เลือกซื้อล้อเสือหมอบคู่ใหม่ต้องดูอะไรบ้าง?

เชื่อว่าการเลือกซื้อล้อจักรยานเสือหมอบใหม่เป็นปัญหาคาใจของใครหลายๆ คนครับ มันคงดีถ้ามีคนบอกเราได้ว่าล้อคู่ไหนดีที่สุดในงบประมาณที่เรามี เราจะได้ไม่ต้องเลือกซื้อหา ลองแล้วลองอีกให้วุ่นวาย แต่ในความเป็นจริงแล้วจะเลือกซื้อล้อสักคู่หนึ่งก็ไม่ได้ง่ายอย่้างนั้น

เรามีแบรนด์ล้อให้เลือกหลายสิบแบรนด์ ทั้งแบรนด์ต่างประเทศ แบรนด์ไทย แบรนด์จีน หรือไม่มีแบรนด์ ทั้งยังมีประเภทล้อ อลูมินัม คาร์บอน คาร์บอนขอบสูง หรือประเภทยางที่ใช้ ยาง Tubular (หรือยางฮาฟ) หรือจะเป็น Clincher (ยางงัด) แล้วถ้าเป็นล้อประกอบ จะเลือกดุม เลือกซี่ เลือกขอบยังไงดี?

ตัวแปรมีเยอะจนน่าปวดหัว บทความนี้ของ DT ตั้งใจจะให้คนอ่านสามารถเลือกซื้อล้อได้อย่างมีเหตุผลครับ เราจะมาทำความเข้าใจถึงความต่างของล้อประเภทต่างๆ และปัจจัยที่ต้องพิจารณาเวลาเราจะเลือกซื้อล้อหนึ่งคู่ DT หวังว่าอ่านบทความนี้จบแล้วเพื่อนๆ จะได้ความรู้และแนวทางในการตัดสินใจเลือกซื้อล้อที่เหมาะกับตัวเอง เราคงบอกไม่ได้ว่าต้องซื้อล้อไหนหรือยี่ห้ออะไร แต่ก็น่าจะช่วยให้ลดตัวเลือกลงมาตอบโจทย์ของเราได้ครับ

ขอบคุณบริษัท PTT Progress ตัวแทนจำหน่ายล้อ Novatec ที่ช่วยสปอนเซอร์ Buyer’s Guide เราจะใช้รูปประกอบจากล้อของ Novatec นะครับ เริ่มกันเลยดีกว่า

 

1. ความสำคัญของล้อ

เวลาเราซื้อจักรยานใหม่แบบสำเร็จที่มีชิ้นส่วนมาครบพร้อมขี่ มีน้อยคันที่จะให้ “ล้อติดรถ” คุณภาพดีมา ยกเว้นคุณจะซื้อรถที่ราคาสูงจริงๆ โดยมากล้อติดรถเป็นล้ออลูมินัมราคาไม่สูง ประสิทธิภาพอาจจะยังไม่ถึงใจนักปั่น เหตุผลที่เขาให้ล้อรุ่นเริ่มต้นติดรถมาก็เพราะบริษัทจักรยานแทบทุกรายใช้ล้อเป็นจุดในการ “ลดต้นทุน” มูลค่าจักรยานนั่นเองครับ ล้อเป็นหนึ่งในชิ้นส่วนที่ราคาสูงที่สุดในรถ ผู้ผลิตเลือกที่จะให้สเป็คส่วนอื่นเช่นเกรดของวัสดุเฟรม หรือกรุ๊ปเซ็ตรุ่นสูงๆ มากับรถแทนที่จะให้ล้อที่มีราคาแพง และอีกเหตุผลก็คือคนที่ปั่นจักรยานมาพักหนึ่งมักจะมีล้อคู่ใจสำหรับออกงานแข่งขันหรืออีเวนท์ต่างๆ อยู่แล้ว

ล้อติดรถส่วนใหญ่อยู่ในระดับราคาประมาณ 3,000–9,000 บาท โดยมากเป็นล้ออลูมินัมที่มีน้ำหนักมาก คุณภาพดุมและซี่ล้อไม่ได้อยู่ในเกรดหรูหรา ล้อติดรถบางรุ่นไม่มีขายในท้องตลาดทั่วไปเพราะเป็นสินค้า OEM ที่แบรนด์จักรยานสั่งผลิตเอง ล้อเสือหมอบคุณภาพดีส่วนใหญ่ราคาจะเริ่มที่ 9 พันปลายๆ ไปจนถึงหลักแสนบาท

ล้อจักรยานเป็นจุดที่เพิ่มประสิทธิภาพและฟีลลิ่งในการปั่นได้มากครับ ล้อที่ดีกับล้อระดับเริ่มต้นหรือปานกลางมีความต่างกันหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความสติฟ การตอบสนองแรงกด น้ำหนัก ความสามารถในการตัดลู่ลม (aerodynamic) ประสิทธิภาพการเบรค และคุณภาพวัสดุในส่วนต่างๆ ตั้งแต่ขอบล้อไป ซี่ล้อ ดุม ไปจนถึงลูกปืน

 

2. สิ่งที่ต้องคิดก่อนซื้อล้อ

ความจริงในโลกจักรยานก็คือ ไม่มีล้อคู่ไหนที่ดีที่สุดในโลก นั่นก็เพราะไม่มีล้อคู่ใดคู่หนึ่งที่ตอบโจทย์การใช้งานได้ในทุกสถานการณ์ครับ ถ้าคุณชอบปั่นขึ้นดอย แต่กลับซื้อล้อขอบสูง 80mm หนักเกือบสองกิโลกรัมต่อคู่ก็คงไม่ใช่ล้อที่เหมาะกับงานนัก ล้อที่ดีที่สุดคือล้อที่ใช้ได้เหมาะสมกับประเภทการปั่นของคุณ เช่นนั้นแล้วอยากให้ถามตัวเองก่อนว่า

  • เส้นทางที่คุณปั่นประจำเป็นอย่างไร? (เนินเขา, ทางราบ, ภูเขาสูงชัน)
  • งบประมาณมีเท่าไร
  • ชอบแบรนด์ไหนเป็นพิเศษ?
  • จะใช้ล้ออลูมินัมหรือล้อคาร์บอน?
  • คุณชอบปั่นสไตล์ไหน? (เช่นเร่งกระชากบ่อยๆ หรือแช่ความเร็วยาวๆ)
  • คุณคิดว่าจะมีล้อกี่คู่

เมื่อเราตอบคำถามข้างบนได้คร่าวๆ แล้วก็น่าจะพอกำหนดประเภทของล้อที่เราจะซื้อได้ครับ แต่การซื้อล้อก็เหมือนการซื้อรถยนต์ ถามสิบคนก็ได้สิบคำตอบ เราต้องดูว่าตัวเองให้ความสำคัญกับปัจจัยไหนมากเป็นพิเศษ

ปัญหาของคนส่วนใหญ่คือ ล้อจักรยานเป็นสินค้าที่ราคาสูง ล้อดีๆ หลายรุ่นแพงกว่าเฟรมจักรยานเสียอีก ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีล้อจักรยานได้หลายๆ คู่เลือกใช้ตามสถานการณ์ ถ้าคุณมีล้อได้แค่คู่เดียว (all-round wheels) แน่นอนว่ามันคงตอบโจทย์ในการปั่นครบทุกรูปแบบไม่ได้ครับ จะไม่สุดสักทาง แต่ต้องเลือกเอาว่าจะดีทางใดทางหนึ่ง ที่พอครอบคลุมการใช้งานของเรา เช่นคุณอาจจะมีล้อคาร์บอนขอบสูง ยางงัด ไว้ใช้แข่งขันโดยเฉพาะ ความสูงราว 50mm แข่งได้ทุกสภาพภูมิประเทศ อาจจะต้องระวังหน่อยเวลาต้องขึ้นหรือลงเขาชันๆ (ซึ่งคงไม่มีใครขึ้นได้ทุกวัน)

แต่ถ้าคุณมีล้อได้สองคู่ คุณอาจจะเลือกซื้อล้ออลูมินัมดีๆ ราคากลางๆ ไว้ใช้ฝึกซ้อมและปั่นทั่วไปไม่ต้องห่วงมาก เพราะล้ออลูมินัมทนทาน ดูแลง่าย ล้ออีกคู่เป็นคาร์บอนขอบสูงที่อาจจะเก็บไว้ใช้ในงานแข่ง งานสังคม หรือออกทริปกับเพื่อนๆ หรือจะเลือกใช้ล้ออลูมินัมขอบต่ำเวลาไปขึ้นเขา (น้ำหนักไม่มาก เบรคลงเขาไม่ต้องกลัวขอบพัง) แล้วใช้ล้อคาร์บอนขอบสูงไว้ปั่นทางราบก็เป็นตัวเลือกที่ดี

เพื่อความง่ายเราขอแบ่งปัจจัยที่ต้องพิจารณาเวลาซื้อล้อเป็น 4 หัวข้อหลัก — ประสิทธิภาพ, การออกแบบ, คุณภาพ และราคา

 

3. ประสิทธิภาพ

a.) ความคล่องตัว

ล้อที่คล่องตัวในที่นี้หมายถึงล้อที่ใช้ได้ดีในหลายๆ สภาพเส้นทางและสถานการณ์ไม่ว่าจะเป็นทางราบ เนิน เขา ลมแรง ล้อที่เฉพาะทางมากๆ เช่นล้อดิสก์ หรือล้อขอบสูงอย่างน้อย 80mm แน่นอนว่าไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ขึ้นเขา นอกจากจะหนักเปล่าๆ แล้วประโยชน์ด้านแอโรไดนามิกของมันก็ไม่ค่อยมีผลเวลาที่เราปั่นขึ้นเขาช้าๆ ด้วย

b.) สติฟเนส 

หรือความสามารถในการตอบสนองแรงกดของล้อเป็นปัจจัยที่บอกว่าแรงที่เราใช้ในการปั่นนั้น ถ่ายลงไปสู่พื้นถนนได้เต็มที่หรือเปล่า ล้อที่ไม่สติฟก็เหมือนเฟรมที่ไม่สติฟ คือจะมีอาการ “ให้ตัว” หรืออาการส่าย ให้เราเห็น นั่นคือแรงที่เรากดลงลูกบันไดไม่ได้ถ่ายสู่พื้นถนน 100% แต่เสียไปในความไม่สติฟของล้อ

ล้อที่สติฟจะเห็นได้ชัดในการสปรินต์ การขึ้นเขา การออกยืนปั่นซึ่งเป็นการปั่นที่เราต้องถ่ายพลังเยอะเป็นพิเศษ ถ้าล้อไม่สติฟ (หรือเราเรียกว่า “ย้วย”) มันก็จะไม่ “พุ่ง” กดถีบพลังแล้วรถไม่ไปข้างหน้าได้ทันใจ

สิ่งที่ทำให้ล้อสติฟไม่ได้มีแค่ขอบล้อเท่านั้น ประเภทและจำนวนซี่ลวด ดุมที่เลือกใช้ และทักษะการขึ้นล้อก็มีผลเช่นกัน โดยเฉพาะล้อประกอบที่ไม่ได้ขึ้นล้อมาจากโรงงาน

65643-largest_Mavic_Lateral
เวลาเราพูดถึงความ “สติฟ” ของล้อ ต้องแยกครับว่าเราพูดถึงความสติฟด้านใน เพราะถ้าจะเจาะลึก ความสติฟของล้อมีทั้ง Radial Stiffness, Lateral Stiffness และ Torsional Stiffness เวลาที่เราได้ยินเพื่อนบอกว่าล้อ “ย้วย” เช่นยกสปรินต์ออกแรงกระปั่นกระชากแล้วล้อบิดไปสีกับชอบเบรคบ้าง หรือล้อไม่ “พุ่ง” ทันใจเหมือนแรงที่ออกปั่นหายไปกับการให้ตัวของล้อ ทั้งหมดนี้จะเข้าข่าย Lateral Flex หรืออาการที่ล้อย้วยสะบัดตัวไปด้านข้าง คงไม่ลงรายละเอียดมาก ศาสตร์ของ Wheel Stiffness ค่อนข้างจะละเอียดเพราะงั้นขอเกริ่นอย่างคร่าวๆ เดี๋ยวจะเบื่อกันซะก่อนครับ

c.) ความสบาย 

ล้อที่ดีนั้นต้องมีความสติฟสูง คือไม่สูญเสียพลังในการปั่นไปเปล่าๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความสบาย คือช่วยดูดซับแรงกระแทกที่ไม่พึงประสงค์ได้ด้วย 2 ปัจจัยนี้ค่อนข้างจะอยู่ตรงข้ามกัน และเป็นตัวแบ่งแยกล้อที่ดีกับไม่ดีครับ ล้อที่ดีจะหาจุดสมดุลระหว่างสองปัจจัยนี้ได้ ไม่หนักไปทางใดทางหนึ่ง

อย่าลืมว่าแรงดันลมยางที่เลือกใช้ก็มีผลต่อความสบายเช่นกัน ล้อที่ปั่นได้สบายแต่เราสูบลมแข็งปั๋งก็ไม่สามารถแสดงประสิทธิภาพของมันได้เต็มที่

d.) เบรค

เป็นอีกปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะในล้อคาร์บอน สมัยก่อนนู้น ล้อคาร์บอนเบรคได้แย่กว่าล้ออลูมินัม แต่เทคโนโลยีเรซิ่นและการออกแบบขอบล้อในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพัฒนาไปมาก ล้อคาร์บอนสมัยใหม่สามารถเบรคได้ดีหรือดีกว่าล้ออลูมินัมในสภาพอากาศปกติ โดยที่ไม่อมความร้อนจนขอบล้อบวมเหมือนสมัยก่อน ผ้าเบรครุ่นใหม่ และเทคโนโลยีเรซิ่นที่ใช้ทำขอบเบรคก็ช่วยเพิ่มความสามารถในการเบรคของล้อคาร์บอนด้วย

 

e.) แอโรไดนามิก

หรือความลู่ลม ล้อแอโรทั้งหมดจะเป็นล้อที่มีความสูงของขอบล้อมาก (มากกว่า 35mm เป็นต้นไป) ประโยชน์ของล้อที่ลู่ลมก็คือมันช่วยให้เราใช้พลัง (power output) ในการปั่นน้อยลงเมื่อเทียบกับล้อขอบต่ำที่ความเร็วเท่าๆ กัน ปรากฏการณ์นี้เราเรียกภาษาไทยว่าล้อมัน “ไหล” คือช่วยรักษาความเร็วได้ เพราะล้อมีความลู่ลม ลดแรงต้านลม (drag) ได้มากกว่านั่นเองครับ

เหตุผลที่ทำให้ล้อขอบสูง “ไหล” ได้ดีกว่าล้อขอบต่ำนั้นอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ในการปั่นจักรยาน แรงต้านหลักที่เราต้องใช้พลังก้าวข้ามมันเพื่อให้จักรยานพุ่งไปข้างหน้ากว่า 80% คือแรงต้านลม ล้อขอบสูงช่วยให้อากาศไหลผ่านระบบ (คน+จักรยาน) ได้ลื่นไหลกว่า และไม่สร้างลมปั่นป่วน (turbulence) ซึ่งเจ้าลมปั่นป่วนนี้จะทำให้เกิด ‘Drag’ หรือแรงต้านลมที่คอยฉุดเราครับ

แล้วล้อขอบสูงช่วยประหยัดพลังในการปั่นได้แค่ไหน? ประเด็นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันถึงทุกวันนี้ ผลการทดสอบล้อแอโรในอุโมงค์ลมส่วนใหญ่นั้นเป็นการทดสอบในระบบ “ปิด” มีกระแสลมพุ่งมาแค่ทิศทางเดียว ซึ่งในชีวิตจริงเราไม่ได้ปั่นในระบบปิดแบบนี้ อย่างไรก็ดี ใช่ว่าผลการทดสอบมันจะพิสูจน์อะไรไม่ได้ เพราะข้อดีของระบบปิดก็คือทำให้เราคุมปัจจัยทุกอย่างได้เช่นกัน มันทำให้บริษัทผู้ผลิตสามารถเปรียบเทียบได้ว่า ในระบบปิดนี้ ล้อรุ่นไหนมีค่าความต้านลมน้อยที่สุด(แต่ใช้ในชีวิตจริงแล้วจะเป็นอย่างที่ทดสอบในระบบปิดมั้ยก็เป็นอีกเรื่องนึงครับ)

ผลการทดสอบจากนิตยสารและเว็บไซต์คนกลางโดยมากสรุปว่าล้อแอโรนั้นช่วยประหยัดพลังได้ราว 10–15 วัตต์ เมื่อเทียบกับล้ออลูมินัมขอบต่ำ แปลเป็นภาษาบ้านๆ คืออาจจะช่วยให้คุณออกแรงน้อยลงแต่ยังคงความเร็วเท่าเดิม (เมื่อเทียบกับการใช้ล้อที่ไม่แอโร) ได้ราวๆ 5% จะว่าเยอะก็เยอะ จะว่าน้อยก็น้อย สำหรับนักปั่นอาชีพ ได้เปรียบกัน 1% ก็คุ้มแล้ว แต่สำหรับคนธรรมดา ประสิทธิภาพเป็นเหตุผลหนึ่ง แต่ความชอบ หน้าตา การออกแบบ และราคาก็เป็นเรื่องที่เราต้องคิดประกอบการซื้อด้วย

อย่างไรก็ดี ล้อแอโรขอบสูงนั้นจะเห็นผลว่ามัน “ไหล” อย่างชัดเจนก็ต้องปั่นกันด้วยความเร็วสูงพอสมควร (ที่ราวๆ 32kph ขึ้นไป) เพราะแรงต้านลมจะมีผลมากก็ต่อเมื่อเราปั่นที่ความเร็วสูง และล้อขอบสูงนั้นก็มีน้ำหนักมากกว่าล้อขอบต่ำ ถ้าการใช้งานของเราไม่เน้นการแข่งขันที่ต้องใช้ความเร็วสูง ล้อขอบสูงก็อาจจะไม่ได้ช่วยให้ประสิทธิภาพการปั่นดีขึ้นมากนัก ซ้ำถ้าใช้ขอบสูงมากอาจจะทำให้มันหนักเป็นภาระเปลืองแรงกว่าเดิม

นอกจากนี้ ล้อขอบสูงจะเจอปัญหาเวลาลมข้างพัดเข้าแรงๆ เมื่อล้อมีพื้นที่ต้านลมมากกว่า มันก็ทำให้จักรยานเราเซเสียการบังคับได้ง่ายด้วยเช่นกันครับ ถ้าคุณให้ความสำคัญกับกระแสลมข้าง (เช่นบ้านอยู่ติดชายทะเล) ปัจจัยนี้ก็ไม่ควรมองข้าม

สิ่งที่ต้องคำนึงคือ สมมติว่าคุณอยากซื้อล้อแอโร (และแอโรไดนามิกก็เป็นปัจจัยที่ผู้ผลิตนิยมโฆษณามากที่สุด) เราจะรู้ได้ยังไงว่ามันแอโรจริง? ถึงเราจะเชื่อคำโฆษณาและผลดทดสอบของผู้ผลิต แต่อย่าลืมว่า

  • ผู้ผลิตแต่ละเจ้าใช้กระบวนการการทดสอบล้อในอุโมงค์ลมไม่เหมือนกันเลย
  • ไม่มีมาตรฐานการทดสอบแอโรไดนามิกที่เป็นที่ยอมรับและใช้ในวงกว้าง
  • หลายๆ แบรนด์เลือกหยิบค่าที่ทำให้ล้อตัวเองดีที่สุดมาโฆษณา ซึ่งบางครั้งจุดอื่นที่ไม่ได้พูดถึงคู่แข่งทำได้ดีกว่า
  • เวลาทดสอบในอุโมงค์ลมใส่ยางหรือเปล่า? ยางมีผลต่อแรงต้านลมมากกว่าที่เราคิดครับ

 

4. การออกแบบ

การออกแบบในทีนี้หมายถึงว่า ผู้ผลิตตั้งใจให้ล้อมีประสิทธิภาพแบบไหน? ซึ่งเราต้องพิจารณาส่วนประกอบสำคัญในล้อทุกจุดครับ

a.) น้ำหนัก

ล้อที่ดีจะมีน้ำหนักเบา ซึ่งช่วยทำให้เราเร่งกระชากออกตัวได้ไว สิ่งที่มีผลต่อน้ำหนักล้อคือ ประเภทวัสดุ (คาร์บอนเบากว่าอลูมินัม) ประเภทยางที่ใช้ (ล้อยางทูบูลาร์เบากว่าล้อยางงัด) จำนวนซี่ล้อ และความสูงของขอบล้อ (ขอบต่ำเบากว่าขอบสูง)

อย่างไรก็ดี น้ำหนักล้อเป็นปัจจัยที่เราต้องระวัง แต่ละแบรนด์นั้นชั่งน้ำหนักล้อด้วยมาตรฐานคนละแบบ บางแบรนด์บอกแต่น้ำหนักขอบล้อ บางแบรนด์บอกน้ำหนักทุกอย่าง (ขอบล้อ ซี่ลวด ดุม) แต่ไม่รวมน้ำหนักแกนปลดหรือ Rim Tape และน้ำหนักที่บอกในสเป็คสินค้านั้นจะไม่ค่อยตรงกับน้ำหนักที่เราชั่งจริง ส่วนใหญ่จะหนักกว่าที่โฆษณาประมาณ 50–75 กรัม น้อยมากที่จะได้เห็นล้อเบากว่าน้ำหนักที่โฆษณาไว้

ล้อที่เบาและสติฟช่วยให้คนปั่นรู้สึกออกตัวได้เร็ว เร่งความเร็วได้ทันใจโดยเฉพาะเวลาที่ต้องสู้กับแรงโน้มถ่วง แต่ล้อคาร์บอนเบาๆ ก็ราคาสูงตามตัว
ล้อที่เบาและสติฟช่วยให้คนปั่นรู้สึกออกตัวได้เร็ว เร่งความเร็วได้ทันใจโดยเฉพาะเวลาที่ต้องสู้กับแรงโน้มถ่วง แต่ล้อคาร์บอนเบาๆ ก็ราคาสูงตามตัว

ถ้าล้อยิ่งน้ำหนักเบา โดยเฉพาะล้อคาร์บอนยิ่งมีราคาสูง จุดนี้ต้องถามตัวเองว่าเราให้ความสำคัญกับน้ำหนักล้อขนาดไหน และพร้อมจะจ่ายได้เท่าไรครับ อย่างที่บอกน้ำหนักล้อแปรผันโดยตรงโดยตรงกับประเภทยางที่ใช้ และความสูงขอบล้อด้วย ซึ่งคงไม่มีใครตอบแทนคุณได้ว่าต้องใช้ยางแบบไหน และขอบสูงเท่าไรถึงจะดีที่สุดกับการใช้งานของคุณ

แน่นอนว่าล้อยาง Tubular เบากว่าเพราะไม่ต้องใส่ยางในและปริมาณเนื้อคาร์บอนที่ใช้ในการผลิตขอบล้อแบบนี้ก็น้อยกว่า น้ำหนักเลยเบากว่าล้อยางงัดรุ่นเดียวกัน แต่ยาง Tubular นั้นก็อาจจะใช้งานไม่สะดวก เพราะจะดึงยางในออกมาปะเหมือนยางงัด clincher ไม่ได้ และต้องพกยางสำรองทั้งเส้นไปเผื่อเวลาออกปั่นไกลๆ ถ้าไม่อยากต้องโบกรถกลับบ้านเวลายางรั่วกลางทาง

b.) ความกว้างของขอบล้อด้านนอก (External Width)

ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ล้อจักรยานมีขนาดขอบล้อกว้างขึ้นกว่าเดิมมากครับ สมัยก่อนเราใช้ล้อความกว้างไม่เกิน 19–20mm สมัยนี้ล้อกว้าง 23–27mm แทบจะเป็นมาตรฐานวงการไปแล้ว

เหตุผลที่เทรนด์หันมาเป็นล้อขอบกว้างก็คือมันจะได้ใส่ยางหน้ากว้างขึ้นได้ ผลการทดสอบหลายสำนักพบว่ายางหน้ากว้างระดับ 25–27mm มีค่า rolling resisntace หรือแรงเสียดทานกับผิวถนนน้อยกว่ายางขอบเล็ก และช่วยให้เกาะถนนได้ดีขึ้นด้วย

ล้อสมัยใหม่มีรูปทรงเป็นขอบทรงตัว U กันเกือบหมดแล้ว ประโยชน์คือช่วยตัดลมด้านข้างได้ดีขึ้นเล็กน้อยทำให้รถไม่ส่าย และรองรับยางนอกขนาดใหญ่ขึ้น
ล้อสมัยใหม่มีรูปทรงเป็นขอบทรงตัว U กันเกือบหมดแล้ว ประโยชน์คือช่วยตัดลมด้านข้างได้ดีขึ้นเล็กน้อยทำให้รถไม่ส่าย และรองรับยางนอกขนาดใหญ่ขึ้น

c.) ความกว้างขอบล้อด้านใน (Internal Width)

ขอบล้อด้านในก็มีแนวโน้มกว้างขึ้นเช่นกันเมื่อเทียบกับสมัยก่อน ประโยชน์ของล้อที่ขอบกว้างขึ้นทั้งด้านในและนอกคือสามารถรับปริมาตรลมยางได้เยอะขึ้นในขณะที่ใช้แรงดันลมน้อยลง แต่ก็ยังรองรับน้ำหนักคนปั่นได้เท่าเดิม แรงดันลมที่ลดลงทำให้เราปั่นได้สบายมากขึ้นไม่กระเทือนเหมือนที่แรงดันลมสูงๆ และช่วยให้ล้อมีอายุการใช้งานนานขึ้นด้วย

d.) รูปทรงขอบล้อ (Rim Profile)

ล้อสมัยใหม่นิยมใช้รูปทรงตัว “U” มากกว่าตัว “V” เทรนด์นี้เริ่มต้นโดย Hed และ Zipp ที่ออกแบบล้อในทรง Todorial หรือที่เราเรียกว่าล้อขอบอ้วน ประโยชน์คือล้อขอบอ้วนนั้นตัดกระแสลมข้างได้ดีกว่าล้อขอบตัว V ทำให้บังคับรถได้ง่ายในเวลาที่ลมกระทบจากด้านข้างแรง รถไม่เป๋มาก

ดุมที่ดีควรจะมีความสติฟและความแข็งแรงเพียงพอต่อน้ำหนักตัวและการใช้งานของเรา มีน้ำหนักไม่มากจนเกินไป ลูกปื่นลื่นทน และเซอร์วิสซ่อมแซมง่าย
ดุมที่ดีควรจะมีความสติฟและความแข็งแรงเพียงพอต่อน้ำหนักตัวและการใช้งานของเรา มีน้ำหนักไม่มากจนเกินไป ลูกปื่นลื่นทน และเซอร์วิสซ่อมแซมง่าย

e.) ดุม (hub)

คุณภาพของดุมจะเป็นตัวบอกว่าล้อเราลื่นไหลและทนทานขนาดไหน และมีผลต่อน้ำหนักด้วย  ล้อที่ราคาสูงมักใช้ดุมคุณภาพดี และใช้ลูกปืนเกรดที่ดีกว่าล้อราคาถูก ทำให้ล้อหมุนได้ลื่น สมูท และมีอายุการใช้งานทนทาน แน่นอนว่าดุมที่เบาและใช้ลูกปืนเซรามิกย่อมมีราคาแพง แต่ดุมที่เบามากๆ ก็อาจจะไม่เหมาะกับคนตัวหนักๆ เพราะเสี่ยงอาการดุมเปราะและแตกได้ง่าย โดยเฉพาะพวกดุมแต่งเน้นน้ำหนักเบา เช่นเดียวกัน ถ้าเราเป็นคนตัวเบาแล้วใช้ดุมแข็งๆ ทนๆ หนักๆ ก็อาจจะมากเกินความจำเป็น (overbuilt)

f.) ซี่ล้อ (spoke)

ซี่ล้อเป็นโครงสร้างหลักของล้อจักรยาน เป็นตัวเชื่อมดุมกับขอบล้อเข้าด้วยกัน และช่วยกระจายแรงไปทั่วทั้งขอบล้อ ทั้งแรง tension และแรง compression ล้อส่วนมากขึ้นซี่ในรูปแบบคล้ายๆ กัน แต่ก็มีบางยี่ห้อเช่น Campagnolo ที่ขึ้นซี่ล้อไม่เหมือนใคร Lacing Pattern หรือรูปแบบการขึ้นซี่มีผลต่อความสติฟและความแข็งแรงของล้อครับ แน่นอนล้อที่ขึ้นซี่ไม่เหมือนคนอื่น เวลาซี่มีปัญหาก็ต้องหาคนขึ้นซี่ที่เชี่ยวชาญกับรูปแบบการขึ้นนั้นๆ ด้วย

จำนวนซี่ล้อก็สำคัญ เทรนด์สมัยใหม่นิยมใช้ซี่ล้อน้อยเพื่อความลู่ลม โดยปกติล้อที่ซี่เยอะจะแข็งแรง เหมาะกับคนน้ำหนักตัวมาก แต่แน่นอนว่าน้ำหนักล้อก็มากขึ้นเช่นกัน

 

5. คุณภาพ

ในส่วนนี้เราจะดูเรื่องความทนทาน การรับประกันและการบริการหลังการขายของตัวแทนจำหน่าย

a.) ความทนทาน

ในล้อคู่หนึ่งชิ้นส่วนที่บอบบางที่สุดคือขอบล้อ โดยเฉพาะล้อคาร์บอน นอกจากจะเป็นส่วนที่แพงที่สุดแล้วยังเกิดปัญหาได้ง่ายที่สุดด้วยเมื่อเทียบกับดุมและซี่ล้อ แต่ในความเป็นจริงล้อคาร์บอนมีความแข็งแรงมากครับ หากเราใช้มันถูกประเภท เช่นไม่เอาไปปั่นผาดโผนลงทางวิบากบ่อยๆ หรือกระแทกรุนแรงจนเกินไป

ปัญหาที่น่ากังวลของล้อคาร์บอนคือการใช้งานเวลาที่ต้องเบรคลงเขาหนักๆ โดยเฉพาะล้อคาร์บอนยางงัด (Carbon Clincher) ซึ่งมักจะเจอปัญหาขอบอมความร้อนจนขอบบวม ล้อสมัยใหม่แก้ปัญหาจุดนี้ได้บ้าง เพราะเทคโนโลยีเรซิ่นและวัสดุที่ใช้ผสมในขอบล้อแบบใหม่กระจายความร้อนได้ดีขึ้น แต่ก็ใช่ว่าปัญหาจะหมดไป แม้แต่ล้อคาร์บอนขอบงัดของแบรนด์ดังราคาสูงก็ยังเจอปัญหานี้เรื่อยๆ ครับ

b.) การรับประกัน

สิ่งที่ต้องดูคือตัวแทนจำหน่ายล้อของเรามีประวัติการรับประกันเป็นยังไง เอาใจใส่แค่ไหน (เช็คเว็บบอร์ดหรือถามเพื่อน) บางแบรนด์มีโปรแกรมรับประกันพิเศษที่เราสามารถเทิร์นล้อเก่าที่มีปัญหาเป็นคู่ใหม่ในราคาที่ถูกลงถึงจะหมดประกันจากตอนซื้อแล้ว แบรนด์ดังๆ ส่วนใหญ่มีวิธีรับประกันที่ดี แต่แบรนด์โลคัลในประเทศ หรือแบรนด์เล็กก็ต้องดูเป็นกรณีไปครับ มีทั้งที่ดูแลหลังการขายดีและไม่ดี

 

Clincher หรือ Tubular?

ล้อขอบงัด (Clincher)

ล้อจักรยานติดรถแทบทุกคันมากับล้อแบบขอบงัด (Clincher) เพราะราคาไม่แพง ดูแลรักษาง่าย หาอะไหล่ยางในได้ง่าย ถ้ายางรั่วก็แค่ปะยางในหรือเปลี่ยนเส้นใหม่ ไม่จำเป็นต้องพกยางนอกอะไหล่ซึ่งหนักและเกะกะ

เหตุผลที่ล้อคาร์บอนแบบ Clincher มีน้ำหนักมากกว่าล้อยางฮาฟ (Tubular) ก็เพราะว่าผู้ผลิตต้องทำขอบล้อ clincher ให้แข็งแรงกว่าล้อ tubular พอสมควรครับ เพราะขอบล้อต้องทนทั้งแรงดันยางจากด้านใน แรงเบรค ความร้อนจากการเบรค ในขณะที่ล้อ Tubular นั้นเราแปะยางเข้ากับล้อเลย ไม่ต้องเอายางนอกไปงัดรั้งกับขอบล้อ ไม่ต้องห่วงเรื่องแรงดันและความร้อน ล้อ tubular จึงมีน้ำหนักเบากว่าเพราะใช้วัสดุในการทำวงล้อน้อยกว่านั่นเอง

ข้อดี

  • ซ่อมง่าย ดูแลง่าย อะไหล่เยอะ
  • ยาง Clincher ราคาถูกกว่ายาง Tubular

ข้อเสีย

  • หนักกว่าล้อ Tubular หลายร้อยกรัม
  • ขอบล้อ (คาร์บอน) ไม่ทนทานต่อการใช้งานที่ต้องลงเขาและเบรคต่อเนื่องนานๆ ขอบล้ออาจบวมเสียหายได้
  • ล้อคาร์บอน Clincher มักมีราคาสูงกว่าล้อคาร์บอน Tubular ในรุ่นเดียวกัน

 

ล้อขอบฮาฟ (Tubular Wheels)

โครงสร้างล้อยาง Tubular ต่างกับล้อขอบงัดโดยสิ้นเชิง ล้อประเภทนี้เราติดยางเข้ากับขอบล้อด้วยการทากาวแปะยางไปเลย ยาง Tubular (หรือยางฮาฟที่คนไทยเรียกกัน) นั้นเย็บยางในไว้เป็นชิ้นเดียวกับยางนอก เพราะฉะนั้นถ้ายางรั่วเราไม่สามารถปะยางหรือเปลี่ยนยางในได้เหมือนยางงัดครับ

การดูแลล้อยางฮาฟจะจุกจิกกว่ายางงัดพอสมควร เพราะคุณต้องทากาวหรือใช้เทปติดยางเข้ากับขอบล้อให้ดี ไม่งั้นจะเสี่ยงต่ออาการยางหลุดจากขอบล้อ

ถ้ายางฮาฟรั่วคุณมีตัวเลือกไม่เยอะครับ อาจจะสารเคมีอุดรอยรั่วฉีดเข้าไปในยาง หรือเปลี่ยนยางทั้งเส้นเลย ถ้ารั่วระหว่างออกปั่นก็จะลำบากพอสมควร เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมคนส่วนใหญ่ถึงนิยมใช้ยางฮาฟในการแข่งขันเท่านั้น

ถึงจะใช้งานลำบาก แต่ยางฮาฟให้ฟีลลิ่งการปั่นดีกว่ายางขอบงัดพอสมควรครับ

ข้อดี

  • ล้อ tubular มีน้ำหนักเบากว่าล้อ Clincher
  • ฟีลลิ่งดีกว่าล้อที่ใช้ยางงัด

ข้อเสีย

  • ซ่อมแซมยาก ยางอะไหล่ราคาแพง

 

ดิสก์หรือไม่ดิสก์?

กระแสดิสก์เบรคในจักรยานเสือหมอบเริ่มมาแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็มาแบบกระแสคลื่นใต้น้ำ ยังไม่ได้รับการตอบรับจากตลาดสักเท่าไรครับ เหตุผลคือทางสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (UCI) ยังไม่รองรับให้ใช้ในการแข่งขันอย่างเป็นทางการ เมื่อวงการโปรยังไม่เริ่มใช้ วงการ consumer ก็ยังดูเหมือนจะรอท่าทีอยู่ว่าเราจะหันไปใช้ดิสก์กันหมดเหมือนจักรยานเสือภูเขาหรือเปล่า

ผู้ผลิตล้อและเฟรมจักรยานตอนผลิตทั้งล้อและเฟรมที่รองรับระบบดิสก์เบรคกันออกมาจะครบทุกรายแล้ว ตัวเลือกเริ่มมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ แต่อะไหล่อาจจะหายากอยู่ แน่นอนว่าคนที่อยากจะซื้อจักรยานใหม่ก็ต้องเริ่มคิดว่าจะใช้ดิสก์เบรคดีหรือเปล่า?

ข้อดีของดิสก์เบรคคือมีแรงเบรคที่ดีกว่าริมเบรคที่เราใช้กันทั่วไป สามารถเลียเบรคได้ดีกว่า และไม่ต้องกังวลเรื่องอาการขอบล้อคาร์บอนบวมเวลาที่ต้องเบรคต่อเนื่อง เบรคดีทุกสภาพอากาศไม่เหมือนริมเบรคที่ประสิทธิภาพลดลงเวลาล้อเปียก หรือติดโคลนตม แต่ข้อเสียก็มีเช่นกัน อะไหล่ยังหายาก การดูแลจุกจิกกว่าริมเบรคเล็กน้อย น้ำหนักมากกว่า (เล็กน้อย) และอาจจะต้องซื้อจักรยานใหม่ถ้าอยากจะใช้จริงๆ เพราะเฟรมจักรยานที่ขายกันตอนนี้ไม่ได้รองรับดิสก์เบรคทุกคัน ต้องซื้อเฟรมที่ทำมาเพื่อดิสก์เบรคโดยเฉพาะ ส่วนเรื่องแอโรไดนามิก ความต้านลมของดิสก์นั้นน้อยมากครับ Zipp อ้างว่าดิสก์เบรคเพิ่มแรงต้านแค่ 2-3 วัตต์เท่านั้น

ถามว่าวงการเสือหมอบจะเริ่มจริงจังกับดิสก์เบรคเมื่อไร? ทาง UCI ประกาศว่าจะให้ทดลองใช้ดิสก์เบรคในสนามแข่งอาชีพกันอย่างเป็นทางการเดือนสิงหาคมปี 2015 และให้ใช้อย่างเต็มตัวในปี 2016 ผู้บริโภคอาจจะต้องรอถึงปี 2017 กว่าดิสก์เบรคจะแพร่หลายและมีอะไหล่ให้เลือกซื้อมากเหมือนริมเบรคในปัจจุบัน

 

สรุป

ล้อติดรถจักรยานเสือหมอบส่วนใหญ่ระดับต่ำกว่ากว่าเฟรมและกรุ๊ปเซ็ตที่ติดรถมา เช่นนั้นแล้ว การเลือกซื้อล้อคุณภาพดีจะช่วยให้คุณรีดประสิทธิภาพจักรยานได้ดีขึ้นและปั่นสนุกขึ้นครับ

ล้อแอโร่ขอบสูงอาจจะดู “โปร” แต่ถ้าขอบสูงเกินไปก็หนักและควบคุมยากเวลาเจอลมข้างแรงๆ ล้อขอบสูงส่วนมาก “ทำงาน” ที่ความเร็วสูงเกิน 32-35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นั่นคือเราจะรู้สึกถึงอาการ “ไหล” ของล้อ ประหยัดแรง ไม่ต้องเติมเยอะก็ต่อเมื่อเราปั่นที่ความเร็วสูงระดับหนึ่งแล้วครับ หมายความว่านักปั่นมือใหม่ที่ไม่แข็งแรงอาจจะขี่ได้ไม่สนุก ก็ต้องพิจารณาจุดนี้ด้วย

ล้อน้ำหนักเบาช่วยเร่งกระชากออกตัวดี ปีนเขาสนุก ถ้าคุณอยู่ในพื้นที่ๆ ที่มีเนินเขาเยอะๆ ล้อเบาก็ช่วยให้ปั่นสนุกครับ แต่ถ้าคุณเป็นคนน้ำหนักตัวมาก กลัวว่าล้อตลาดจะไม่สติฟพอ ไม่แข็งแรงพอ ล้อประกอบที่เลือกสเป็คดุม ซี่ และขอบล้อได้อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า

ขอบคุณบริษัท PTT Progress ตัวแทนจำหน่ายล้อ Novatec ประเทศไทยที่ช่วยสนับสนุน Buyer Guide ครับ 

www.pttprogress.com

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *