ตัวตน เหตุผล และความรู้สึก

เราสามารถแยกตัวตนของเราออกจากของที่เราใช้ได้หรือเปล่า?

เป็นธรรมดาที่เรามักมีความต้องการที่จะสะท้อนตัวตนบางอย่างในวัตถุที่เราเป็นเจ้าของ

เริ่มจากเรื่องง่ายๆ อย่างมันมีสีที่เราชอบ รูปลักษณ์ถูกใจ หรือมีคนแนะนำมาว่ามันเป็นของที่ดีสมควรแก่การจ่ายเงิน หรือเป็นของที่เพื่อนส่วนมากของเราใช้ และเราก็อยากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนั้น

ถ้าเป็นอุปกรณ์กีฬามันก็อาจจะเป็นวัตถุที่ทีมโปรดของเราใช้ หรือเป็นอะไรที่ช่วยให้ทีมนั้นได้แชมป์

เมื่อมีความรู้สึกและเหตุผลเข้ามาเกี่ยวข้อง ราคาเริ่มเป็นปัจจัยน้อยลงเรื่อยๆ เราเลือกที่จะย้อมความคิดและการตัดสินใจด้วยความเชื่อและชื่นชอบเหล่านี้ ยิ่งถ้าเราแฝงความอยากที่จะให้วัตถุมันสะท้อนตัวตนเรา เรายิ่งใส่ใจมูลค่าของมันน้อยลง

จะถูกหรือจะแพงไม่ใช่สาระสำคัญ แต่มันให้ความเป็นตัวตนอะไรกับเราได้บ้าง นั่นอาจจะสำคัญกว่า
ไม่มีเหตุผลไหนผิดหรือถูก

ผมเริ่มซื้อจักรยานจากเหตุผลเหมือนทุกๆ คนที่เริ่มเข้ามาเล่นกีฬานี้ คือหารถที่ดีพอสมควรและราคาไม่แพงมาก และแน่นอนว่ามันต้องสะท้อนตัวตนบางอย่าง ตัวตนนั้นของผมคือความหลงไหลในการแข่งจักรยานอาชีพ สุดท้ายมันก็ออกมาเป็นเสือหมอบคันหนึ่งที่โปรทีมใช้ ถึงจะไม่ใช่รุ่นที่ดีที่สุดก็ตาม

ตัวตน (identity) นั้นยังคงแทรกอยู่ในการตัดสินใจเสมอทุกครั้งที่เปลี่ยนรถใหม่ แต่เมื่อมีโอกาสได้ปั่นจักรยานหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ตัวตนนั้นเริ่มจางหายไป ความผูกพันธ์กับยี่ห้อหรือนักกีฬาที่เราชื่นชอบที่ใช้วัตถุชิ้นนี้ก็จางลงไปด้วย เริ่มเกิดความคิดที่ว่าไม่จำเป็นที่ต้องเชื่อมโยงตัวเองกับของชิ้นนั้นหรือยี่ห้อนี้ ประสิทธิภาพประมาณนี้

ชิ้นส่วนจักรยานถูกลดสภาพและความสำคัญเหลือเพียงความเป็นวัตถุชิ้นหนึ่ง

ในมุมหนึ่งมันก็เป็นความรู้สึกที่เป็นอิสระมาก เพราะการตามหาจอกศักดิ์สิทธิ์ของผมได้จบลงแล้ว แต่ขณะเดียวกันมันก็ลดทอนความรู้สึกของเราต่อกิจกรรมนี้ไปด้วย สิ่งที่ตามมาคือความเบื่อหน่าย

ในฐานะคนที่เขียนและพูดถึงเทคโนโลยีจักรยานมา 7 ปี ผมเริ่มเห็นวัฏจักรของมัน ในโลกแห่งเทคโนโลยีที่ทุกตารางเซนติเมตรของเฟรมจักรยานถูกออกแบบด้วยซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ จักรยานที่ดีที่สุดจะดีที่สุดได้แค่ช่วงเวลาเดียว ก่อนที่จะถูกแซงด้วยเทคโนโลยีที่ใหม่กว่า เช่นเดียวกับโทรศัพท์มือถือที่ตกรุ่นทุกปี มันคือธรรมชาติของนวัตกรรม

แต่แน่นอนว่าไม่จำเป็นที่เราจะต้องมีสิ่งที่ใหม่ล่าสุดตลอดเวลา ชิ้นส่วนจักรยานเมื่อสิบปีที่แล้วไม่ได้แย่ไปกว่าชิ้นส่วนจักรยานของปีนี้สิบเท่า

เมื่อประสิทธิภาพไม่ใช่สิ่งที่จีรังและยึดติดไม่ได้ และเมื่อไม่มีตัวตนที่เรายัดเยียดให้อุปกรณ์เหล่านี้เพื่อสร้างความชอบธรรมในการซื้อ แล้วอะไรที่จะทำให้เราสนุกกับวัตถุที่ประกอบขึ้นมาเป็นจักรยานเหล่านี้ได้อีก?
ข้อสรุปที่ผมหาเจอให้ตัวเองก็คือ ความรู้สึก ไม่ใช่เหตุผล

ถ้าจักรยาน หรือชิ้นส่วนจักรยานมันทำให้เกิดความรู้สึกที่อยากจะออกไปปั่น มันก็เป็นมาตรวัดที่ดีพอแล้ว ไม่สำคัญว่าจะยี่ห้ออะไร ขี่ดีขนาดไหน (แต่ก็ต้องดีพอสมควรนะ 😂) ราคาเท่าไร หรือใคร จะใช้บ้าง ไม่ต้องมีตัวตนที่เราอยากจะยัดเยียดมันเข้าไปในนั้น

ถ้ามันทำให้เรารู้สึกอยากออกไปปั่นมากขึ้นก็ดีพอแล้ว

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!