Know your Groupset (1) – โซ่และชุดจานหน้า

เลือกชุดขับยี่ห้อไหนดี? น่าจะเป็นคำถามที่เจอบ่อยทีเดียว ผู้บริโภคอย่างเราค่อนข้างจะโชคดีที่ในวงการจักรยานนี้มีผู้ผลิตชุดขับอยู่หลายเจ้า Shimano, SRAM, Campagnolo ชุดขับเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่น่าทึ่งนะครับ ดูเหมือนจะเป็นชิ้นส่วนง่ายๆ หลายๆ ชิ้นมาประกอบรวมกันเป็นระบบขับเคลื่อนจักรยานแต่กว่าจะออกมาเป็นเฟือง เป็นโซ่แต่ละข้อต่อ หรือเป็นมือเบรคสับเกียร์ ผู้ผลิตต้องวิจัยค้นคว้าและทดลองเป็นเวลานานเพื่อให้ได้ระบบขับเคลื่อนที่ทำงานได้ดีไม่มีผิดพลาด

ในแต่ละปีสามยักษ์ใหญ่ในวงการก็ไม่ได้หยุดยิ่งพัฒนาชุดขับรุ่นใหม่ๆ ออกมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำหนักที่เบาขึ้น การสับเกียบที่สมูท นุ่มมือ หรือจะเป็นจำนวนเกียร์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และล่าสุดระบบอิเล็คทรอนิคส์ ซีรีส์ Know your Groupset นี้เราจะไม่พูดถึงว่ายี่ห้อไหนดีกว่ากันยังไง แต่เราจะมาดูประวัติความเป็นมาและเทคโนโลยีต่างๆ ของชิ้นส่วนในกรุ๊ปเซ็ตกันครับ

Chain – โซ่

จะเริ่มพูดถึงชุดจับจักรยานก็ต้องพูดถึงโซ่เป็นอย่างแรก จักรยานในสมัยก่อนนั้นไม่มีแม้กระทั่งโซ่นะครับ จักรยานโบราณนั้นใช่แค่บันไดกับเฟืองเพื่อขับเคลื่อนล้อหน้าซึ่งมีขนาดล้อหน้าใหญ่กว่าล้อหลัง ใช้งานยากและอันตราย…จนกระทั่ง John Kemp Straley นักประดิษฐ์ชาวอังกฤษคิดค้นระบบขับเคลื่อนที่ใช้โซ่คล้องเฟืองที่ล้อหลังและบริเวณกะโหลกจักรยาน ระบบขับเคลื่อนของ Straley ทำให้เราสามารถใช้ล้อจักรยานที่มีขนาดเท่ากัน และเป็นต้นแบบของจักรยานที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันทั้งหมดครับ สมัยก่อนนั้นจักรยานของ Straley ปลอดภัยกว่าจักรยานแบบล้อหน้าสูง จนมีชื่อว่า “Safety Bike” ทีเดียว

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาผู้ผลิตชุดขับก็พัฒนาโซ่จักรยานอย่างต่อเนื่อง มีการเคลือบนิกเกิลเพื่อให้โซ่ทนทานต่อสนิม โซ่ไฮเทครุ่นใหม่ของ Shimano อย่างตัว Dura-Ace 9000 นั้นน้ำหนักเบาเพราะใช้แกนโซ่แบบกลวง แถมยังเคลือบสารโพลีเมอร์ PTFE ที่ลดแรงเสียดทานทำให้สับเกียร์ได้ลื่นกว่าเดิม น่าทึ่งนะครับแม้แต่อะไหล่ที่เบสิคเรียบง่ายที่สุดอย่างโซ่จักรยานที่หน้าตาไม่เคยเปลี่ยนแปลงเกือบสองร้อยปีแต่มนุษย์เราก็ยังสามารถพัฒนาให้มันมีประสิทธิภาพดีขึ้นได้ตลอด โซ่นั้นเป็นอะไหล่ที่คุ้มค่าที่สุดเลยก็ว่าได้ถ้าเทียบกับกระบวนการผลิตของมัน หลายๆ คนคงไม่รู้ว่าโซ่นั้นผลิตยังไง ลองดูวิดีโอด้านล่าง

Crankset/Chainset (ชุดจานหน้า)

ชุดจานหน้าเป็นหนึ่งในชิ้นส่วนที่สำคัญที่สุดบนจักรยานของเราก็ว่าได้ เพราะมันตั้งอยู่ตรงจุดศูนย์กลางของเฟรม เป็นจุดที่เชื่อมเท้าของเราเข้ากับจักรยาน ที่เรียกว่าชุดจาน (Crankset) ก็เพราะมันประกอบด้วยใบจานและขาจาน เช่นเดียวกับโซ่ ผู้ผลิตต่างก็พัฒนาชุดจานหน้ามาหลายรูปแบบ ในสมัยก่อนนั้นชุดจานไม่ได้ถอดออกมาเปลี่ยนหรือทำความสะอาดกันได้ง่ายเหมือนสมัยนี้ครับ คนโบราณเขาใช้ขาจานแบบ Ashatabula ที่แกน Spindle เชื่อมติดกับขาจานขวา แล้วสอดเข้าในกะโหลกเพื่อล๊อกกับขาจานซ้าย

จนในช่วงปี 1933 ที่บริษัท Stronglight ผู้ผลิตอะไหล่จักรยานในฝรั่งเศสคิดค้นกะโหลกแบบ Square Taper (แกนกะโหลกเป็นสี่เหลี่ยม) แค่ยึดขาจานแต่ละข้างเข้ากับแกนกะโหลกแล้วขันน๊อตล๊อกก็เรียบร้อย กะโหลก Square taper ช่วยให้ผู้ผลิตลดน้ำหนักชุดจานหน้าและ ถอดเปลี่ยนหรือซ่อมแซมได้ง่ายขึ้น เป็นต้นแบบของกะโหลกและขาจานสมัยใหม่ที่เราใช้กันอยู่นั่นเอง ในปี 1950s Campagnolo เริ่มผลิตชุดจานหน้าแบบสองใบ (Double Chainset) ช่วยให้นักปั่นทดเกียร์ปั่นขึ้นเขาได้ง่ายขึ้น และยังใช้กันมาจนถึงทุกวันนี้ครับ

อาทิตย์หน้ามาต่อกันด้วยเรื่องตีนผีและสับจานหน้าครับ!

PRO TIP: ผู้ผลิตออกแบบโปรไฟล์ของโซ่และเฟืองในไลน์ที่ราคาแพงอย่าง Red/ Dura-Ace/ Super Record ให้ไต่ขึ้นหรือลงเฟืองได้ดีกว่าโซ่รุ่นที่ราคาถูกกว่า หมายความว่าถ้าอยากอัปเกรดชุดขับให้สับเกียร์ได้สมูทขึ้นก็เริ่มอัปเกรดโซ่และเฟืองหลังจะเห็นผลชัดที่สุดครับ ขอบคุณทิปจากพี่หมอ Lucifer@Thaimtb

ชุดจานแบบขาเดียว 'Ashtabula' (ซ้าย) และกะโหลก Square Taper ของ Shimano (ขวา)
ชุดจานแบบขาเดียว ‘Ashtabula’ (ซ้าย) และกะโหลก Square Taper ของ Shimano (ขวา)

Published
Categorized as Machine

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *