตตในเลือด แลคเตต คือของเสียที่เกิดจากการออกกำลัง และเป็นค่าที่บอกได้ดีว่าเราออกกำลังทั้งแบบแอนาโรบิกและแอโรบิกหนักขนาดไหน ยิ่งปั่นหนัก ค่าแลคเตตยิ่งเยอะ
  • Expired Gas คือปริมาณก๊าซออกซิเจนที่ใช้ในการทดสอบแต่ละครั้ง ถ้าการทดสอบไหนใช้อ๊อกซิเจนเยอะกว่าก็เป็นไปได้ว่าท่าปั่นนั้นๆ อาจจะใช้กำลังมากกว่า
GCN2

ข้อจำกัดการทดลอง

ไม่มีกระแสลม ไม่มีตัวแปรแวดล้อมอื่นๆ เช่นนักปั่นคนอื่นบนถนน สภาพความกดอากาศ​ สภาพถนน  และเป็นการจำลองปั่นขึ้นเนินแบบนิ่งๆ ความชันไม่มีการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ดี ตัวแปรอื่นๆ ที่ควบคุมได้ก็ถูกควบคุมจนหมด ซึ่งก็น่าจะเห็นภาพที่ค่อนข้างชัดระหว่างการออกแรงปั่นทั้งสองท่าครับ

 

ผลการทดลอง

  • อัตราการเต้นหัวใจ – สูงกว่าเวลาลุกขึ้นยืนปั่น แต่เมื่อเทียบระหว่างการทดสอบทั้งสองแบบ อัตราการเต้นหัวใจที่วัดได้ค่าเฉลี่ยเท่าๆ กัน
  • ปริมาณอ๊อกซิเจนที่ใช้ – ท่ายืนปั่นใช้ปริมาณอ๊อกซิเจนมากกว่าเล็กน้อย ในระดับจุดทศนิยม
  • ความเข้มข้นแลคเตตในเลือด – แลคเตตในเลือดมีความเข้มข้นน้อยกว่าระหว่างการยืนปั่น แต่ไม่มากจนเป็นนัยสำคัญ

 

สรุป

จากการทดลองพบว่าจะยืนปั่นหรือนั่งปั่นในลักษณะความชันต่อเนื่องแทบจะใช้กำลังไม่ต่างกัน ตามค่าอัตราการเต้นหัวใจ, ค่าแลคเตต และปริมาณอ๊อกซิเจนที่ใช้ การที่นักปั่นชอบยืนขึ้นปั่นนั้นมีหลายปัจจัยเช่นอาจจะได้ยืดเส้นยืดสาย เปลี่ยนกลุ่มกล้ามเนื้อที่ใช้ออกแรงปั่นไม่ให้ล้าจนเกินไป บางคนอาจจะออกแรงได้เต็มที่กว่าในการยืนปั่น อย่างไรก็ดีจะยืนปั่นได้มั่นคงก็ต้องมีช่วงลำตัวที่แข็งแรง และต้องอาศัยการฝึกพอสมควร GCN แนะนำว่าทุกคนควรหัดยืนปั่นและนั่งปั่น ไม่ควรยึดติดกับท่าที่ตัวเองชอบอย่างเดียว เพราะจะทำให้เราเป็นนักปั่นที่สมบูรณ์กว่า พร้อมเจอเส้นทางทุกรูปแบบครับ

Source: Should You Climb In Or Out Of The Saddle? GCN Does Science

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

1 comment

  1. ทุกครั้งที่ลุกโยก เห็นได้ชัดเลยว่าเหนื่อยกว่า ส่วนตัวนะคับ แต่ความเร็วก็เพิ่มมา แต่ไม่ได้สังเกตว่าถ้าความเร็วเท่ากันจะรู้สึกยังไง เลยคิดว่ามันเหนื่อยกว่ามาตลอดเลย

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *