ถ้าเราหมดไฟไม่อยากออกปั่นจะทำยังไงดี?

ปัญหาที่คนปั่นจักรยานเจอมากเป็นอันดับต้นๆ ก็คือความเบื่อหน่ายในการออกไปปั่นหรือฝึกซ้อม ด้วยที่จักรยานเป็นกีฬาแบบเอนดูรานซ์ ต้องใช้เวลาฝึกซ้อมต่อเนื่องยาวนานถึงจะเห็นพัฒนาการ เช่นปั่นได้ระยะทางไกลขึ้น ด้วยความเร็วที่สูงขึ้น และเหนื่อยช้ากว่าเดิม ระยะเวลาที่ว่านี้ก็อาจจะยาวนานหลายเดือนหรือหลายปีกว่าจะเห็นผล ซึ่งบางทีก็ทำให้หลายคนท้อแท้และอยากเลิกปั่นได้ง่ายๆ

DT เชื่อว่าทุกคนต้องเคยเจอปัญหานี้มาก่อนครับ แต่เราเองก็อยากรู้ว่าคนที่ก้าวข้ามความเบื่อหน่ายและความท้อแท้มาได้จนกลายเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ หรือเป็นโค้ชที่สร้างความสำเร็จให้นักกีฬาคนอื่นๆ พวกเขาก้าวข้ามปัญหานี้ได้ยังไง? วันนี้เราเลยออกไปสัมภาษณ์นักกีฬาทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น 4 คนเรื่องวิธีเอาชนะใจตัวเอง มาเล่าให้ฟังกันครับ


โค้ชมาร์ค ไรอัน

แชมป์โลกทีมเปอร์ซูต์ปี 2015 และเจ้าของเหรียญทองแดงโอลิมปิกประเภททีมเปอร์ซูต 2 สมัย (ปักกิ่ง 2008 และลอนดอน 2012)ปัจจุบันมาร์คเป็นโค้ชจักรยานและไตรกีฬาภายใต้ชื่อ Marc Ryan Performance Coaching

FB: Marc Ryan

“ในมุมผมนะ การตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนเป็นเรื่องสำคัญมากๆ คุณต้องอินกับเป้าที่ตัวเองตั้งไว้น่ะ ซึ่งหมายความว่ามันต้องสมเหตุสมผลด้วย คืออยู่ในขอบเขตที่เราทำได้ พอมีเป้าแล้วมันก็จะช่วยให้เราเอนจอยการซ้อมมากขึ้น มันจะมีวันที่น่าเบื่ออยู่แล้ว หลีกเลี่ยงไม่ได้ มันคือส่วนหนึ่งของการฝึกซ้อมกีฬาเอนดูรานซ์ ทั้งวันที่ปั่นช้าๆ หลายชั่วโมง หรือวันที่ปั่นหนัก เหนื่อยจนล้าไปหมด”

“เพื่อให้เราไปถึงเป้าใหญ่ได้โดยไม่หลงทาง เราก็ควรจะมีเป้าหมายเล็กๆ ระหว่างทางด้วย บางคนมีเป้าใหญ่ที่ดูแล้วสามารถทำตามเป้าได้ แต่พอไม่ลงมาดูรายละเอียดระหว่างทางมันก็เป๋ไป กีฬาจักรยานมันเป็นกีฬาเอนดูรานซ์ ซึ่งร่ายกายเราจะค่อยๆ พัฒนา เราต้องพยายามสังเกตพัฒนาการของมัน ถ้าเรารอดูผลลัพธ์ใหญ่ทีเดียว เราก็อาจจะผิดหวังจนท้อได้ง่าย ตรงนี้เนี่ยการมีแผนการซ้อมที่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก คุณจะได้รู้ว่าแต่ละวันคุณฝึกซ้อมอะไร เพราะอะไร”

“อีกจุดบอดนึงที่นักกีฬาหลายคนมองข้ามไปนะครับ ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นเลยก็คือช่วงเวลาหลังจากที่เราแข่งรายการใหญ่ๆ ที่เราตั้งใจไว้แล้วเนี่ย เหมือนกับเราได้ทำตามเป้าแล้ว หลังจากนั้นมันจะเป็นช่วงดาวน์ไทม์ คือเราเหนื่อยแล้วซ้อมานานเพื่อการแข่งขัน เราอยากจะหยุดพักทั้งร่างกายและจิตใจ อย่างผมสมัยที่แข่งโอลิมปิกสนามลู่ ช่วงเวลาหนึ่งเดือนหลังแข่งโอลิมปิกผมจะไม่จับจักรยานเลย ขอหยุดพักเต็มที่”

“แต่พักเสร็จแล้วยังไงต่อ? ผมก็ยังต้องแข่งขันต่อใช่ไหม ช่วงเวลาหลังจากที่เราพักยาวเนี่ยแหละที่จะทำให้เราเสียกำลังใจ เพราะร่างกายเราขาดการซ้อมมานาน เรารู้ว่าถ้าออกไปปั่นมันจะทำได้ไม่ดีเหมือนเดิมแน่ๆ เพราะงั้นก็ต้องให้เวลาตัวเองๆ ค่อยฟื้นสภาพ สร้างฐานความแข็งแรงใหม่อีกรอบ การฝึกซ้อมจักรยานก็เป็นแบบนี้แหละครับ คือมันเป็น cycle คุณเริ่มจากจุดที่อ่อนแอที่สุด ค่อยๆ สร้างฐานจนมั่นคง แล้วต่อยอดซ้อมหนักขึ้นเรื่อยๆ เมื่อใกล้ถึงสนามแข่ง จนร่างกายพร้อมถึงจุดสูงสุด จากนั้นคุณก็ต้องให้เวลาร่างกายได้พัก ความแข็งแรงมันอาจจะลดลงนิดหน่อย แต่ฐานที่คุณสะสมมายังมีอยู่ เพราะงั้นในรอบการซ้อมครั้งต่อไปเราก็จะแข็งแรงยิ่งขึ้นไปกว่าเดิมนั่นเอง”

“ถ้าเราเข้าใจวัฏจักรนี้เราก็จะไม่ท้อครับ แต่อย่างที่บอกคุณต้องเห็นป่าทั้งป่า ไม่ใช่แค่เพ่งไปที่ต้นไม้ต้นเดียวหรือใบไม้ใบเดียว ซึ่งถ้ามองแค่ภาพระยะสั้นแบบนั้นจะทำให้เราท้อจนเลิกได้ง่ายนะ”

“เรื่องสุดท้ายที่อยากจะฝากไว้คือ เราต้องชัดเจนกับตัวเองนะว่าเราต้องการอะไรจากการฝึกซ้อม ลูกศิษย์ผมหลายคนเขาเป็นคน competitive ลงแข่งในสนามชิงแชมป์ประเทศไทย พวกนี้เขาก็ขยันซ้อมอยู่แล้ว เพราะมีเป้าชัดเจน แต่อีกหลายๆ คนก็อยากปั่นเพื่อสุขภาพ ไม่ได้อยากแข่งขันชิงผลงานอะไร”

“สำหรับกลุ่มหลังเขาก็ต้องสนุกกับการปั่น ถ้าจะตั้งหน้าตั้งตาเครียดซ้อมตลอด ทั้งๆ ที่ไม่ได้ต้องการผลงาน มันก็จะทำให้เขาเบื่อ เจ็บ ล้าและเลิกไปในที่สุด แต่จะให้ซ้อมหวานเย็นตลอด มันก็ไม่สนุกเหมือนกัน น่าเบื่อจริงไหม ก็ต้องมีกระตุ้นปั่นหนักๆ ซ้อมหนักๆ สลับกันบ้าง เพื่อให้ได้สมดุลน่ะ”

“ผมว่าสำหรับคนทั่วไปคุณต้องซื่อสัตย์กับสิ่งที่คุณต้องการ มองตัวเอง ไม่ใช่มองคนอื่นแล้วอยากได้อยากแข็งแรงเหมือนเขาตลอด ความอิจฉามันจะทำให้เราฝืนซ้อมจนลืมดูความเหมาะสม แล้วสุดท้ายคุณก็จะเลิกปั่นซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าครับ การที่เราซื่อสัตย์กับความต้องการของตัวเองมันก็เป็นการเอาชนะใจแบบหนึ่งนะ”


โค้ชตั้ม วิสุทธิ์ กสิยะพัท

โค้ชและผู้จัดการการทีมชาติไทยและทีม Thailand Continental Cycling Team

FB: Wisut Kasiyaphat

Q: ในมุมของโค้ชทีมชาติ เวลาเจอนักกีฬาที่ไม่ขยันซ้อมพี่ตั้มจัดการยังไง? ทำยังไงให้พวกเขาเอาชนะใจตัวเอง เอาชนะความขี้เกียจออกมาได้?

“โอ้โห นี่บอกได้เลยว่ามันเป็นศิลปะจริงๆ นะ ต้องใช้แต่ละไม้กับนักกีฬาแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย คือในทีมเราเนี่ยมีนักกีฬาหลายคนที่เขาวินัยดีอยู่แล้ว อย่างมะตูม ป๋อม อเล็กซ์ ศราวุฒิพวกนี้ เขาขยันซ้อมอยู่แล้ว แล้วระหว่างพวกนี้เขาก็มีแข่งขันกันเองนะ เช่นสัปดาห์นี้คนนี้ปั่นได้ 900 กิโลเมตร เฮ้ยอีกคนอยากชนะก็จะปั่น 950 เกทัพกันไปมาแบบนี้ แล้วมันทำให้เขาได้สะสมเอนดูรานซ์ ระยะทาง มันทำให้แข็งแรงอยู่แล้ว”

“แต่อย่างเด็กพวกรุ่นใหม่ที่เพิ่งขึ้นมา พอมาเจอของแข็งอย่างรุ่นพี่ที่ความสามารถยังต่างกันอยู่มากเนี่ย เขาก็จะเริ่มถอดใจ ไม่รู้จะไปต่อยังไง คือเราต้องเข้าใจว่ากีฬาจักรยานทางไกลเนี่ย มันเป็นอะไรที่ต้องใช้เวลาในการฝึกซ้อมสะสมความแข็งแรงนะ ไม่ใช่แข็งแรงกันได้ในไม่กี่เดือน ต้องใช้เวลาสะสมหลายปี”

“สำหรับน้องๆ พวกนี้พี่ก็ต้องหาวิธี เปลี่ยนความคิดเขา ให้เขาไม่ไปโฟกัสเปรียบเทียบความแข็งแรงกับนักกีฬาคนอื่น ที่ฝึกซ้อมมานานกว่ามาก สร้างแรงจูงใจให้น้องๆ กลับมาขี่ให้ได้ ให้อยากซ้อมต่อ แต่ละคนก็จะปรับไม่เหมือนกันเลย ต้องดูนิสัยใจคอ พื้นฐานครอบครัวและศักยภาพร่างกายเขาด้วย สุดท้ายเราก็จะพยายามชงให้มาอยู่ในตะกร้าเดียวกันให้ได้ ทั้งชุดทีมชาติและทีมไทยคอนทิเนนทัลตอนนี้ก็อยู่ในร่องในรอยเดียวกันหมดแล้วหละ”

“ปัญหาหนึ่งที่นักกีฬาเราเจอ และพี่คิดว่ามือสมัครเล่นก็ต้องเจอเหมือนกันคือ เวลาน้องๆ ไปลงแข่งสนามยากๆ เขาจะรู้สึกท้อมาก หมดไฟ เพราะเห็นสภาพที่ตัวเองขี่สู้คนอื่นไม่ได้ ยกตัวอย่าง ธนาวุฒิ สนิกวาที (แชมป์อาเชียน Tour of Thailand สเตจ 4) เขาเป็นสปรินเตอร์ ถ้าส่งเขาลงไปแข่งเนี่ย เขาจะไปรอสปรินต์อย่างเดียวไม่ได้ เพราะกว่าจะไปถึงหน้าเส้นชัยที่เขาจะได้โชว์ความสามารถ เขาก็ต้องผ่านเส้นทางภูเขาสูงชันให้ได้ก่อน”

“นักกีฬาแบบสปรินเตอร์โดยร่างกายแล้วจะขึ้นเขาได้ไม่เร็วนัก ก็จะหลุดกลุ่มไงเสียกำลังใจ รายการที่ไปแข่งก็มีเขาชันแทบทุกรายการ กลับมาเขาก็เริ่มถอดใจละ พี่ก็จะให้พักก่อน หารายการที่เหมาะกับเขาแบบ one day race หรือไครทีเรียมที่ใช้บริการตัวสปรินต์จริงๆ ให้เขาได้มีผลงานดีๆ สร้างแรงจูงใจกลับมาอีกครั้ง”


แจ็ค – ณัฐวุฒิ ชวนปัญโญ

แชมป์ประเทศไทยประเภท Individual Time Trial ปี 2561 ในรุ่น 30-39 ปี จากทีม Woodland Cycling

FB: Jack Nattawut Chuanpanyo

Q: สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เราเอาชนะใจตัวเองออกไปฝึกซ้อมได้?

“มีเป้าหมายก่อน ว่าปีนี้จะทำอะไร ไม่งั้นมันจะเคว้ง ตอนแรกเป้าผมคือลดน้ำหนักคือแต่ก่อนเป็นคนอ้วนมากครับ น้ำหนักผมก่อนปั่นคือ 120 กิโลกรัม พอปั่นครั้งแรกก็ลดจาก 98 มาเหลือ 86 พอเริ่มแข่ง ซ้อมจริงจัง ก็ลดจนเหลือ 82 และสุดท้ายพอได้มาเข้าทีม Woodland ก็ลดมาเหลือตอนนี้ 71 กิโลกรัม”

“พอผ่านเป้าเรื่องน้ำหนักตัวได้แล้ว ทีนี้ในมุมของคนที่แข่งจักรยานบ่อย แต่ละปีเราก็ต้องมาคิดว่าเป้าหมายใหม่ของเราคืออะไร อย่างปีที่แล้วเป้าหมายผมคืออยากลองชิงแชมป์ประเทศไทยประเภทไทม์ไทรอัล รุ่นอายุ 30-39 แต่ไม่ได้ลงประเภท road race เลย เพราะโฟกัส TT อย่างเดียว ปีนี้ก็ยังลงแข่งไทม์ไทรอัล เป้าหมายคือขออันดับโพเดียมสักหนึ่งสนาม”

“แต่ก็อยากรู้ศักยภาพตัวเองมากกว่านี้ เราเห็นน้องๆ ลงแข่ง road race ในรุ่น open ปั่นกันเร็วมาก แล้วถ้าเราไปลงเราจะปั่นได้ทันเขาหรือเปล่า ก็เลยตั้งใจว่าจะลงแข่ง road race รุ่น open ดู ไม่ได้อยากชนะใคร แต่อยากรู้ว่าร่างกายเราจะทำได้ไหม อันนี้คือเป้าหมายแรก”

Q: จัดการกับความเบื่อหน่ายในการปั่นนานๆ ยังไง?

“ปกติผมซ้อมสัปดาห์ละ 10-12 ชั่วโมง คือช่วงแรกบ้าปั่นมาก ความแข็งแรงมันติดตามเห็นผลได้ชัดมาก ความแข็งแรงจะขึ้นไว แต่พอถึงจุดหนึ่งที่เราแข็งแรงพอสมควร กราฟมันจะเริ่มไม่ขยับละ เหมือนเจอกำแพง สถิติเราไม่ขึ้น มันก็จะปั่นไม่สนุกเพราะผลมันไม่ทันตา แล้วมันก็มีกิจกรรมอย่างอื่นที่เราอยากทำเต็มไปหมด ที่พร้อมจะแย่งเวลาซ้อมเรา เพราะงั้นทางแก้คือเราต้องโฟกัสไปที่เป้าหมายการซ้อมและหาแรงบันดาลใจครับ ทั้งซื้ออุปกรณ์ใหม่บ้าง ชั่งน้ำหนักตัวเองบ่อยๆ จะได้ควบคุมตัวเองด้วย”

“แล้วก็เน้นการจัดสรรเวลาให้ดี ทุกวันผมจะพยายามเคลียร์งานเร็วๆ จะได้ปั่นก่อนค่ำพอดี ผมซ้อมวันละสองชั่วโมง ออกสี่โมงเย็น หกโมงก็เสร็จครับ ความโชคดีอย่างหนึ่งของผมคือ เส้นทางแถวบ้านปั่นได้สะดวกครับ ไม่ต้องขนจักรยานใส่รถยนต์ไปสนามหรือไปที่ๆ มันปั่นได้ปลอดภัย ของเราเลิกงานแล้วก็ลุยได้เลย”

Q: พี่แจ็คสังกัดทีม Woodland ซึ่งเป็นทีมจักรยานสมัครเล่นแถวหน้าของประเทศไทย อยู่ในทีมที่มีเพื่อนเก่งๆ แบบนี้ มันช่วยให้เราขยันซ้อมมั้ยครับ?

“การมีเพื่อนร่วมทีมช่วยมากนะครับ ด้วยที่เราเป็นทีมสมัครเล่น ทุกคนต่างมีหน้าที่มีงานประจำ เราก็อาจจะไม่ได้ซ้อมด้วยกันบ่อยๆ แต่ว่าการที่ได้ปั่นด้วยกันมันทำให้เราผลักดันกันเองนะ นานๆ เจอกันที เวลานัดซ้อมทีมเราก็จะมาแนะนำ คอมเมนต์จุดที่แต่ละคนยังขาดตกบกพร่องอยู่ แล้วมันก็กระตุ้นกันเองด้วยนะ บางคนเข้ามาไฟแรงมาก มันก็ทำให้เราอยากจะซ้อมด้วย”

Q: มีเคล็ดลับอะไรที่ทำให้เราออกซ้อมบ่อยๆ ?

“ผมพยายามให้คนที่บ้านปั่นด้วย ก็คือมีแฟนและน้องสาว มันบังคับตัวเองให้เราต้องพาเขาออกไปปั่นด้วย ถ้าเขาอยากออกซ้อม แล้วเราไม่อยากออก อย่างน้อยมันก็มีเหตุผลให้เรายกจักรยานออกไปปั่น”

“ส่วนที่ยากที่สุดไม่ใช่การซ้อมหรอก แต่เป็นช่วงก่อนที่เราจะลุกออกไปซ้อมนั่นแหละ ถ้าเราเอาชนะแรงเฉื่อยตรงนั้นได้ที่เหลือก็ไม่ยากแล้ว พอมีคนที่เราต้องพาออกไปปั่นด้วยกันแบบนี้ก็ช่วยฉุดเราได้ดีเลยครับ มันช่วยกระตุ้นตัวเองทางอ้อม”

“เวลาจะชวนแฟนมาปั่นก็อาจจะเริ่มยากหน่อย ผู้หญิงเขาก็จะกลัวร้อนกลัวดำนะ เราก็ใช้วิธีชวนปั่นตอนเย็นๆ ค่ำๆ ถ้าเราต้องซ้อมสองชั่วโมง เราก็ออกปั่นก่อนเลย พอครบชั่วโมงแล้วก็เวียนมารับเขาไปปั่นด้วยกัน แดดก็ร่มแล้ว ช่วงแรกก็จะปั่นเบาๆ ประกบประคองเลย จนเขาเริ่มสนุกแล้ว เริ่มเข้าใจว่าการออกมาปั่นมันดีกับร่างกายนะ ก็กลายเป็นว่าทุกวันนี้แฟนผมเป็นคนลากผมออกไปปั่นเองเลย”


บาส ภุชงค์ ซ้ายอุดุมศิลป์

นักปั่นทีมชาติไทยและทีม Thailand Continental Cycling Team

FB: Phuchong Saiudomsin

Q: บาสเป็นนักปั่นอาชีพ ต้องซ้อมจักรยานเป็นงานประจำ เราเอาชนะความเบื่อหน่ายในการซ้อมปั่นยังไง?

“วิธีของผมก็คือต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนก่อนเป็นอันดับแรก อย่างง่ายที่สุดเลยนะ ผมจะใช้วิธีมองคู่แข่งที่ไปงานเดียวกับเราครับ แต่ละวันที่จะออกซ้อมผมก็จะจินตนาการว่าเขาซ้อมหนักแค่ไหน เช่นเราอาจจะคิดว่าวันนี้เขาไปปั่นสามชั่วโมง ผมก็จะต้องขี่อย่างน้อยให้ได้เท่าเขาหรือมากกว่า”

“โดยที่จริงๆ แล้วเราไม่รู้นะว่าเขาทำอย่างนั้นจริงหรือเปล่า แต่ถ้าเราทำได้ตามเป้าแต่ละวันแบบนี้ เอาชนะคนในมโนของเราได้เนี่ย มันก็คือชัยชนะเล็กๆ ในแต่ละวันไง มันสร้างความมั่นใจได้มากเลย กลับกันถ้าเรารู้สึกขี้เกียจ แต่เขาออกไปซ้อมเป็นปกติเนี่ย เราก็แพ้เขาตั้งแต่ตอนฝึกซ้อมแล้ว”

“อีกปัญหาที่ผมเจอคือ บางช่วงเราไม่มีงานแข่ง แต่ในฐานะนักกีฬาผมก็ยังต้องรักษาความฟิตไว้ตลอดทั้งปี แบบนี้เราจะตั้งเป้าอะไรจริงไหม? การเป็นนักปั่นอาอาชีพผมต้องสะสมชั่วโมงการซ้อมเยอะ เพราะเวลาเราแข่งสนามนึงระยะทางมันไกล จะใช้เวลานานหลายชั่วโมงกว่าจะแข่งจบแต่ละสเตจ ร่างกายเราก็ต้องเคยชินกับการปั่นนานๆ ด้วย”

“การจะปั่นคนเดียวนานๆ ไม่มีเพื่อนออกซ้อมด้วยมันก็จะน่าเบื่อมาก เพื่อให้ไม่เบื่อ หรือช่วงไหนที่ไม่มีแข่ง ยังไม่ต้องซ้อมตามเป้าทันที ผมก็จะใช้วิธีไปเข้าฟิตเนส หรือว่ายน้ำ หรือออกกำลังกายอย่างอื่นครับ แบบนี้มันช่วยเพิ่มความหลากหลายในการออกกำลังกาย ทำให้เราไม่เบื่อการปั่นด้วย และก็ไม่สูญเสียความแข็งแรงด้วยครับ”

#VO2gobeyondyourlimit #เอาชนะขีดจำกัดในตัวคุณ


บทความนี้สนับสนุนโดย อ้วยอันโอสถ VO2

VO2 เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสมุนไพรไทย 3 ชนิด คือกระชายดำ สารสกัดจากเมล็ดงาดำและดอกคำฝอย มีสรรพคุณช่วยให้หายใจดีขึ้นขณะวิ่งและปั่นจักรยาน ทำให้เหนื่อยน้อยลง ระยะเวลาการพักฟื้นและอาการล้าของกล้ามเนื้อลดลง สมุนไพรไทยทั้งสามชนิดได้รับการวิจัยจากคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญทรงคุณวุฒิถึงประโยชน์ที่มีต่อการออกกำลังกายแบบเอนดูรานซ์

  1. จากงานวิจัยของคณาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่นพบว่ากระชายดำสามารถเพิ่มอัตราการใช้ออกซิเจนขณะออกกำลังกายเอนดูรานซ์อย่างการปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิก และวิ่ง รวมถึงมีสารฟลาโวอยด์ช่วยลดภาวะตึงเครียดของกล้ามเนื้อ ความเมื่อยล้าและตะคริว
  2. งานวิจัยของคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พบว่าเซซามิน สารสกัดจากงาดำช่วยลดการอักเสบข้อเข่ายับยั้งเอนไซม์ที่ก่อให้เกิดอาการอักเสบและอาการปวดข้อ อีกทั้งป้องกันอาการเข่าเสื่อมได้ เมื่อกระดูก และข้อต่อมีความแข็งแรง ก็ช่วยให้การรองรับน้ำหนักหรือแรงกระแทกมีโอกาสเกิดขึ้นระหว่างออกกำลังกายได้เป็นอย่างดี
  3. ทีมงานชุดเดียวกันศึกษาจนพบว่าดอกคำฝอยมีคุณสมบัติช่วยลดความเข้มข้นของสารแลคเตทที่ถูกสร้างขึ้นโดยกระบวนการเผาผลาญสารอาหารระดับเซลล์ซึ่งเกิดขึ้นขณะออกกำลังกายแบบไม่ใช้ออกซิเจน

จึงเป็นที่มาของการนำสมุนไพรทั้งสามมาเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารเสริมอ้วยอัน VO2 นั่นเอง

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร VO2 หมายเลขอ.73-1-49541-5-0003 หาซื้อได้ที่

  1. อ้วยอันโอสถ Online Store โดยคลิกที่ลิงค์ : http://bit.ly/2PqhaWW หรือ Line@ : @ouayun_osoth
  2. ช่องทางจัดจำหน่ายอื่นๆ ได้แก่ Lab Phamacy , ร้านตำรับไทย และ ร้านขายยาชั้นนำทั่วประเทศ

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!