นี่คือวิธีการฝึกซ้อมของปีเตอร์ ซากาน

ปีเตอร์ ซากานตัดสินใจว่าเขาจะเลิกแข่งจักรยานในปี 2015

คุณอาจจะสงสัยว่าทำไมคนอย่างปีเตอร์ ซากาน แชมป์โลกจักรยานทางไกล 3 สมัยที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด ค่าตัวแพงที่สุดในโลก บุคคลที่พูดได้เต็มปากว่าตัวเองคือราชันย์แห่งวงการจักรยานอย่างแท้จริง ถึงคิดจะเลิกปั่นจักรยานในช่วงเวลาที่เขายืนอยู่บนจุดสูงสุดของอาชีพนี้?

ผมเบื่อครับ

คือคำตอบสั้นๆ ของซากาน และผมก็เชื่อว่าเป็นเหตุผลที่คนขี่จักรยานเสือหมอบทั่วโลกต้องเคยรู้สึกเหมือนกัน – หมดแพสชัน, เบื่อที่จะหยิบจักรยานออกไปปั่น เบื่อที่จะฝึกซ้อม ไม่ว่าคุณจะปั่นเพื่อสุขภาพ เพื่อสังคม หรือเพื่อแข่งขัน อาการเบื่อปั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอ และมันก็เป็นสาเหตุให้หลายๆ คนเลิกขี่จักรยานไปอย่างน่าเสียดาย

ทุกกีฬาเรียกร้องเวลาจากเรา โดยเฉพาะเมื่อเราอยากจะเล่นกีฬานั้นให้เก่งขึ้น

สำหรับคนปั่นจักรยาน มันอาจจะเป็นเป้าหมายง่ายๆ อย่างการลดน้ำหนัก การปั่นให้ได้เร็วขึ้น ปั่นตามเพื่อนให้ได้สุดทางไม่หลุดไปก่อน หรือขึ้นเขาด้วยเวลาที่น้อยลง ไปจนถึงอยากจะแข่งชนะเป็นแชมป์รายการ

ไม่ว่าโจทย์จะเป็นอะไรก็ตาม เป้าหมายล้วนต้องการเวลาจำนวนมากจากเรา โดยเฉพาะกีฬาเอนดูรานซ์ ที่ร่างกายคุณจะแข็งแรงอึดทนขึ้นได้ก็มาจากการทุ่มเวลาให้มันเป็นหลัก ยิ่งปั่นมากก็ยิ่งได้มาก จักรยานเป็นกีฬาที่อิงเวลาอย่างแท้จริง

แต่การทำกิจกรรมอะไรซ้ำๆ เป็นเวลานาน โดยไม่มีแรงจูงใจชัดเจนย่อมไปนำไปสู่ความเบื่อหน่าย ก็ไม่แปลกที่หลายคนจะเบื่อและเลิกปั่นไป

ความเบื่อหน่ายของแชมป์โลก

ในหนังสือ “My World” ของซากานที่ตีพิมพ์เมื่อปลายปี 2018 เขาเล่าถึงช่วงเวลาสามปีที่เขาได้เป็นแชมป์โลกจักรยานทางไกลติดต่อกัน เขาพูดถึงการใช้ชีวิตของนักปั่นอาชีพ ครอบครัว การแข่งขัน ชัยชนะ และความพ่ายแพ้ แต่ประเด็นหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจและน่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ดีมากๆ กับคนปั่นจักรยานทุกคนก็คือ แนวคิดและวิธีการฝึกซ้อมปั่นของปีเตอร์ ซากาน

หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าซากานมีชัยชนะในสนามแข่งอาชีพถึง 46 ครั้งก่อนที่เขาจะมีโค้ชคนแรก เขาเป็นนักปั่นที่มีพรสวรรค์ตั้งแต่เด็ก เอาชนะได้โดยไม่ต้องมีใครสอน เขาแข่งจักรยานได้เกือบทุกประเภท เขาเคยเป็นแชมป์โลกเสือภูเขาและไซโคลครอสระดับเยาวชน พอขึ้นมาวงการจักรยานถนนเขาโดดเด่นเรื่องการสปรินต์ทำความเร็วสูง แต่ก็แข็งแรงพอจะเล่นเกมเบรกอเวย์หนีคู่แข่งลุยเดี่ยวไปคว้าเส้นชัยคนเดียว หรือจะปีนเขาสูงชันก็ทำได้ดีกว่าสปรินเตอร์หลายๆ คน ทั้งหมดนี้ทำให้ซากานเป็นนักปั่นที่มีโอกาสท้าชิงแชมป์ในทุกสนามที่เขาลงแข่ง ความรอบด้านนี้ทำให้เขามีชัยชนะกว่า 111 รายการตลอดชีวิตการแข่งขัน

ซากานบอกเล่าว่าการซ้อมช่วยให้เขาประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เขาเครียด วิตกและเกือบจะเลิกปั่นเช่นกัน

คุณสามารถค้นหาตารางการซ้อมของซากานได้ในอินเตอร์เน็ต แต่ผมคงไม่ลงรายละเอียดตรงนั้นเพราะมันไม่มีประโยชน์อะไรเลยต่อนักปั่นมือสมัครเล่นอย่างพวกเรา

ตารางซ้อมของนักปั่นอาชีพอิงจากเป้าหมายและเวลาที่เขามีสำหรับการฝึก ซึ่งก็คือ full time เขาปั่นเป็นงานประจำ ส่วนรูปแบบการซ้อมเช่นปั่นช้า ปั่นเร็ว อินเทอร์วัลอะไรพวกนั้น โค้ชและนักปั่นก็จะปรับตามเป้าหมายในแต่ละช่วงเวลาของปี ถึงเราลอกมาทำตามก็ไม่ช่วยให้ปั่นดีขึ้น และอาจจะทำให้บาดเจ็บหรือเบื่อหน่ายไปก็ได้เพราะมันไม่ตรงกับเป้าหมายและความสามารถของเรา

ประเด็นของบทความนี้ไม่ใช่เพื่อลอกวิธีการซ้อมของซากานแต่เป็นการศึกษาว่าเขามีมุมมองต่อการฝึกซ้อมยังไง

เพื่อชัยชนะ ไม่ใช่เพื่อตัวเลข

ซากานอธิบายแนวคิดการฝึกซ้อมที่คนปั่นจักรยานจำนวนมากสับสนและมองไม่เห็นภาพใหญ่: กีฬาจักรยานเป็นกีฬาไม่กี่ชนิดในโลกที่เราสามารถวัดค่าความสามารถร่างกายได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นค่า Vo2Max, ค่าอัตราการเต้นหัวใจ, ค่าพาวเวอร์ ค่า FTP เวลา ระยะทาง ความเร็ว และอีกมากมาย จนหลายครั้งนักปั่นหลงติดอยู่ในดงตัวเลข

จริงว่าอะไรก็ตามที่วัดผลได้ย่อมให้ความชัดเจน แต่ถ้าเมื่อไรที่การวัดผลเป็นเป้าหมายหลักของการฝึกซ้อม มันอาจจะทำให้เราลืมไปว่าเราปั่นจักรยานเพื่ออะไรกันแน่ ซากานเล่า:

“ผมว่าผมเป็นคนโชคดีนะ ที่ไม่ต้องหาเหตุผลให้ตัวเองในการฝึกซ้อม หลักการฝึกซ้อมของผมมันเรียบง่ายมากเลย – ถ้าผมอยากจะชนะ ผมก็ต้องแข่งให้ดี แต่จะแข่งให้ดีได้ มันก็ต้องมาจากการฝึกซ้อม”

“แต่นิยามของคำว่าการฝึกซ้อมสำหรับผมมันก็แค่นี้นะ มันคือการเตรียมตัวเพื่อแข่งขัน ไม่ใช่การซ้อมเพื่อแค่ฝึกซ้อม”

“การซ้อมเพื่อแค่ฝึกซ้อมมันอาจจะได้ผลกับนักปั่นบางคน อย่างพวกนักปั่นแกรนด์ทัวร์ ที่ต้องการได้แชมป์สนามใหญ่ปีละครั้ง หรือสองครั้ง อาทิเช่นอัลเบอร์โต้ คอนทาดอร์ หรือคริส ฟรูม…พวกนี้ปีนึงเขาลงแข่งน้อยมากเทียบกับนักปั่นที่เป็นสปรินเตอร์แบบผม เพราะงั้นเขาต้องซ้อมอย่างมีระบบเพื่อให้ได้ฟอร์มดีที่สุดก่อนลงสนาม แล้วเขาก็ใช้สนามแข่งเล็กๆ เป็นเวทีสร้างฟอร์มได้ คือไปลงแข่งเพื่อซ้อม ไม่ใช่เพื่อชนะ ฟังดูมันก็ตลกใช่มั้ย คุณไปลงแข่งแต่คุณไม่คิดจะชนะ!”

“แต่ลองเปรียบเทียบกับผมนะ ในปี 2018 สนามแรกที่ผมลงแข่งคือ Tour Down Under ในเดือนมกราคม หน้าที่ของผมคือต้องชนะสนามที่ลงแข่งทุกรายการ มันคือความคาดหวังของทีม จะเป็นชนะสเตจหรือชนะรายการเลยก็ได้ ผมแข่งเฉลี่ยปีละ 80 วัน ตั้งแต่ต้นปีไปจนถึงสนามชิงแชมป์โลก ปลายเดือนกันยายน อาจจจะมีหยุดคั่นพักบ้าง 1-2 สัปดาห์”

“การซ้อมเพื่อทำให้ตัวเองฟอร์มดี หุ่นดี ตัวเลขวัดผลต่างๆ สูง…เยี่ยม แต่ในความคิดผม ไม่มีรายการแข่งไหนวัดผลแพ้ชนะด้วยตัวเลขวัตต์หรืออัตราการเต้นหัวใจ ไม่มีรางวัลเสื้อผู้นำคนที่สปรินต์ได้วัตต์สูงสุดในการแข่งขัน”

“แม้แต่คริส ฟรูมก็ต้องเลิกก้มมองจอการ์มิน ยกจักรยานวิ่งขึ้นเขาเพื่อให้ไม่แพ้…”

 

คุณต้องการอะไร?

“โค้ชคนเก่าของผม บ็อบบี้ จูลิช ก็เป็นแบบนี้ คือคลั่งกับตัวเลขมาก ถามผมทุกวันว่าวันนี้ค่าต่างๆ เท่าไร ยังไง ตกไหม เพิ่มไหม ถามเสร็จแล้วเขาก็เก็บไปคิดวิเคราะห์ต่อ”

“บอกตามตรงว่าผมซ้อมในโหมดนี้ไม่ได้ ผมไม่ชอบตัวเลข จนผมปิดโทรศัพท์หนีโค้ชน่ะ ผมชอบซ้อมจักรยานนะ แต่การตามติดตัวเลขแบบนี้มันเกินไป มันไม่ใช่ผม”

“โค้ชทุกคนที่ผมเคยเจอชอบถามผมว่า คุณอยากปั่นขึ้นเขาดีกว่าเดิมมั้ย? หรืออยากสปรินต์ดีกว่าเดิม? หรืออยากจะปั่นไทม์ไทรอัลให้เร็วขึ้น? ผมตอบง่ายๆ แค่ว่า ทำไมเราต้องไปยุ่งกับธรรมชาติด้วย ผมก็คือผม ถ้าผมปั่นดีอยู่แล้ว ผลงานดีอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องไปหาเรื่องแก้ดีกว่าไหม?”

“ผมเชื่อว่า ถ้าคุณพยายามเปลี่ยนลักษณะการปั่นของตัวเองมากเกินไป ถึงด้านหนึ่งจะดีขึ้น แต่คุณก็จะเสียอีกด้านหนึ่งแน่นอน คนที่ลดน้ำหนักเพื่อที่จะได้ไต่เขาเร็วขึ้นก็จะเสียพลังในการพุ่งสปรินต์ไป ถ้าคุณอยากปั่นท่าที่ลู่ลมมาก คุณก็จะออกแรงได้ไม่เต็มที่ ได้อย่างก็เสียอย่าง มันคือฟิสิกส์”

“คุณต้องรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ถ้าคุณแค่อยากสุขภาพดีก็ไม่จำเป็นต้องโหมซ้อมอะไรมากมายจริงไหม?”

“ปี 2015 เป็นปีที่ผมผลงานไม่ดีเลย ในรายการคลาสสิคปีก่อนๆ ต่อให้ไม่ชนะก็จะติดโพเดี้ยมเป็นอย่างน้อย จนปีนี้ผมไม่ติด Top 10 สักรายการ ถึงผมจะไม่ชนะคุณก็ไม่ต้องมาเช็คค่าพาวเวอร์หรืออัตราการเต้นหัวใจผมหรอก ผมรู้ดีว่ามันเกิดจากอะไร”

“มันง่ายมากเลย คุณก็แค่ต้องสังเกตตัวเองครับ อย่างเคสนี้ผมรู้ว่าผมเหนื่อยเกินไป! ผมแข่งเยอะเกินไป แต่ผมก็ยังซ้อมตามโปรแกรมโค้ชบ็อบบี้ผู้คลั่งตัวเลขทุกวันๆ”

“ทีมไม่แฮปปี้กับผลงานของผม จนวันนึงผมได้ยินข่าวลือ ผมไม่รู้ว่าใครปล่อยข่าวหรอกนะ มีคนบอกว่าผมแข่งเยอะเกินไปตั้งแต่ผมเทิร์นโปร ร่างกายมันโทรมแล้ว ผมคงไม่สามารถชนะไปได้มากกว่านี้หรอก อาชีพของผมจะดับตั้งแต่อายุ 25 ปี”

“เท่านั้นแหละ ผมฟิวส์ขาด ผมตัดสินใจแล้วว่า พอกันที หมดฤดูกาลนี้ผมจะเลิกแข่งขัน เลิกแ*งให้หมด ตอนนั้นใครจะมาดึงผมก็ไม่กลับ ในจินตนาการผมตอนนั้น ผมทิ้งจักรยานไปนอนเล่นริมทะเลอยู่กับแฟนตั้งแต่ฤดูกาลยังไม่จบแล้ว”

“มันง่ายแค่นี้แหละ”

“จนถึงวันที่ผมได้โค้ชคนใหม่ เขาคือแพทซี่ ไวล่า ทั้งแพทและบ็อบเป็นอดีตโปรเหมือนกัน แต่แพทไม่ใช่นักปั่นระดับแชมป์เหมือนกับบ็อบ ถึงผลงานจะไม่เยอะเท่า แต่ผมกลับมองว่ามันเป็นจุดแข็งของแพทซี่ เพราะเขาฟังความต้องการของผมมากกว่าบ็อบ”

“คือพวกแชมป์เก่าอย่างบ็อบเนี่ยบางทีก็มั่นใจในตัวเองจนไม่ฟังคนอื่น โดเมสติก (นักปั่นผู้ช่วย) อย่างแพทต้องเป็นคนที่ยอมรับฟังคนอื่นโดยหน้าที่ ถ้าเขาไม่ฟังว่าหัวหน้าทีมต้องการอะไรเขาก็จะเป็นมืออาชีพได้ไม่นาน แต่เพราะการเป็นคนที่คอยเทคแคร์เพื่อนร่วมทีมมันช่วยให้แพทเป็นโค้ชที่ดีด้วย”

แพทบอกผมว่า:

“ปีเตอร์ ผมรู้แล้วล่ะว่าคุณซ้อมเองเป็น คุณคุมน้ำหนักตัวได้ดีตลอดทั้งปี ร่างกายก็แข็งแรง มีกล้ามเนื้อสมส่วน แล้วนายก็ชนะการแข่งขันมาเป็นสิบๆ รายการก่อนจะมีโค้ชเป็นครั้งแรกด้วยซ้ำ”

“เพราะงั้นแผนการซ้อมที่ผมจะเขียนให้มันก็เป็นแค่พิธีการเท่านั้นแหละ ให้ทีมเห็นว่าเราทำงานด้วยกัน ไม่มีใครอู้! คุณก็ซ้อมอย่างที่คุณซ้อม ให้ผมช่วยแนะแนวบ้างก็พอ”

“หน้าที่ของผมคือสนับสนุนคุณ ไม่ใช่บงการชีวิตคุณ ถ้าวันนี้คุณบอกผมว่าคุณปั่นได้แค่ชั่วโมงเดียวจากโปรแกรมที่ตั้งไว้สี่ชั่วโมงเพราะรู้สึกเหนื่อยพักผ่อนไม่พอ ผมก็จะบอกว่าไม่เป็นไร กลับไปพักซะ มันง่ายแค่นี้แหละ”

“การทำงานกับแพททำให้ผมเข้าใจว่าที่ผ่านมาผมพลาดตรงไหน”

“ข้อหนึ่ง ผมเชื่อคนอื่นโดยที่ไม่ยอมฟังร่างกายตัวเอง”

“ข้อสอง มันดีกว่าที่คุณจะมีร่างกายที่สดชื่นพร้อมฝึกซ้อมทุกวัน ไม่ใช่ซ้อมหนักจนเหนื่อยแล้วก็ยึดแน่วแน่กับตัวเลขหรือตาราง จนต้องพักนานเพราะร่างกายบาดเจ็บหรือหมดเรี่ยวแรง แบบนี้มันไม่มีประโยชน์เลย”

“แพทบอกผมว่า ต่อให้วันนี้คุณจะซ้อมไม่ครบตามตาราง มันก็ยังดีกว่าที่คุณจะซ้อมหนักเกินไป ขาดยังดีกว่าล้น”

©Bettini Photo

สิ่งที่เราหลงลืม

“ผมทำงานกับแพทได้ไม่นานผมก็เริ่มสบายใจขึ้น ในหัวผม ผมไม่ได้คิดเรื่องแข่งแล้ว ผมกลับมาคิดว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเรา?…ความสุข สุขภาพ ได้เป็นตัวของตัวเอง ได้สนุกกับการปั่น…คือการมีแผนก็เป็นเรื่องดีครับ มันทำให้เราไม่หลงทาง แต่คุณคาดหวังว่าจะทำสำเร็จตามแผนทุกครั้งไม่ได้หรอก การแข่งขันมันไม่ตรงไปตรงมาอย่างนั้น ต่อให้คุณเป็นคนที่แข็งแกร่งที่สุดในรายการ ก็ไม่ได้แปลว่าคุณจะเป็นผู้ชนะเสมอไป”

“ชีวิตเราก็ไม่ได้ขาวดำตรงไปตรงมาแบบนั้นเช่นกัน”

“วันหนึ่งคุณลงสนามแข่ง คุณมีแผนว่าจะอยู่หน้าสุดของกลุ่มในช่วงกิโลเมตรสุดท้าย แต่คู่แข่งอีกร้อยกว่าคนก็คิดเหมือนคุณ มีนักปั่นเป็นร้อยคนที่กำลังจะผิดหวัง เพราะพวกเขาไม่สามารถขึ้นไปอยู่ในจุดทำเกมได้ตามแผน ก็ถนนมันกว้างแค่ไม่กี่เมตร มันต้องมีคนที่ได้อยู่ข้างหน้าและอีกหลายคนที่อยู่ข้างหลังจริงไหม แล้วถ้าคุณเป็นหนึ่งในคนที่อยู่ข้างหลังคุณจะทำยังไง? จะจอดแล้วจูงจักรยานกลับบ้านมั้ย? ก็ไม่ใช่ คุณต้องปรับตัวไง ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าแล้วหาทางใหม่”

“หลายอย่างในชีวิตคุณเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อย่างเวลายางรั่วตอนแข่งหรืออุบัติเหตุ ถ้ามันเกิดขึ้นกับผม ผมก็ทำได้ดีที่สุดแค่ยอมรับสถานการณ์และหาทางทำผลงานวันนั้นให้ดีที่สุด ไม่ว่ามันจะออกมาตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ก็ตาม ถ้าชนะก็คือชนะ ถ้าล้มก็คือล้ม ถ้าได้ที่สามสิบก็คือที่สามสิบ”

“พรุ่งนี้ตะวันยังขึ้น และฟ้ายังไม่ถล่ม”

“และผมก็ยังเป็นปีเตอร์ ซากานคนเดิม”

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!