DT Guide: วิธีขึ้นยางทิวบ์เลส พร้อมภาพประกอบละเอียดยิบ

Note: ขอขอบคุณ Vision Asia (สำนักงานไต้หวัน) ที่อุตส่าห์ส่งล้อ Vision Trimax 25KB ข้ามน้ำข้ามทะเลมาให้ และขอขอบคุณ Vittoria Thailand ที่ส่งยาง Corsa G2.0 TLR มาให้ลองครับ

ในบรรดาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในโลกเสือหมอบทุกวันนี้ นอกจากอุปกรณ์แอโรสารพัดอย่าง ดิสก์เบรค และล้อขอบอ้วนพีแล้ว ก็มียางทิวบ์เลสนี่ล่ะ ที่เป็นของค่อนข้างใหม่ในวงการ

ที่ใช้คำว่า “ค่อนข้าง” ก็เพราะอันที่จริง ยางทิวบ์เลสกับเสือหมอบมีมาเป็นสิบปีแล้ว โดยมี Shimano กับ Hutchinson พยายามผลักดันในช่วงแรก แต่ก็ไม่สำเร็จ ส่วนหนึ่งเพราะสมัยก่อน ลมยางต้อง 120PSI+ เท่านั้น และขอบในของล้อก็ประมาณ 13 มม. ซึ่งความดันขนาดนี้ทำให้ทิวบ์เลสไม่เวิร์ก

เวลาเปลี่ยน เทคโนโลยีก็ก้าวหน้า ปัจจุบันคนขี่จักรยานที่ใช้ขอบล้อและหน้ายางกว้างขึ้น ใช้แรงดันลมน้อยลง ทำให้เทคโนโลยีทิวบ์เลสเริ่มเมคเซนส์ อีกทั้ง Mavic ก็ชูเทคโนโลยีนี้เต็มที่ด้วยการออกมาตรฐาน Road UST (Universal System Tubeless) เมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้ทั้งผู้ผลิตล้อและผู้ผลิตยางมีเกณฑ์กลางร่วมกันในการผลิตชิ้นส่วนให้ใช้ด้วยกันได้ ทั้งหมดนี้ช่วยให้ทิวบ์เลสกับเสือหมอบกลับมาอยู่ในกระแสหลักอีกครั้ง

แต่ลำดับแรกต้องเกริ่นก่อนเลยว่า เทคโนโลยีทิวบ์เลส ไม่ได้ดีกว่ายางงัดทุกด้าน บางเรื่องก็ดีกว่า บางเรื่องก็ด้อยกว่า

ข้อดี ข้อเสีย และสารพันคำถามเกี่ยวกับทิวบ์เลส ขออนุญาตยกไปไว้บทความหน้า เพราะมีรายละเอียดมากมาย จะทำให้บทความยาวเกินไป แต่หากคุณตัดสินใจแล้วว่าอยากลองดูสักครั้ง บทความนี้จะไกด์วิธีขึ้นยางให้แบบ step-by-step

Note: ทุกภาพสามารถคลิกที่ภาพเพื่อขยายให้เต็มจอได้ สำหรับภาพที่มีรายละเอียดเล็ก ๆ


ก่อนอื่น มาดูอุปกรณ์ที่ต้องเตรียมพร้อมกันก่อน

1. ยางทิวบ์เลส และล้อที่รองรับยางทิวบ์เลส (มักจะมีคำว่า “Tubeless Ready” อยู่ หรือ “2-Way Fit” ของ Campagnolo/Fulcrum)
2. เทปทิวบ์เลสโดยเฉพาะ หรือจะใช้เทปผ้าก็ได้ แต่ต้องเป็นเทปผ้าชนิดหนาพิเศษและกันน้ำได้เท่านั้น ซึ่งมักเป็นประเภท outdoor use ตามฟอรั่มต่างประเทศชอบใช้ Gorilla Tape กัน เมืองไทยก็มีขาย ลองเสิร์ช Gorilla Tape Thailand ส่วนผมตอนนี้อยู่ญี่ปุ่น ใช้อันนี้ ส่วนใครคิดว่าจะลงทุนกับเทปทิวบ์เลสโดยเฉพาะ ขอแนะนำว่าให้เลือกยี่ห้อที่ระบุว่ารองรับแรงดันสูงของยางเสือหมอบไปเลย เพราะเทคโนโลยีทิวบ์เลสมีมาในเสือภูเขานานมากแล้ว เทปส่วนใหญ่ก็จะออกแบบมาเพื่อเสือภูเขาซึ่งแรงดันต่ำกว่า ไม่ใช่ว่าเทปเสือภูเขาจะไม่เวิร์กสำหรับเสือหมอบเสมอไป แต่ลงทุนทั้งที ซื้อความสบายใจไปเลยดีกว่า ยกตัวอย่างของ Schwalbe นี่เขียนชัดเจนว่า High Pressure Tape
3. น้ำยากันรั่ว ขอแนะนำยี่ห้อที่ระบุว่า “ammonia-free” ครับ เพราะกลิ่นแอมโมเนียมันเกินจะทน พาลจะเกลียดระบบทิวบ์เลสไปเสียก่อน
4. วาล์วทิวบ์เลส (ตรงโคนจะมียาง และในแพ็คเกจจะให้ตัวไขแกนวาล์วมาด้วย)
(1.-4. นี่เป็นของที่ต้องซื้อเพิ่มแน่ ๆ ถ้าไม่เคยใช้ทิวบ์เลสมาก่อน)
5. ที่สูบลม
6. แอลกอฮอล์ทำความสะอาดพื้นผิว + ผ้าขี้ริ้ว
7. น้ำยาซักผ้า + ฟองน้ำ หรือสบู่เหลวก็ได้
8. คัตเตอร์
9. ไม้งัดยาง
10. (optional) ถังอัดความดัน หรือ tubeless charger อันนี้มีก็ช่วยให้ง่ายขึ้น ไม่มีก็อาจจะได้ ขึ้นอยู่กับยางและล้อ ผมลองขึ้นยางนี้กับล้อนี้โดยไม่ใช้ charger ดูแล้วก็ทำได้เหมือนกัน

ขั้นแรกต้องดูก่อนว่า ริมเทปที่มากับล้อของเรานั้น ใช้กับยางทิวบ์เลสได้มั้ย ถึงล้อจะเป็นล้อ tubeless-ready ก็ไม่ได้แปลว่าใช้กับทิวบ์เลสได้ทันที อย่างล้อ Vision Trimax 25KB นี้ให้เทปรองยางสำหรับยางงัดมา ก็แกะของเก่าออกก่อน

จากนั้นเราก็ใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดพื้นผิวเช็ดจนขอบล้อสะอาดแบบนี้

ต่อมา ให้ใช้ไม้บรรทัดหรือเทปวัด วัดความกว้างของล้อจากขอบนอกถึงขอบนอก อย่างล้อผมได้ 22 มม.

จากนั้นใช้ปากกาขีดเทปให้ได้ตามความกว้างเมื่อกี้ แล้วก็ใช้คัตเตอร์ตัดเทปตาม กรีดลงไปหลาย ๆ ชั้น ใครที่ใช้เทปผ้าเหมือนผม สำคัญตรงต้องใช้คัตเตอร์ตัด ห้ามใช้มือฉีก เพราะถ้าฉีกเอา ชั้นลึก ๆ ความกว้างมันจะลดลง (ลองแล้วไม่เวิร์ก ฮา)

พอได้เทปแล้วก็เอามาแปะที่ล้อ โดยเริ่มหน้ารูวาล์วไปสัก 5-10 ซม. พันวนหนึ่งทบ และจบเลยรูวาล์วไป 5-10 ซม. เช่นกัน ดังภาพประกอบสีแดง ระหว่างแปะเทป ต้องดึงเทปให้ตึงตลอดเวลา และเทปควรจะกว้างจากบ่าของ rim bed ข้างหนึ่งไปถึงอีกข้างหนึ่งพอดี เหลื่อมขึ้นไปขอบข้างนิดหน่อยก็ได้ ไม่เป็นไร

อัพเดต 7 เมษา 2020: ปรากฏว่าเทปผ้า พันหนึ่งทบไม่เวิร์กครับ ทนแรงดัน 80-85 PSI ของเสือหมอบไม่อยู่ ใช้ไปสักพัก เทปโดนดันลงไปในรูของซี่ล้อ ตอนนี้เปลี่ยนมาพันสองทบแทน โดยเริ่มจากฝั่งตรงข้ามแกนวาล์วแทน และจบโดยบรรจบพอดี ไม่เหลื่อมเป็น 3 ชั้น เสถียรดีหลังใช้มาเป็นพันกิโลเมตร

 

เมื่อแปะครบแล้ว ให้ใช้นิ้วโป้งรูดเทปให้แนบสนิทกับล้อ อย่าให้มีส่วนที่หย่อนหรือพอง สำหรับตรงบ่าทั้งสองข้าง ให้ใช้ไม้งัดยางช่วยกดให้เรียบร้อย

เมื่อเทปติดแน่นกับขอบล้อดีแล้ว ให้ใช้คัตเตอร์เจาะตรงรูวาล์วเป็นเครื่องหมายกากบาท ความยาวประมาณ 5 มม. ต่อเส้น

แล้วก็เอาวาล์วทิวบ์เลสใส่เข้าไปจากข้างใน ตามด้วยแหวนล็อกจากด้านนอก วาล์วทิวบ์เลสบางรุ่นจะมี O-ring มาให้ด้วย เพื่อป้องกันแหวนล็อกกดขอบล้อเป็นรอย แต่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร ส่วนพลาสติกสีดำ ๆ ในภาพนี่เป็นอแดปเตอร์ของล้อหลัง Vision เฉย ๆ เพราะล้อหลังอสมมาตร เขาเลยแถมอแดปเตอร์มาให้ แหวนล็อกจะได้กดลงบนผิวเรียบ ๆ (ล้อหน้าก็จะไม่มีชิ้นนี้)

จากนั้นก็ขันแหวนล็อกให้แน่นที่สุดด้วยนิ้ว โดยให้ใช้นิ้วโป้งอีกข้างช่วยกดจากด้านใน การใช้นิ้วโป้งช่วยดันจะทำให้เราขันได้แน่นขึ้นอีกสัก 1-2 รอบ อย่าลืมว่าระบบทิวบ์เลสต้องซีลอากาศได้มิดชิด 100% ด้วยขอบล้อเอง ไม่มียางในแล้ว และจุดที่รั่วง่ายสุดก็คือรูวาล์วนี่เอง

เมื่อขันแหวนล็อกจนแน่นดีแล้ว เทปอาจจะเผยอเล็กน้อยเพราะโดนดันลงไปในรูวาล์ว ก็กด ๆ ให้เข้าที่อีกครั้ง

แล้วก็ขึ้นยางตามปรกติ อย่าลืมหมุนโลโก้มาไว้ตรงวาล์วเพื่อความสวยงาม ขอบยางทิวบ์เลสจะแข็งกว่าขอบยางงัด อาจต้องใช้ไม้งัดยางที่แข็งแรงและหนาสักหน่อย เพื่อความสบายใจว่ามันจะไม่หัก

เมื่อยางเข้าที่แล้ว ก็ให้เอาฟองน้ำผสมน้ำยาซักผ้าหรือสบู่เหลว จุ่มน้ำให้ชุ่ม ๆ

แล้วนำมาชะโลมขอบล้อให้ทั่วทั้งวง และทำซ้ำทั้งสองด้าน ชะโลมเข้าไปให้ชุ่ม เน้นให้ฟองสบู่เข้าไปแทรกระหว่างยางกับขอบล้อ น้ำยาซักผ้า/สบู่จะช่วยเพิ่มความลื่น ทำให้ขอบยางสไลด์ออกข้างไปล็อกกับขอบล้อได้ง่ายขึ้น

ก่อนจะเริ่มสูบลม เช็คขอบยางตรงวาล์วให้ชัวร์อีกครั้ง เพราะมันชอบเกยขึ้นไปบนวาล์ว ยิ่งถ้าใช้ tubeless charger แล้วลืมเช็ค ก็คือเปลืองแรงฟรีครับ (ฮา) ถ้ามันเกยก็ให้บีบ ๆ มันออกมาด้านข้างก่อน

ได้เวลาเติมลม ถ้ามี tubeless charger ก็ชาร์จเข้าไปสัก 120-130PSI ครับ ถ้าไม่มีก็ข้ามขั้นตอนนี้ไป ใช้ที่สูบธรรมดาก็อาจจะไหว จากนั้นก็สูบลมเข้ายางได้ ถ้าสูบสำเร็จ จะได้ยินเสียง “เป๊าะ!” ซ้ำหลาย ๆ ครั้ง เป็นเสียงขอบยางเลื่อนออกไปล็อกกับขอบล้อนั่นเอง เมื่อสูบสำเร็จแล้ว ให้หมุนเช็คอีกทีว่าแก้มยางเสมอกันดีทั้งวงล้อ ไม่มีส่วนไหน “จม” ลงไปด้านล่าง ถ้ามีแสดงว่าตรงนั้นยังไม่เลื่อนออกมา ก็ให้สูบต่อไปด้วยความรุนแรงและเกรี้ยวกราด

หากใช้สูบธรรมดาแล้วยางไม่ล็อกเข้าที่ แต่ที่บ้านมีที่สูบลมรถยนต์/มอเตอร์ไซค์ที่ใช้มอเตอร์สูบ จะนำมาใช้ก็ได้เช่นกัน เคยลองแล้วเวิร์กอยู่ ไม่เมื่อยด้วย 🤣

เมื่อขอบยางล็อกกับขอบล้อเรียบร้อย ก็ให้ปล่อยลมยางออกให้หมด แล้วจึงไขแกนวาล์วออก (อย่าไขเลยโดยไม่ปล่อยลมยางก่อนนะครับ แรงดันลมข้างในมันจะดีดแกนกระเด็น (ผมพลาดมาแล้วครับ ดีไม่เข้าหน้า) ล้อ Tubeless Ready ที่ออกแบบมาดี ต่อให้ปล่อยลมออกจนหมด ขอบยางก็จะต้องยังล็อกอยู่กับขอบล้อ ไม่สไลด์หลุดกลับเข้าร่องกลาง (จะถอดยางต้องใช้นิ้วบีบให้หลุดออกมา)

จากนั้นก็เติมน้ำยากันรั่วเข้าไป ปริมาณนี่แล้วแต่ยี่ห้อ ดูจากข้างขวดเป็นหลัก แต่คร่าว ๆ ก็จะอยู่ประมาณ 30-40 มล./ล้อ ไม่ค่อยหนีกันมากนัก จริง ๆ ตอนเติมนี่ควรหมุนวาล์วขึ้นมาอยู่ทิศประมาณ 7 หรือ 5 นาฬิกา ไม่ใช่ 6 นาฬิกาแบบในรูป ไม่งั้นมันอาจทะลักกลับออกมา เลอะเทอะ เติมตามกำหนดแล้วก็ไขแกนวาล์วคืนที่เดิม แล้วสูบลมซ้ำอีกครั้ง เป็นอันเสร็จสิ้นครับ

อันที่จริง จะเติมน้ำยากันรั่วตั้งแต่ก่อนสูบลมครั้งแรกก็ได้ แต่บางครั้งการอัดลมให้ขอบยางไปล็อกเข้าที่ อาจไม่สำเร็จในครั้งแรก อาจต้องเช็คนู่นนี่ อาจต้องชะโลมสบู่ใหม่ พลิกไปหมุนมา ฯลฯ มันจะหกเลอะเทอะเอาได้ และถึงแม้จะสำเร็จในครั้งแรก ช่วงที่ยางกำลังล็อกเข้าที่ก็มีลมรั่วเยอะ น้ำยากันรั่วจะถูกใช้ไปตั้งแต่ขั้นตอนนี้เลย ทำให้เดาไม่ถูกว่าตอนจบเหลือน้ำยาเท่าไรกันแน่

ในทางกลับกัน ถ้าขั้นตอนการขึ้นยาง สูบจนเมื่อยแล้วก็ยังไม่ล็อก ยังรั่ว จะเติมน้ำยากันรั่วเข้าไปก่อนเลยก็ได้เช่นกัน ให้น้ำยากันรั่วเข้าไปช่วยซีลรอยรั่วบางจุดก่อน อาจช่วยให้ขึ้นยางสำเร็จได้ครับ


เรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับล้อ Vision Trimax 25KB, ยาง Vittoria Corsa G2.0 TLR, และระบบทิวบ์เลสอีกมาก ไว้พบกันบทความต่อ ๆ ไปครับ

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott