บันทึกโปรทัวร์ Part 1: Koen de Kort แนะนำสนามคลาสสิค!

Team Giant Alpecin : portrait Koen de Kort

Editor’s Note: ข่าวดีสำหรับชาว DT ครับ ปีนี้ DT ได้ร่วมงานกับนักปั่นอาชีพในระดับโปรทัวร์จากทีม Giant-Alpecin ที่จะมาเขียนวิเคราะห์การแข่งขันสนามใหญ่ๆ ในมุมมองของโปรตลอดฤดูกาล 2016 ให้เราได้อ่านกันในเว็บ DT แบบ Exclusive 

หลายคนอาจจะรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อ Koen de Kort (ออกเสียง โคน เดอ คอร์ท) นักปั่นชาวดัทช์วัย 33 ปีที่เป็นลีดเอาท์และโดเมสติกให้กับทีม Giant-Alpecin ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของจอห์น เดเกนโคลบ์ใน Paris-Roubaix และแชมป์สเตจมากมายของมาร์เซล คิทเทล 

นอกจากจะเป็นโปรตัวจริงแล้ว Koen ยังเป็น brand ambassador ให้กับ JAGGAD แบรนด์ชุดกีฬาและชุดปั่นที่กำลังเริ่มมาวางขายในประเทศไทย ต้องขอบคุณ Jaggad และ Raph Thailand ที่ทำให้เราได้ร่วมงานกับ Koen มา ณ​ ทีนี้ด้วย ติดตามชุดปั่นสวยๆ ของ Jaggad ได้ที่เพจ Raph Thailand ครับ 

สำหรับบันทึกตอนแรกนี้ Koen จะพูดถึงสนามแข่งคลาสสิครายการใหญ่ที่เขากำลังจะลงแข่งให้ทีม และแผนของทีมเมื่อไม่มีเอซอย่างจอห์น เดเกนโคลบ์ (ประสบอุบัติเหตุ พักอยู่) ในมุมของโปรแล้วสนามคลาสสิคมันเป็นยังไง ? น่าสนใจตรงไหน? มาดูกัน

เรื่อง: Koen de Kort (Instagram, Strava, Twitter)
แปล: Theinthai Sangkhaphanthanon (Koon DT)
ต้นเรื่องภาษาอังกฤษ: Team Jaggad

 

สนามคลาสสิคคืออะไร?

ฤดูกาลแข่งสนามคลาสสิค (รายการแข่งวันเดียวจบที่เก่าแก่และมีชื่อเสียง) เป็นช่วงเวลาที่ผมชื่นชอบที่สุดในแต่ละปี คนส่วนใหญ่เวลานึกถึงการแข่งจักรยานทางไกลก็มักจะนึกถึง Tour de France ก่อน แน่นอนว่าตูร์เป็นไฮไลท์ประจำปี แต่สำหรับผมสนามคลาสสิคมันงดงามและน่าสนใจกว่าครับ

“สนามคลาสสิค”​ ที่ผมพูดถึงจะเป็นรายการแข่งวันเดียวที่แข่งกันในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนของทุกปี มีทั้งสนามเล็กๆ ท้องถิ่นและสนามใหญ่ที่โด่งดังแข่งขันกันมาร่วมร้อยปี ระยะทางรายการใหญ่ระดับอนุสรณ์ (Monument) นั้นยาวถึง 260-300 กิโลเมตร แต่ละรายการมีเอกลักษณ์และประวัติศาสตร์ที่ต่างกันไป น่าหลงไหลไม่แพ้กัน

ยกตัวอย่าง Pairs-Roubaix สนามแข่งคลาสสิคที่ทุกคนรู้จัก – ทีมเรามีอุปกรณ์ล่าสุดทุกอย่างที่พร้อมจะรับมือกับเจ้าปีศาจรูเบ ไม่ว่าจะเป็นจักรยานที่นุ่มปั่นสบาย เบรคมากมายหลายชนิด ยางที่ทำมาเพื่อแข่งสนามนี้เป็นพิเศษ​ ทั้งหมดทั้งปวงก็เพื่อให้เราปั่นผ่านเส้นทางวิบากที่มีช่วงถนนปูก้อนอิฐร่วม 50 กิโลเมตร ถึงเราจะมีอุปกรณ์ล้ำสมัย แต่ฟีลลิ่งการแข่งขันมันก็แทบไม่ต่างจากที่เขาแข่งกันร้อยปีก่อนหน้าเลย มนตร์ขลังมันยังคงอยู่ครบไม่เปลี่ยนแปลง

ใน Roubaix มีผู้ชมมารายล้อมข้างทางนับแสนๆ คน ส่งเสียงร้องเชียร์ตลอดระยะเวลาการแข่งขัน แน่นอนว่าเส้นทางมันยากและเราทรมานมากครับในการปั่นผ่านแต่ละช่วงถนนหิน แต่มันเป็นความเจ็บปวดที่แสนงดงาม มันเป็นความรู้สึกที่ยากจะอธิบายได้ในการปั่นผ่านช่วงถนนหินพังๆ ด้วยความเร็ว 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงท่ามกลางความโกลาหลของเปโลตองร่วมสองร้อยชีวิตและเสียงโห่ร้องของแฟนๆ

Paris-Roubaix เป็นสนามแข่งระดับอนุสรณ์ หรือที่เราเรียกว่า “Monument” ในสนามแข่งจักรยานทั้งหมด มีแค่ 5 รายการที่เรายกย่องให้เป็นระดับ Monument นั่นคือ Milan-San Remo, Tour of Flanders, Paris-Roubaix, Liege-Bastonge-Liege และ Giro d’ Lombardi ถามว่ารายการระดับอนุสรณ์นี่มันยิ่งใหญ่แค่ไหน? สำหรับพวกเราที่เป็นนักปั่นอาชีพ ได้ชนะแค่ครั้งเดียวมันก็เปลี่ยนชีวิตคุณได้เลย มันทำให้คุณกลายเป็นฮีโร่ที่จะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การแข่งไปตลอดกาล

ส่วนตัวผมเองจะลงแข่งทั้งหมดสามรายการ – San Remo, Flanders และ Roubaix ครับ

 

1 | Milan-San Remo – 19 มีนา

Milan-San Remo (MSR) เป็นสนามอนุสรณ์รายการแรกของทุกปี ปกติรายการนี้จะแข่งกันวันอาทิตย์ แต่ปีนี้ผู้จัดย้ายมาเป็นวันเสาร์

จริงๆ แล้วสนามนี้แข่งกันวันเสาร์มาแต่ไหนแต่ไรครับ พอผู้จัดมาย้ายวันแข่ง คนอิตาเลียนท้องถิ่นเขาบอกว่ามันทำให้พระเจ้าโกรธ! พระเจ้าเลยลงโทษทำให้อากาศไม่เหมาะกับการแข่ง 3 ปีที่ผ่านมาอากาศในรายการนี้มันแย่มาก ทั้งหิมะ ทั้งฝนและพายุ แน่นอน RCS Sport (ผู้จัด) ก็ต้องเชื่อฟังพระเจ้า (ฮา) ปีนี้เราเลยกลับมาแข่งวันเสาร์ครับ

รายการนี้ยังเป็นไม่กี่รายการที่เราเริ่มแข่งกันจากเมืองที่เป็นชื่อรายการจริงๆ ก็คือเริ่มแข่งกลางเมืองมิลาน ไม่เหมือน Paris-Roubaix ที่เราเริ่มจากชานเมืองปารีส ไม่ได้อยู่ในเมืองอย่างที่ชื่อรายการบอก

มันเป็นรายการที่ระยะทางแข่งยาวที่สุดในรอบปี ถึงปีก่อนๆ อากาศจะไม่ดี แต่ปีนี้อากาศสดใสสมกับที่เป็นฤดูใบไม้ผลิครับ แดดออกไม่มีเมฆครึ้ม ลมโชยเบาๆ อากาศก็ไม่หนาวมากด้วย

ปีที่แล้วเพื่อนร่วมทีมผม จอห์น เดเกนโคลบ์ได้แชมป์รายการ แต่ปีนี้ดวงไม่ดีเพราะเขาประสบอุบัติเหตุระหว่างซ้อมเลยไม่ได้มาป้องกันแชมป์ แต่ผมเชื่อว่าทีม Giant-Alpecin ของเรามีนักปั่นที่พร้อมจะท้าชิงแชมป์หลายคน ถึงเราจะไม่ใช่ตัวเต็งแต่ก็น่าจะทำผลงานได้ดีทีเดียว

 

2 | E3 Harelbeke – 25 มีนา

พอจบ MSR ผมมีเวลาพักประมาณ 5 วันก่อนจะลงแข่งรายการต่อไป E3 เราแข่งกันในแคว้น Flanders (Vlaanderen) ในประเทศเบลเยียม แคว้นนี้ขึ้นชื่อเรื่องเส้นทางการแข่งจักรยานครับ มีเนินเขาหลายเนินที่ “ศักดิ์สิทธิ์” และเป็นอุปสรรคสำคัญในหลายๆ สนามแข่ง สนามที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดใน Flanders ก็คือ Tour of Flanders

ส่วน E3 Harelebeke นั้นใช้เส้นทางทับซ้อนกับ Tour of Flanders หลายคนเลยเรียกรายการนี้ว่า Mini Tour of Flanders และเป็นสนามลองฟอร์มของตัวเต็งได้ดีมากๆ รายการนี้เป็นเป้าหมายใหญ่ของผม

 

3 | Gent-Wevelgem – 27 มีนา

พ้นจาก E3 ได้สองวันเราก็ต้องแข่งกันต่อใน Gent-Wevelgem แชมป์รายการนี้มักจะเป็นสปรินเตอร์เพราะมีเนินไม่เยอะ แต่ถ้าอากาศแย่เหมือนปีที่แล้วที่ลมแรงจนพัดนักปั่นปลิวตกถนน พวกสายคลาสสิคก็มีโอกาสชนะเหมือนกัน ปีที่แล้วผมโดนปลิวจนล้มตั้งหลายครั้ง และผู้เข้าแข่งขันก็ถอนตัวกันเกือบหมด รายการนี้เดเกนโคลบ์ก็เคยชนะในปี 2014 ครับ

Ghent Wevelgem (4 of 7)

4 | Tour of Flanders – 3 เมษา

Tour of Flanders หรือที่รู้จักกันในหมู่นักปั่นในนาม Ronde van Vlaanderen เป็นเสมือนการแสวงบุญของนักปั่นอาชีพทุกคน และเป็นรายการที่ผมชอบที่สุดด้วย ผมรู้จากสนามนี้ทุกตารางเมตรตั้งแต่จุดสตาร์ทจนถึงเส้นชัย ผมปีนขึ้นเนินใน Flanders เป็นสิบๆ ครั้งๆ และลงแข่งมา 11 ปีติดต่อกันตั้งแต่ผมเทิร์นโปรในปี 2005

บรรยากาศรายการนี้มันสุดยอดมากครับ สำหรับชาวเบลเยียม จักรยานคือกีฬาประจำชาติ สื่อโหมประโคมข่าว จับตามองฟอร์มนักปั่นตัวเต็งกันแบบ 24/7 คือจะเปิดข่าวช่องไหน หรือหนังสือพิมพ์อะไรก็จะมีแต่ข่าว Tour of Flanders ในวันแข่งจริงนี่สองข้างทางแข่งแทบไม่มีที่ว่างเพราะมีผู้ชมมารอดูกันเต็มถนน

ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้แข่งรายการนี้ ปีที่แล้วผมช่วยพาเดเกนโคลบ์เกาะไปกับกลุ่มตัวเต็ง 20 คนได้จนถึงเนินลูกรองสุดท้าย ปีนี้ผมหวังว่าจะทำได้ดีกว่าเดิมและอยู่กลุ่มหน้าได้จนจบรายการ

 

5 | Paris-Roubaix – 10 เมษา

สนามคลาสสิครายการสุดท้ายสำหรับผมคือ Paris-Roubaix ที่ขึ้นชื่อเรื่องถนนหินและทางวิบาก และมันเป็นสนามที่ผมภูมิใจที่สุดในฐานะนักปั่นอาชีพ เพราะมันเป็นรายการที่ผมได้ช่วยเดเกนโคลบ์คว้าแชมป์เมื่อปีที่แล้ว

ในวินาทีที่จอห์นรับรางวัล เขาเชิญพวกเราขึ้นไปยืนบนโพเดี้ยมทั้งทีมและกล่าวขอบคุณ มันเป็นชัยชนะของทีม เป็นวินาทีที่งดงามที่พวกเรายืนอยู่บนยอดโพเดี้ยมในรายการที่เก่าแก่และมีเกียรติยศสูงสุดในบรรดาสนามแข่งคลาสสิคครับ

ตัวผมเอง ผมเคยชนะรายการนี้ในรุ่น U23 ตั้งแต่ปี 2004 แต่สำหรับรุ่นโปร ผมทำได้ไม่ค่อยดีนัก มีเหตุเกิดหลายอย่างระหว่างแข่งรายการนี้ ทั้งล้มบาดเจ็บ จักรยานพัง ป่วยลงแข่งไม่ได้…แต่ผมเชื่อว่าโชคร้ายมันคงหายไปหมดแล้วหลังจากที่ทีมได้เป็นแชมป์ ผมเชื่อว่าปีนี้ทีมเราก็น่าจะทำผลงานได้ดีอีกเช่นกันครับ

Paris-Roubaix 2015 (15 of 17)

ส่งท้าย

ผมพูดถึงเดเกนโคลบ์หลายครั้งในบันทึกตอนนี้ ก็เพราะเขาเป็นตัวเต็งของทีมเราในสนามคลาสสิค แน่นอนว่าการที่เขามาลงแข่งช่วยเราไม่ได้ทีมเราก็ขาดเอซตัวสำคัญ​ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังมีนักปั่นเก่งๆ อีกหลายคนครับ เราคงไม่มีตัวเต็งเหมือนทีมอื่นๆ แต่สมาชิกทีมเราน่าจะเกาะกลุ่มตัวเต็งได้ทุกรายการ ซึ่งผมก็หวังว่าจะเป็นหนึ่งในนั้น

ตอนนี้ผมอยากแข่งจนตัวสั่นครับ แข่งเสร็จแล้วเป็นยังไงจะมาเล่าให้ฟังต่อในบันทึกตอนต่อๆ ไปครับ

Editor’s note: Koen จะเขียนวิเคราะห์การแข่งขันให้เรา 48 ชั่วโมงในทุกสนามที่เขาลงแข่ง ตอนต่อไป คงเป็นประสบการณ์แข่ง Milan-San Remo จะเป็นยังไงวันจันทร์นี้มาติดตามกันครับ

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *