8 เทคนิคเติมพลังระหว่างการปั่น

ในตอนที่แล้วเราพูดกันเรื่องการทานอาหารก่อนออกปั่น ถึงแม้เราจะเตรียมทานมาพร้อมแค่ไหนแต่การปั่นจักรยานก็เป็นกิจกรรมที่เผาผลาญพลังงานค่อนข้างเยอะ นักปั่นอาชีพเผาผลาญพลังงานได้มากถึง 5000 แคลอรีหรือข้าวมันไก่ประมาณ 10 จานในการแข่งระยะทาง 200 กิโลเมตร!

การเติมพลังด้วยอาหารระหว่างปั่นจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน เมื่อเราทานไม่พอระหว่างซ้อมหรือแข่งขันร่างกายจะออกอาการสารพัดอย่างทั้งเสียสมาธิ หมดกำลัง หิวโซ ประสิทธิภาพตกลงอย่างเห็นได้ชัด ถ้าสังเกตนักปั่นมากประสบการณ์เขาจะไม่มีปัญหาแบบนี้ครับ นั่นก็เพราะว่าเขาเข้าใจถึงความสำคัญของการเติมพลังระหว่างปั่น รู้ว่าต้องกินอะไร และกินเท่าไร เป็นอะไรที่เราก็ทำได้เช่นกัน วันนี้ DT รวม 8 เทคนิคการเติมพลังระหว่างออกปั่น มาดูกันทีละข้อเลยดีกว่า

 

1. ทำไมต้องกินระหว่างปั่น?

อันดับแรกต้องปรับความเข้าใจกันเล็กน้อยกับเรื่องพลังงานที่เราใช้ปั่นจักรยานครับ กล้ามเนื้อ (เครื่องยนต์) ของเราต้องการคาร์โบไฮเดรต ซึ่งอยู่ในรูปของน้ำตาลกลูโคสเป็นเชื้อเพลิง (น้ำมัน) ร่างกายเราสะสมกลูโคสในกล้ามเนื้อเรียกว่าไกลโคเจน ซึ่งจะย่อยสลายมาเป็นกลูโคสในเวลาที่เราออกกำลังกายหรืออกแรงหนักๆ โดยทั่วไปแล้วร่างกายมนุษย์สามารถสะสมไกลโคเจนเพื่อการออกกำลังกายความหนักปานกลางได้ประมาณ 90 นาที เพราะฉะนั้นถ้าคุณปั่นที่ความหนักกลางๆ ยาวเกิน 90 นาที ไกลโคเจนสำรองก็คงไม่พอ เปรียบเทียบง่ายๆ ก็คือรถยนตร์ที่น้ำมันกำลังจะหมด เร่งเครื่องไม่ขึ้น ออกแรงไม่ไหว จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเติมกลูโคส (น้ำมัน) ระหว่างการปั่นให้เราไปต่อได้ แน่นอนว่ามันต้องมาจากอาหารที่เราทานระหว่างการปั่น

 

2.ต้องกินอาหารประเภทไหน?

สั้นๆ ง่ายๆ: คาร์โบไฮเดรต ทำไมต้องคาร์โบไฮเดรต? โดยธรรมชาติแล้วคาร์โบไฮเดรตคือสารอาหารที่ย่อยสลายมาเป็นพลังงานที่ร่างกายใช้ได้มีประสิทธิภาพที่สุด (กลูโคส) สารอาหารประเภทอื่นอย่างโปรตีนและไขมันก็สามารถย่อยส่วนหนึ่งมาเป็นกลูโคสได้เช่นกัน ทว่ากระบวนการย่อยสลายเป็นกลูโคสของทั้งคู่ใช้เวลานานกว่าคาร์โบไฮเดรต ซ้ำร่างกายเราต้องใช้พลังงานในการย่อยโปรตีนและไขมันมากกว่าคาร์โบไฮเดรตด้วย

ในชีวิตจริงมันอาจจะหมายความว่ากว่าร่างกายจะย่อยโปรตีนและไขมันมาเป็นพลังงานสำหรับการปั่น เราก็อาจจะปั่นจบเป็นชั่วโมงแล้วก็ได้ครับ แถมพลังงานที่เอามาย่อยโปรตีนกับไขมันก็ไม่ได้เอาไปใช้ให้กำลังกล้ามเนื้อของเรา (เวลาเราออกกำลังกายร่างกายจะย่อยอาหารได้ช้าลง) เวลาเราดูกระเป๋าหลังเสื้อนักปั่นอาชีพก็จะมีแต่อาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตล้วนๆ ไม่ว่าจะเป็นกล้วย แซนวิชเนยถั่ว ข้าวปั้น เม็ดธัญพืชอบแห้ง ไขมันก็เป็นเชื้อเพลิงที่ดีครับ เวลาเราใช้คาร์โบไฮเดรตจนหมดแล้วร่างกายจะดึงเอาพลังงานจากไขมันมาใช้แทน แต่อย่างที่กล่าวไว้ กระบวนการเปลี่ยนไขมันมาเป็นพลังงานมันใช้เวลาค่อนข้างนาน — จริงๆ เรื่องนี้เป็นประเด็น เพราะบางสำนักเขาโปรโมทการใช้ไขมันเพียงอย่างเดียว ไม่ทานคาร์โบไฮเดรตเลย แล้วเราจะมาเจาะลึกกันอีกที

 

3. แล้วต้องกินอะไร??

พูดว่าคาร์โบไฮเดรตอาจจะไม่เห็นภาพ บางคนนึกถึงพาสต้า ก๋วยเตี๋ยว ข้าวสวย แน่นอนว่าอาหารพวกนี้ที่เรานิยมทานก่อนปั่นไม่ใช่อะไรที่เราพกไปทานบนจักรยานได้ง่ายๆ แน่ๆ คาร์โบไฮเดรตที่พกได้สะดวกก็เช่นกล้วย แซนวิช เม็ดธัญพืชเช่นเมล็ดทานตะวัน กล้วยตาก (เดี๋ยวนี้มีแบบแพคถุงเป็นชิ้นๆ แล้ว) ลูกไม้อบแห้ง (หาซื้อง่าย-ทานง่ายแต่ไม่ค่อยมีคนใช้!) ช๊อคโกแลตแท่ง หรือถ้าโปรสักหน่อยก็พกพาวเวอร์บาร์หรือเจลให้พลังงาน

อย่างไรก็ดีพาวเวอร์บาร์และเจลให้พลังงานคาร์โบไฮเดรตแบบเข้มข้น (คือเยอะมาก) เหมาะสำหรับเก็บไว้ใช้ในการแข่งขันหรือการออกซ้อมหนักๆ จริงๆ ครับ ซ้อมปกติก็ทานอาหารธรรมชาติจะดีกว่า เพราะการซ้อมธรรมดานั้นเราไม่ได้ใช้พลังเยอะขนาดตอนแข่ง และพาวเวอร์บาร์ก็ราคาไม่น้อยเลย

อย่าลืมเครื่องดื่มเกลือแร่หลายๆ ตัวอย่างสปอนเซอร์และเกเตอร์เรดก็มีคาร์โบไฮเดรตค่อนข้างเยอะมีตั้งแต่ 50-80 กรัมต่อหนึ่งขวด ใช้เติมพลังแบบฉุกเฉินได้ดีถึงแม้จะโฆษณาว่าเป็นเครื่องดื่มชดเชยเกลือแร่ก็ตามครับ

 

4. กินตอนไหนดี?

สั้นๆ: กินก่อนจะหิว! ร่างกายของมนุษย์ไม่เหมือนเครื่องจักร การส่งสัญญาณเตือนระบบต่างๆ ในร่างกายมันจะไม่แสดงผลทันทีครับ กว่าสมองเราจะบอกว่าพลังงานหมดแล้วนะ เริ่มหิวแล้ว ถึงตอนนั้นประสิทธิภาพการปั่นก็จะช้าลงแล้วเพราะร่างกายจะเปลี่ยนระบบการเผาผลาญจากคาร์โบไฮเดรตเป็นไขมันแทน

ยิ่งเวลาที่เราปั่นเร็วๆ ในช่วงแรก อย่างตอนเริ่มการแข่งขันที่กลุ่มตัวเต็งพยายามตั้งความเร็วสูงๆ เพื่อตัดคู่แข่ง เราจะเผาผลาญมากเป็นพิเศษ การทานเติมพลังก่อนจะหิวหมายความว่าร่างกายเราจะเผาผลาญพลังงานอาหารที่พึ่งทานลงไป แทนที่จะดึงเอาพลังงานสะสม (ไกลโคเจนในกล้ามเนื้อ) ออกมาใช้จนหมด นักโภชนาการแนะนำให้ทานคาร์โบไฮเดรตนิดๆ หน่อยๆ ทุกๆ 30 นาที

Hint: จอดกินข้าว?

ทำไมผู้เชี่ยวชาญไม่แนะนำให้เราจอดทานอาหารมื้อใหญ่ๆ ระหว่างออกทริป? นั่นก็เพราะเวลาเราทานอาหารจานใหญ่เข้าไปร่างกายต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมงกว่าจะย่อยมาเป็นพลังงานได้หมด ที่สำคัญคุณมักจะหิวและกินเยอะกว่าปกติหลังปั่นมาหนักๆ ด้วย ระหว่างเราออกแรงร่างกายย่อยอาหารได้ช้าลง หมายความว่าพอกินเสร็จแล้วกลับมาปั่นต่อมันก็จะเกิดอาการพะอืดพะอมครับ บังคับให้เราต้องปั่นช้าๆ ไปในตัว ถ้าจำเป็นต้องจอดกินจริงๆ ก็อย่าทานเยอะมาก ดีที่สุดคือพกอาหารไปด้วยแล้วไม่ต้องจอด ยกเว้นจะปั่นไกลๆ นานๆ จริงๆ

กินอย่างโปร: อาหารที่พบเห็นได้ในกระเป๋านักปั่นอาชีพ - น้ำ, เครื่องดื่มเกลือแร่ผสม, พาวเวอร์บาร์, เจล, ข้าวปั้น Photo: C Teerapan Leelavansuk
กินอย่างโปร: อาหารที่พบเห็นได้ในกระเป๋านักปั่นอาชีพ – น้ำ, เครื่องดื่มเกลือแร่ผสม, พาวเวอร์บาร์, เจล, ข้าวปั้น

 

5. พกอาหารยังไง?

ทานอาหารบนจักรยานไม่ใช่เรื่องง่าย ไหนจะต้องปล่อยมือจากแฮนด์ ล้วงมือไปหยิบ เปิดบรรจุภันฑ์ ถ้าเป็นเสบียงที่เสียรูปง่ายอย่างกล้วย (เละ) แซนด์วิช (ยุบ) ก็ต้องระวังเข้าไปใหญ่ ในการแข่งขันของมืออาชีพ แต่ละสนามจะมีจุดที่ทีมสามารถให้น้ำและอาหารนักปั่นได้ อาหารจะอยู่ในถุงหิ้วเล็กๆ ซึ่งนักปั่นก็จะรับแล้วเลือกหยิบมาทาน แต่สำหรับสามัญชนอย่างเราก็ต้องพกไปเองตั้งแต่ออกจากบ้าน

ความยากลำบากทำให้นักปั่นหลายคนละเลยไม่ทานอาหารระหว่างปั่น แต่ถ้าเราทำจนเป็นนิสัย เลือกอาหารที่พกง่ายและหยิบมาทานเมื่อถึงเวลา ไม่รอให้หิวเกินจนหมดแรงจะเห็นว่าเราปั่นได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

 

6. กินเยอะเกินก็ไม่ดี!?

บางคนอาจจะกินระหว่างปั่นน้อยเกินหรือไม่กินเลยจนหมดแรง แต่ในมุมกลับก็มีคนที่กินเยอะเกินเช่นกัน อาหารที่เราแนะนำให้กินระหว่างปั่นคือคาร์โบไฮเดรต แต่การรับประทานมากเกินเรตที่ร่างกายรับไหวก็มีผลเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารจำพวกพาวเวอร์บาร์และเจลเพิ่มพลัง ซึ่งมีคาร์โบไฮเดรตอัดอยู่แน่นกว่าอาหารธรรมดาๆ ถ้าใครดูการแข่งขันจักรยานอาชีพบ่อยๆ จะเห็นว่าแทบทุกสนามมีนักปั่นถอนตัวจากการแข่งเพราะปัญหาเรื่องท้องไส้ปั่นป่วน ท้องเสียบ้าง อาหารเป็นพิษบ้าง

คั่นโฆษณาด้วยข้าวไก่ย่างเทริยากิจาก CP :D
คั่นโฆษณาด้วยข้าวไก่ย่างเทริยากิจาก CP 

 

7. ฝึกซ้อมระบบย่อยอาหาร

เชื่อไหมครับว่าท้องไส้ระบบย่อยอาหารเราก็ฝึกซ้อมได้ อย่างที่บอกไว้ข้างต้น ร่างกายเราย่อยคาร์โบไฮเดรตไปใช้ได้ในปริมาณที่จำกัด ถ้ากินมากเกินท้องไส้จะงอแง นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเราย่อยคาร์โบไฮเดรตได้เพียง 1-1.5 กรัมต่อนาทีเท่านั้น แปลเป็นภาษาพูดก็คือคนหนัก 75 กิโลกรัมก็ควรทานคาร์โบไฮเดรต 75 กรัมในหนึ่งชั่วโมงระหว่างออกกำลัง

แต่ทำไมนักปั่นอาชีพถึงทานได้หลายพันแคลอรีระหว่างแข่งขันสบายๆ? นั่นก็เพราะว่าระบบย่อยอาหารเราสามารถปรับตัวให้เข้ากับการฝึกซ้อมได้เหมือนแขนขาและกล้ามเนื้ออื่นๆ ในร่างกาย ดอกเตอร์ Asker Jeunkendrup ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยจากบริษัท Gatorade (เครื่องดื่ม) ทดลองให้นักกีฬาทานอาหารคาร์โบไฮเดรตธรรมดาระหว่างปั่นเทียบกับนักกีฬาที่ดื่มเครื่องดื่มที่ให้พลังผสมด้วย พบว่านักปั่นที่รับคาร์โบไฮเดรตหลายๆ รูปแบบสามารถย่อยคาร์โบไฮเดรตได้มากถึง 400 กรัมต่อชั่วโมง มากกว่านักกีฬาที่รับคาร์โบไฮเดรตธรรมดาๆ ถึง 3 เท่า และทำเวลาในการปั่นได้ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด

วิธีการฝึกระบบย่อยก็คือค่อยๆ เพิ่มปริมาณอาหารระหว่างฝึกซ้อม แน่นอนว่าเราอาจจะไม่สามารถกินได้เยอะเหมือนนักกีฬาอาชีพที่รับคาร์โบไฮเดรต 400 กรัมทุกๆ ชั่วโมง (เปรียบได้กับข้าวมันไก่หนึ่งจาน!) แต่ถ้าเราทำจนชินเราก็จะมีพลังสำรองเยอะกว่าคนอื่นๆ เมื่อถึงเวลาแข่งจริงจะมีโอกาสน้อยมากที่หมดแรงเพราะหิว ทำให้รักษาความเร็วและความสดชื่นได้ดีกว่าเดิม เลือกอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต แต่เป็นอาหารที่เราชอบจะทำให้เรากินระหว่างปั่นได้เป็นนิสัยไม่ละเลย ถ้าจะฝึกทานให้มากขึ้นระหว่างปั่น เราก็ควรมีระบบการซ้อมที่ดีที่ดึงพลังเราออกมาใช้ได้เต็มที่เสียก่อน ไม่งั้นก็จะเป็นการทานเกินที่ร่างกายรับไหวแล้วจะปั่นแย่ลงนะครับ

 

8. เกิดอะไรขึ้นถ้าไม่กินอะไรเลย?

ถ้าเราไม่กินร่างกายเราก็จะใช้พลังงานสำรองจากไกลโคเจนจนหมด (ที่ประมาณ 90 นาที) จากนั้นกำลังจะตกลงอย่างเห็นได้ชัด โสตประสาททำงานได้แย่ลง อุบัติเหตุบนจักรยานในการแข่งส่วนมากจะเกิดเวลาที่นักปั่นเหนื่อยๆ จะเริ่มก้มหน้าก้มตาปั่นไม่มองใครทำให้เกี่ยวกันล้มเห็นได้บ่อย เริ่มรู้สึกว่าอยากจะจอด ท้อใจ คงปั่นได้ไม่จบระยะทาง หน้ามืด เป็นลมก็มีให้เห็นโดยเฉพาะในวันที่อากาศร้อน ถ้ารู้ว่าต้องปั่นนานและไกล ก็ควรเตรียมอาหารไปให้พร้อมครับ

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

7 comments

  1. กระติกน้ำอีกใบผมผสมน้ำตาลครับ ช่วยได้มาก สลับกันดื่มกับน้ำ

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *