14 เทคนิคการปั่นในกลุ่มให้ปลอดภัย

จำความรู้สึกที่เราเข้าปั่นกับกลุ่มเป็นครั้งแรกได้ไหมครับ? เชื่อว่าต้องมีอาการผวา เกร็ง ว่อกแว่ก กลัวจะพาเพื่อนในกลุ่มล้ม หรือคอยไปอยู่แถวรั้งท้าย ไม่อยากเป็นภาระใคร

ไม่ว่าคุณจะเป็นนักปั่นมือใหม่เพิ่งถอยรถ หรือมือเก่าระดับเก๋าปั่นมานานหลายปี จะปั่นร่วมกับคนอื่นในกลุ่มใหญ่ก็ต้องใช้ทักษะและประสบการณ์พอสมควร โดยเฉพาะเมื่อนักปั่นในกลุ่มไม่เคยปั่นด้วยกันมาก่อน ซึ่งเป็นสาเหตุต้นๆ ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุระหว่างการปั่นหรือแข่งขันครับ 

ถึงเราจะปั่นกับกลุ่มจนชินแล้วก็ยังมีเรื่องให้ต้องเรียนรู้อยู่เสมอ ทักษะเหล่านี้ไม่ค่อยมีใครสอนกัน ส่วนใหญ่เราก็จะเรียนรู้จากการถามคนที่มีประสบการณ์มากกว่า เรียนแบบครูพักลักจำ แต่ก็ใช่ว่าเป็นอะไรที่สอนไม่ได้ วันนี้ Ducking Tiger รวบรวมเทคนิคการปั่นกลุ่มที่มีประโยชน์มาให้หลายสิบข้อครับ ใช้เป็นหลักเตือนใจไว้คร่าวๆ หรือแชร์ไปให้เพื่อนมือใหม่ที่อยากจะมาปั่นด้วยกันก็ได้ มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

1. เรียนรู้ธรรมเนียมกลุ่ม

แน่นอนว่าแต่ละกลุ่มมีธรรมเนียมและวิธีการปั่นไม่เหมือนกัน บางกลุ่มวอร์มอัพนาน บางกลุ่มมีการสปรินต์แข่งขันตอนท้าย หรือบางทีมีการขึ้นเวียนผลัดกันนำกลุ่ม ถ้าเราไม่ชินกับวิธีการปั่นของกลุ่มที่เข้าร่วมก็น่าจะลองสอบถามคนในกลุ่มดูก่อนครับ จะได้รู้ว่าต้องปฏิบัติตัวยังไง เดี๋ยวจะผิดใจกันได้ 

 

2. รู้เส้นทางและประเภทการปั่น

แต่ละกลุ่มก็มีแผนการปั่นไม่เหมือนกัน บางวันอาจจะเน้นปั่นเร็วซ้อมแข่งขัน บางวันอาจจะเป็นการปั่น recovery พักผ่อน ถ้านักปั่นทั้งกลุ่มเข้าใจตรงกันว่าต้องปั่นเส้นทางแบบไหน ที่ความเร็วเท่าไร ก็จะทำให้การปั่นกลุ่มราบรื่น ไม่มีการยิงกระชากหนีกัน จนพากันเหนื่อยและกลุ่มแตก (ยกเว้นว่ากลุ่มทำเป็นประจำอยู่แล้ว) เราควรเช็คเส้นทางล่วงหน้าด้วย เผื่อกรณีหลงกลุ่มหรือหลุดกลุ่ม อย่างน้อยจะได้หาทางกลับบ้านถูก (ไม่ใช่เรื่องพูดเล่นนะครับ ไปปั่นกับกลุ่มแรงๆ ในที่ๆ ไม่เคยไปมาก่อน มีหลุดหลงกลับไม่ถูกกันมาเยอะแล้ว)

 

3. ถ้านำกลุ่มไม่ไหวก็อย่าฝืน

การปั่นกลุ่มเป็นการรวมตัวของนักปั่นหลายทักษะหลากประสบการณ์ บางคนแข็งแรงมาก บางคนเพิ่งปั่นยังบังคับรถไม่นิ่ง ถ้าคุณขึ้นนำลากกลุ่ม (ปะทะลม เหนื่อยกว่าคนอื่น) ไม่ไหว ลากได้ไม่นาน ก็อย่าฝืน แค่พูดหรือให้สัญญาณว่าจะลงแล้วนะ กลุ่มจะได้ไม่เสียจังหวะความเร็ว และปั่นได้สมูธต่อเนื่อง ที่สำคัญคนที่เหนื่อยแล้วแต่พยายามลากอาจจะทำให้กลุ่มเกิดอุบัติเหตุได้ด้วย สติมันจะเริ่มไม่อยู่กับตัวเวลาที่เหนื่อย ซึ่งบางทีอาจจะทำให้ลื่นล้ม โดนลมพัดจนเซ หรือไปชนกับอะไรเข้าเพราะมัวแต่ก้มหน้า ลาก ไม่มองทางครับ

3

4. ขึ้นเขาไม่ไหว ไม่ต้องตาม 

ในการปั่นทางราบที่เราสามารถประหยัดแรงจากการให้ผู้อื่นบังลมได้ นักปั่นที่ไม่แข็งแรงก็ยังพอตามคนที่ฟิตกว่าได้ทัน เพราะออกแรงน้อยกว่าแต่ปั่นได้ความเร็วเท่าๆ กัน แต่บนทางขึ้นเขา เราจะไม่เหลือตัวช่วยแล้ว เพราะไม่มีเรื่องของลมต้านเข้ามาเกี่ยวข้อง การปั่นขึ้นเขาความเร็วต่ำ แรงต้านส่วนใหญ่คือแรงโน้มถ่วงโลก คุณต้องสู้กับน้ำหนักตัวเองและจักรยาน ในขณะที่การปั่นทางราบ แรงต้าน 80% คือมวลอากาศ ถ้ามีคนบังลมให้เราก็ปั่นได้ไม่เหนื่อย และไม่หลุดกลุ่ม 

แต่มือใหม่มักจะพยายามไล่ตามขึ้นเขาให้ทันคนที่แข็งแรงกว่า เป็นเรื่องดีถ้าคุณตามเขาไหว แต่ถ้าประเมินความสามารถตัวเองผิด จะกลายเป็นว่าไม่เหลือแรงปั่นกลับบ้าน หรือ แย่กว่านั้น — หลุดกลุ่มยาว จนตามไม่ทันตลอดทั้งทริป 

ปกติแล้วกลุ่มส่วนใหญ่จะรอกันในช่วงทางลงและทางตรงหลังจากการขึ้นเขา เพราะฉะนั้น ควรประเมินความสามารถตัวเองก่อนว่าเราตามคนแข็งแรงได้หรือเปล่า ถ้าไม่ได้ก็ไปด้วยเพซของตัวเองจะมีประโยชน์กว่าครับ

 

5. เรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์

ถ้าคุณปั่นกลุ่มบ่อยๆ น่าจะสังเกตคนที่มีประสบการณ์สูงไม่ยาก ท่าทางการปั่นเขาจะสมูท เคลื่อนตัวขึ้นลงกลุ่มได้ไหลลื่น ไม่สะดุดจังหวะการปั่นกลุ่มเลยพยายามสอบถาม สังเกตวิธีการปั่นของเขา จังหวะไหนควรดื่มน้ำ เส้นทางแบบนี้ควรใช้เกียร์แบบไหน เมื่อไรควรยืนขึ้นปั่น? ไม่ต้องอายครับ นักปั่นส่วนใหญ่ยินดีให้ความรู้และให้ความช่วยเหลือ เป็นการสร้างมิตรไปในตัวด้วย ยิ่งเราสนิทใจกับคนที่ปั่นในกลุ่มมากเท่าไร กลุ่มก็ยิ่งปั่นได้สบายใจไม่เกร็งมากเท่านั้น

4.

6. มีสติ มองไปข้างหน้า

อย่าก้มหน้าก้มตาปั่น มองแต่ล้อที่อยู่ข้างหน้าเรา การปั่นกลุ่มที่ดีเราควรจะมีสติ มองไปข้างหน้าตลอดเวลา ถึงแม้จะอยู่แถวหลัง จะได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นข้างหน้า จะเจอทางเลี้ยว หรือว่าต้องชะลอหรือเปล่า? ยิ่งเวลาเหนื่อยนักปั่นมือใหม่จะยิ่งชอบก้มหน้าปั่น เป็นสาเหตุหลักๆ ของการเกิดอุบัติเหตุในกลุ่ม (เกี่ยวกันล้ม, ล้อหน้าปัดกับล้อหลัง) คอมพิวเตอร์จักรยานก็อย่ามัวเพ่งตัวเลขจนไม่ดูทางครับ การปั่นกลุ่มความปลอดภัยของทุกคนสำคัญกว่าอัตราการเต้นหัวใจหรือค่า FTP และ av speed ของคุณ

 

7. ไม่เคลื่อนไหวหุนหันพลันแล่น

เพื่อนร่วมกลุ่มควรจะเดาการกระทำของเราได้ตลอดเวลา อย่าเบี่ยงซ้ายบ่ายขวาถ้าไม่จำเป็น หรือถ้าจำเป็นก็ควรให้สัญญาณมือ หรือออกเสียงให้คันข้างหลัง/ข้างหน้ารู้ว่าเราจะขยับตัว (เพราะเหตุสุดวิสัย) เช่นเดียวกัน เราควรพยายามคาดเดาลักษณะการปั่นของเพื่อนในกลุ่มด้วย นักปั่นที่ประสบการณ์น้อยอาจจะตอบสนองต่อเหตุการณ์สุดวิสัยได้ช้ากว่า ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก และควรให้เวลาทุกคนเรียนรู้ทักษะครับ นักปั่นเก่งๆ บางคนหลบหิน หลบหลุมได้เป็นธรรมชาติแบบไม่ต้องฝืน ในขณะที่นักปั่นมือใหม่เห็นหลุมใหญ่หรือโดนสุนัขไล่แล้วอาจจะกลัวเกร็ง ทำอะไรไม่ถูก อย่างนี้ต้องให้เวลาเรียนรู้กัน

6

8. รักษาแถว

อีกสาเหตุที่ทำให้นักปั่นในกลุ่มล้มได้ง่ายก็คือคนในกลุ่มไม่รักษาแถว (ไลน์) ของตัวเอง กลุ่มส่วนใหญ่ปั่นกัน 1 หรือ 2 แถวตามสภาพถนนและการจราจร กฏสำคัญทั้งในการแข่งและการปั่นคือคุณต้องรักษาไลน์ตัวเอง อย่าแตกแถว ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางโค้ง โดยเฉพาะในทางโค้ง ถ้ากินไลน์คนข้างๆ ไปด้วย อาจจะชนกันล้มได้ เช่นเดียวกัน เวลาคุณต้องขึ้นนำหรือออกแซงคันอื่น แล้วต้องกลับเข้าแถว เหลือระยะให้พ้นล้อหน้าคันข้างหลัง จะได้ไม่เกี่ยวกันล้มครับ 

 

9. ระวังการใช้เบรค

บางครั้งกลุ่มต้องชะลอความเร็วหรือต้องเบรคกะทันหัน กลุ่มที่มีประสบการณ์จะชะลอและเตือนกันล่วงหน้าก่อนที่จะถึงจุดลดความเร็ว คนที่อยู่ในกลุ่มก็ไม่ควรหุนหันกระตุกเบรคทันที จนคนข้างหลังชนเข้า เบรคเลียชะลอจนไปต่อได้ ปลอดภัยกว่า

9

10. อย่ามองหลัง

การเหลียวมองหลังเป็นสาเหตุที่ทำให้ล้มกันได้ง่ายที่สุด ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นในกลุ่ม เช่น มีคนล้มด้านหลัง หรือมีสาเหตุที่ต้องให้หยุด อย่าเหลียวมองหลังทันที เพราะถ้าหันขวับกันทุกคน จะไม่มีใครเห็นหน้ารถตัวเอง ทำให้ชนกันได้ง่ายๆ ยิ่งถ้ายังไม่มีประสบการณ์การปั่นกลุ่ม เวลาเราหันหลัง รถจะเบี้ยวออกข้างบ้าง และความเร็วเปลี่ยนกะทันหันบ้าง กลุ่มที่ดีจะค่อยๆ ชะลอความเร็วลงก่อนหยุดไปช่วยหรือดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้านหลังครับ 

 

11. ใช้เสียงและสัญญาณมือ

การใช้เสียงบอกกลุ่มถึงอันตรายหรือเหตุการณ์เฉพาะหน้าไม่ใช่เรื่องหน้าอาย (มือใหม่อาจจะยังกลัวๆ) อย่างที่กล่าวข้างต้น ระหว่างที่ปั่นกันเร็วๆ บางทีเราเหนื่อยไม่มีสติและการตอบสนองไวพอที่จะรู้เรื่องทุกอย่างที่เกิดขึ้นรอบตัว เสียงเตือนจึงมีประโยชน์มาก เจอหมาไล่ เจอหลุม เศษแก้ว ก็ควรส่งเสียงบอกคันข้างหลัง ทุกคนจะได้รับมือทันเวลา 

นอกจากเสียงแล้วก็ควรหัดใช้สัญญาณมือในกลุ่มให้เป็น ปกติสัญญาณมือจะใช้เหมือนๆ กันทุกกลุ่ม แต่บางกลุ่มอาจจะมีสัญลักษณ์ที่ต่างกันไป เราควรสังเกตด้วย 

12

12. กลุ่มปั่นเร็วเกินไป? ลองหากลุ่มใหม่ก็ไม่เลว

การได้ปั่นกับนักปั่นที่แข็งแรงกว่าเราจะทำให้เราพัฒนาได้เร็ว แต่ก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป โดยเฉพาะเมื่อทักษะและความฟิตต่างกันมาก จักรยานเป็นกีฬาที่ต้องใช้เวลาฝึกซ้อมสะสมความแข็งแรง ไม่มีทางลัด ถ้าเราต้องฝืนปั่นตามคนเก่งเกินความสามารถร่างกายเราตลอดเวลา ก็ไม่ใช่เรื่องดีครับ มันอาจจะทำให้คุณเบื่อ เหนื่อยล้า และไม่สนุกกับการปั่นเลยก็ได้ หากลุ่มที่เราปั่นด้วยได้สบายใจ ทักษะไม่ต่างกันมาก และเปิดกว้างพร้อมจะพัฒนาไปด้วยกัน เป็นทางเลือกที่ดีกว่า

 

13. ยางรั่วต้องทำยังไง? 

ยกมือขึ้น ส่งเสียงบอกคนอื่นให้รู้ว่าจักรยานเรามีปัญหา เพื่อที่คันข้างหลังจะได้แซงหลบหลีก แต่! ถ้ายางล้อหน้ารั่วไม่ควรปล่อยมือจากแฮนด์ (อันตรายครับ รถสะบัดได้ง่าย) ให้ส่งเสียงบอกคนอื่น โดยเฉพาะเวลาลงเขา ถ้ายางรั่วจะอันตรายมาก 

ยางรั่วแล้วอย่าเพิ่งหยุดทันที ค่อยๆ ชะลอให้คนอื่นแซงไปจนหมดก่อน แล้วลงข้างทางเพื่อจัดการเปลี่ยนหรือปะยางใน

14. ปั่นคนเดียวบ้างก็ได้

ถ้าการปั่นกลุ่มทำให้คนเหนื่อยเกินไปและรู้สึกได้พักไม่เพียงพอ คุณควรเปลี่ยนกลุ่มหรือออกมาปั่นคนเดียวบ้างก็ได้ เราจะพัฒนาได้ไวที่สุดก็ต่อเมื่อเราซ้อมในขีดความสามารถของตัวเอง ทั้งด้านร่างกายและจิตใจครับ 

อย่าให้อีโก้มาบดบังความสามารถเรา บางคนชอบสู้กับคนอื่นในกลุ่ม อยากเร็วกกว่า อยากเอาชนะ อยากทับถมกัน แต่ถ้าคุณอยากจะเก่งจริง ถอยออกมาวางแผนซ้อมในขีดความสามารถตัวเองจะช่วยได้มากกว่าที่ออกไปซิ่งต่อสู้กันทุกวัน นักปั่นอาชีพส่วนใหญ่ใช้เวลาซ้อม คนเดียวครับ

 

สรุป 

การปั่นจักรยานเป็นกีฬาที่มีเอกลักษณ์ เพราะเราไม่ได้เล่นในสนามเหมือนกีฬาอื่นๆ แต่เรากำลังใช้ถนนร่วมกับผู้อื่น อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทั้งจากตัวเราเองและจากสิ่งรอบข้างจากที่เราเห็นเป็นข่าวกระแสสังคมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ยิ่งปั่นพร้อมกันหลายคนตัวแปรความเสี่ยงก็เพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว ใช้เทคนิคข้างบนนี้ดูแลตัวเองและดูแลคนอื่น จะทำให้การปั่นกลุ่มปลอดภัยและสนุกขึ้นครับ ถ้ามีประโยชน์อย่าลืมแชร์ไปฝากเพื่อนๆ นักปั่นด้วยครับ หรือถ้าใครมีจุดไหนเพิ่มเติมเชิญคอมเมนต์ไว้ข้างล่างเลยครับ 

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *