ประมาณสองเดือนก่อนผมได้ชุดปั่นใหม่ยี่ห้อนึงมาทดสอบ เป็นแบรนด์ที่ทุกคนคงรู้จักชื่อดีครับ โดยเฉพาะถ้าคุณติดตามการแข่งขันจักรยานอาชีพมาบ้าง เพราะแบรนด์นี้ – Katusha Sports – มันคือชื่อทีม Katusha ทีมดังจากรัสเซียที่มีโปรเก่งๆ หลายคนนั่นเอง
ก่อนจะรีวิวชุดปั่นไฮเอนด์จาก Katusha กันผมขอเล่าเรื่องทีม Katusha ให้ฟังก่อนเพราะมันเป็นอะไรมากกว่าโปรทีมเยอะครับ เกี่ยวข้องกับชุดปั่นยี่ห้อนี้โดยตรงด้วย และเชื่อว่าหลายคนไม่รู้จักแน่ๆ
The Kremlin Calling
คำว่า Katusha นี่จริงๆ แล้วเป็นชื่อเครื่องยิงขีปนาวุธหลายหัวรบของรัสเซียที่ใช้มาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองครับ! ไม่ได้เอาฮานะนี่เรื่องจริง แล้วมันเกี่ยวอะไรกับโปรทีมจักรยานด้วย? เรื่องนี้ก็มีความลึกไม่แพ้กัน Katusha นี่เป็นโปรเจ็คทีมจักรยานอาชีพของรัสเซีย (Russian Cyclign Project) ก็คล้ายๆ กับทีม Sky ของสหราชอาณาจักรนั่นหละครับ มีเป้าปั้นนักปั่นรัสเซียให้เป็นมืออาชีพในระดับสูงสุด และมีมือขวาของประธานาธิบดีรัสเซียวลาดิเมียร์ ปูติน หรือคุณอิกอร์ มาคารอฟ เจ้าของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ Itera เป็นสปอนเซอร์หลักของทีม! และมีสมาชิกบอร์ดผู้บริหารเป็นรัฐมนตรีใหญ่ในโอวาทของปูตินกันหลายคน! (จริงๆ แล้วทีม Katusha นี่ซื้อต่อมาจากทีมจักรยานทีมแรกของเสี่ยโอเล็ก ทิงคอฟ ในชื่อ Tinkov Credit System เมื่อปลายปี 2009!)
อาห์ฟังดูยังกะจะมีเงื่อนงำเหมือนทีมสปายสงครามเย็นอะไรแบบนั้น แต่จริงๆ แล้ว Katusha นั้นเป็นมากกว่าทีมจักรยานครับ เพราะเขามีธุรกิจอื่นๆ ด้วยในชื่อเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นรีสอร์ทกีฬา และล่าสุดชุดปั่นเกรดแข่งระดับโปรทีม ภายใต้ชื่อ Katusha Sports – ชุดที่เราจะรีวิวกันนี้ก็คือชุดที่นักปั่นทีม Katusha ใส่แข่งจริงนั่นหละครับ
Katusha Sports แบรนด์นี้คือใคร?
ด้วยความที่มีเงินทุนพอสมควร และอยากไม่อยากจะต้องไปจ้างแบรนด์อื่นทำเสื้อให้ทีม หุ้นส่วนคนหนึ่งของทีม Katusha ซึ่งเท่าที่ผมทราบเป็นนักกฏหมายครับ ก็ได้หันมาทำแบรนด์ชุดปั่นจักรยานของตัวเอง โดยใช้นักปั่นในทีมนั่นแหละเป็นผู้ทดลองประสิทธิภาพ เป้าหมายคือทำชุดปั่นที่ดีที่สุดที่โปรและคนธรรมดาจะใช้แข่งได้ ในสไตล์ที่เรียบง่าย คลาสสิคแต่โมเดิร์น ไม่ฉูดฉาด ลวดลายไม่รกรุงรังวุ่นวาย พูดง่ายๆ คือต้องดูดีและใช้ได้ดีจริงด้วย
ก็เลยเป็นที่มาของแบรนด์ชุดปั่น Katusha Sports ที่เปิดตัวในปี 2016 ซึ่งก่อนที่จะเปิดคอลเลคชันจำหน่ายชุดปั่นจริงเมื่อปีที่แล้วก็ให้โปรระดับโลกอย่างวาคิม โรดริเกรซ และอเล็กซ์ซานเดอร์ คริสทอฟ ลองแข่งในทุกสภาพอากาศและเส้นทาง ระหว่างทดสอบโปรในทีมก็ถูกทีมดีไซน์เนอร์เก็บรายละเอียดทุกส่วนว่าชอบชุดปั่นแบบไหน ผ้ายังไง ตัวรัดแขนรัดขาต้องกระชับเท่าไร เป้าบางหนาอย่างไรถึงจะเหมาะเวลาลงสนามจริง
งานทั้งหมดออกแบบโดยทีมครีเอทีฟที่สตูดิโอในสวิสเซอร์แลนด์ ส่วนชุดปั่นนั้นผลิตในอิตาลี โปรตุเกส และโรมาเนีย
ต่างกับแบรนด์เสื้อผ้ายุโรปหลายๆ แบรนด์ที่ outsource ให้โรงงานใหญ่อย่าง MOA Sport (Nalini) หรือ Bioracer เป็นผู้ผลิต OEM ให้ตามสเป็ค Katusha เลือกใช้ผ้าสำหรับทำชุดปั่นและออกแบบเป้า Bib shorts เอง ซึ่งผ้าที่เลือกมาใช้นั้นอ่านสเป็คแล้วก็ไฮเทคทีเดียว เดี๋ยวมาดูกันว่าใช้งานจริงเป็นยังไงครับ
The Tech: มีของดีก็ต้องโชว์
37.5 Fabric
ชุดปั่นของ Katusha โฆษณาจุดเด่นเรื่องเทคโนโลยีเนื้อผ้า “37.5” ซึ่งมันก็มีที่มาอีกนั่นหละครับ และเป็นผ้าที่น่าสนใจทีเดียว เนื้อผ้าที่ Katusha ใช้นั้นมาจากบริษัท Cocona ซึ่งผู้ก่อตั้งที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ Dr. Gregory Haggquist ได้ทดลองหาเนื้อผ้าที่ไม่เก็บกลิ่นสาบเหงื่อ ลุง Gregory ทำวิจัยจนพบว่าถ่านกัมมันต์ (activated carbon) ที่ใช้ในเครื่องกรองน้ำนี่มีประโยชน์กับชุดกีฬาด้วย แกเลยเอาถ่านกัมมันต์มาใช้เป็นตัวเคลือบเนื้อผ้ากีฬา ซึ่งผลทดลองพบว่าผ้าที่ผสมถ่านกัมมันต์ในระดับเส้นใยนั้นช่วยระบายความร้อนที่เหมาะสมที่สุดกับกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ กล่าวคือนอกจากจะช่วยระบายกำจัดกลิ่นสาบเหงื่อแล้ว ยังช่วยระบายเหงื่อออกจากเนื้อผ้าได้อย่างรวดเร็วด้วย และกลายมาเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในแบรนด์ชุดกีฬาอย่าง Adidas, Salomon, Mavic, Under Armour, The North Face และ Pearl Izumi
แนวคิดของของบริษัทนี้คือ มนุษย์จะทำงานได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่ออุณหภูมิร่างกายอยู่คงที่ๆ 37.5 องศา เสื้อผ้าที่เราใส่นั้นมีผลต่ออุณหภูมิร่างกายเราโดยตรงและเขาเชื่อว่าเนื้อผ้า 37.5 นั้นช่วยระบายและกักเก็บความร้อนให้ร่างกายเราอยู่ที่ 37.5 องศาได้ดีกว่าผ้าอื่นๆ ครับ
เขาใช้วิธีเคลือบอนุภาค 37.5 ในระดับเส้นใย ซึ่งเจ้าอนุภาค 37.5 นี้มีหน้าที่
- จับความชื้นและไอเหงื่อจากร่างกายของเรา ซึ่งมันทำได้เร็วกว่าเนื้อผ้าประเภทอื่นๆ
- เพิ่มปริมาณพื้นผิวหน้าสัมผัสให้เนื้อผ้า ซึ่งช่วยให้ดูดความชื้นได้เร็วขึ้นกว่าปกติ
- ดูดรังสี Infrared ที่ร่างกายเราผลิตออกมาเพื่อเร่งให้เกิดการระเหยของน้ำให้เร็วขึ้น
ผลที่ได้คือชุดที่แห้งไวมาก เขาโฆษณาว่าอากาศยิ่งร้อนเท่าไรเนื้อผ้าของเขายิ่งระบายความร้อนได้ไวเท่านั้น ไวกว่าเนื้อผ้าของคู่แข่ง 5 เท่าอีกจุดเด่นก็คือสารที่ใช้ทำ 37.5 นั้นมาจากธรรมชาติทั้งหมด (คาร์บอนจากมะพร้าว) ซึ่งก็ช่วยให้ไม่ระคายผิวสำหรับคนแพ้ง่าย และอนุภาคดังกล่าวฝังอยู่ในตัวเส้นใยผ้าเลยเพราะงั้นซักเท่าไรก็จะไม่หลุดออกครับ
Cutting and Safety
นอกจากเนื้อผ้าไฮเทคแล้วชุด Katusha ทุกตัวมากับคัตติ้งที่เนื้อผ้าบริเวณช่วงบนของลำตัว (ไหล่ หลัง แขน) เป็นชิ้นเดียวไร้รอยต่อ ซึ่งน่าจะช่วยให้ขยับตัวได้สะดวกครับ
ข้อสองคือเสื้อและเอี๊ยมทุกตัวมากับแถบสะท้อนแสงหลายจุดช่วยเรื่องความปลอดภัยเวลาปั่นในที่แสงสว่างน้อยด้วย
Review
สาธยายไปเยอะแล้ว มาดูกันดีกว่าว่าใช้งานจริงเป็นยังไง
a.) Katusha Superlight Jersey
ราคา 6,300 บาท
เริ่มที่ตัวนี้ก่อนเพราะน่าจะเหมาะกับคนไทยที่สุด Superlight Jersey เป็นเสื้อสำหรับคนที่ขี้ร้อนโดยเพราะด้านหลังนั้นซีทรูทั้งหมดครับ ส่วนด้านหน้าก็ใช้ผ้าที่รูระบายอากาศเยอะเป็นพิเศษ สำหรับตัวทดสอบนี้ผมใส่เบอร์ M ซึ่งใหญ่กว่าไซส์ปกติที่ใส่นิดนึง
ฟิต Superlight ทำออกมาโอเคครับ ผ้ามีความยืดหยุ่นพอสมควรจากที่มันเป็นตาข่ายซะเยอะ เพราะงั้นถึงจะใส่ไซส์ที่พอดีตัวก็ไม่แน่นอึดอัดจนเกินไป จุดเด่นอยู่ที่คัตติ้งด้านบนที่ออกมาเป็น panel ชิ้นเดียวซึ่งขยับตัวได้สะดวกดีครับ กริปแถบรัดแขนนั้นก็เจ๋งมาก ด้านในเป็นพื้นผิวแบบตะปุ่มตะป่ำนิ่มๆ จะไม่รัดแขนตึงแต่ตัวปุ่มนี้ก็เกาะยึดผิวหนังได้ดีผ้าไม่ล่นขึ้น และไม่เสี่ยงต่ออาการแถบรัดย้วยหรือบานด้วย
กระเป๋าหลังตัดเย็บมาแน่นหนาดีและยืดหยุ่นใส่ของได้พอสมควร ด้านหน้าเสื้อเป็นซิปคุณภาพดี ที่รูดขึ้นไปถึงคอ ข้างๆ ซิปมีแถบสะท้อนแสง และตัวอักษร K ด้านหลังเสื้อก็สะท้อนแสงด้วยเช่นกัน
เสื้อตัวนี้เย็นมากครับ เย็นเหมือนไม่ได้ใส่อะไรเลยจริงๆ เย็นกว่าทุกตัวที่เคยใส่ ไม่อมเหงื่อ อาจจะเพราะเส้นใยเนื้อผ้า 37.5 ที่เขาโฆษณาไว้ก็เป็นได้ มีเสื้อน้อยตัวที่ระบายเหงื่อได้ไวแบบนี้
โดยรวมแล้วคุณภาพดีมาก ไม่มีอะไรให้ติ ยกเว้นบริเวณซิปที่รูดขึ้นไปถึงคอ ผมชอบเสื้อคอเว้ามากกว่า แต่จริงๆ ตัวนี้มันใหญ่เกินไซส์ไปเล็กน้อย ถ้าลดไซส์ปัญหารำคาญบริเวณคออาจจะหมดไปก็ได้
อ้อ ถ้าปั่นกลางแดดก็รับประกันเลยว่าหลังเป็นรอยไหม้ตามช่องตาข่ายแน่นอนครับ
b.) Katusha Icon Jersey
ราคา: 7,300 บาท
เสื้อ Icon ก็ใช้ผ้า 37.5 เหมือนกัน ต่างกันตรงที่ไม่มีรูระบายอากาศครับ เพราะงั้นตัวนี้จะอุ่นกว่านิดหน่อย ซึ่งก็เป็นไปตามสไตล์เสื้อยุโรป อาจจะไม่เหมาะกับเมืองไทยมากนักในวันที่ร้อนที่สุด ระบายเหงื่อไม่ดีเท่า Superlight แต่ก็ไม่ขี้เหร่
ผ้า Icon นี้จะเรียบเนียนนุ่มมากกว่า Superlight ดูสมูทไฮโซมากๆ คัตติ้งมาคล้ายๆ กัน ใช้ซิปเต็มตัวเหมือนกัน แต่ตัวนี้กระเป๋าหลังมีลูกเล่นเพราะมีช่องซิปไว้ให้ใส่ของในแนวข้างและมีแถบสะท้อนแสงมากกว่า Superlight ครับ
ฟีลลิ่งโดยรวมแล้วตัวนี้จะออกมาในแนวชุดไฮเอนด์เน้นปั่นสบายทั้งวัน ไม่ระคายเคืองไม่รำคาญเพราะผ้ามันจะนุ่มๆ สมูท แต่ถ้าปั่นกลางอากาศร้อนหรือต้องทำความเร็วกันสูงๆ แล้วคุณเหงื่อออกง่าย ตัวนี้จะไม่ตอบโจทย์เท่าไร แต่เรื่องคุณภาพเนื้องาน คัตติ้งก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้ Superlight ครับ ดูจะทนทานกว่าด้วยเพราะผ้าหนากว่า
c.) Katusha Icon & Superlight Bib Shorts
ราคา: Icon 9,900 / Superlight 8,500 บาท
สำหรับเอี๊ยม Bib Shorts ขอรีวิวรวมกันเลยเพราะใช้เป้าเดียวกัน และคัตติ้ง/ ฟิตออกมาคล้ายๆ กันครับ ทั้งสองตัวใช้เป้าที่ Katusha ออกแบบเอง เป็นสีแดงมีลวดลายกราฟฟิคเท่ห์ๆ ด้วย
เป้าไม่หนาไม่บางมาก แต่มีขนาดใหญ่ นั่นคือครอบคลุมส่วนซ่อนเร้นของคุณได้จนหมด ผมว่าออกแบบมากำลังดีนะ เทียบกับเป้าของ Bioracer / Rapha แล้วจะบางกว่านิดนึง แต่นั่งสบายไม่แพ้กัน ผ้าที่ใช้ทำเอี๊ยมระบายความร้อน/ เหงื่อได้ไวครับ ไม่มีอาการอมเหมือนเอี๊ยมยุโรปบางตัวที่บ้านเราเอาเข้ามาขายแล้วมันเหมาะกับอากาศเมืองหนาวมากกว่า
เอี๊ยม Superlight จะบางเบากว่าและยืดหยุ่นได้มากกว่า ส่วนเอี๊ยม Icon จะหนากว่านิดนึงและรัดกว่า ทั้งสองตัวมีแถบผ้า compression ด้วย รัดและฟิตได้กระชับดีครับ บริเวณแถบรัดขาก็ทำมาเหมือนเสื้อ คือเป็น texture ด้านในแทนที่จะเป็นซิลิโคนหรือยางรัด ซึ่งบางคนอาจจะแพ้ได้
ติหนึ่งอย่างคือ ส่วนตัวแล้วผมว่าเป้าบางไปนิดส์ ถ้าปั่นหนักๆ นานๆ แบบ all-day riding นี่ผมชอบเป้าที่หนานิ่มกว่านี้สักนิดนึงครับ แต่ถ้าอยู่ในระยะไม่เกิน 3 ชั่วโมงก็ยังถือว่าโอเคอยู่
ด้านหลังเอี๊ยมที่เป็นสายขึ้นมารั้งไหล่นั้นเป็นสายแบบมีรูระบายอากาศใช้ผ้า 37.5 เช่นกัน ไม่อมเหงื่อครับ
ตัวเอี๊ยมเองเป็นสีดำล้วน เพราะงั้นถ้าใส่เสื้อสีอ่อนนี่จะเห็นสายเอี๊ยม น่าเสียดายว่าไม่มีแถบสีขาวให้เลือก
โดยรวมงานตัดเย็บเนี้ยบและดูทนทาน เอี๊ยม Icon มีแถบสะท้อนแสงมากกว่า Superlight
บน: สายรัดพร้อมรูระบายอากาศ / กลาง: เป้า Katusha / ล่าง: Icon Bib Shorts
d.) Icon Gloves / Race Cap / Base Layer / Performance Socks
สำหรับ accessories ขอพูดรวมๆ ไม่มีอะไรให้ต้องบรรยายมาก
ถุงมือ Icon Gloves (2,200 บาท)
ตัวนี้ออกแบบดีและตัดเย็บแน่นหนาครับ มี padding ซับแรงสะเทือนตรงอุ้งมือ ไม่หนาไม่บางมาก (ส่วนตัวผมชอบบางๆ กว่านี้เหมือน Rapha Pro Team / Specialied Cavendish) ด้านหลังเป็นผ้ามันเรียบระบายอากาศดีมาก ไม่อมเหงื่อ หลังหัวแม่มือมีพื้นผิวให้เอาไว้เช็ดเหงื่อด้วย ด้านในอุ้งมือบริเวณนิ้วผ้าจะเป็น texture หยาบๆ ให้เกาะกับแฮนด์ได้ดี บริเวณรัดข้อมือก็จะเป็นผ้านิ่มๆ โดยรวมงานดีมากครับ แนะนำเลย
Race Cap / Performance Socks (1,300 และ 1,200 บาท)
หมวกแก๊ปผ้าคอตต้อนและถุงเท้า สองตัวนี้ไม่โดดเด่นเท่าไร ผมว่าราคาโดดไปหน่อยทั้งองอย่าง คุณภาพไม่ต่างกับของเจ้าอื่นมาก ส่วนถุงเท้านั้นก็ปฟีลระดับถุงเท้าแข่งแบรนด์ดัง กระชับรัดเท้าดี แต่ไม่บีบมาก ผ้าค่อนข้างเย็น ทน ซักหลายครั้งแล้วยังไม่ย้วยครับ
Base Layer (3,200 บาท)
ใช้ผ้า 37.5 เหมือนเสื้อ Jersey รวมๆ เป็น Base Layer ที่ใส่แล้วไม่อมความร้อนมาก (ที่เคยลองของ Santini / Rapha) จะใส่แล้วร้อนพอสมควรกับอากาศเมืองไทย ตัวนี้ระบายเหงื่อดีกว่าครับ แต่ก็ไม่ค่อยได้ใส่อยู่ดีเพราะอากาศบ้านเรามันร้อนอยู่แล้ว ใครชอบไปขึ้นเขาสูงๆ เย็นๆ น่าจะถูกใจ
สรุป
ถ้ามองภาพรวมคอเลคชันทั้งหมดของ Katusha บอกได้เลยว่าประสิทธิภาพไม่แพ้แบรนด์ไฮเอนด์ไหนๆ แน่นอนครับ เรื่องการระบายอากาศ เทคโลยี 37.5 ที่เขาโฆษณาไว้เยอะนั้นดูจะใช้งานได้จริง การตัดเย็บดีทุกชิ้น สีสันเรียบๆ ไม่ฉูดฉาด แต่หรูหรา ถือว่าเปิดตัวได้ดี สมกับที่ทำให้ทีมโปรระดับโลกใช้จริงในสนามแข่ง
ถ้าถามว่าชอบอะไรสุดผมยกให้คอเลคชัน Superlight ผ้าบางเบา กระชับและเย็นสบายดี โดยเฉพาะแถบรัดแขนและขาที่ไม่แน่นเกินและไม่ระคายเคืองครับ
แน่นอนว่าคุณภาพทั้งหมดนี้ไม่ได้มาถูกๆ ครับ ราคาทั้งเสื้อ เอี้ยม และ accessories นี้น่าจะแพงเกือบที่สุดในตลาดบ้านเราแล้ว ถ้าคุณไม่ขัดสน ไม่ชอบซ้ำใคร (ยังมีคนใส่น้อย) ก็เป็นอะไรที่น่าลอง ส่วนนักปั่นงบกลางๆ ไปทางต่ำ แบรนด์นี้ไม่น่าเหมาะเท่าไรครับ
ขอบคุณ Concept Speed สำหรับชุดทดสอบ
ส่วนใครอยากดูคอเลคชันเต็มๆ ดูได้ที่เว็บ https://katusha-sports.com ครับ
* * *