มาต่อกันกับสัมภาษณ์ทีมงาน GCN ตอนที่ 2 ครับ พาร์ทนี้จะเป็นคำถามเกี่ยวกับการแข่งของมืออาชีพล้วนๆ ใครอยากรู้เรื่องวิถีโปรและชีวิตการแข่งไม่ควรพลาดครับ!
DT: อยากทราบว่าทำไมนักปั่นอาชีพถึงพักฟื้นได้เร็วและแข่งวันละหลายร้อยกิโลเมตรต่อกันได้เป็นอาทิตย์ๆ อย่างใน Tour de France หรือ Giro? คุณรู้สึกเหนื่อยล้าแค่ไหนในสัปดาห์สุดท้ายของแกรนด์ทัวร์?
Dan: ศาสตร์แห่งการพักฟื้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆ ครับ โดยปรกติแล้วระหว่างที่เราฝึกซ้อม มันยากมากที่จะซ้อมหนักๆ ให้ได้ต่อกันหลายวัน (Dan บอกว่าอย่างมากก็ได้แค่ 3 วันแล้วต้องพักเต็มที่ 1 วัน) แต่ในการแข่งขันเราแข่งต่อกันได้ทุกวันในสภาพร่างกายที่ค่อนข้างพร้อมก็เพราะว่าระหว่างการแข่งคุณไม่ต้องทำอะไรเลยนอกจากปั่นจักรยานอย่างเดียว นักปั่นมีทั้งหมอนวด มีอาหารดีๆ เสิร์ฟทุกมื้อ ผมคิดว่าตัวช่วยพวกนี้ทำให้เราพักฟื้นได้ไวมาก
แต่การแข่งระดับแกรนด์ทัวร์ก็เป็นความยากเพิ่มขึ้นไปอีกหนึ่งเลเวลเมื่อเทียบกับสนามแข่งแบบอาทิตย์เดียวจบ แข่งสนามแกรนด์ทัวร์ได้สัก 8 วันเราก็กรอบเต็มที่แล้ว คือไม่สามารถเหนื่อยล้าไปได้มากกว่านี้อีกแล้ว ชีวิตนี้ผมได้แข่งแกรนด์ทัวร์แค่ 3 สนามเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าปั่นไม่ไหวในอาทิตย์สุดท้าย แน่นอนว่าเวลาเริ่มออกตัวที่จุดสตาร์ทมันจะรู้สึกเหนื่อยมากๆ ไม่อยากจะแข่งต่อ แต่พอปั่นไปได้สัก 30 นาทีคุณก็ลืมความเหนื่อยไปแล้ว บางครั้งยิ่งรู้สึกแกร่งกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ (DT Note: เป็นธรรมดาที่นักปั่นจะฟอร์มดีขึ้นเรื่อยๆ ในการแข่ง ลองดู Joaquim Rodriguez เป็นตัวอย่างครับ เขาไต่อันดับใน Tour de France ปีนี้จาก week แรกไม่ติด Top 20 พอถึงวันสุดท้ายเขาคว้าที่ 3 ของรายการซะงั้น)
DT: ไม่มีนักปั่นคนไหนที่ไม่อยากได้รับคัดเลือกให้ลงแข่ง Tour de France ผมอยากรู้ว่าแล้วมืออาชีพรู้สึกยังไงกับ Giro และ Vuelta? ถ้าเลือกได้คุณอยากจะแข่ง Tour de France มากกว่ารายการอื่นๆ หรือเปล่า? ผมเห็นว่าหลายๆ ทีมส่งทีม ‘B’ หรือนักปั่นหน้าใหม่ไปลง Vuelta เพื่อเก็บประสบการณ์ ไม่เอาตัวเต็งของทีมลง ซึ่งในมุมหนึ่งมันแปลว่า Vuelta/ Giro ไม่สำคัญเท่า Tour คุณอยากให้ทั้งสามรายการมี “ศักดิ์ศรี” เท่ากันหรือเปล่า?
Dan: เรื่องนี้มันขึ้นอยู่กับระดับความสามารถของนักปั่นครับ ถ้าคุณยังไม่เคยปั่นรายการแกรนด์ทัวร์เลย คุณน่าจะเริ่มจาก Giro และ Vuelta โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเป็นนักปั่นชาวสเปนหรืออิตาลี (สนามประจำบ้าน) แต่ถ้าคุณฝีเท้าดี ชัยชนะสเตจใน Tour มักจะมีค่า (ทั้งทางชื่อเสียงและผลงาน) มากกว่าเสมอ ซึ่งทำให้นักปั่นเก่งๆ ทุกคนอยากลง Tour กันหมด
ถ้าถามว่าผมอยากให้มันมีศักดิ์ศรีเท่ากันทั้งสามรายการหรือเปล่า? ก็ไม่รู้สิ ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้นักปั่น ทีม โค้ช สื่อ และผู้ชมตื่นเต้นกับการแข่งได้ 3 ครั้งต่อปี! มันต้องมีอะไรที่เด่นที่สุดสักรายการนึง ผมคิดว่า Giro ได้เปรียบกว่าเพื่อนเพราะเป็นรายการ Grand Tour สนามแรกของปี เรตติ้งเลยดีมากๆ เพราะทั้งแฟนและนักปั่นรอที่จะได้ลงสนามใหญ่ครับ แถมในอิตาลีวิวสวย อาหารก็เยี่ยม เส้นทางก็น่าปั่นสุดๆ
DT: แฟนๆ กองเชียร์ข้างทางนั้นสำคัญขนาดไหน? มันทำให้นักปั่นแกร่งขึ้นและอยากจะเอาชนะมากขึ้นหรือเปล่า?
Dan: สำหรับผมมันมีผลมากนะ ประสบการณ์ที่ปั่นทะลุฝูงคนดูและเสียงเชียร์อื้ออึงฝกลบเสียงอื่นๆ ไปหมดนั้นมันเป็นประสบการณ์ที่ยากจะลืมครับ
DT: โปรเขาดูแลความสัมพันธ์กับเพื่อนและครอบครัวยังไงครับ? ในหนึ่งปีเขาแทบไม่ได้อยู่บ้านเลย
Dan: นักปั่นส่วนใหญ่ทุ่มชีวิตให้กับการแข่งจักรยานก่อนที่จะมีครอบครัวอยู่แล้ว เพราะงั้นทั้งแฟนและตัวเขาเองก็พอจะทราบดีว่าความสัมพันธ์มันจะไม่เหมือนคู่อื่นครับ แน่นอนเวลาฤดูกาลจบ คุณไม่มีแข่ง คุณก็มีเวลาอยู่บ้านด้วยกันทั้งวัน ต่างกับคู่อื่นที่เขาต้องไปทำงาน 9 โมงเช้ายัน 5 โมงเย็น
DT: อยากรู้ว่านักปั่นคุยอะไรกันบ้างระหว่างการแข่ง?
Dan: ทุกเรื่อง! เวลาแข่งมันมีช่วงที่ “น่าเบื่อ” ที่เราไม่ได้ซัดกันเต็มที่หรือปล่อยให้เบรคอเวย์หนีไปค่อนข้างเยอะนะครับ ถ้าคุณเจอเพื่อนสนิทอยู่ข้างๆ เราก็คุยกันได้เป็นชั่วโมงๆ ถ้าเจอคนไม่สนิทหรือคู่แข่งก็อาจจะถามว่าสนามนี้เป็นยังไง เกิดอะไรขึ้นในช่วงต้นรายการเป็นต้น
DT: จักรยานตัวท๊อปที่โปรใช้กันนั้นมันต่างกันมากมั้ยครับ? ถ้าคุณไม่ติดสัญญาสปอนเซอร์คุณเคยมีความคิดที่ว่าอยากจะปั่นของยี่ห้ออื่นเพราะมันดีกว่าบ้างหรือเปล่า?
Dan: สมัยนี้ก็ไม่เลยครับ เฟรมดีๆ ตัวท๊อปนั้นประสิทธิภาพใกล้เคียงกันมากๆ ผมไม่เคยรู้สึกเสียเปรียบเพราะจักรยานที่ใช้อยู่เลย และยิ่งตอนผมอยู่กับทีม Cervelo ผมคิดว่าเราได้เปรียบด้วยซ้ำ ในอดีต นักปั่นบางคนยอมผิดสัญญาสปอนเซอร์ไปใช้ของค่ายอื่น แต่สมัยนี้มันไม่จำเป็นแล้วครับ ทั้งเฟรม ทั้งกรุ๊ปเซ็ตมีมาตรฐานดีเทียบเท่ากันหมด และกฏน้ำหนักจักรยานขั้นต่ำ 6.8 กิโลกรัมที่ UCI ตั้งไว้ก็ช่วยทำให้เราแข่งกันได้อย่างเท่าเทียม ไม่ต้องกังวลว่าคู่แข่งจะได้เปรียบเราเรื่องน้ำหนัก
“เฟรมดีๆ ตัวท๊อปนั้นประสิทธิภาพใกล้เคียงกันมากๆ ผมไม่เคยรู้สึกเสียเปรียบเพราะจักรยานที่ใช้อยู่เลย”
DT: ทำไมโดเมสติกเขาพักฟื้นได้ไวมากๆ เลยโดยเฉพาะในสเตจภูเขาที่บางทีต้องลงไปแบกขวดน้ำจากรถทีมเซอร์วิสหลังขบวนแล้วเร่งขึ้นมาแจกให้เพื่อนร่วมทีมที่อยู่หน้า peloton ได้?
Dan: ผมก็ไม่รู้ว่าทำกันได้ยังไง รู้แต่ว่าจำเป็นต้องทำ! (I don’t know how you do it, but you just have to!) แน่นอนว่าคุณต้องคอยคำนวนแรงให้เหลือพอที่จะเข้าเส้นชัยทันเวลา นักปั่นบางคนก็ฟื้นตัวได้ไวกว่าคนอื่น บางครั้งในสเตจภูเขาผมรู้สึกเหนื่อยอยากจะจอดลงไปนอนเลย จนเจอคู่แข่งทีมอื่น (Euskatel) แซงแว้บขึ้นไปพร้อมขวดน้ำอัดอยู่เต็มหลัง! บางคนก็จอดฉี่เฉยเลย ไม่กลัวว่าจะตามไม่ทัน! เจออะไรแบบนี้บางทีเราก็หน้าซีดถอดใจครับ มันเอาแรงมาจากไหนกัน….
DT: เวลาหมดฤดูกาลนักปั่นเขาทำอะไรกันบ้างครับ? คุณออกซ้อมหรือเปล่า? ผมอ่านในหนังสือ Inside Team Sky เห็นบอกว่าพอถึงเดือนพฤศจิกายนก็เริ่มเข้าค่ายเก็บตัวกันแล้ว!? ไม่พักกันเลยหรือ (ฤดูกาลแข่งเริ่มจากเดือนมกราคม-สิ้นเดือนกันยายน)
Dan: สมัยนี้นักปั่นไม่ค่อยพักช่วงปิดฤดูกาลกันแล้วครับ ผมเองก็เหมือนกัน ช่วงที่ผมแข่งจบฤดูกาลแล้วผมไม่เคยได้พักเกิน 3 อาทิตย์ แต่ก็มีนักปั่นบางคนที่ไม่ซ้อมเลยจนถึงเดือนมกรานะ อย่าง David Millar (Garmin-Sharp) ไม่ซ้อมช่วงหน้าหนาวเลยแต่ก็ฟอร์มดีตั้งแต่ต้นปี! แต่ผมคิดว่า Millar จะฟอร์มดีกว่านี้ถ้าเขาขยันกว่านี้ เรื่องของเรื่องคือแกเป็นนักปั่นฝีมือดีมาก ถึงไม่ได้ซ้อมก็ยังฟอร์มดีครับ
DT: ขอบคุณ GCN ที่แบ่งเวลามาช่วยตอบคำถามแฟนๆ ครับ!
Dan: ขอบคุณ Ducking Tiger ที่ช่วยแชร์วิดีโอจากทาง GCN เช่นกันครับ :)
Like it, thanks so much for this great interview!
! บางคนก็จอดฉี่เฉยเลย ไม่กลัวว่าจะตามไม่ทัน! ไม่คิดว่า พี่Dan จะมีอาการแบบผมนะเวลาแข่งเห็นคนอื่นเขาใจเย็นมาก ทำให้ใจเสียเหมือนกันทั้งๆที่เราจะไม่ไหวแล้ว 55 …♪
เยี่ยมเลยครับ
ขออนุญาตแชร์ไปที่แม็กกาซีนออนไลน์ thaibikemag.com นะครับ