ปั่นจักรยานมากไปเสี่ยงเป็นโรคหัวใจหรือเปล่า

1. ได้มากกว่าเสีย

ก่อนอื่นต้องขออธิบายก่อนว่าบทความนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์ต่อต้านการออกกำลังกายแต่อย่างใด ฟิตดีกว่าไม่ฟิตแน่นอน แต่ประโยชน์ในแง่สุขภาพของการพัฒนาต่อจากฟิตเป็นฟิตมากกลับไม่ได้เพิ่มเป็นสัดส่วนเดียวกัน

ยกตัวอย่างเช่นถ้าวิ่งจ๊อกกิ้งสัปดาห์ละ 6 ชม. ลดความเสี่ยงเบาหวานได้ 2 เท่า (สมมุติ) เทียบกับไม่ออกกำลังอะไรเลย การวิ่งเพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 12 ชม. อาจลดได้ 2.5 เท่า (สมมุติ) เท่านั้น แต่กลับเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นข้อเข่าเสื่อม 1.5 เท่ามาด้วย เป็นต้น

ทุกอย่างในโลกนี้มากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ดี การออกกำลังกายก็เช่นกัน ทุกท่านคงทราบกันดีว่าการใช้ชีวิตแบบนั่ง ๆ นอน ๆ ดูทีวี จมปลักหน้าคอม และไม่ออกกำลังกาย (sedentary lifestyle) เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ทั้งเบาหวาน ความดัน ไขมัน โรคหัวใจ ฯลฯ แต่วันนี้เราจะมาพูดข้อเสียของการเสพติดการออกกำลังกายกันบ้าง ซึ่งเป็นมุมกลับที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึง

อาจฟังดูย้อนแย้งที่เราต่างออกกำลังกายให้ตัวเองแข็งแรง ห่างไกลโรคภัยต่าง ๆ แต่การออกกำลังกายประเภทเอนดิวรานซ์มาก ๆ กลับเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดที่เรียกว่า atrial fibrillation หรือ AF

ความจริงที่น่าตกใจนี้กระแทกผมเข้าอย่างจังเมื่อแฟนเล่าว่าคุณพ่อไปตรวจสุขภาพแล้วพบว่าเป็น AF ทั้งที่ท่านเพิ่งอายุ 60 ต้น ๆ และเป็นนักวิ่งตัวยง ท่านวิ่งวันละประมาณ 10 กิโลเมตร เดือนละ 15-20 วันมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ความฟิตระดับนี้มากกว่าคนหนุ่ม ๆ บางคนเสียอีก ฟังดูแล้วไม่น่าเป็นไปได้ที่จะเป็นโรคหัวใจใช่ไหมครับ

แต่ความจริงแล้ว นี่เป็นคลาสสิคเคสของนักกีฬาเอนดิวรานซ์ตั้งแต่ระดับมือสมัครเล่นไปจนมืออาชีพครับ คือแข็งแรงดี ไม่มีโรคภัยใด ๆ จนวันหนึ่งพบโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพว่าเป็น AF และมักพบในผู้ใหญ่วัย 50-60 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ เมื่อไม่ถึงปีที่ผ่านมา โยฮัน แวนซุมเมอเรน (Ag2r-La Mondiale) และ จิอานนี เมียรส์แมน (Etixx-QuickStep) ก็ต้องรีไทร์จากวงการแข่งขันเพราะหัวใจเต้นผิดจังหวะเช่นกัน (ในข่าวไม่ได้เจาะจงว่าเป็นหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดใด) ถึงแม้ว่าทั้งคู่จะไม่ได้อายุ 50-60 ปีก็ตาม

Gianni Meersman สวมเสื้อผู้นำในการแข่ง Volta ao Algarve ปี 2015

2. โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะคืออะไรกันแน่ ?

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมีหลายชนิด ชนิดที่พบบ่อยที่สุดเรียกว่า AF และเป็นชนิดที่สัมพันธ์กับกีฬาเอนดิวรานซ์ด้วย เท่าที่ทราบไม่มีชื่อภาษาไทยถูกบัญญัติไว้อย่างเป็นทางการ และเป็นโรคของผู้สูงอายุเป็นหลัก อุบัติการณ์ในประเทศสวีเดนอยู่ที่ 0.6% ในกลุ่ม <60 ปี เพิ่มเป็น 4.2% ในกลุ่ม 60-69 ปี และเพิ่มเป็นถึง 13.4% ในกลุ่ม 80-89 ปี (1) สำหรับประเทศไทยมีการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (2) รายงานไว้ที่ 1.5%, 2.2% และ 2.8% ในกลุ่มอายุ 65-74 ปี, 75-84 ปี, และ >85 ปี ตามลำดับ

ภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อการนำไฟฟ้าของหัวใจห้องบนทำงานผิดปรกติ แทนที่จะสร้างกระแสไฟ 60-100 ครั้ง/นาทีด้วยความถี่สม่ำเสมออย่างคนปรกติ กลับมีกระแสไฟออกมามากกว่า 350 ครั้ง/นาทีอย่างสะเปะสะปะและไม่สม่ำเสมอ

เปรียบเทียบลักษณะคลื่นไฟฟ้าหัวใจระหว่างคนปรกติกับ AF

 

ปัญหาของ AF เกิดขึ้นเพราะการนำไฟฟ้าที่ไม่สม่ำเสมอและถี่เกินไปนี้ไม่สามารถกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบได้อย่างมีประสิทธิภาพ แทนที่จะบีบสุดคลายสุดเป็นจังหวะสม่ำเสมอก็กลายเป็น “เต้นพลิ้ว” แทน ซึ่งการเต้นพลิ้วนำไปสู่การสูบฉีดเลือดที่ไม่มีประสิทธิภาพไปด้วย ในผู้ป่วยบางรายความผิดปรกตินี้อาจไม่ทำให้เกิดอาการใด ๆ แต่ในรายที่เป็นมากอาจรู้สึกใจสั่น เหนื่อยง่ายขึ้น ออกแรงเล่นกีฬาหรือทำกิจวัตรได้ไม่เท่าแต่ก่อน

นอกจากนั้นปั๊มน้ำที่บีบเบาบ้างแรงบ้างนี้ก็ยังทำให้มีเลือดคงค้างในห้องหัวใจ และนานไปก็อาจกลายเป็นลิ่มเลือดเหมือนสารแขวนลอยที่ตกตะกอนเมื่อถูกตั้งทิ้งไว้ได้ ลิ่มเลือดนี้วันดีคืนร้ายอาจหลุดออกจากหัวใจ วิ่งไปตามเส้นเลือด และไปอุดหลอดเลือดสมองหรือที่อื่น ๆ นับเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายที่สุดของ AF

 

3. คนเล่นกีฬาเสี่ยงจริงหรือ ?

มีการศึกษาจำนวนไม่น้อยที่พยายามหาคำตอบเรื่องนี้ จนปัจจุบันได้คำตอบแล้วว่ากลุ่มคนที่เล่นกีฬาเอนดิวรานซ์จะพบ AF ได้มากกว่าคนอายุเดียวกันที่ไม่เล่น แม้ว่าแต่ละการศึกษาจะรายงานอุบัติการณ์ต่างกันขึ้นกับการออกแบบการศึกษา แต่ก็สรุปได้ง่าย ๆ ว่าพบบ่อยกว่าจริง

ในงานวิจัยที่ออกแบบมาดีมากงานหนึ่ง (=ผลลัพธ์น่าเชื่อถือ) จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอุปซาลาในประเทศสวีเดน (3) ที่ทำการศึกษาจากผู้เข้าแข่งขันสกีครอสคันทรีรายการหนึ่งซึ่งมีระยะทาง 90 กม. พบว่าในกลุ่มที่แข่งจบอีเวนต์ 5 ครั้งหรือมากกว่า มีโอกาสเป็น AF มากกว่ากลุ่มที่แข่งจบอีเวนต์ 1 ครั้งอยู่ 29% เนื่องจากรายการแข่งขันนี้จัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง กลุ่มที่แข่งจนเข้าเส้นได้ 5 ครั้งหรือมากกว่าจึงเป็นตัวแทนของคนที่ทั้งฟิตพอสมควรและเล่นกีฬาเอนดิวรานซ์ต่อเนื่องเป็นเวลานานได้ดี

สำหรับงานวิจัยที่ศึกษาดูประเด็นนี้ในจักรยานถนนโดยตรงมีหนึ่งงานและโชคดีที่ก็ออกแบบมาดีเช่นกัน งานวิจัยนี้มาจากศูนย์วิจัยหัวใจและหลอดเลือดซูริกในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (4) โดยนำนักปั่นมืออาชีพที่รีไทร์แล้วและเคยลงแข่ง Tour de Suisse อย่างน้อย 1 ครั้ง จำนวน 62 คนมาเทียบกับนักกอล์ฟมือสมัครเล่นจำนวนเท่ากัน และพบว่าในกลุ่มนักปั่นมืออาชีพมีคนเป็น AF ถึง 6 คน เทียบกับ 0 คนในกลุ่มนักกอล์ฟมือสมัครเล่น

 

4. ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ?

ปัจจุบันยังไม่มีใครทราบสาเหตุแน่ชัดว่าอะไรทำให้นักกีฬาเอนดิวรานซ์เป็น AF มากกว่าประชากรทั่วไป สิ่งที่ทราบแน่ ๆ ก็คือนักกีฬาประเภทนี้ที่ซ้อมมาเป็นเวลานานมักมีหัวใจที่โตกว่า สามารถสูบฉีดเลือดได้มากกว่าต่อการบีบหนึ่งครั้ง และมักมีอัตราการเต้นของหัวใจที่ต่ำกว่า เรียกรวม ๆ ว่า athlete’s heart หรือหัวใจนักกีฬา

งานวิจัยส่วนใหญ่ที่มีก็มักจะเชื่อมโยง athlete’s heart นี้กับ AF ด้วยกลไกทางชีววิทยาและสรีรวิทยาต่าง ๆ เช่นการอักเสบและการเกิดพังผืด (5) หรือสัญญาณประสาทอัตโนวัติ (autonomic impulse) ที่เปลี่ยนไป (6) แต่ทั้งหมดทั้งปวงในตอนนี้ก็ยังเป็นทฤษฎีอยู่

5. แค่ไหนถึงเรียกว่ามากไป แค่ไหนถึงเรียกว่าน้อยไป ?

ในเมื่อประโยชน์ด้านสุขภาพมีมากที่สุดเมื่อออกกำลังอย่าง “พอดี” จึงต้องมีคำถามต่อมาว่า แค่ไหนถึงจะพอดีพอเหมาะ สำหรับปริมาณที่เริ่มได้ประโยชน์นั้นเป็นที่ยอมรับและใช้กันกว้างขวาง คือออกกำลังกายระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรือออกกำลังกายแบบแอโรบิกระดับหนักอย่างน้อย 75 นาที/สัปดาห์

แต่สำหรับปริมาณที่ประโยชน์เริ่มหายไปนั้นมีการศึกษาเล็ก ๆ จากหน่วยวิจัยไขมัน หัวใจ และหลอดเลือดจากบาร์เซโลน่าในประเทศสเปน (7) บอกว่า AF เริ่มกลับมาเป็นมากขึ้นเมื่อออกกำลังกายชนิดหนักสะสม 1,500 ชม.ขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ถึงการศึกษานี้จะเป็นงานเดียวที่ฟันธงตัวเลขเป็นชั่วโมงออกมา แต่ก็ยังมีขนาดเล็กและน้ำหนักไม่แน่นเท่าไรนัก จึงเห็นว่าในอนาคตตัวเลขนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้และควรฟังหูไว้หูไปก่อน

ในปัจจุบันเราเชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างการออกกำลังกายกับสุขภาพหัวใจเป็นรูปตัว U (8)

6. จะรู้ได้อย่างไรว่าหัวใจเต้นผิดปกติ ?

AF เป็นภาวะที่วินิจฉัยได้ด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG หรือ EKG) อย่างไรก็ตามต้องพึงระลึกไว้ว่า AF ในนักกีฬามักมีลักษณะเฉพาะคือเป็นชนิดที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราวแล้วก็หายไป (paroxysmal) และมักเป็นหลังอาหารหรือเวลานอนและก่อนนอน (vagal mediated) (9) ดังนั้นจึงอาจตรวจไม่พบตอนไปโรงพยาบาลก็ได้ ในกรณีนี้อาจใช้เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดพกพา (Holter ECG) ติดตัวกลับมาซึ่งสามารถบันทึกคลื่นไฟฟ้าได้ต่อเนื่องตลอดวัน ขึ้นกับดุลยพินิจและการวินิจฉัยแยกโรคของแพทย์

อย่างไรก็ตามหากรู้สึกเหนื่อยง่ายขึ้น หายใจไม่ทัน วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม หรือแน่นหน้าอกระหว่างปั่นจักรยานทั้ง ๆ ที่แต่ก่อนไม่เคยมีปัญหา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมทันที และอย่าลืมแจ้งแพทย์ผู้รักษาว่าเล่นกีฬาเอนดิวรานซ์เป็นประจำ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่สำคัญและจะนำไปสู่การตรวจและรักษาที่แม่นยำถูกต้องต่อไป

 

7. ฟังดูน่ากลัวนะ…

ข้อมูลที่เสนอมาจนถึงจุดนี้อาจฟังดูน่ากลัว แต่สุดท้ายหัวใจเต้นผิดจังหวะก็เป็นแค่โรคโรคเดียวเท่านั้น ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 30% ของโรคนี้จากการเล่นกีฬาเอนดิวรานซ์มาพร้อมกับการลดความเสี่ยงของโรคอื่น ๆ อีกหลายโรค โรคละหลายเปอร์เซนต์ เมื่อมองภาพกว้างแล้ว การออกกำลังกายก็มีประโยชน์กว่าไม่ออกอยู่ดี การศึกษาต่าง ๆ ที่วัดอัตราการตายจากทุกสาเหตุ (=การมองภาพกว้างในทางการแพทย์ ว่าภาวะนั้นเพิ่ม ภาวะนี้ลด สุดท้ายหักกลบลบหนี้กันแล้วเป็นอย่างไร) ก็พบว่าในกลุ่มนักกีฬาที่แม้จะเป็น AF ก็ไม่ได้มีอัตราการตายที่เพิ่มขึ้น (4) หนำซ้ำจะลดลงด้วย (10-12)

ประโยชน์ของการออกกำลังแบบเอนดิวรานซ์ต่อหัวใจจะเกิดสูงสุดเกิดเมื่อคุณเปลี่ยนจากไม่ออกกำลังเลยเป็นออกกำลังปานกลาง และมีแนวโน้มลดลงเมื่อคุณเสพติดการออกกำลัง แต่ไม่มีการศึกษาใดเลยที่พบว่ามันลดลงจนกลายเป็นโทษไปแทน บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อให้นักปั่นได้ทราบถึงความเสี่ยงของ AF ที่อาจเกิดเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ได้รู้จักโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมากขึ้น และได้รู้ว่าอะไรคือสัญญาณเตือนว่าควรไปพบแพทย์ มิใช่ให้กลัวหรือหลีกเลี่ยงการปั่นจักรยาน

Keep calm and ride on.


เอกสารอ้างอิง

1. Friberg L., Bergfeldt L. Atrial fibrillation prevalence revisited. J Intern Med. 2013 Nov;274(5):461-8

2. Phrommintikul A., Detnuntarat P., Prasertwitayakij N., Wongcharoen W. Prevalence of atrial fibrillation in Thai elderly. J Geriatr Cardiol. 2016 Mar;13(3):270-3

3. Andersen K., Farahmand B., Ahlbom A., Held C., Ljunghall S., Michaëlsson K., et al. Risk of arrhythmias in 52755 long-distance cross-country skiers: a cohort study. Eur Heart J. 2013 Dec;34(47):3624-31

4. Baldesberger S., Bauersfeld U., Candinas R., Seifert B., Zuber M., Ritter M., et al. Sinus node disease and arrhythmias in the long-term follow-up of former professional cyclists. Eur Heart J. 2008 Jan;29(1):71-8

5. O’Keefe J. H., Patil H. R., Lavie C. J., Magalski A., Vogel R. A., McCullough P. A. Potential adverse cardiovascular effects from excessive endurance exercise. Mayo Clin Proc. 2012 Jun;87(6):587-95

6. Mont L., Elosua R., Brugada J. Endurance sport practice as a risk factor for atrial fibrillation and atrial flutter. Europace. 2009 Jan;11(1):11-7

7. Elosua R., Arquer A., Mont L., Sambola A., Molina L., García-Morán E., et al., Sport practice and the risk of lone atrial fibrillation: a case-control study. Int J Cardiol. 2006 Apr 14;108(3):332-7

8. Kirchhof P., Benussi S., Kotecha D., Ahlsson A., Atar D., Casadei B., et al. 2016 ESC Guidelines for the management of atrial fibrillation developed in collaboration with EACTS. Eur Heart J. 2016 Oct 7;37(38):2893-2962

9. Turagam M. K., Velagapudi P., Kocheril A. G. Atrial fibrillation in athletes: the role of exercise. J Atr Fibrillation. 2014 Feb 28;6(5):1004

10. Schnohr P., Marott J. L., Lange P., Jensen G. B. Longevity in male and female joggers: the Copenhagen City Heart Study. Am J Epidemiol. 2013;177(7):683-9

11. Lee D. C., Pate R. R., Lavie C. J., Sui X., Church T. S., Blair S. N. Leisure-time running reduces all-cause and cardiovascular mortality risk. J Am Coll Cardiol. 2014;64(5):472-81

12. Williams P. T., Thompson P. D. Increased cardiovascular disease mortality associated with excessive exercise in heart attack survivors. Mayo Clin Proc. 2014;89(9):1187-94

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *