นี่คือข้อมูล Strava ของแมธธิว แวน เดอ โพลล์ที่ได้แชมป์ Amstel Gold

คืนก่อนนี้ แมธธิว แวน เดอ โพลล์ แชมป์สนาม Amstel Gold Race 2019 ที่สร้างปรากฏการณ์การคว้าแชมป์ พลิกเกมแบบที่เราไม่เคยพบเคยเจอมาก่อน ได้อัปโหลดข้อมูลการแข่งขันรายการนี้ลง Strava ทำให้เราเห็นข้อมูลการปั่นของเขาทั้งหมดครับ คนที่ใช้ Strava (แอปสำหรับวิเคราะห์สถิติการปั่น) อยู่แล้วสามารถกดเข้าไปดูเต็มๆ ได้ที่ ลิงก์นี้

ถ้ายังไม่ได้ดูการแข่งขัน ลองดูวิดีโอไฮไลท์ก่อน

ข้อมูลการแข่งของโปรเป็นอะไรที่เราไม่ได้เห็นบ่อยๆ โดยเฉพาะนักปั่นระดับแชมป์มักจะหวงข้อมูล เพราะมันเปิดโอกาสให้คู่แข่งเอาไปวิเคราะห์ฟอร์มมาแก้เกมในสนามต่อๆ ไปได้ง่ายขึ้น

ก่อนจะดูข้อมูลเชิงลึก ลองดูสถิติคร่าวๆ ของแวน เดอ โพลล์ในสนามนี้ครับ

ส่วนสูง: 184cm
น้ำหนัก: 75 kg
ระยะเวลาแข่ง: 6 ชั่วโมง 27 นาที
ระยะทาง: 260.08 กิโลเมตร
ความเร็วเฉลี่ย: 40.4 kph
Elevation Gain: 3,488 เมตร
พลังงานที่ใช้: 6,440 kJs
Power เฉลี่ย: 278 วัตต์ (3.7 W/kg)
Normalized power: 337 วัตต์ (4.5 W/kg)
Max Power: 1400 วัตต์
อัตราการเต้นหัวใจเฉลี่ย: 140 bpm
อัตราการเต้นหัวใจสูงสุด: 197 bpm

ความตื่นเต้นของชัยชนะครั้งนี้มาจากที่ แวน เดอ โพลล์ เขาพลาด หลุดกลุ่มตัวเต็งในจังหวะสำคัญ ไม่สามารถตามจูเลียน อลาฟิลลิป (Quickstep) และยาค็อป ฟูลก์แซง (Astana) ที่หนีหลุดไปได้สองคนตั้งแต่ช่วงราว 35 กิโลเมตรสุดท้าย และโดนนักปั่นตัวเต็งยิงสวนออกไปอีกหลายคน ซึ่งเขาก็ตามไม่ทันเช่นกัน ทำให้อยู่ในสถานการณ์ที่ร่อแร่ แทบจะหมดสิทธิหวังแชมป์เลยทีเดียว

ผมอยากไฮไลท์สิ่งที่หลายคนอาจจะมองข้ามไปเวลาดูข้อมูลของโปรครับ เพราะเรามักจะโฟกัสกันที่ว่าเขาใช้วัตต์เท่าไร วัตต์ต่อกิโลเป็นเท่าไรกันเสียมาก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราอาจจะมองข้ามคือ อัตราการเต้นหัวใจเฉลี่ย 

ลองคิดตามครับ สมมติเราไปแข่งสนามที่ยาว 260 กิโลเมตร ต้องปีนเขาปีนเนินรวม elevation เกือบ 3,500 เมตร (!!) และใช้ความเร็วเฉลี่ย 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตลอดการแข่งขัน คุณคิดว่าจะคุมโซนหัวใจให้ต่ำสุดเป็นโซนไหน และอยู่ในโซนนั้นได้นานเท่าไร?

สิ่งที่ทำให้โปรต่างจากมือสมัครเล่นที่สุดไม่ใช่แค่ว่าเขาแข็งแรง ปั่นที่วัตต์หนักๆ ได้นานๆ หลายชั่วโมง แต่มันคือหัวใจของเขาที่แข็งแรงและทนกว่าคนธรรมดามาก แวน เดอ โพลล์มีอัตราการเต้นหัวใจเฉลี่ยแค่ 140 bpm ตลอดเวลาแข่ง 6 ชั่วโมงครึ่ง!

อัตราการเต้นหัวใจเป็นข้อมูลที่บ่งบอกการตอบสนองร่างกายของเรา Strava สามารถบอกได้ว่าเราใช้เวลานานเท่าไรในโซนหัวใจต่างๆ ซึ่งลองดูโซนที่แวน เดอ โพลล์ใช้ในสนามนี้ครับ

กว่า 87% ของเวลาแข่งทั้งหมด หัวใจเขาเต้นไม่เกินโซน 3… และเขาออกแรงโซน 5 แค่ 4:34 นาทีเท่านั้น! (ลองนึกถึงเวลาเราซัดกับเพื่อน เราแช่โซน 4 นานขนาดไหน?)

มันบ่งบอกว่า เวลาเกือบทั้งหมดในการแข่งขันของเขานั้น อยู่ในโซนที่เขาแทบไม่ “เหนื่อย” เลย แต่อย่าลืมว่า ด้วยหัวใจที่เต้นต่ำขนาดนี้ เขายังสามารถออกแรงเฉลี่ยได้ 278 วัตต์ และความเร็วเฉลี่ย 40kph ตลอดการแข่งขัน 260 กิโลเมตร

มันชี้ว่าร่างกายของนักกีฬาอาชีพมีระบบเอนดูรานซ์ที่ดีมาก และมีหัวใจที่แข็งแรงมาก ที่สามารถสูบฉีดเลือดได้ในปริมาณมากต่อการเต้นหัวใจหนึ่งครั้ง และนี่คือจุดที่ต่างที่สุดระหว่างมือสมัครเล่นกับมืออาชีพ

เป้าหมายในเชิงกายภายของการฝึกซ้อมจักรยาน ก็คือการที่เราสามารถออกแรงปั่นได้มากขึ้น โดยที่หัวใจยังอยู่ในโซนที่ต่ำอยู่ ถ้าจะให้เปรียบเทียบกับคนธรรมดา จะหมายความว่าที่ปริมาณการออกแรงเท่ากับเรา  นักกีฬาจะใช้หัวใจน้อยกว่าเสมอ ผลลัพธ์ก์คือ เมื่อถึงจุดคับขัน เช่นที่เนินคัดตัว หรือช่วงท้ายของการแข่งขันที่ต้องเร่งเค้นพลังกัน ร่างกายนักกีฬาจะไม่ล้าเกินไป ยังเหลือศักยภาพที่จะตอบโต้เกมของคู่แข่งได้ พูดง่ายๆ คือทั้งอึดและทน

 

14 กิโลเมตรสุดท้าย

ช่วงที่น่าสนใจที่สุดสำหรับผู้ชม ก็คือ 14 กิโลเมตรสุดท้ายที่เราเห็น แวน เดอ โพลล์เป็นตัวตั้งตัวตีในการไล่กวดเบรกอเวย์คนอื่นๆ เพื่อไปให้ทันคู่อลาฟิลลิปและฟูลก์แซงที่มีเวลานำอยู่นาทีกว่าๆ เรียกได้ว่าลากเองคนเดียวเกือบตลอด 14 กิโลเมตรสุดท้าย

และมันเป็นจังหวะที่เขาเร่งขึ้นมาจริงๆ เพราะ เราเห็นจากกราฟว่า อัตราการเต้นหัวใจของเขาพุ่งจาก 150bpm ขึ้นไปเป็น 170+ bpm ตั้งแต่จุดนี้

14 กิโลเมตรสุดท้าย

ที่แวน เดอ โพลล์ต้องรีบ ก็เพราะว่าเริ่มรู้ตัวว่าถ้าไม่เร่งตอนนี้จะจับเบรกอเวย์ไม่ทัน และหมดโอกาสได้แชมป์แน่ๆ 14 กิโลเมตรสุดท้ายเขาเลยออกแรงเฉลี่ยถึง 375 วัตต์ ที่ความเร็ว 42.9 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทีนี้ถ้าเราซูมเข้าไปที่ 8 กิโลเมตรสุดท้าย เราจะเห็นกราฟนี้ครับ

8 กิโลเมตรสุดท้าย

มันคือจังหวะที่เขาซัดเต็มที่จริงๆ วัตต์เฉลี่ยคือ 424 วัตต์ แต่ที่ทำให้รู้ว่าเขาทุ่มหมดหน้าตักคืออัตราการเต้นหัวใจที่ขึ้นไปสูงถึง 185bpm ตลอด 8 กิโลเมตรสุดท้าย และสังเกตว่าเส้นหัวใจ (แดง) นิ่งเป็นเส้นตรงเลย นั่นคือเขาอยู่บนขีดที่เกือบจะปริ่มเกินจุดที่จะ “พัง”​ และจังหวะนี้เองที่เขาสามารถพากลุ่มไล่ไปเจอเบรกอเวย์ได้ที่กิโลเมตรสุดท้ายพอดี

แต่พอถึงกิโลเมตรสุดท้าย อลาฟิลลิปและฟูลก์แซงยังห่างไปอีกหลายร้อยเมตร คู่หน้าเริ่มลีลา เกี่ยงกันว่าจะให้ใครออกนำ ปกติแล้วเกมแบบนี้ เป็นเรื่องยากที่กลุ่มไล่ข้างหลังจะชนะ แต่ไม่ใช่สำหรับแชมป์โลกไซโคลครอสคนนี้

แทนที่จะลังเลรอให้เพื่อนร่วมกลุ่มไล่ขึ้นมาลากนำสปรินต์ให้ แวน เดอ โพลล์โชว์ป๋า ลากต่อเองจนไปทันอลาฟิลลิป ฟูลก์แซง และเควียทคอฟสกี้ (ที่ตามคู่หน้ามาสักพักแล้ว) นี่คือวิดีโอกิโลเมตรสุดท้าย

https://www.instagram.com/p/BwrCaurDNoV/

ทีนี้เราลองมาดูกันว่า “ลากเอง สปรินต์เอง นักเลงพอ” มันเป็นยังไงในเชิงสถิติข้อมูล

800 เมตรสุดท้าย

วัตต์เฉลี่ย: 773 วัตต์
วัตต์สูงสุด: 1,400 วัตต์
ความเร็วเฉลี่ย: 59.9kph
ความเร็วสูงสุด: 66.2kph
อัตราการเต้นหัวใจเฉลี่ย: 190bpm
อัตราการเต้นหัวใจสูงสุด: 193bpm

แวน เดอ โพลล์จับสามคนหน้าได้ทันที่ราวๆ 400 เมตรสุดท้าย ไล่ตามล้อฟูลก์แซง แล้วฉีกสปรินต์ออกมา จนนำเดี่ยวที่ร้อยเมตรสุดท้าย แล้วเข้าเส้นชัยเป็นคนแรก โดยที่ตัวเองก็ไม่เชื่อด้วยซ้ำว่าทำได้ยังไง (คนดูก็ยังไม่เชื่อเลย)

 

สรุป

นอกจากพละกำลังและพรสวรรค์อันเหลือล้นของแมธธิว แวน เดอ โพลล์ โดยเฉพาะช่วงสุดท้ายของการแข่งขัน ซึ่งตอนนี้เราก็เห็นตัวเลขกันแบบชัดๆ ไปแล้ว ข้อคิดที่ได้จากสถิติเหล่านี้ที่สำคัญที่สุดก็เป็นเรื่องที่บอกไปข้างต้นครับ นั่นคือความสามารถของนักปั่นอาชีพที่ปั่นได้หนักและเร็วแต่ใช้หัวใจโหลดต่ำมาก

ความแข็งแรงที่แท้จริงไม่ใช่ว่าเราออกแรงได้สูงสุดกี่วัตต์เป็นเวลานานกี่นาที แต่มันคือ efficiency ครับ ครั้งต่อไปที่ออกไปปั่นลองดูว่าที่ความเร็วสูงๆ ออกแรงหนักพอสมควรหัวใจเราเต้นรัวกี่ครั้งต่อนาที

ถ้าถามว่า efficiency ระดับโปรนี้ ฝึกอย่างไร คำตอบง่ายๆ ก็คือ นักกีฬาอาชีพ ปั่นจักรยานเป็นอาชีพ การซ้อมปั่นคืองานประจำ สัปดาห์นึงก็มีชั่วโมงซ้อมเกิน 20 ชั่วโมงขึ้นไป และด้วย Volume การปั่นขนาดนี้ก็ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของร่างกาย หัวใจ ระบบเลือดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าคนทั่วไปนั่นเอง

การที่จะให้ร่างกายคุ้นชิ้นกับการแข่งขันแต่ละแมทช์ที่ยาวนานเกิน 4-5 ชั่วโมง ก็ต้องมาจากการซ้อมที่ระยะเวลาใกล้เคียงกับการแข่งขันด้วยเช่นกันครับ

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *