ล้อ Oseous กับวิธีการแก้ปัญหาขอบเบรคคาร์บอนไหม้

เมื่อสองปีก่อนตอน DT ไปเดินชมงาน Taipei Cycle Show งานแสดงสินค้าจักรยานที่น่าจะใหญ่ที่สุดในเอเชีย ไปสะดุดตาเจอบูทนึง มีล้อคาร์บอนขอบสูงและขอบต่ำโชว์อยู่ด้านหน้าบูท แต่เห็นแล้วชอบครับเพราะเป็นล้อคาร์บอนที่ดูไม่เหมือนยี่ห้อไหนเลย ตรงที่ขอบล้อมันดันมีลวดลายเหมือนลายน้ำอะไรสักอย่างติดอยู่

สงสัยพอสมควรก็เลยเดินเข้าไปสอบถามดูว่านี่มันล้ออะไร มีอะไรดี ทำไมต้องทำลายแบบนี้? แบรนด์นี้ชื่อ Oseous เป็นบูทเล็กๆ สองคูหา มีผู้ชายนั่งอยู่สองคน

เข้าไปสอบถามก็พบว่าสองคนนี้เป็นพ่อลูกกัน คนพ่อชื่อคาร์ลอส (Carlos Tsai) และคนลูกชื่อแวกซ์ (Wax Tsai) พ่อลูกนี่ดูเป็นอะไรที่ต่างกันสุดๆ คนพ่อออกจะดูหัวโบราณ เนิบๆ นิ่งๆ แต่ดูภูมิฐานมากความรู้ แต่ลูกนี่มาแนววัยรุ่นสมัยใหม่ เดาว่าคงมาสืบทอดกิจการคนพ่อ

นั่งคุยกันสักพักก็ได้ฤกษ์ซักนู่นซักนี่ คาร์ลอสเล่าว่า Oseous (ออกเสียงออล-ซี-อัส) จริงๆ แล้วเป็นแบรนด์ล้อที่ลูกเขาอยากทำ แต่ตัวเขาเองคลุกคลีอยู่ในวงการจักรยานและวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์มานานกว่า 30 ปีแล้ว และลุงมีอะไรจะเล่าให้ฟังเยอะ เกี่ยวกับเรื่องล้อคาร์บอนนะ จะฟังไหมหละ?

ดูเวลาแล้วเราก็ไม่ได้รีบไปไหน ลองนั่งคุยก่อนละกัน เผื่อจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ

Oseous INterview-5

I. ผู้คิดค้นล้อแอโรจากเอเชีย

คาร์ลอสเป็นวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์คนแรกๆ ของไต้หวันที่เริ่มหันมาสนใจเทคโนโลยีการผลิตวัสดุคอมโพสิท หรือที่เรารู้จักกันว่าคาร์บอนไฟเบอร์เมื่อราวๆ 30 ปีก่อน ก่อนที่วงการจักรยานจะเริ่มใช้คาร์บอนอย่างจริงจัง

เขาเริ่มจากการออกแบบทำไม้เทนนิสคาร์บอนไฟเบอร์ให้แบรนด์ดังระดับโลก รวมไปถึงเทคโนโลยีการผลิตอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแผงโซลาร์เซลล์, เซมิคอนดักเตอร์, แขนหุ่นยนตร์, หน้าจอ LCD และเครื่องมือแพทย์ประเภทต่างๆ จนก่อตั้งเป็นบริษัทชื่อ Brainco Composite Inc ซึ่งดูแลด้านการผลิตสินค้าต่างๆ จากวัสดุคอมโพสิทเป็นหลัก

แต่สุดท้ายแล้วก็ยังวนกลับมาอยู่กับจักรยาน ก่อนที่จะทำล้อ Oseous ออกมา โรงงานของคาร์ลอสออกแบบและผลิตพวกคอมโพเนนท์อย่าง แฮนด์ สเต็มและหลักอาน รวมถึงเฟรมจักรยานให้กับแบรนด์อื่นๆ ในลักษณะธุรกิจแบบ OEM ด้วย เขาเล่าว่าในปี 1988 เขาเป็นคนแรกที่ผลิตล้อคาร์บอนแบบ tri/quad spoke (ล้อสี่ก้าน) เพื่อใช้ในการแข่งขันไตรกีฬา

fraser
พอลล่าเป็นแชมป์ Ironman หญิง 8 สมัยจากประเทศซิมบับเว

ตอนนี้แทบทุกคนรู้ว่าล้อก้านคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นสามก้านหรือสี่ก้านนั้นเป็นล้อที่ลู่ลมและประหยัดเวลาในการปั่นได้ดีที่สุด แต่เมื่อสามสิบปีก่อนมันถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก คาร์ลอสส่งล้อให้ Paula Newby Fraser นักไตรกีฬาหญิงชื่อดังในยุค 80s ได้ลองใช้และเธอก็ใช้มันคว้าแชมป์ Ironman หญิงได้สำเร็จในปีเดียวกัน ตั้งแต่นั้นมาเราก็ได้เห็นล้อคาร์บอนแบบก้านจากบริษัทชื่อดังไม่ว่าจะเป็น Zipp และ Hed ใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการจักรยาน

คาร์ลอสเล่าต่อว่า หลังจากที่ล้อก้านของเขาเป็นที่รู้จักจนนิตยสารไตรกีฬาและจักรยานชื่อดังของโลกมาขอสัมภาษณ์ ไม่นาน แบรนด์ใหญ่อย่าง Specialized ก็ติดต่อมาเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนไฟเบอร์สำหรับจักรยานใหม่ๆ ด้วยกัน แต่ด้วยที่กำลังผลิตและทรัพยากรของบริษัทเขายังจัดว่าเล็ก โปรเจ็คนี้เลยต้องตกไป

The Dad
Carlos Tsai

II. ปัญหาของล้อคาร์บอน

ล้อคาร์บอนขอบสูงมีจุดเด่นหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความลู่ลม น้ำหนักที่เบากว่าล้ออลูมิเนียมที่ความสูงเท่ากัน และความแข็งแรงทนทาน เรียกได้ว่าเหมาะสมกับการใช้งานในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันในระดับอาชีพหรือสมัครเล่นก็ตาม แต่โจทย์ที่ผู้ผลิตล้อตีไม่แตกสักที คือล้อคาร์บอนประเภทขอบงัด (clincher) นั้นไม่ทนความร้อนที่เกิดจากการเบรคเวลาเราปั่นลงเขาด้วยความเร็วสูง ขอบล้อมักจะบวมจากความร้อนสะสม เรซิ่นที่ใช้ในขอบล้อก็จะเริ่มเสียรูป ละลาย เสี่ยงต่ออาการยางระเบิด ยางปลิ้น ด้วยที่ตัววัสดุคาร์บอนไฟเบอร์นั้นไม่ใช่วัสดุที่กระจายความร้อนได้ดีเหมือนอลูมิเนียม เมื่อเรากดเบรคต่อเนื่องนานๆ ความร้อนที่เกิดจากผ้าเบรคเสียดสีกับขอบเบรคก็จะไปสะสมที่ขอบล้อจนเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น

carbon delamination
ซ้าย: ล้อคาร์บอนขอบงัดที่ระเบิดจากการใช้เบรคต่อเนื่องจนขอบล้อเกิดการ delaminate / ขวา: แรง 3 ทิศทางที่ล้อคาร์บอนขอบงัดต้องปะทะระหว่างการใช้งาน

เวลาเรากดใช้เบรค ล้อคาร์บอนขอบงัดคู่นึงนั้นต้องรับแรงกระทำถึงสามทิศทาง นั่นคือแรงดันลมในยางที่ดันออกด้านนอก, แรงเสียดทานระหว่างผ้าเบรคกับขอบล้อ, และแรงดันจากพื้นถนน

ฟังดูเรียบง่าย แต่จริงๆ เป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ยากมาก เมื่อความร้อนอมที่ขอบล้อ เรซิ่นก็จะเริ่มเสียรูปทำให้ล้อบวม พัง ลมยางที่ดันอยู่ระดับ 90–100 psi ก็พร้อมจะดันออกนอกขอบล้อ ยิ่งเมื่อขอบผิดรูป ก็อาจจะเกิดการระเบิดได้เลยทีเดียว

ล้อ tubular หรือล้อยางฮาฟที่คนไทยรู้จักกันไม่เกิดปัญหานี้ เพราะล้อยางฮาฟนั้นเราใช้กาวทายางแปะเข้าไปกับล้อเลย ขอบล้อ (bead hook) จึงไม่ต้องรับแรงดันลมเหมือนขอบประเภท clincher เวลาเบรค ขอบล้อก็แค่รับแรงเสียดทานจากผ้าเบรคเท่านั้น มันจึงปลอดภัยกว่าและไม่เสี่ยงต่ออาการขอบล้อละลายนั่นเอง

ภาพจากกล้องตรวจจับความร้อน จากเครื่องทดสอบความร้อนขอบเบรค สังเกตอุณหภูมิขอบล้อที่เบรคต่อเนื่องยาวนานนั้นสูงขึ้นได้ถึง 260 องศาเซลเซียส (Credit: Zipp)
ภาพจากกล้องตรวจจับความร้อน จากเครื่องทดสอบความร้อนขอบเบรค สังเกตอุณหภูมิขอบล้อที่เบรคต่อเนื่องยาวนานนั้นสูงขึ้นได้ถึง 260 องศาเซลเซียส (Credit: Zipp)

คาร์ลอสบอกว่าเขาคิดแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่นานหลายปีก็คิดไม่ตก แต่ระหว่างที่ Brainco คิดค้นวิจัยนวัตกรรมอื่นๆ ที่ใช้ในธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ ทีมของคาร์ลอสสามารถสเปรย์อลูมิเนียมที่มีชั้นความบางเพียง 0.2 มิลลิเมตรให้ไปอยู่บนพื้นผิวคาร์บอนไฟเบอร์ได้สำเร็จ จนได้รับรางวัลนวัตกรรมยอดเยี่ยมในงาน Yokohama TFT-LCD International Show ในญี่ปุ่น

Oseous INterview-2
คาร์ลอสอธิบายกระบวนการผลิตขอบล้อคาร์บอนเคลือบผิวอลูมิเนียม-เซรามิก

III. ทางออก

ก่อนที่ผู้ผลิตล้อคาร์บอนจะสามารถทำล้อดีๆ คาร์บอนขอบงัดที่ทนความร้อนได้เหมือนสมัยนี้ เขาใช้วิธีใช้ล้อขอบอลูมิเนียมธรรมดา มาใส่แฟริ่งคาร์บอนเพื่อให้เป็นล้อขอบสูง แต่ยังคงขอบเบรคอลูมิเนียมอยู่ ก็กำจัดปัญหาเรื่องความร้อนสะสมตอนเบรคได้ แต่ข้อเสียคือมันหนักมาก เพราะโครงสร้างมันก็คือล้ออลูดีๆ นี่เองครับ

นวัตกรรมที่คาร์ลอสและทีม Brainco พัฒนาออกมาได้ มันนำมาใช้แก้ปัญหาล้อคาร์บอนขอบงัดอมความร้อนได้ทันที! แทนที่จะใช้ขอบอลูมิเนียม คาร์ลอสใช้วิธีการ thermal spray พ่นอลูมิเนียมระดับอนุภาคที่ถูกหลอมละลายด้วยอุณหภูมิกว่า 1000 องศาเซลเซียส ไปติดกับขอบล้อคาร์บอน จากนั้นก็พ่นเซรามิกที่ถูกหลอมทับเข้าไปบนเนื้ออลูมิเนียมอีกที เพื่อให้ได้พื้นผิวที่สากและง่ายต่อการเบรค

ล้อคาร์บอนขอบงัดของ Oseous ที่เคลือบผิวด้วยอลูมิเนียม-เซรามิกเรียบร้อยแล้ว
ล้อคาร์บอนขอบงัดของ Oseous ที่เคลือบผิวด้วยอลูมิเนียม-เซรามิกเรียบร้อยแล้ว

ผลที่ได้ก็คือ ล้อคาร์บอนที่กลับมีพื้นผิวการเบรคเป็นอลูมิเนียม-เซรามิก ซึ่งนอกจากจะระบายความร้อนได้ดีแล้ว ยังทำให้ประสิทธิภาพการเบรคดีกว่าล้อคาร์บอนธรรมดาๆ ด้วย คาร์ลอสบอกเราระหว่างสัมภาษณ์ว่า ถึงคุณจะเบรคแช่ระหว่างลงเขาสูงกว่า 3,000 เมตร ขอบล้อของเขาจะไม่มีทางที่อุณหภูมิสูงเกิน 60–80 เซลเซียส และล้อจะไม่เสียรูป ไม่พัง ไม่เสื่อมด้วยประการทั้งปวง

ปกติล้อคาร์บอนขอบงัดที่เรารูดเบรคลงเขา อุณหภูมินั้นสามารถขึ้นสูงได้ถึง 300 องศา ซึ่งเกินจุดที่วัสดุบริเวณเบรคจะทนความร้อนได้ และเสียรูปในที่สุด

คาร์ลอสบอกว่า หลังจากที่เขาทำล้อคาร์บอนขอบอลูมิเนียมเซรามิกได้สำเร็จ ก็มีแบรนด์ล้อระดับโลก ที่ถ้าเราเอ่ยชื่อก็จะรู้จักแน่นอน (เขาไม่ยอมบอก T_T) มาขอซื้อเทคโนโลยี ซึ่งแน่นอนว่าลุงคาร์ลอสของเรา ไม่ขาย! แต่คาร์ลอสจดสิทธิบัตรไว้ใช้เองเรียบร้อยแล้ว และนั่นคือที่มาของแบรนด์ Oseous ที่ลูกชายเขามาสานต่อนั่นเอง

ฟังดูอเมซิ่งมาก ซึ่งกว่าเราจะเข้าใจเทคโนโลยีและเรื่องที่คาร์ลอสอธิบายทั้งหมดก็กินเวลาไปสองชั่วโมงแล้ว ถึงจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาขอบเบรคไหม้ที่ดีมากๆ แต่แน่นอนว่าการใช้ขอบเบรคอลูมิเนียมเซรามิคนั้นก็มีจุดอ่อนคือมันเพิ่มน้ำหนักขอบล้อพอสมควรครับ

ดูแล้วน่าจะเป็นล้อที่เบรคดีมากๆ แต่ใช้งานจริงเป็นยังไง ขอบล้อมันจะทนความร้อนได้อย่างที่อ้างไว้หรือเปล่า DT ก็เลยขอล้อ Oseous มาทดสอบด้วย แล้วมาดูกันในรีวิวตอนหน้าว่ามันจะเจ๋งแค่ไหนครับ

* * *

www.oseous.com
Oseous INterview-3

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *