ชัยชนะที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศ

ไม่ใช่ทุกวันที่ประเทศอย่างเอกวาดอร์ ประเทศเล็กๆ กับประชากร 17 ล้านคนที่อยู่ทางตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้จะเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในฐานะประเทศที่ชนะการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ

การที่ริชาร์ด คาราพาซ​นักปั่นชาวเอกวาดอร์วัย 24 ปีจากทีม Movistar คว้าแชมป์สนามแข่งจักรยาน Giro d’Italia (Tour of Italy) – 1 ใน 3 สนามแข่งจักรยานที่ใหญ่และทรงเกียรติที่สุดในโลก จึงเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ของเอกวาดอร์

คาราพาซเป็นนักปั่นเอกวาดอร์คนแรกที่ได้ครองแชมป์แกรนด์ทัวร์ และเป็นชาวอเมริกาใต้คนที่สอง รองจากไนโร คินทานา เพื่อนร่วมทีม Movistar ชาวโคลอมเบียที่ได้เป็นแชมป์ Giro d’Italia

ชัยชนะของคาราพาซได้รับการยกย่องให้เป็นผลงานระดับชาติที่เทียบเท่ากับนักกีฬาระดับตำนานคนอื่นๆ ของเอกวาดอร์ ไม่ว่าจะเป็น อัลเบอร์โต้ สเปนเซอร์ อดีตนักฟุตบอลกองหน้าชื่อดัง และเจฟเฟอร์สัน เพเรซ อดีตนักกีฬาเดินทนที่คว้าเหรียญโอลิมปิกให้เอกวาดอร์ได้สองครั้ง (และเป็นสองเหรียญโอลิมปิกเดียวที่ประเทศนี้เคยได้รับ)

เอกวาดอร์ไม่ใช่ประเทศที่โดดเด่นเรื่องกีฬาจักรยาน ผิดกับโคลอมเบียที่ทางรัฐบาลลงทุนให้จักรยานเป็นกีฬาประจำชาติ มีโปรแกรมช่วยเหลือนักปั่นเยาวชนหลากหลาย จนกลายเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมการปั่นที่แข็งแรง ผลิตนักกีฬาระดับโลกออกมาค้าแข่งในระดับสูงสุดหลายสิบคน ผิดกับเอกวาดอร์มีนักปั่นในระดับ WorldTour แค่ 3 คนเท่านั้น

จากนักปั่นที่เริ่มการแข่งขันในฐานะ “แผนสำรอง” ของทีม Movistar คาราพาซอาศัยความเป็นม้ามืดที่คู่แข่งมองข้าม ชิงทำเวลาแซงหน้าตัวเต็งของรายการได้หลายต่อหลายครั้ง บวกกับฟอร์มการปั่นที่ชัดเจนว่าแข็งแกร่งที่สุดในสนาม ทำให้เขาขึ้นนำรายการได้ตั้งแต่สเตจ 14 และรักษาเวลานำได้จนจบรายการ

ไม่ใช่แค่แฟนๆ จักรยานเท่านั้นที่ติดตามผลงานของคาราพาซ​ใน Giro d’Italia แม้แต่ประธานาธิบดีของประเทศ คุณ เลนิน โมเรโน ก็ได้กล่าวว่า “คาราพาซเป็นเสมือนฮีโร่ที่ช่วยทำให้หัวใจกว่า 17 ล้านดวงของชาวเอกวาดอร์ได้ชุ่มชื่นอีกครั้ง เขาทำให้คนทั้งโลกเห็นว่าประเทศของเราก็สามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้เช่นกัน​”

และไม่ใช่แค่คำชื่นชมส่งผ่านลมปากเพียงอย่างเดียว ปธน. โมเรโนสั่งการให้รัฐบาลเอกวาดอร์ ขอซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด Giro d’Italia จาก ESPN South America มาออกอากาศทางช่องฟรีทีวี เพื่อให้ผู้ชมทั้งประเทศได้ติดตามการแข่งขัน Giro d’Italia ในสองสเตจสุดท้ายแบบไม่ต้องเสียเงิน

เช้าวันที่ 3 มิถุนายน หนึ่งวันหลังจากที่คาราพาซคว้าแชมป์ Giro d’Italia เซบาสเตียน ปาลาซิโอ อดีตนักจักรยานชาวเอกวาดอร์ตีพิมพ์บทความในหนังสือพิมพ์ El Telegrafo เรียกร้องให้รัฐบาลเอกวาดอร์ช่วยลงทุนกับกีฬาจักรยานให้มากขึ้น:

“บางคนกล่าวว่ากีฬาเปลี่ยนชีวิต แต่ผมเชื่อว่ากีฬามีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงทั้งประเทศ”

“ชัยชนะของริชาร์ด (คาราพาซ) ได้ส่งมอบความสุขและความภูมิใจให้กับคนทั้งประเทศ​ มันเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องสานต่อแรงบันดาลใจนี้ให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา เราต้องหันกลับมามองและช่วยเหลือนักกีฬาที่มีความสามารถ หากแต่ไม่มีหนทางหรือฐานะที่จะทำให้เขาขึ้นไปสู่เวทีการแข่งขันระดับโลก”

“เราต้องพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยให้พวกเขาได้ฝึกฝนโดยไม่ต้องพะว้าพะวังกับเรื่องที่ไม่จำเป็น จัดหาทรัพยากรทุกประเภทที่จะช่วยพัฒนาพวกเขาให้เป็นนักกีฬาที่แข่งขันได้เต็มศักยภาพ ไม่ใช่แค่การพูดจาเท่ห์ๆ ลอยๆ ตามกระแส แต่ต้องแสดงให้ทั่วโลกเห็นด้วยการกระทำ”

“ผมหวังว่าผลงานของริชาร์ด จะกระตุ้นให้รัฐบาลเอกวาดอร์ให้ความสำคัญกับการกีฬายิ่งกว่าเดิม เราต่างรู้ถึงประโยชน์ของการออกกำลังกาย มันช่วยให้ประชาชนแข็งแรง ออกห่างยาเสพติดและอาชญากรรม รวมถึงสร้างวินัยและความอดทนให้ทุกๆ คน”

และดูเหมือนว่าทางรัฐบาลก็เห็นด้วยกับเสียงเรียกร้องจากภาคประชาชนเมื่อรับบาลเอกวาดอร์ประกาศว่าจะยกเลิกภาษีนำเข้าอุปกรณ์จักรยานทั้งหมด และกำลังวางแผนลงทุนพัฒนานักกีฬาทั้งจักรยานและกีฬาอื่นๆ มากขึ้นด้วย รวมถึงประกาศให้วันที่ 2 มิถุนยนของทุกปี (วันที่คาราพาซได้แชมป์รายการ) เป็นวันจักรยานแห่งชาติ

ถึงจักรยานทางไกลจะถูกจำกัดและกระจุกตัวอยู่แค่ในยุโรป แต่นักปั่นอย่างคาราพาซ​และไนโร คินทานา ก็แสดงให้เห็นว่านักปั่นจากชาติอื่นก็มีศักยภาพมากพอที่จะแข่งขันในระดับเดียวกับนักกีฬาจากยุโรปที่เติบโตมากับวัฒนธรรมการปั่นและการแข่งขันจักรยานหากได้รับการดูแลและสนับสนุนที่เหมาะสม

แม้แต่คาราพาซเองก็ไม่คิดว่าเขาจะขึ้นมาเป็นนักกีฬาที่คนทั่วประเทศจับตามอง เขาให้สัมภาษณ์:

“21 วันที่แล้ว ไม่มีใครเรียกผมว่าตัวเต็งสนามนี้ ไม่มีใครเชื่อว่าผมจะทำได้สำเร็จ การที่ได้มายืนตรงนี้ ในเสื้อผู้นำสีชมพู และมีชื่อผมสลักอยู่บนถ้วยรางวัล มันคือสิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นกับผมเลย” 

อ้างอิง: Cyclingnews

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!