ความชันและเกรดภูเขา วัดยังไง?

หนึ่งในคำถามที่เจอบ่อยที่สุดระหว่างบรรยายการแข่งขันเสือหมอบกจากผู้ชมก็คือภูเขา Category 1 คืออะไร!? ตัวเลขมันต่างกันยังไง และความชันที่บอกว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้นเท่านี้นี่คือชันขนาดไหน? วันนี้ขอเขียนเป็นโพสต์อธิบายกันเลยดีกว่าเพื่ออรรถรสในการชมตูร์ เดอ ฟรองซ์และรายการถัดๆ ไปครับ!

 

ทำไมต้องแบ่งเกรดภูเขา

  • เพื่อให้นักปั่นและผู้ชม มองภาพรวมของสนามได้ชัดเจน แค่เห็นโปรไฟล์สเตจก็บอกได้ว่าวันนี้ยากหรือง่าย ต้องออกแรงเยอะมั้ย ต้องวางกลยุทธ์ยังไง
  • เพื่อง่ายต่อการให้คะแนนจ้าวภูเขา (Category สูงมากก็ได้คะแนนมากขึ้น)

ในการแข่งขันเสือหมอบ ผู้จัดแข่งจะ “ให้เกรด” ภูเขาลูกต่างๆ ที่นักปั่นจะต้องเจอในแต่ละสเตจ เกรดมีตั้งแต่ 4 3 2 1 และ HC เกรด 4 คือ “ง่าย” หรือท้าทายน้อยที่สุดไล่ไปจนถึงเกรด 1 ซึ่งถือว่ายากที่สุด และระดับ HC (Hors Category หรือ Above Category) ซึ่งยากยิ่งกว่ายาก และส่วนใหญ่จะเป็นภูเขาระดับตำนานของการแข่งขันอย่าง Alpe d’Huez / Col du Galibier

โปรไฟล์เส้นทางใน Tour de France
โปรไฟล์เส้นทางใน Tour de France

แล้วแบ่งเกรดยังไง?

การแบ่งเกรดภูเขาของผู้จัดแข่งนั้นไม่มีกฏเกณฑ์ตายตัว ภูเขาระดับ HC ในปี 2014 อาจจะลดลงเหลือระดับ Category 1 ในปีถัดไปก็ได้ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้จัดเส้นทาง ปัจจัยที่มีผลต่อเกรดคือ ระยะทาง, ความชัน, ความยากของเส้นทาง เช่นโค้ง ความกว้างของถนน สภาพถนน รวมถึงอิทธิพลของภูเขาลูกนั้นๆ ต่อสเตจ เช่นถ้าเป็นเขาที่ชันมากไปวางไว้ตรงเส้นชัยหลังจากระยะทางปั่นร่วม 200 กิโลเมตร ก็อาจจะได้เกรด 1 หรือ 2 เขาระดับ HC ส่วนใหญ่จะอยู่ช่วงท้ายของสเตจเพื่อเพิ่มความดราม่าและความรู้สึกของนักแข่งและผู้ชมให้ดูตื่นเต้นท้าทายขึ้นอีก แน่นอนว่าเขาที่ชันๆ ยาวๆ ที่ปีนกัน 2500 เมตร++ ย่อมได้ระดับ HC อยู่แล้ว ถ้าเป็นเขาเตี้ยๆ ดูไร้พิษสง ก็น่าจะประมาณ Category 4 เท่านั้น

ชื่อเสียงของภูเขาก็เป็นปัจจัยไม่น้อย เขาชื่อดังอย่าง Alpe d’Huez ที่ใช้ในตูร์มาร่วม 21 ครั้งและมีสภาพภูมิประเทศสวยงามจนกลายเป็นไฮไลท์ของตูร์นั้น ถ้าดูความยากจริงๆ แล้วอาจจะอยู่ที่ประมาณ Category 1 แต่ด้วยตำนานของมัน เลยกลายเป็นภูเขาระดับ HC

ผู้จัดแข่งแต่ละเจ้าก็ให้เกรดไม่เหมือนกัน RCS Sport เจ้าของจิโรดิตาเลียนั้นมีเกรดภูเขาแค่ 1-4 ไม่มี HC เหมือนกับ ASO เจ้าของตูร์ เดอ ฟรองซ์

 

จ้าวภูเขาและเสื้อลายจุด?

คำว่าจ้าวภูเขา หรือ King of the Mountain นั้นเป็นคำเรียกนักไต่เขาที่เก็บแต้มคะแนนบนยอดเขาได้เยอะที่สุดในการแข่งขัน รางวัลนี้มีมาตั้งแต่ปี 1934 ส่วนเสื้อลายจุดนั้นได้ลวดลายมาจากสปอนเซอร์ซึ่งเป็นผู้ผลิตช๊อคโกแล๊ตนามว่า Poulain เป็นแบรนด์ช๊อคโกแล๊ตที่เก่าแก่เกือบจะที่สุดในฝรั่งเศส! ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1848

 

อะไรคือชัน 20%!?

อีกเรื่องที่ถามกันมากก็คือ การวัดค่าความชันเป็นเปอร์เซ็น ชัน 15% นี่มันชันขนาดไหน? ถ้าพูดตามภาษานักปั่น อารมณ์มันจะได้ประมาณนี้ครับ

1-2% ฉิวๆ ชิลล์ๆ สบายๆ แทบไม่มีความรู้สึกว่ากำลังขึ้นเนิน
4-5% อากาศแจ่มใส คุณเริ่มเหนื่อย แต่ยังไต่ได้เรื่อยๆ ยังรู้สึกเอนจอยการปั่นจักรยานขึ้นเขาอยู่ คุณคิดว่าคงเนินแค่นี้สิวๆ ปั่นต่อได้อีกสักสองชั่วโมง
6-8% ท้องฟ้าเริ่มดำมืด เหงื่อเริ่มไหลหยดรอบศีรษะและหน้าอก ขาเริ่มหนืด คุณเริ่มเกลียดเซอร์ไอแซค นิวตันและกฏแรงโน้มถ่วง!
9-10% พายุฝนฟ้าคะนองกระจายเป็นหย่อมๆ คุณเริ่มก้มมองพื้นถนนมากกว่าถนนข้างหน้า ยังไปต่อไหว แต่เริ่มคิดว่าถ้าลงเดินเข็นอาจจะเร็วกว่า ขาคุณหนักเหมือนมีลูกตุ้มมาถ่วงไว้
12-15% ซึนามิและเฮอร์ริเคนกำลังเข้าใกล้ คุณเริ่มคิดในใจว่า ถ้าได้จักรยานที่เบาๆ สัก 5 กิโลกรัมนี่คงขึ้นเขาได้เหมือนติดปีก อุปกรณ์รุ่นล่าสุด วัสดุคาร์บอนเบาหวิวที่พึ่งซื้อมาเริ่มดูหนักขึ้น คุณอยากจำนองบ้านเพื่อซื้อล้อ Lightweight
16%++ คุณล้วงโทรศัพท์โทรหาแฟนให้มารับกลับบ้านที

ความชัน 22% ใน Tierrano-Adriatico

ขำกันพอประมาณ จริงๆ ศาสตร์การคำนวนความชันเป็นเปอร์เซ็นนั้นง่ายนิดเดียว เอาระยะทางที่เราต้องปีนเขาลูกนั้นทั้งหมด (Distance) มาหารด้วยความสูงของภูเขา (Elevation Gain) ก็จะได้ค่าความชันออกมาเป็นเปอร์เซ็น

เช่น ถ้าระยะทางที่ต้องปีนทั้งหมดคือ 100 เมตร และความสูงของเนิน/ภูเขา คือ 10 เมตร ก็ถือว่าเขาลูกนี้มีความชัน 10 หาร 100 = 0.10 คิดเป็นเปอร์เซ็นก็ได้ 10 เปอร์เซ็นพอดี (ต้องใช้หน่วยระยะทางเดียวกันนะ)

อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าจะเห็นภาพชัดคือดอยสุเทพ มีระยะทาง 14.7 กิโลเมตรจากตีนเขาถึงยอดเขา และมีความสูง 943 เมตร ก็จะคิดเป็น 943 เมตร / 14,700 เมตร = 0.06 หรือ 6% โดยประมาณ

 

ภูเขาเมืองไทยชันขนาดไหน?

เพื่อความชัดเจนและเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง เราสามารถเปรียบเทียบความชันของเขาต่างๆ ในการแข่งกับเขาในประเทศไทยที่หลายๆ คนน่าจะเคยปั่นกันก็ได้ครับ ลองดูความสูงกันก่อน ขอบคุณภาพประกอบจาก Pantip กระทู้ “อยากรู้ความชันกราฟของเขาแต่ละลูกไหม ลองดูกัน”

ทีนี้ลองดู Segment Strava ของเขาลูกสำคัญต่างๆ ในไทยครับ (คลิกไปดูที่เว็บ Strava)

เขาเขียว – Category 2 / ยาว 9.8 กิโลเมตร, ชันเฉลี่ย 5%, ระยะปีน 493 เมตร

ดอยอินทนนท์ – Category HC / ยาว 47.2  กิโลเมตร, ชันเฉลี่ย 5%, ระยะปีน 2,234 เมตร

ดอยสุเทพ ถึงลาน ฮ.- Category HC / ยาว 14.7 กิโลเมตร, ชันเฉลี่ย 6%, ระยะปีน 943 เมตร*

เขาใหญ่ฝั่งปากช่อง – Category 2, ยาว 6.7 กิโลเมตร, ชันเฉลี่ย 5%, ระยะปีน 360 เมตร

เขาใหญ่ฝั่งปราจีน – ยาว 28.8 กิโลเมตร, ชันเฉลี่ย 2%, ระยะปีน 745 เมตร

*อันนี้ไม่แน่ใจว่ามันเป็น HC จริงหรือเปล่า อย่าลืมว่าหลักการให้เกรดของ Strava และ ASO หรือผู้จัดแข่งสนามอื่นๆ นั้นต่างกันครับ

โปรไฟล์ดอยอินทนนท์
โปรไฟล์ดอยอินทนนท์

สรุป

ปกติแล้วถ้าเราปั่นจักรยานแล้วใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ติดรถที่มี GPS อย่าง Garmin Edge มันจะสามารถบอกระดับความชันเป็น % ระหว่างปั่นได้เลย แต่อย่างที่เล่ามาครับ ชันมากก็ไม่ได้แปลว่าจะได้ระดับ Category สูง ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แล้วแต่ผู้จัดแข่งเขาจะแบ่ง แต่เห็นโปรไปไต่เขาโหดๆ ระดับ HC แล้วก็อย่านึกอิจฉาไป เขาโหดๆ ในไทยบ้านเราก็มีเยอะเหมือนกันครับ

Published
Categorized as LEARN

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

2 comments

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *