9 เทคนิคการปั่นเสือหมอบในเมือง

การปั่นจักรยานในเมืองนั้นว่ากันแล้วก็ถือว่าอันตรายพอสมควร โดยเฉพาะในกรุงเทพหรือเมืองใหญ่ในบ้านเราซึ่งไม่ได้ออกแบบถนนเผื่อจักรยาน วันนี้มาดูเทคนิคที่จะช่วยให้ขี่จักรยานในเมืองได้ปลอดภัยขึ้นกันครับ

ถึงเว็บนี้จะเน้นเสือหมอบแต่เทคนิคที่จะว่ากันนี้ก็น่าจะใช้ได้กับจักรยานทุกประเภท ผมเองปั่นเสือหมอบเป็นหลักและไม่ชอบเอาจักรยานใส่รถยนต์เพื่อออกไปปั่นข้างนอกไกลๆ ทำให้ต้องฝ่าเมืองและจราจรกรุงเทพทุกวันกว่าจะได้ออกกำลังกายอย่างจริงจัง หลังจากปั่นเสือหมอบในเมืองมาเกือบปีก็รวบรวมเทคนิคการปั่นให้ปลอดภัยมาฝากครับ

1. เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม

DSCF0737_Snapseed

อันดับแรก หมวกกันน๊อก จะปั่นรถอะไรก็ตาม รถพับ รถแม่บ้าน ฟิกซ์ ภูเขา หมอบ จะออกจากบ้านใส่หมวกไว้ก่อนเลย อย่าคิดว่าออกไปใกล้ๆ ไม่เป็นไรหรอก อุบัติเหตุเกิดได้ทุกที่ครับ แม้แต่หน้าบ้านคุณเอง เพราะฉะนั้นอย่าประมาท

อีกอย่างที่แนะนำเวลาต้องไปไกลสักหน่อยคือถุงมือครับ ถ้าซื้อถุงมือที่พอดีมือมันจะไม่อึดอัดและช่วยเซฟเราได้ดีเวลาล้ม มือจะไม่ถลอกปอกเปิก

มือถือเตรียมไว้ให้พร้อม เช็คปริมาณแบตด้วยถ้าจะไปปั่นไกลๆ เผื่อรถเสียจะได้โทรให้เพื่อนหรือที่บ้านมาช่วย ถ้าหลงทางอย่างน้อยก็มี Google Maps หรือแผนที่อื่นๆ พอจะดูเส้นทางได้ครับ

ไฟหน้า ไฟท้ายต้องติดให้สว่างหากปั่นตอนกลางคืน ถ้าจะให้ดีควรซื้อไฟเล็กๆ ติดท้ายหมวกด้วยครับ ใครขี่รถยนต์ตอนกลางคืนแล้วโดนจักรยานไม่ติดไฟปั่นสวนหรือปั่นตาม คุณจะรู้ว่ามันมองแทบไม่เห็นเลยและอันตรายมากๆ อย่าคิดว่าปั่นในเมืองมีไฟท้องถนนก็สว่างพอ… คนขี่รถยนต์เขามองเห็นไม่เหมือนคนขี่จักรยานครับ มุมมองรับภาพ และโฟกัสมันไม่เหมือนกัน ขี่รถยนต์เราจะมองเห็นไม่กว้างเท่าจักรยาน ต้องคิดเผื่อเพื่อนร่วมทางด้วยครับ

 

2. ผ้าปิดจมูก

IMG_4414_Snapseed

ชิ้นนี้สำคัญมากครับ แต่ก่อนผมก็ไม่เคยคิดจะใส่ เวลารถติดก็ต้องดมฝุ่นควันสารพัด แต่พอได้ใส่แล้วถึงรู้ว่ามันช่วยป้องกันฝุ่นควันรถได้ดีมากๆ ถ้าซื้อผ้าที่มันระบายอากาศดีๆ หน่อยจะไม่อึดอัดเลยครับ และช่วยบังแดดได้ดีมากด้วย

 

3. คลีทหรือรองเท้าธรรมดา?

DSCF0727

สำหรับคนที่ปั่นจักรยานฝ่าเมืองออกไปข้างนอกเพื่อออกกำลังกายอย่างผม ยังไงก็ต้องใส่รองเท้าจักรยานที่ติดคลีทอยู่แล้ว เวลาปั่นบนถนนในเมืองต้องเจอไฟแดง รถหยุดๆ จอดๆ หรือตัดหน้าบ่อยๆ เพราะฉะนั้นหากใส่คลีทต้องมีสติดีๆ คอยปลดให้ทันครับ คนที่ปั่นมานานแล้วคงชินไม่มีปัญหา แต่คนที่พึ่งซื้อรองเท้าแบบติดคลีทมาใส่  ปั่นแถวบ้านบนถนนโล่งๆ หัดถอดใส่ให้คล่องสักสองร้อยที เวลาออกถนนใหญ่จะได้ไม่ลืม ถ้าล้มกลางถนนมันอันตราย เดี๋ยวโดนคันหลังทับ

 

4. ระวังทางรถไฟและลูกระนาด

ในกรุงเทพมีรางรถไฟตัดผ่านถนนพอสมควร แล้วมันอันตรายยังไง? เหล็กรางรถไฟนั้นค่อนข้างลื่นเอามากๆ บางที่รางก็จะนูนสูงขึ้นจากถนน ถ้าปั่นมาเร็วๆ อาจจะลื่นกระดกล้มได้ เจอทางรถไฟก็ลดความเร็วแล้วค่อยๆ ปั่นข้ามไม่ต้องรีบร้อน

ลูกระนาดที่ใช้ลดความเร็วรถยนต์ตามซอยต่างๆ นั้นก็อันตรายโดยเฉพาะคนที่ปั่นเสือหมอบ ลูกระนาดมีขนาดไม่เท่ากัน บ้างก็เล็กบ้างก็นูน บ้างก็กว้าง เวลาขึ้นลูกระนาดให้กำแฮนด์แน่นๆ เพราะบางทีกำหลวมๆ แล้วเจอแรงสะเทือน มือหลุดจากแฮนด์ ก็ชวนล้มเอาง่ายๆ หลุมเล็กหลุมน้อยก็เหมือนกัน ถ้าไม่คุ้นชินเส้นทางต้องระวังเป็นพิเศษครับอย่าเผลอไปรูดหลุม บางอันก็ลึกกว่าที่คิดนะ…

 

5. ระวังแท็กซี่และรถเมล์ปาดหน้า

DSCF0734

กรณีนี้หลายคนน่าจะเคยเจอ ถ้าคุณขี่ชิดเลนซ้ายต้องเคยโดนรถเมล์หรือแท๊กซี่เบียดเข้าซ้ายเพื่อจอดรับผู้โดยสารแน่นอน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเบียดเข้าแบบกระทันหัน เล่นเอาเรากำเบรคไม่ทัน เบรคจักรยานนั้นแรงน้อยกว่าเบรคมอเตอร์ไซค์ ต้องระวังหูไวตาไวเป็นพิเศษ​ ถ้าปั่นตามก้นรถเยอะๆ ก็อย่าไปจ่อตูดครับ ต้องเผื่อระยะเบรคด้วย หากโดนตัดหน้าแล้วต้องแซงออกก็หันไปมองรถข้างหลังก่อน เดี่ยวจะโดนเบียดเอา

 

6. อย่าใส่หูฟัง

เรื่องนี้ละเอียดอ่อน เพราะหลายคนก็ชอบใส่หูฟังปั่น แต่ผมคิดว่าถ้าปั่นในเมืองที่รถเยอะๆ ยังไงก็ไม่ควรใส่หูฟังฟังเพลง แค่เราขี่จักรยานเป็นหนังหุ้มเหล็กก็อันตรายพอแล้ว เราต้องการประสาทสัมผัสทั้งหมดให้เดินทางได้ปลอดภัยครับ อย่างน้อยมีรถมาข้างหลัง มีเสียงแตรบีบเตือนหรือใครตะโกนเรียกอะไรก็จะได้ยินบ้าง อีกอย่างถ้ารถเรามีปัญหา ไม่ว่าจะยางรั่ว เกียร์ ล้อ หรืออะไรหลุดร่วงก็จะไม่ได้ยินครับ

เอาไว้ปั่นข้างนอกไกลๆ ที่ไม่ค่อยมีรถราคนเดียวค่อยหยิบมาใส่นะ อยู่ในเมืองเนี่ย ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาแล้วเราใส่หูฟังอยู่มันเถียงไม่ขึ้นครับ ถือว่าประมาทเลินเล่อ ไม่ว่าเราจะเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายผิดก็ตาม การเดินทางบนถนนนั้นมันเหมือนมีพันธสัญญาร่วมกันระหว่างคนใช้ถนนว่าเราจะไม่ทำให้อีกฝ่ายบาดเจ็บ ถ้าเราไม่เคารพกฏตรงนี้อคนอื่นก็จะอาจจะเป็นอันตรายได้ครับ

 

7. อย่าห้อยของไว้หน้ารถ

IMG_4489_Snapseed

แฮนด์โค้งของเสือหมอบนั้นควบคุมรถได้ยากกว่าแฮนด์ตรง นั่นก็เพราะมันออกแบบมาเพื่อทำความเร็วและให้เราจับดรอปได้ลู่ลม ไม่ได้เน้นการควบคุมเหมือนแฮนด์ตรงที่ใช้ใน BMX และเสือภูเขา เวลาเจอจราจรติดขัดมากๆ ก็พยายามวางมือไว้บนฮู้ดจะได้แตะเบรคได้ไวๆ และที่สำคัญอย่าห้อยถุงพลาสติกหรือสิ่งของไว้หน้ารถ! เรื่องนี้ไม่เจอกับตัวเองคงไม่รู้ เวลาเราห้อยถุงไว้ที่ฮู้ด ถ้าของมันหนักมากๆ มันจะเวียนไปรั้งเบรคครับ อันตราย อีกอย่างถ้าถุงยาวๆ บางทีเข้าไปเกี่ยวล้อ ล้มคว่ำก็มี เสือหมอบไม่ได้ออกแบบมาให้ขนของ ถ้าจำเป็นต้องซื้อของก็ให้สะพายกระเป๋าไพล่หลังดีกว่า

 

8. เวลารถติด…

IMG_4469_Snapseed

เวลาเจอรถติดแล้วจำเป็นต้องซิ๊กแซ๊กขึ้นไปหน้าไฟแดง ให้มองรถที่มาจากข้างหลังเสมอ มอเตอร์ไซค์มักจะบิดเร่งเข้าช่องแทรกตัวขึ้นไปรอหน้าไฟแดง ซึ่งบางทีเวลาเรากำลังจะเลี้ยวออกเขามองไม่เห็นเรา เพราะรถยนต์มันบังเราอยู่ครับ ค่อยๆ มองไม่ต้องรีบ เช่นเดียวกันเวลาเราปั่นตรงๆ ขึ้นไปตามซอกรถ ก็ระวังซ้ายขวาไว้ด้วย เผื่อมีมอเตอร์ไซค์ / คนเดินออกมา

อีกอย่างคืออยู่ให้พ้นๆ สิบล้อและรถเมล์​ รถพวกนี้สูงบังเรามิด บางทีคนขับก็มองไม่เห็นเรา ให้อยู่ในระยะสายตาที่เราและคนอื่นมองเห็นกันได้ง่ายๆ จะปลอดภัยกว่า

9. เช็คจักรยานก่อน และหลังปั่น

ก่อนออกปั่น ยกล้อหน้าขึ้นหมุนล้อดูว่าแกนปลดมันหลวมหรือเปล่า เอากำปั้นทุบล้อดูสักทีว่ามันคลอนไหม (ขอบคุณคุณ Taojeaw Chewcharnchorn ที่แนะนำเพิ่มเติม) เช็คเบรค เช็คคอรถ หลังปั่นเสร็จแล้วก็ดูสภาพรถด้วย เช็ดบ้างอะไรบ้าง พยายามเอาผ้าเปียกเช็ดยาง หมุนดูให้ทั่วว่ามีหินกรวดอะไรฝังหรือเปล่า แล้วแคะมันออก จะช่วยลดปัญหายางรั่วได้เยอะเลยครับ

 

ทิปเพิ่มเติมจากคุณ Nuttz D. Nuttawat 

คลีต: ไม่ควรใส่ ไม่ว่าจะมือใหม่หรือมือโปรก็ตาม
เพราะถ้าเหตุสุดวิสัยอย่าง มอไซค์ รถตู้ Taxi ปาดหน้ากระทันหัน 
จะได้ไม่ลงไปกอง ถ้าต้องการใช้ควรใส่แค่ ตะกร้อแบบฟิกเกียร์ แทน 

ไฟหน้า-หลัง: ถ้าต้องปั่นระยะทางยาว และอาจกลับดึก
ให้ใช้แบตเตอรี่ เพราะแบตหมดเราจะได้แวะ 7-11 ได้

– มองไฟท้าย หรือล้อรถคันหน้าให้ดีๆ เพราะเค้าอาจจะเลี้ยวกระทันหัน
– เจอน้องหมาไม่ต้องตกใจ ปั่นชะลอๆ อย่าควงหนี เมื่อไม่เห็นอะไรหมุนๆ ให้รำคาญใจก็จะหยุดตาม หรือเอาน้ำในกระบอกฉีดใส่น้องหมาก็หนี
– หันมองหลังบ่อยๆ เพราะบางทีกระจกมองหน้าไม่ค่อยมีผลอะไรในพื้นที่จริง
– ใช้สัญญาณมือบ่อยๆ ให้ชิน เช่นเวลาขอทางเลี้ยว เพราะเราไม่มีไฟเลี้ยวแบบคนอื่น
– อย่าปั่นออกเลนกลางหรือเลนขวาถ้าไม่จำเป็นต้องกลับรถ
– บางเส้นทางที่ต้องกลับกลับรถ และ ช่องกลับรถกว้างหรือรถเร็ว ให้ยกขึ้นสะพานลอยไปเลย ช่วยเซฟตัวเองได้มาก
– ติดกระดิ่ง หรือ แตรไฟฟ้า สักอัน อย่าไปอายว่าเราเป็นเสือหมอบ เพราะเราปั่นบนถนน เราเป็นรถใช้งาน กันไว้ชีวิตปลอดภัย (Peter Sagan ก็ยังติด)
– พกยางในสำรอง และ C02 ไว้ด้วยเผื่อยางแตกไม่ต้องมานั่งสูบให้เมื่อมือ
– ถ้าโดนทำร้ายอย่าปั่นตามเค้าเราไม่รู้เค้าพกอะไรไว้กับตัว

 

สรุป

IMG_4484_Snapseed

ถนนบ้านเรานั้นจัดได้ว่า “อันตราย” สำหรับผู้ใช้จักรยานครับ ถนนกว้าง รถเมล์ แทกซี่ขับหวาดเสียว โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน ก่อนและหลังเลิกงาน ซึ่งมักจะเป็นเวลาที่เราออกไปปั่นกันเสียด้วย ในเมืองไม่มีเส้นทางจักรยานชัดเจน กฏหมายคุ้มครองก็ไม่มี และผมสังเกตุว่าคนใช้รถยนต์หลายๆ คนไม่ให้เกียรติคนปั่นจักรยาน คอยจะบีบแตรไล่ ปาดหน้า เบียดตกถนนอยู่บ่อยๆ อย่าไปคิดว่าคนปั่นจักรยานมันน่าเกะกะครับ ตามกฏหมายจักรยานเป็นยานพาหนะที่มีสิทธิใช้ถนนเท่าเทียมกับยานพาหนะประเภทอื่นๆ จะปั่นกลางถนนก็ไม่ผิดกฏหมาย แค่ว่ามันไม่ควรเท่าไรเพราะความเร็วเราน้อย ก็หลบๆ ให้รถยนต์เขาแซงไปและอย่าขับฉวัดเฉวียนชวนให้หมั่นไส้ เมื่อขับคุ้นชินเส้นทางแล้วก็ไม่มีอะไรน่ากลัว ผมเชื่อว่ามีหลายคนปั่นเสือหมอบไปทำงานกันประจำ เคยอ่านเจอใน Thaimtb พี่คนนึงปั่นไปทำงานทุกวันไปกลับสามสิบโล ไม่เคยมีปัญหา ถ้ารู้จักใช้ถนนอย่างระมัดระวัง

เป็นเรื่องดีที่รัฐบาลส่งเสริมให้คนปั่นจักรยานมากขึ้น แต่อันดับแรกเราจะไปหวังพึ่งหน่วยงานต่างๆ ไม่ได้ครับ ต้องเริ่มด้วยการเซฟตัวเราเองก่อน จักรยานเดี๋ยวนี้ราคาก็ไม่ถูกบาดเจ็บไป รถพังไปมันไม่คุ้มครับ

Published
Categorized as LEARN

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

24 comments

    1. อันนี้ไม่ได้ว่าใครครับ ^^” เป็นความคิดส่วนตัวของผมเฉยๆ เข้าใจว่าหลายคนไม่สะดวก ที่จะปั่นไป เวลาไม่มี ธุระ หลายอย่าง ไม่ผิดไม่ถูกครับ

  1. เยี่ยมเลยครับ แต่ปั่นในที่รถเยอะ ๆ ยังไงก็น่าเบื่อ

  2. ควรมีกระจกมองหลังนะครับ…สำหรับผมสำคัญมากๆ

  3. เพิ่มให้ครับ
    ควรทำตัวเด่นๆเข้าไว้ เสื้อผ้าสีสดใส หมวกกันน็อกสีฉูดฉาดจะดีมาก มองเห็นแต่ไกล
    ปั่นกลางคืนอย่าใส่เสื้อสีเข้ม เพราะต่อให้มีไฟท้าย ก็ไม่เด่นเท่าการใส่เสื้อสีขาวเวลากลางคืน
    ^^

  4. ไม่รู้ว่าคนอื่นเหมือนผมไหม แต่เวลาซิกแซกแทรกตัวไปอยู่ด้านหน้าไฟแดง ผมมักจะจับดร็อปครับ เพราะแรงเบรคมันดีกว่า เพราะมักจะเจ๊อะกับมอ’ไซค์ที่กำลังซิกแซกไปมาเหมือนเราอยู่เสมอ และทำให้เบรคได้ทันครับ

  5. “คลีต: ไม่ควรใส่ ไม่ว่าจะมือใหม่หรือมือโปรก็ตาม
    เพราะถ้าเหตุสุดวิสัยอย่าง มอไซค์ รถตู้ Taxi ปาดหน้ากระทันหัน
    จะได้ไม่ลงไปกอง ถ้าต้องการใช้ควรใส่แค่ ตะกร้อแบบฟิกเกียร์ แทน ”

    ขอให้ความเห็นที่ตรงกันข้ามกันนะครับ เปิดใจนิดหนึ่ง

    ผมเห็นด้วยสำหรับมือใหม่ที่ไม่ควรใช้บันไดคลิปเลสในเมือง เหตุผลหลักๆก็คือ ทักษะครับ
    แต่สำหรับมือโปร อันนี้อีกเรื่องหนึ่ง หรืออย่างผมเองที่ไม่ใช่มือโปร แต่กล้าบอกว่าเป็นมือเก่า ผมกลับมองอีกแบบหนึ่งนะครับ

    การปั่นจักรยานเป็นเรื่องของทักษะ และเป็นเรื่องของความคุ้นเคย รวมไปถึงประสพการณ์ของแต่ละคนที่ไม่สามารถนำมาใช้เทียบเคียงกันได้(เลย) โดยเฉพาะเรื่องการใช้บันไดคลิปเลส ผมเคยปั่นเสือหมอบบนถนน โดนมอเตอร์ไซค์ปาดหน้าในลักษณะย้อนศรเข้าใส่ ถ้าเป็นมือใหม่ก็คงจะกลิ้งลงไปพร้อมๆกับคลีตที่ยังติดอยู่กับบันได แต่ผมเบรคจนล้อหลังลอค ท้ายปัด หักแฮนด์แก้ แต่ก็ยังไม่ปลดบันได เพราะถ้าปลดบันได การบังคับควบคุมรถจะเปลี่ยนไปในทันที ตลอดเวลา ผมยังมีเวลามากพอที่จะตัดสินใจได้ทุกอย่าง เช่น ถ้าชน จะชนตรงไหน จะเอาส่วนไหนเข้ากระแทก แต่มันก็เบรคได้จนหยุด เพราะต่างคนต่างหยุด ผมคิดและตัดสินใจได้ในทันทีว่า ถึงจังหวะนั้นจะต้องปลดเท้าออกจากบันไดแล้ว จะปลดเท้าไหน ก็ยังคิดได้ตลอดเวลา พูดง่ายๆคือ มันไม่ได้คิดหรอก แต่การปลดเท้าออกจากบันไดของผมนั้น มันก็ไม่แตกต่างจากผมยกเท้าออกมาจากบันไดเฉยๆ แน่นอนครับ เหตุการณ์ครั้งนั้นไม่มีใครเสียหาย ไม่มีใครบาดเจ็บ ทรัพย์ไม่เสียหาย มีแต่ได้ประสพการณ์(เสี่ยงตาย)เพิ่มขึ้นมาอีก 1 เรื่อง

    ผมใช้คลีตโดยไม่ต้องมาคอยพะวงว่า”ใช้” ถ้ายังต้องพะวงว่า”ใช้” ก็อย่าใส่ครับ ประสาทกินเปล่าๆ

    แต่ถ้าใช้โดยหมดความพะวง เวลาปลดมันก็จะง่ายเหมือนกับเรายกเท้าจากบันไดธรรมดาๆนั่นเอง

    อีกเรื่อง ตะกร้อแบบรถฟิกซ์ ถ้าตะกร้ออันนี้หมายถึงตะกร้อที่หน้าตาเหมือนกับรองเท้าสวม ที่เอาแหย่เข้าไป เวลาจะถอดออกก็ถอยเท้าออกมาแล้วไซร้ มันก็ไม่แตกต่างอะไรจากการใช้บันไดคลิปเลสหรอกครับ เพราะถ้าทักษะไม่ดีพอ ถอยเท้าออกมาไม่ทัน มันก็เหมือนกับใส่บันไดคลิปเลสแล้วลืมบิดเท้านั่นแหละ

    สุดท้าย ทักษะและประสพการณ์เป็นเรื่องสำคัญที่สุด
    การขี่จักรยานบนถนนในกทม. จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนที่ขับรถเป็น และเข้าใจอุปนิสัยของยวดยานชนิดต่างๆได้ดีพอ รู้จักมอเตอร์ไซค์ว่าค่าเฉลี่ยเป็นอย่างไร , สามล้อขับแบบไหน , รถเมล์ไม่เคยสนใจใครอย่างไร ถ้ารู้จักเจ้ากรรมนายเวรเหล่านี้ดีพอ คุณทั้งหลายก็เอาตัวรอดจากอันตรายเหล่านี้ได้ครับ

    1. ขอบคุณพี่ lu สำหรับความเห็นดีๆ และประสบการณ์ของคนที่ปั่นมายาวนานครับ เเห็นด้วยกับเรื่องคลีทและคลิปเลส ผมเสนอข้อมูลไว้สองส่วน ส่วนแรกของผมเองในข้อที่ 3 (ร้องเท้าธรรมดาหรือคลีท) และอีกส่วนที่เพื่อนๆ เขียนเพิ่มเติมให้ตามประสบกาณ์เขาเองในช่วงท้าย ซึ่งตรงนี้ให้คนอ่านตัดสินใจเองดีกว่าว่าถนัดแบบไหน เชื่อว่าคนปั่นจนชำนาญเส้นทางแล้วก็คงไม่เดือดร้อนเรื่องประเภทรองเท้าอยู่แล้ว

      ผมเห็นด้วยกับความเห็นที่ว่า ถ้าไม่มั่นใจก็อย่าใส่ ซึ่งมันสำคัญมากจริงๆ ตราบใดที่เรายังไม่คุ้นชินกับอุปกรณ์ต่างๆ บนรถ ใช้ ถอด ใส่ไม่คล่องเหมือนแขนขา มันมีสิทธิทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายมากๆ อย่างเรื่องเวลาขึ้นลูกระนาด ตรงนี้ถึงผมจะขี่ขึ้นจนชิน แต่ก็มีหลายลูกที่ “เผลอ” กำแฮนด์ไม่แน่น พอปั่นมาด้วยความเร็วพอสมควร ไม่ทันระวัง มือหลุดเกือบจะล้มกลิ้ง

      ประสพการณ์และ “สติ”​ ช่วยได้ทุกอย่าง สำหรับผมที่พึ่งปั่นในเมืองได้ไม่นานมาก ช่วงแรกๆ อ่านทางรถไม่ค่อยออกและไม่รู้นิสัยใจคอคนใช้ยานพาหนะอื่นๆ ก็อาศัยการสังเกตและสติเป็นหลัก มองไกลๆ ข้ามไปดูรถข้างหน้า รถฝั่งสวนเลน ดูไฟสัญญาณ “สติ”​ ช่วยให้ผมรอดอุบัติเหตุหนักๆ มา 2-3 ครั้งแล้ว ขอบคุณสำหรับคอมเม้นต์ที่เป็นประโยชน์อีกทีครับ

      1. ยินดีร่วม share ครับ ถือว่าแบ่งปันกัน
        ผมไม่ค่อยชอบปั่นจักรยานในเมืองมากนัก เป็นเพราะผมคุ้นเคยอุปนิสัยของรถราประเภทต่างๆมากไปหน่อย รู้สีกเหมือนว่า จักรยานช่างไม่เป็นที่ต้อนรับของคนเหล่านั้นเลย ทั้งๆที่มันเป็นพาหนะที่ทำความเร็วในกทม.ได้มากที่สุด ( อาจจะน้อยกว่ามอเตอร์ไซค์ในช่วงที่ถนนมีที่ให้ซอกแซกได้ , ผมเคยทำไว้ที่ 20 กม. ในเวลา 1 ชม บนเส้นทางที่จอกแจกจอแจ ) ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะใดๆ ไม่ว่าเสียง หรือ อากาศ และยังสร้างเสริมสุขภาพได้อีกด้วย อาจจะแย่นิดหนึ่งที่ร้อนแดดกับเปียกฝน

        1. ใช่ครับ ผมก็ไม่ชอบเหมือนกัน แต่นั่นหละ อยู่กลางเมือง อยากจะออกไปปั่นข้างนอกเมือง (ซึ่งก็ไม่อยากจะใส่รถยนต์ขนไปปั่น) ก็ต้องทำใจ หาทางเอาตัวรอดออกไปแต่ละครั้ง ทัศนคติของคนใช้รถยนต์มันเป็นอย่างที่พี่บอกครับ เราเห็นชัดเจนว่าเขาแคร์เราน้อยขนาดไหน ถ้าไม่ใช่คนที่ปั่นจักรยานด้วยกันก็คงไม่ค่อยจะเห็นใจเท่าไร โดนมองว่าเป็นบุคคลอีกชั้นนึงเสมอๆ ซึ่งเจอทุกครั้งที่ออกถนนฝ่าเมือง น่าเสียดาย…ใช่ว่าจะเป็นแต่ประเทศไทย สมัยที่อยู่เมืองนอกเคยถึงขนาดโดนขับตามเลย…

  6. ถ้าเลนถนนมีเลนเดียว ปั่นคร่อมเลนไปเลยนะครับ อย่าไปชิดซ้าย ถ้าชิดซ้าย รถจะเบียดขึ้นมาทันที แล้วตัวเราจะอันตรายครับ

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *