จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อทีมจักรยานสมัครเล่นที่เกิดจากการรวมตัวของนักปั่นโนเนม เอาชนะนักปั่นทีมชาติไปจนถึงได้แชมป์เหรียญทองในการแข่งสนามระดับนานาขาติ? เรื่องราวแจ็คผู้ฆ่ายักษ์แบบนี้ไม่ได้มีให้เห็นบ่อยๆ ในวงการจักรยาน ที่ความสามารถของทีมมักถูกกำหนดด้วยเม็ดเงิน แต่ก็ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้
ในรูปนี้เห็นอะไรแปลกๆ มั้ยครับ? ลองดูรูปทีมที่ยืนอยู่บนโพเดียม นี่คือโพเดียมสนาม UCI Track World Cup เมื่อปลายปีที่แล้ว
ที่สองทางซ้ายมือคือทีมชาติเบลเยียม ที่สามทางขวามือคือทีมชาติสหราชอาณาจักร แต่ที่หนึ่งนั่นเป็นใคร ชาติไหน?
พวกเขาคือทีม HUUB Wattbike นักปั่นจากเมือง Derby ในสหราชอาณาจักรที่ทุบผลงานทีมชาติในสนามระดับโลก การขึ้นมาของทีมอาชีพขนาดเล็กอย่าง HUUB Wattbike เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ในวงการลู่ที่ความสามารถของทีมมักถูกจำกัดด้วยเม็ดเงินในการทำทีม
ถ้าจะให้เทียบกับวงการเสือหมอบ ก็เปรียบได้กับ อยู่ดีๆ วันนึงคุณชวนเพื่อนคนธรรมดา 8 คนที่ไม่ใช่นักกีฬาอาชีพมาทำทีมจักรยาน ทำผลงานดีจนสนามใหญ่เขาเชิญไปแข่ง แล้วทีมคุณแข่งชนะสเตจเรซอย่าง Quickstep หรือ Ineos
ฟังดูเป็นไปไม่ได้ใช่มั้ย? แต่นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในวงการลู่ช่วงสองปีที่ผ่านมาครับ ทีม HUUB Wattbike เกิดจากเพื่อนสี่คนที่คัดตัวไม่ติดทีมชาติ หรือเลือกเดินชีวิตทางอื่น แต่มีแพสชันในการแข่งจักรยาน
กว่าจะมาเป็นทีม HUUB Wattbike
ทีม HUUB Wattbike นี่ก่อนหน้านี้ชื่อ TFG และ KGF ก่อตั้งโดยแดน บิ๊กแฮม สมัยอยู่มหาลัยแดนสนใจการแข่งกีฬาเอนดูรานซ์หลายๆ อย่าง ลองลงแข่งไตรกีฬาแต่ไม่รุ่งเท่าไร เขากล่าวว่าปกติปั่นได้ดีกว่าคนอื่นๆ ว่ายน้ำช้า และวิ่งเข้าขั่นแย่ ลองแข่งไตรอยู่ 3 ปีก็ชนะบ้าง แพ้บ้าง เลยหันมาเล่นสนาม road race และสนามลู่ ระหว่างนี้เขาก็สมัครเรียนปริญญาโทด้านวิศวกรรมและเฉพาะทางเป็น aerodynamicst จนจบแล้วไปทำงานในอุตสาหกรรม F1
วันหนึ่งทีม KGF นี่ก็รวมตัวก๊วนเพื่อนที่บ้าแข่งจักรยานเหมือนกัน ขยันซ้อม และใช้ความรู้ด้านอากาศพลศาสตร์ของแดน ที่เขามีพื้นฐานมาจากการทำงานในแวดวง F1 และเอามาต่อยอดในวงการจักรยาน จนเป็นที่ยอมรับ สื่ออย่าง Cyclingweekly เวลาจะทดสอบจักรยานก็ต้องไปพึ่งทีม HUUB Wattbike ให้ช่วยคุมการทดสอบแอโรไดนามิกส์ เขาให้สัมภาษณ์ไว้ในเว็บไซต์ The Book of Man
“สองปีก่อนมีแค่ผมกับชาร์ลีสองคนนะ เราแข่งทีมเดียวกันและซ้อมด้วยกัน ตอนนั้นมีเป้าอยากได้แชมป์ Individual Pursuit อังกฤษ แต่พอซ้อมกันเราก็คิดว่า ทำไมเราไม่ลองฟอร์มทีมกันดู เราจะได้ลงประเภทอื่นอย่างทีมเปอร์ซูทด้วย ผมเลยเรียกจอห์นนี เพื่อนจากมหาวิทยาลัยที่สมัยนั้นเขามีกลยุทธ์การแข่งที่น่าสนใจไม่เหมือนคนอื่น แล้วก็ทิปเปอร์อีกคนที่แข่ง road race เป็นประจำอยู่แล้ว”
“ทีมเราเลยเป็นลูกผสมแปลกๆ น่ะ เรามีเวลาซ้อมแค่ 4-5 สัปดาห์ก่อนสนามชิงแชมป์สหราชอาณาจักร
“แล้วเราไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนักกีฬาทีมชาติไง เราไม่มีใครช่วยเหลืออะไรเลย ไม่มีโค้ช ไม่มีนักโภชนาการ ไม่มีอุปกรณ์ เราต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ทั้งซ้อมปั่นและเข้ายิม เราพัฒนาอุปกรณ์บางอย่างด้วยตัวเอง วางแผนการแข่งเอง ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่ข้อเสียซะทีเดียวนะ เพราะมันทำให้เราสนิทกันมาก ทีมเราทุกคนเข้าใจว่าเรากำลังทำอะไร เพื่ออะไร เพราะอะไร เราไม่ได้ใช้ชีวิตเหมือนนักกีฬาอื่นๆ ที่ตื่นเช้ามาเพื่อเข้าซ้อมแล้วทำตามที่โค้ชบอกโดยไม่ตั้งคำถามว่ามันช่วยอะไรตรงไหน นักกีฬาทีมชาติเขาทำแบบนั้นได้เพราะมีคนวางแผนทุกอย่างไว้ให้แล้ว เขาแค่ต้องฟิตร่างกายให้พร้อมแข่งตามแผน”
“แต่เราต้องคิดเอง เราต้องมานั่งดูว่าวันนี้แต่ละคนตอบสนองการซ้อมยังไง วันนี้ใครฟอร์มดี ใครฟอร์มตก คนไหนจะพีคเมื่อไร มันทำให้เราเข้าใจหัวใจของการแข่งลู่ในทุกๆ มิติ”
อย่างไรก็ดี ทีมของแดนก็ไม่ได้มีสปอนเซอร์ พอคิดจะทำทีมพวกเขาก็ต้องก็ใช้บัตรเครดิตที่รูดจนเต็มวงเงินเพื่อเฟ้นอุปกรณ์ให้ตัวเองและเพื่อน มือสองบ้าง ขอสปอนจากแบรนด์โลคัลบ้าง
การเป็นทีมเล็กก็ไม่ใช่ข้อเสียไปทั้งหมด ทีมของแดนมีความคล่องตัวสูง ไม่ต้องผ่านสมาคมหรือองค์กรใดๆ ในการอนุมัติเรื่องต่างๆ อย่างการเลือกอุปกรณ์ แทคติค และรูปแบบการซ้อม ซึ่งถึงจะไม่มีผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมาช่วยเหมือนกับทีมชาติ แต่ทีมก็ศึกษาเรื่องพวกนี้ด้วยตัวเองจนมีความพร้อมพอจะสู้นักปั่นทีมชาติได้
400 ล้าน vs 2 ล้าน
ในปี 2017 ทีมไปลงแข่งชิงแชมป์ประเทศ (UK) สนามลู่ คว้าเหรียญทองกับเหรียญเงินประเภทเดี่ยวเปอร์ซูท, เหรียญทองไทมไทรอัล 1 กิโลเมตร, และเหรียญทองทีมเปอร์ซูท เอาชนะนักปั่นทีมชาติอังกฤษที่ขึ้นชื่อว่ายืนหนึ่งในสนามชิงแชมป์โลกและโอลิมปิกมาตลอด ได้เหรียญทองไม่พอ ทีมยังทำเวลาแข่งได้เร็วกว่าสถิติที่เร็วที่สุดของทีมชาติด้วย (comeptition record)
ทีม KGF ก็กลับมาบ้านกับผลงานที่ดีเกินคาดไปมาก แดนถามทีมว่า “ถ้าเราทุ่มสุดตัวกับการแข่งสนามลู่ พวกเราจะไปได้ไกลแค่ไหน? ถ้าฟอร์มทีมกันจริงจัง อยู่ด้วยกัน ซ้อมด้วยกัน หาสปอนเซอร์มาสนับสนุน เราจะเอาชนะคนทั้งโลกได้มั้ย?” โดยเฉพาะทีมชาติ UK เองที่มีเงินอัดฉีดปีละ 400 ล้านบาท ในขณะที่ทีม KGF มีเงินใช้ทำทีมปีละ 2 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้ผู้สนับสนุนหลักก็คือ HUUB ผู้ผลิตเสื้อผ้าสำหรับกีฬาเอนดูรานซ์ และ Wattbike ผู้ผลิตจักรยาน Stationary ชั้นนำของโลก
เอาล่ะ เมื่อชนะยืนหนึ่งโอลิมปิกทีมเปอร์ซูทได้ แดน บิ๊กแฮมหัวโจกทีมก็ตั้งเป้าใหม่ ต้องได้เหรียญทอง UCI Track World Cup เพราะทีมอาชีพลงแข่งโอลิมปิกและชิงแชมป์โลกไม่ได้ World Cup เลยเป็นรายการใหญ่ที่สุดที่ทีมจะแข่งได้ แล้วก็ตั้งเป้าทำลายสถิติโลกความเร็ว individual pursuit (ได้แล้ว), team pursuit และ Hour record ด้วย
ในการแข่ง UCI World Cup สนามลู่ ปีนึงนี่จะแข่งกัน 6 สนามสะสมแต้ม ทีมที่ลงแข่งเกือบทั้งหมดคือทีมชาติ แต่ทีมอาชีพที่ขึ้นทะเบียน UCI ก็สามารถลงแข่งได้ ทว่าส่วนใหญ่ไม่เลือกลงแข่งกันเท่าไร จากที่ไม่มีงบทำทีม และไม่มีลุ้นหวังผล เพราะถ้าแรงแต่เด็กนักกีฬาพวกนี้ก็ติดทีมชาติแต่แรกอยู่แล้ว ไม่ต้องมาค้าแข่งกับเทรดทีม
ในสนาม Track World Cup จะแข่งกันหลายประเภททั้งเปอร์ซูท ทีม เดี่ยว สปรินต์ เมดิสัน ออมเนียม เคียริน นั่นคือทีม Huub Wattbike กำลังจะประกาศสงครามกับสมาคมจักรยานจากชาติหัวแถวในยุโรปทั้งหมด
ระหว่างนี้ ด้วยผลงานปี 2018 ที่ดีเป็นพิเศษ ทำให้ทีมชาติสหราชอาณาจักรมาขอตัวชาร์ลี แทนฟิลด์ สมาชิกคนนึงของ HUUB Wattbike ไปรับใช้ชาติเป็นนักปั่นทีมชาติเต็มตัว
สรุปรวบยอดคือ ฤดูกาล 2018-2019 ทีม Huub Wattbike ก็ทำได้ตามเป้าครับ สนามแรกที่ลงคือ UCI World Cup รอบที่แข่งในแคนนาดา ทีมได้เหรียญเงิน และมาพีคตอนปลายปีในรอบที่แข่งในหาราชอาณาจักรที่ได้เหรียญทอง ชนะเบลเยียมและสหราชอาณาจักร และปัจจุบันสมาชิกทีมเป็นเจ้าของสถิติโลก individual pursuit ด้วย
ถ้าเปรียบทีมนี้เป็นบริษัท ก็คงเหมือนสตาร์ทอัประดับยูนิคอร์น (ในเรื่อง performance) ที่ขึ้นมาดิสรัปต์กิจการผู้เล่นรายใหญ่นั่นเอง
แดน บิ๊กแฮมเช็คกราฟข้อมูลการปั่นของเพื่อนร่วมทีมด้วยตัวเอง ไม่ใช่เรื่องปกติที่นักกีฬาจะเป็นคนคุม performance การแข่งขันของทีมโดยไม่มีโค้ชคอยดูแลในการแข่งขันระดับนานาชาติ
ส่วนหนึ่งของความสำเร็จมาจากการใช้เทคโนโลยีล่าสุดในการฝึกซ้อม ซึ่งทีมพบว่าไม่จำเป็นต้องมีงบประมาณเท่าทีมชาติก็สามารถสู้กับทีมใหญ่ได้หากจัดสรรเวลาและความรู้ให้ถูกจุด ในสนามลู่ที่ชนะกันด้วยเวลาหลักเสี้ยววินาที อุปกรณ์ทุกชิ้นในการแข่งขันต้องได้รับการปรับจูนให้ลู่ลมที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้นักปั่นไม่เสียเปรียบทีมอื่นๆ แดนให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Derbyshirelife ว่า:
“พวกเราทุ่มให้เวลากับเทคโนโลยีจักรยานมากๆ ครับ มันมีหลายอย่างที่เราทำได้ดีกว่าทีมชาตินะ อย่างตอนนี้เราทำโปรเจ็คร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีที่ทำให้เรามีข้อมูลการปั่น ทั้งอัตราการเต้นหัวใจ ค่าแรงต้านลม กำลังวัตต์ที่ใช้ปั่น ความเร็ว ที่ดูได้แบบ real time ไม่ต้องรอปั่นจบแล้วมาอัปโหลดข้อมูล แบบนี้มันทำให้เราจูนแผนการแข่งขันได้ทันทีเดี๋ยวนั้นเลย เทคโนโลยีแบบนี้มีใช้ในชาติที่ทุ่มงบกับจักรยานลู่เยอะอย่างอังกฤษและเดนมาร์ค แต่ชาติระดับกลางอย่างฝรั่งเศสและเบลเยียมไม่มี มันทำให้เราได้เปรียบครับ”
“ในกีฬานี้เวลาแค่เสี้ยววินาทีก็มีค่ามาก เราอาจจะไม่ใช่ทีมที่แข็งแกร่งที่สุด และซ้อมได้เข้าขากันที่สุด แต่เราให้ความสำคัญกับเรื่องที่ทีมอื่นอาจจะมองข้าม อย่างยางที่เราใช้ ชุดปั่น โภชนาการ การพักฟื้นและการฝึกซ้อม เมื่อเรารวมความได้เปรียบเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้เข้าด้วยกัน รู้ตัวอีกเราก็ทำลายสถิติโลกกันแล้ว”
เมื่อ UCI #ไม่ถูกใจสิ่งนี้
ตัดมาข่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนนี้ UCI หรือสหพันธ์จักรยานนานาชาติก็ประกาศว่า จากฤดูกาล 2020 เป็นต้นไปทีมจักรยานลู่อาชีพ (อย่างทีม HUUB-Wattbike) จะไม่สามารถลงแข่งสนาม UCI World Cup ได้อีกต่อไป เพราะ UCI จะเปลี่ยนรูปแบบการแข่งสนาม World Cup
- ลดปริมาณการแข่งจาก 6 สนาม เหลือ 3 สนาม
- ย้ายเวลาแข่งจากช่วงฤดูหนาวมาเป็นฤดูร้อน
- ทีมที่ลงแข่งต้องเป็นทีมชาติเท่านั้น
โดยให้เหตุผลว่าจะเป็นการกระตุ้นวงการจักรยานลู่ แต่ก็โดนโจมตีอย่างหนักจากฝั่งทีมอาชีพลู่ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 38 ทีมทั่วโลก ว่ามันจะทำให้วงการล้าหลังด้วยเหตุผลโต้แย้งที่ว่า
- การเปลี่ยนเวลาแข่งรายการลู่จากฤดูหนาวไปฤดูร้อนจะทำให้สนามลู่ชนกับช่วงพีคของปฏิทินการแข่งจักรยานถนน (ซึ่งก็มีให้ดูทุกอาทิตย์อยู่แล้ว) จักรยานลู่ที่คนดูน้อยกว่าก็จะยิ่งไม่มีคนดูเข้าไปใหญ่ ที่เขาตั้งให้สนามลู่แข่งกันช่วงหน้าหนาวมาแต่ไหนแต่ไรก็เพราะ สนามลู่มันแข่ง indoor อากาศไม่มีผล และช่วงหน้าหนาวก็เป็นช่วงที่ฝั่ง road race ปิดฤดูกาลด้วย ไม่แย่งคนดูกัน
- เป็นการทำร้ายวงการเอง เพราะการห้ามไม่ให้ทีมอาชีพลงแข่ง World Cup ก็เป็นการกีดกันทั้งสปอนเซอร์ที่เข้ามาสนับสนุนวงการ และกันไม่ให้นักกีฬาที่ไม่ติดทีมชาติไม่มีพื้นที่พัฒนาทักษะ ที่สุดท้ายทีมชาติก็มาเรียกตัวไปเข้าทีมได้ เหมือนที่ทีม Huub Wattbike ปั้นส่งไปหนึ่งคน
- เป็นการดึงเอาแฟนๆ ออกจากวงการ เพราะแฟนจักรยานจำนวนมากก็ติดตามทีมอาชีพ (ผมก็หันมาดูสนามลู่เพราะทีม Underdog อย่าง Huub Wattbike เหมือนกัน)
หลายคนคาดเดาว่า UCI ออกกฏเปลี่ยนแบบนี้ก็เพราะสมาคมจักรยานจากหลายๆ ประเทศรับไม่ได้ที่โดนทีมอาชีพปาดหน้าเค้ก แย่งผลงาน ซึ่งก็คงจะเสียหน้าไม่น้อยเมื่อทีมอาชีพที่งบทำทีมกระจ้อยร้อย แต่กลับเอาชนะทีมชาติได้แบบขาดลอย (ซึ่งถ้าไปเช็คดูสถิติเวลาของทีม Huub Wattbike นั้นทำเวลาดีกว่าทีมชาติอื่นๆ อยู่มาก)
ตอนนี้เรื่องราวจบเท่านี้ เพราะเมื่อ UCI ออกกฏแล้วทีมอาชีพก็คงไม่มีสิทธิมีเสียงอะไรจะไปสู้ ทีมอาชีพลู่ได้แต่ประท้วงว่า UCI ไม่ปรึกษาผู้มีส่วนร่วมก่อนจะออกกฏใหม่และไม่มีการแจ้งล่วงหน้า และไม่มีคำอธิบายที่ดีพอสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
ผมเห็นด้วยกับทีมอาชีพว่าการเปลี่ยนรูปแบบการแข่งแบบนี้ทำให้สีสันการแข่งลู่ World Cup จืดชืดลงเยอะ ต่อให้ไม่เอาทีมอาชีพมาแข่ง แต่การเลื่อนปฏิทินมาชนกับสนามจักรยานถนนอย่างแกรนด์ทัวร์เช่น Tour de France นี่ก็เป็นการฆ่าตัวตายกลางอากาศ เพราะแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้ชมจะเลือกดูสนามลู่มากกว่าสนาม road race ที่ใหญ่ที่สุดในรอบปี
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้หมายความว่าทีมอาชีพลู่อย่าง HUUB Wattbike จะไม่มีสนามใหญ่ให้ลงแข่งอีกต่อไป เหลือที่ลงได้ก็แค่สนามชิงแชมป์ประเทศและการทำลายสถิติโลกต่างๆ ซึ่งก็อาจจะทำให้สปอนเซอร์เลือกถอนตัวไม่สนับสนุนทีมต่อด้วย แดนกล่าวว่า:
“เรารู้ว่าเราน่าจะทำลายสถิติโลกได้ ถ้าเราไปที่สูงอย่างเม็กซิโก ที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 2,000 กว่าเมตร ความกดอากาศต่ำ มันน่าจะทำให้การทำลายสถิติง่ายขึ้น ที่ระยะทางเท่ากันเราน่าจะไปได้กว่าบนที่ระดับน้ำทะเล 6-8 วินาที แล้วไม่ใช่แค่สถิติ team pursuit นะ แต่เราจะลองสถิติอย่าง invididual pursuit และ hour record ด้วย เราลองคำนวนศักยภาพร่างกายเราและสร้างโมเดลจำลองในคอมพิวเตอร์แล้ว มันเป็นไปได้แน่นอนครับ”
“ถึงเราจะไปแข่งโอลิมปิกไม่ได้หรือลง World Cup แต่ถ้าเราทำลายสถิติโลกพวกนี้ได้ ชื่อเราก็จะถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์จักรยานครับ มันโคตรเท่ห์เลยล่ะผมว่า”
* * *
ถ้าใครสนใจเรื่องราวของทีม HUUB Wattbike มากกว่านี้ลองไปดูสารคดีของทีมและบทสัมภาษณ์จาก GCN ได้ในวิดีโอข้างล่างนี้
* * *
อ้างอิง
Hubb Wattbike Official Website
Cyclingnews: Huub-Wattbike and Beat teams hit back at radical UCI track reforms
Cyclingweekly: Huub-Wattbike set individual pursuit track record at sea level
Wattbike: A new era for the world beaters
Derbyshire Life: Derby cycling team HUUB Wattbike on the bid for world records
The Book of Man: The Cycling Underdogs Transforming the sport