ปั่นยังไงให้ได้แชมป์ Paris-Roubaix?

ซีรีย์พรีวิว Paris-Roubaix 2017


ถ้าจะบอกว่า Paris-Roubaix เป็นสนามแข่งจักรยานที่ชนะได้ยากที่สุดในปฏิทินการแข่งขันแต่ละปีก็คงไม่ผิดนัก มันเป็นสนามแข่งวันเดียว นั่นหมายความว่านักปั่นมีโอกาสเดียวที่จะชนะ ไม่มีวันที่สอง สาม หรือยี่สิบเอ็ดให้แก้ตัวเหมือนในรายการสเตจเรซ

คริส ฟรูมอาจจะล้มในสเตจ 3 ใน Tour de France, แต่เขายังเหลือเวลา 18 วันให้แก้มือชิงเวลาคืน ถ้าปีเตอร์ ซากานล้มเจ็บใน Paris-Roubaix เขาต้องรออีก 365 วันกว่าจะได้แข่งอีกรอบ

ด้วยพลวัตรการแข่งขันที่มีนักปั่นเข้าท้าชิงจาก 22 ทีมและกว่าสองร้อยชีวิต กับเส้นทาง 256 กิโลเมตรที่เต็มไปด้วยถนนหิน โชคและความแกร่งแค่สองอย่างไม่พอจะให้นักปั่นคนใดคนหนึ่งชนะ เช่นนั้นแล้ว เกมที่สมบูรณ์แบบใน Paris-Roubaix ต้องเป็นยังไง? DT วิเคราะห์สถาการณ์ที่จะช่วยให้นักปั่นมีโอกาสชนะเยอะที่สุดในสนามที่ขึ้นว่าเป็น “นรกทางตอนเหนือ” รายการนี้ครับ

 

1. ไม่ล้ม ไม่พัง ไม่เจ็บ

ข้อนี้ฟังดูง่าย แต่จริงๆ ไม่ง่ายเลยครับ ทุกๆ ปีใน Paris-Roubaix มีเหตุให้นักปั่นต้องล้มเจ็บถอนตัวจากการแข่งขันเสมอ และก็มักจะเป็นกลุ่มตัวเต็งนี่แหละที่จะซวยกว่าเพื่อน

แต่ดวงนั้นไม่ใช่ต้องรอสวรรค์ประทานอย่างเดียว นักปั่นและทีมสามารถทำให้ตัวเองดวงดีขึ้นได้ง่ายๆ ด้วยการปั่นอยางมีสติและพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ครับ นั่นคือต้องพยายามขึ้นนำอยู่หน้ากลุ่ม เพราะถ้าเกิดมีเหตุล้มในกลุ่มขึ้น คนที่อยู่ในและหลังกลุ่มที่เจออุบัติเหตุต้องหยุด ซึ่งจะทำให้กลุ่มหน้าที่ไม่ล้มทำเวลานำห่างได้เยอะ การจะอยู่หน้ากลุ่มได้ก็ต้องมีเพื่อนร่วมทีมที่แข็งแกร่งที่คอยขึ้นนำกลุ่มได้ตลอด อย่างใน Tour of Flanders ทั้ง GVA และซากานเกือบจะหลุดกลุ่มตัวเต็งสำคัญตั้งแต่ 100 กิโลสุดท้ายที่ Quickstep กระชากกลุ่มขาดบนเนินตัดตัว และต้องเปลืองแรงเกือบยี่สิบกิโลเมตรกว่าจะไล่กลับทันกลุ่มของ Quickstep

โดยรวมแล้วถ้านักปั่นไม่ล้ม อุปกรณ์ไม่พัง ยางไม่รั่วและยังอยู่แถวหน้าของขบวนได้ โอกาสคว้าแชมป์ก็เพิ่มขึ้นกว่าครึ่งครับ

 

2. เดินเกมกดดันคู่แข่ง

หลายต่อหลายครั้งที่แชมป์ Paris-Roubaix มาจากการหนีเดี่ยว และมันมีเหตุผลที่ดีที่ทำให้ผู้กล้าหนีจากกลุ่มเปโลตองเป็นแชมป์ครับ – ด้วยความที่สนามนี้มีความเสี่ยงหลายประการ (เหมือนที่กล่าวในข้อหนึ่ง)​ นักปั่นที่กล้าหนีเดี่ยว หรือหนีเป็นกลุ่มเล็กๆ ออกไปนั้นจะมัดมือกดดันทีมคู่แข่งด้านหลังทันที

เช่นเดียวกับที่ฟิลลิป จิลแบร์ (Quickstep Floors) หนีกลุ่มตั้งแต่ห้าสิบกิโลเมตรสุดท้ายใน Tour of Flanders เขาบังคับให้ผู้ไล่อย่างปีเตอร์ ซากานต้องเลือกปั่นบนเส้นทางที่เสี่ยงอันตรายอย่างขอบถนน เพียงเพื่อให้ปั่นได้ทันจิลแบร์ไวขึ้นเล็กน้อย แต่ด้วยความเสี่ยงนั้นก็ทำให้ซากานและผู้ไล่คนอื่นล้มจนหมดโอกาสคว้าแชมป์อย่างน่าเสียดาย

การจะรอให้คนอื่นออกรุกก่อนแล้วเล่นเกมรับถือเป็นเรื่องเสี่ยงมากใน Paris-Roubaix โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพยากรณ์อากาศบอกว่าจะเป็นวันฟ้าเปิด ฝนไม่ตก ลมข้างและส่งเยอะ ถ้าหนีเดี่ยวแล้วได้ลมส่งช่วย โอกาสรอดก็มีมาก ถึงกลุ่มไล่จะมากันหลายคน แต่การที่มาเป็นกลุ่มนั้น ความเสี่ยงที่จะล้มหรือเกี่ยงกันไล่ก็มีมากกว่า โดยรวมแล้วคนที่เปิดทำเกมก่อนนั้นมักจะได้เปรียบเสมอ แต่ก็ต้องแกร่งพอจะปิดเกมเองได้ด้วย ไม่เช่นนั้นก็ต้องรอเสี่ยงดวงจากกลุ่มเล็ก เหมือนที่เฮย์แมน (Orica-GreenEdge) สปรินต์เอาชนะแชมป์เก่า 4 สมัยอย่างทอม โบเน็นได้ในปี 2016

แทคติคหนีเดี่ยวนี้จำเป็นมากสำหรับโบเน็นที่อยากจะได้แชมป์ 5 สมัย เพราะถ้าหาก Quickstep มีนักปั่นคนอื่นในเบรคอเวย์ที่ไม่ใช่เขา ทีมต้องตัดสินใจว่าจะให้โอกาสนักปั่นคนนั้นหรือจะสั่งให้รอโบเน็น จริงว่าถ้าโบเน็นชนะครั้งนี้จะเป็นตำนาน แต่ถ้าทีมตัดสินใจพลาด กะรอโบเน็นแล้วทีมอื่นทำเกมได้ดีกว่า Quickstep ก็อาจจะชวดแชมป์ไปอย่างง่ายๆ เลย เพื่อตัดปัญหาเพื่อนร่วมทีมอยู่หน้ากลุ่ม โบเน็นอาจจะต้องหนีเอง เหมือนในปี 2012 ที่เขาโซโล่คนเดียว 55 กิโลเมตร ซึ่งถ้าจบเกมได้ด้วยวิธีนี้ก็จะยิ่งเป็นตำนานที่น่าทึ่งครับ!

 

3. เพื่อนร่วมทีมต้องพร้อม

สมมติทีมเรามีนักปั่นที่หนีเดี่ยวหรือไปกับกลุ่มตัวเต็งได้ ก็ใช่ว่าจะการันตีชัยชนะครับ เพื่อนร่วมทีมต้องแกร่งพอจะช่วย “คุมเกม” ด้านหลัง ตัวอย่างเห็นได้ชัดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเมื่อ Quickstep ช่วยกัน “บล็อก” หรือชลอความเร็วกลุ่มไล่ เพื่อไม่ให้ไล่จิลแบร์ได้ทัน การมี “ตัวถ่วง”​ แค่คนสองคนในกลุ่มไล่นั้นช่วยตัดโอกาสการไล่จับคนหนีได้เยอะมาก เหมือนที่เราเห็นในสนามคลาสสิคหลายๆ รายการในปีนี้ครับ

 

4. คู่แข่งต้องดวงตก

ถึงเราจะหนีไปได้ รถไม่พัง ยางไม่รั่ว เพื่อนช่วยบล็อกกลุ่ม แต่ถ้าเราไม่ใช่คนที่แกร่งที่สุดในการแข่งขัน โอกาสชนะก็ยังไม่เป็น 100% เสมอไป ยังมีโอกาสที่คู่แข่งจะร่วมมือกลับมาไล่เราจนทันจริงมั้ยครับ? ถ้าซากาน GVA และเนเซ็น ไม่ล้มใน Tour of Flanders จิลแบร์ก็มีโอกาสจะโดนรวบจับก่อนถึงเส้นชัยสูงมาก

เช่นนั้นแล้วดวงดีอย่างเดียวไม่พอ จะชนะได้นักปั่นอาจจะต้องพึ่ง “ดวงซวย” ของคู่แข่งด้วย ปีที่แล้ว ซากานและแคนเชอลาราล้มคว่ำ เปิดโอกาสให้โบเน็นและตัวเต็งกลุ่มเล็กๆ หนีไปได้ไกลจนได้วัดดวงกันหน้าเส้นชัย ซากานเข้ามาเป็นอันดับที่ 11 แต่ช้ากว่ากลุ่มหน้าถึง 2:20 นาที และแคนเชอลาราเข้าเป็นอันดับที่ 40 ตาหลังถึง 7:35 นาที

 

5. ไม่เสี่ยงดวงกับการสปรินต์หน้าเส้นชัย

Paris-Roubaix เป็นสนามเดียวในตารางแข่งของโปรที่จบในเวโลโดรม นั่นหมายความว่าถ้ากลุ่มนำเข้าสู่เวโลโดรมมาด้วยกัน นักปั่นต้องใช้กึ๋นพอสมควรในการวางตำแหน่งตัวเองให้สปรินต์เข้าเส้นได้ดีที่สุดครับ แน่นอนว่าถ้าคุณไม่ใช่นักปั่นอย่าง ซากาน, คริสทอฟ, แวน เอเวอร์มาร์ท เดเกนโคลบ์หรือเดอแมค์ ที่สปรินต์ได้ดีหลังแข่งหนักๆ โอกาสชนะก็แทบจะเป็นศูนย์ แม้แต่โบเน็นเองที่เคยเป็นสปรินเตอร์ชื่อดังยังต้องพ่ายให้ “โดเมสติก” อย่างแมท เฮย์แมนเมื่อปีที่แล้ว

ถ้าสปรินต์ไม่ได้ โอกาสเดียวที่จะชนะคือพยายามสลัดกลุ่มเล็กที่มาด้วยกันก่อนเข้าเวโลโดรม เหมือนที่นิกี้ เทิร์ปสตร้า (Etixx-Quickstep) ทำในปี 2014

แต่นั่นหละครับ ถึงเหตุการณ์จะเป็นใจทุกอย่างเหมือน 5 ข้อบนนนี้ แต่จะการันตีชัยชนะได้มั้ย ก็คงไม่มีใครบอกได้ 100% จะจบยังไงก็ต้องติดตามกันครับ

* * *

ถ่ายทอดสดเวลาไหน?

รายการนี้เริ่มถ่ายทอดสดตั้งแต่ 16:00-22:00! (เริ่มตั้งแต่ต้นจนจบ) เช็คลิงก์ถ่ายทอดสดและการบรรยายสดของ Ducking Tiger ได้ที่ Duckingtiger.com/live ครับ

บรรยายสดเริ่มประมาณ 20:30 จนจบรายการ

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *