รีวิว: Lapierre Xelius SL 600 FDJ

1. Lapierre นี่จักรยานอะไรกันนะ?

Lapierre (ลาพิแอร์) เป็นแบรนด์จักรยานที่ถือกำเนิดขึ้นที่เมือง Dijon (ดิฌอง) ประเทศฝรั่งเศส (ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดมัสตาร์ดดิฌองด้วยนะ) ในปีค.ศ. 1946 โดยคุณแกสตัน ลาพิแอร์ และสืบทอดกิจการกันมารุ่นสู่รุ่น โดยกรรมการผู้จัดการคนปัจจุบัน คุณกิลส์ ลาพิแอร์ ก็เป็นรุ่นที่สามและเป็นหลานแท้ ๆ ของคุณแกสตันด้วย ปัจจุบันจักรยาน Lapierre อยู่ใต้ร่มกลุ่มลงทุน Accell Group ร่วมกับอีกหลายบริษัทอย่าง Koga Miyata, Raleigh, และ Van Nicholas

แม้ว่าเวลาพูดถึงบริษัทจักรยานฝรั่งเศส บริษัทอย่าง Look หรือ Time หรือ Mavic มักถูกนึกถึงเป็นชื่อแรก ๆ แต่ Lapierre เองก็ไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการ มีประวัติยาวนานกว่า 70 ปี ทั้งยังสปอนเซอร์ทีมในดิวิชั่นสูงสุดอย่าง Française des Jeux หรือ FDJ มาตลอด 15 ปีที่ผ่านมา และล่าสุดก็มาสปอนเซอร์ FDJ Nouvelle-Aquitaine Futuroscope เพิ่มด้วย ซึ่งเป็นทีมหญิงของ FDJ นั่นเอง

2. Lapierre Xelius SL

Xelius SL เป็นจักรยานสไตล์ all rounder เน้นน้ำหนักเบาเหมาะกับการไต่เขา

Lapierre เองแบ่งจักรยานเสือหมอบในไลน์อัปเป็นสามรุ่น นั่นคือ จักรยาน all-round / ไต่เขา (Xelius SL), จักรยานแอโร่ (Aircode SL), และจักรยานเอนดิวรานซ์​ (Pulsium)

Lapierre Xelius SL คันนี้เปิดตัวมาเมื่อปี 2015 และเคยถูกใช้คว้าชัยสนามคลาสสิคที่ระยะทางยาวที่สุดในโลกอย่าง Milan-San Remo 2016 โดยอาโนต์ เดมาร์ และสเตจภูเขาสูงชันใน Tour de France 2015 ที่จบบนยอด Alpe d’Huez หรือ Giro d’Italia 2017 บนยอด Asiago โดยทิโบต์ พิโนต์มาแล้ว ถือว่ามีเพดดีกรีไม่แพ้จักรยานแข่งขันระดับโลกแบรนด์อื่นครับ เพียงแต่อาจจะไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายเท่านั้นเอง

การที่จักรยานคันหนึ่งถูกใช้ในสนามแข่งระดับโลกจนได้ชัยชนะ ทำให้เกิดความคิดทำนอง “ถ้ามันดีพอสำหรับ (ใส่ชื่อนักปั่นอาชีพที่ท่านชอบ) มันก็ดีพอสำหรับเรา” เสมอ ถึงลึก ๆ ในใจจะรู้ว่าให้คน ๆ นั้นปั่นรถอลูเกียร์ 105 ก็คงชนะอยู่ดีก็เถอะ แต่ก็ยอมรับว่าปฏิเสธแนวคิดแบบนี้ไม่ได้จริงๆ

3. เช็คสเป็คก่อนปั่น

สำหรับ Lapierre Xelius SL 600 FDJ รุ่นปี 2017 ที่เราได้มารีวิวในครั้งนี้นั้นใช้เฟรมเซ็ตเดียวกับที่ FDJ ใช้ แม้แต่สีเฟรมและดีคาลก็เป็นของ FDJ ด้วย แต่อะไหล่เป็นมิตรบัญชีเงินฝากกว่ามาก คือกรุ๊ปเซ็ต Ultegra 6800 ทั้งชุด ล้อก็ใช้ Ultegra (WH-6800) ยกเว้นสองจุดที่คนไม่ค่อยสังเกต (=ไม่กระทบความหล่อ) คือเฟืองหลัง 105 (CS-5800) ขนาด 11-28 ฟัน และโซ่ 105 (CN-HG601) ส่วนแฮนด์และสเต็มเป็นอลูมิเนียมของ Zipp หลักอานเป็นของอินเฮาส์ของ Lapierre เอง และอานเป็น fi’zi:k Antares R7 โดยรวมแล้วเมื่อเทียบกับเฟรมเซ็ตระดับ WorldTour ด้วยกันกับอะไหล่ประมาณนี้และราคาเท่านี้แล้ว ถือว่าได้เยอะทีเดียว

สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของเฟรม Xelius SL เป็นตะเกียบนั่งที่ไม่เชื่อมกับท่อนั่ง แต่กางห่างออกแล้วไปเชื่อมกับท่อบนแทน ทำให้เป็นเฟรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาก ถึงแม้จะไม่ใช่เจ้าแรกที่ใช้ดีไซน์นี้ แต่ก็แปลกตาอยู่ดี คุณเรมี่ กริบอโดต์ วิศวกรของ Lapierre เล่าว่าดีไซน์นี้เจตนาคือต้องการลดน้ำหนักเฟรมส่วนบน เพราะเมื่อตะเกียบนั่งไม่ต้องรับน้ำหนักตัว ก็ลดปริมาณวัสดุคาร์บอนในส่วนตะเกียบท่อนั่งและข้อต่อกับท่อนั่งได้ ทำให้เฟรมน้ำหนักเบาลง โดยได้ความนุ่มที่อานเป็นของแถม

นอกจากการลดน้ำหนักเฟรมส่วนบนแล้ว เฟรม Xelius SL ยังย้ายน้ำหนักมาไว้ส่วนล่างด้วยฝาเปิดที่ใต้กะโหลกสำหรับซ่อนแบตเตอรี่ Di2 ด้วย เพื่อเอาแบตเตอรี่จากเดิมอยู่ในท่อนั่งซึ่งอยู่สูงมาไว้จุดต่ำสุดของเฟรม ผลลัพธ์ของทั้งสองดีไซน์นี้ทำให้จุดศูนย์ถ่วง (centre of gravity) ของรถต่ำลง เพื่อแฮนด์ลิ่งที่แน่นขึ้น (แต่คันนี้ไม่ได้ใช้เกียร์ไฟฟ้า ก็จะได้ใช้แค่ฟีเจอร์แรก)

สิ่งที่โดดเด่นรองลงมาคงเป็นการใช้เบรค direct mount ในรถไต่เขา (ถึงจะเฉพาะเบรคหน้าก็เถอะ) เพราะหากไม่นับ BMC TeamMachine SLR 2018, Specialized Tarmac 2018 และ Colnago V2-r ที่ตบเท้าพากันเปิดตัวมาในช่วง 1-2 เดือนนี้ Xelius SL เป็นจักรยานสายไต่เขาเพียงหนึ่งในสองคันในโลกที่ใช้เบรค direct mount (อีกคันคือ Trek Émonda SLR)

เหตุที่มีจักรยานสายไต่เขาใช้เบรค direct mount น้อยก็เพราะ

1) ผู้ผลิตเฟรมมักมองว่าการทำรูยึดเบรค 4 รูแทน 2 รู (หน้า-หลัง) จะทำให้เฟรมเซ็ตหนักขึ้นและโฆษณาความเบาหวิวยากขึ้น (การเพิ่มเกลียวน็อตตัวเมียจะต้องเพิ่มเนื้อคาร์บอนไปพอกรอบรูน็อตด้วยเพื่อความแข็งแรง)

2) มองว่าอะไหล่หายาก หรือมองว่าล็อกระบบเข้ากับ Shimano เจ้าเดียว เพราะ SRAM ไม่ทำเบรค direct mount ส่วน Campagnolo เพิ่งมีไม่นาน​

แต่เมื่อมองข้ามเรื่องจุกจิกเหล่านั้นไปแล้ว จะพบว่าริมเบรคแบบ direct mount นั้นดีกว่า single mount แบบดั้งเดิม และทางทีม DT เราก็ชอบและเชื่อในเบรคแบบนี้มากกว่าแบบ single mount ดั้งเดิมด้วย

ข้อดีของเบรค direct mount ข้อแรกเลยคือ การเลียเบรคที่ละเอียดกว่าและแรงเบรคตอนกำแน่น ๆ ดีกว่าแบบเดิม เพราะชิ้นส่วนน้อยลงทำให้ข้อต่อน้อยลง เบรคก็เลยสติฟขึ้น ข้อสองคือเบรคไม่สามารถเบี้ยวซ้าย-ขวาได้แล้ว เซ็ตอัพดี ๆ ครั้งเดียว หมดปัญหาก้ามเบรคบิดมาสีขอบเบรคตลอดไป ส่วนข้อสุดท้ายค่อนข้างเป็นที่ถกเถียงกัน คือเบรค direct mount แอโร่กว่า เพราะในทางทฤษฎีแล้วตัวเบรคเข้ามาชิดเฟรมมากขึ้น แต่บางเจ้าก็บอกว่าพอทดสอบในอุโมงค์ลมแล้วไม่ต่างกัน บางเจ้าก็บอกว่ามันช่วยเพิ่มความลู่ลมได้เล็กน้อย เราจึงมักเห็นเบรค direct mount มากับรถแอโร่มากกว่ารถไต่เขา

เบรค direct mount (ซ้าย) เทียบกับเบรคแบบดั้งเดิม (ขวา) สังเกตว่าเบรค DM เอาน็อตยึดที่แรเงาสีเขียวออกไปพร้อมกับชิ้นโลหะชิ้นในสุด แล้วเอาจุดหมุนที่แรเงาสีส้มมายึดกับเฟรมโดยตรง ให้เป็นทั้งจุดหมุนและจุดยึดในทีเดียว เลยได้ชื่อ direct mount (ยึด[กับเฟรม]โดยตรง)
โดยส่วนตัวแล้ว คุณสมบัติเลียเบรคเนียน+แรงเบรคดีของมันนี่สำคัญกับรถไต่เขายิ่งกว่าความแอโร่ที่ไม่รู้มากน้อยแค่ไหนสำหรับรถแอโร่เสียอีก เพราะคนซื้อรถไต่เขามา ก็คงอยากเอาไปไต่เขา แล้วพอขึ้นไปแล้ว ก็ต้องปั่นลงมา และความมั่นใจในระบบเบรคก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวดในการลงเขาให้สนุก ไม่หวาดเสียว

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างของ Xelius SL คือเป็นรถที่ขี่ง่าย ไม่ก้มมาก ไม่ยืดมาก แต่ยังคงคาแรคเตอร์ความคล่องแคล่วของเสือหมอบแข่งขันไว้ครบถ้วน กล่าวโดยละเอียดก็คือในไซส์ที่ผมขี่ คือไซส์ M นี้มีระยะ stack 548m และระยะ reach 383mm คิดสัดส่วน stack:reach = 1.43* ถือว่าอยู่กลาง ๆ และเท่ากับ Trek H2 ในขณะที่ยังคงท่อคอไว้ชัน (73°) และตะเกียบโซ่ที่สั้น (405 มม.) อ่านจากตัวเลขพวกนี้แล้ว คาแรคเตอร์รถน่าจะคล่องแคล่ว หน้าไว สมฐานะรถที่โปรขี่ แต่ไม่ต้องก้มและยืดมาก สมฐานะที่เอาไว้ขายปุถุชนด้วย

  • สำหรับคนที่ไม่คุ้นกับ stack:reach ratio (STR) จะยกตัวอย่างรถก้มต่ำ ๆ อย่าง Trek H1 หรือ Canyon Aeroad มี STR ประมาณ 1.35 ส่วนอีกปลายด้านนึงนั้น Trek Endurance หรือ Canyon Endurace จะมี STR ประมาณ 1.52

ความดีงามของจักรยาน/อะไหล่ที่อยากจะกล่าวถึงเป็นลำดับสุดท้าย คือ Lapierre ให้ตีนผีขายาว (รหัส GS) มาในคอมพลีตไบค์ทุกคัน ทั้ง Xelius SL, Aircode SL, และ Pulsium แม้ว่าจะให้เฟือง 11-28 มาก็ตาม สำหรับ Aircode SL ที่เป็นรถแอโร่นี่มันก็จะงง ๆ หน่อย แต่สำหรับ Xelius SL นี่มันเมคเซนส์มาก ๆ เพราะหมายความว่าเราสามารถเอาเฟือง 11-32 มาใส่แทน ขันน็อต B-tension ที่ตีนผี แล้วไปไต่กำแพงได้เลย (…ก็เกินไป) เหมาะกับการไต่เขาจำพวกเขาเรดาร์ในไทยที่นิยมตัดถนนให้ระยะสั้น ๆ ความชันระดับเลขสองหลักไปตลอดทางได้ดีมาก

คอมพลีตไบค์คันนี้ชั่งจริงไดั 7.42 กก. (ไม่รวมบันได) ซึ่งก็ไม่หนักไม่เบา ยังมีอะไหล่หลายชิ้นที่พอช่วยลดน้ำหนักได้มากในราคาไม่แพง เช่นยางนอก ยางใน แกนปลด เป็นต้น ในส่วนเฉพาะเฟรมเซ็ตนั้นไม่ได้ถอดชิ้นส่วนทุกชิ้นออกมาชั่งด้วยตัวเอง จึงจะขออ้างข้อมูลทุติยภูมิสองแหล่งคือ 1. ในฟอรั่ม weight-weenies ซึ่งชั่งเฟรมไซส์ XL (58cm) สีเหลืองสะท้อนแสงไว้ที่ 1,170 ก. + ตะเกียบ 332 ก. = 1,502 ก. เมื่อรวมฮาร์ดแวร์ทุกอย่างแล้ว ส่วนแหล่งข้อมูลที่ 2. คือนิตยสาร TOUR International ฉบับ 11/2015 โดยสำนักนี้จะรายงานน้ำหนักเฟรมที่ไซส์ 57cm เสมอ (ถ้าผู้ผลิตไม่มีไซส์นี้ TOUR จะหารเฉลี่ยเอาจากสองไซส์ที่คร่อม 57cm อยู่) และสำหรับ Xelius SL นี้ TOUR รายงานน้ำหนักเฟรมไว้ที่ 1,162 ก. + ตะเกียบ 354 ก. (คิดที่ซาง 225 มม.เสมอ) = 1,516 ก. ดังนั้นจะเห็นว่าจริง ๆ แล้วก็ไม่ได้เบามากนัก แต่เดี๋ยวจะกลับมาเรื่องนี้อีกทีในพาร์ทต่อไป

photo: Chut Janthachotibutr

4. ออกถนนจริง

ความรู้สึกที่โดดเด่นที่สุดของ Xelius SL คงเป็นความนุ่มสบายตรงอาน มันเป็นความนุ่มเหมือนมีซัสเพนชั่นที่ล้อหลังทั้ง ๆ ที่มันไม่มีระบบโช๊คอะไร ในช่วงที่ทดสอบใหม่ ๆ ผมรู้สึกไม่ชินกับมันมาก ๆ ถึงขนาดเคยสบถว่ายางรั่ว ทำให้กลุ่มต้องจอดรอ แต่พอเช็คยางแล้วมันก็ยังแข็งป้าบเหมือนเดิม เรื่องนี้ใช้เวลาปรับตัวอยู่หลายร้อยกม.ถึงจะเริ่มชินคาแรคเตอร์รถว่ามันนุ่มได้ขนาดนี้แหละ โดยลักษณะถนนที่หางหลังนี้โดดเด่นมากที่สุดคือเวลาเจออุปสรรคขนาดกลาง ๆ เช่นพื้นถนนยุบตัว มีลักษณะเป็นลูกคลื่น หรือแถบเส้นชะลอความเร็ว ส่วนอุปสรรคขนาดเล็กเช่นทางหินกรวด หรือขนาดใหญ่เช่นหลุมถนนขนาดใหญ่ที่เกิดจากรถบรรทุก จะรู้สึกได้บ้าง และรู้สึกนุ่มกว่าเสือหมอบทั่วไป แต่ไม่ถึงกับต้องลงไปเช็คลมยาง

เมื่อมองว่ามันเป็นรถไต่เขาที่พ่วงความนุ่มสไตล์รถเอนดิวรานซ์มาด้วยแล้ว น้ำหนักเฟรม ~1,150 ก.ก็ดูเบาลงไปเยอะ หรือจะมองว่าถ้าเลือกเฟรมน้ำหนัก 800 ก. จะได้พวกรถไต่เขาเพียวนะ แต่คันนี้หนัก 1,150 ก. ได้รถไต่เขาที่นั่งสบายด้วย เป็นสมดุลที่พอรับได้

เรื่องการตอบสนองแรงทำได้ดี ถึงเวลากระชากจะไม่จี๊ดจ๊าดเท่า Cervélo R5 หรือ Canyon Ultimate CF SLX แต่ก็ไม่ย้วยและไม่มีรอรอบแน่นอน การโยกขึ้นเนินสั้น ๆ ทำได้น่าพอใจ เช่นเดียวกับการขึ้นเขายาว ๆ ที่มักมีจังหวะยืนสลับจังหวะนั่งก็ไม่ทำให้ผิดหวังเช่นกัน แม้การทดสอบครั้งแรกกับล้อ Ultegra ที่ติดรถมาจะรู้สึกหน่วงเล็กน้อย ทำให้ไม่แน่ใจว่าเกิดจากเฟรมหรือล้อ แต่พอเปลี่ยนเอาล้อขอบต่ำเบา ๆ อย่าง Dura-Ace C24 กับยางดี ๆ  มาใส่ก็เลยรู้ว่าเกิดจากล้อที่มากับยางซ้อม เพราะฟีลลิ่งจากตัวเฟรมนั้นแน่นดีทีเดียว

ถ้าการขึ้นเขาเป็นพัน ๆ เมตร จักรยานคันนี้ทำได้ดีแล้ว การลงเขาเป็นพัน ๆ เมตรนั้นทำได้ดีกว่าจนน่าตกใจ ด้วยส่วนผสมของเบรคที่ลดสปีดได้ดี ตะเกียบหน้าที่ว่องไว และตะเกียบนั่งที่ถ่างกว้างกว่าปรกติ ทำให้ Xelius SL เป็นรถที่เข้าหาโค้งหักศอกด้วยความเร็วที่ต้องการได้เป๊ะทุกครั้ง เลือกไลน์ได้แม่นยำ และล้อหลังยึดเกาะถนนได้มั่นใจ ไม่รู้ว่าตะเกียบนั่งกว้าง ๆ นั่นช่วยตรึงล้อหลังให้มั่นคงคล้ายเวลาเรายืนกางขาหรือเปล่า แต่บนถนนมันรู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ เลือกไลน์ไหนก็ได้ไลน์นั้นทุกครั้ง

อะไหล่ที่มากับรถก็ทำหน้าที่ของมันได้ดี แฮนด์ Zipp เป็นแฮนด์อลูทรงคอมแพ็คแบบมาตรฐาน คือท็อปหน้าตัดกลมและดร็อปไม่กาง เป็นอุปกรณ์กลาง ๆ ที่น่าจะเข้ากับคนจำนวนมากได้ ส่วนกรุ๊ปเซ็ต Ultegra ทำงานลื่นไหลดีอย่างที่ควรจะเป็น เรื่องอะไหล่มียกเว้นอยู่อย่างคือปลอกสายเบรคกับปลอกสายเกียร์ด้านหน้ารถที่ให้มายาวเกิน เวลายืนปั่นแล้วจะสีกับเข่า และยิ่งไปกว่านั้นคือปลอกสายเบรคหน้าที่ยาวจนไปดันก้ามเบรคให้เบี้ยวซ้าย ตอนแรกก็งงว่าทำไมเบรค direct mount มันยังเบี้ยวได้ พอเห็นว่าเพราะปลอกดัน ก็เอาคีมตัดออกประมาณ 4 ซม. จึงกลับมาปรกติ ทั้งนี้ทั้งนั้นปัญหาเรื่องปลอกสายต่าง ๆ ก็แก้ไขง่าย ใช้เวลาแป๊บเดียว และไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร

ปลอกสายมันย้วยไปนะ

จุดอ่อนของจักรยานคันนี้คือการแหวกลมที่ความเร็วสูง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นหน้ามาตั้งความเร็วให้กลุ่มในทางราบ หรือการปั่นต้านลมสวน จะต้องคอยเติมเรื่อย ๆ เพราะทั้งรูปทรงท่อและล้อขอบต่ำแล้วไม่ช่วยเหลือเราเท่าไรเลย แถมยาง Continental Ultra Sport ก็ไม่ได้ไหลมากนัก (แต่ทน)

 

5. สรุป

รถนอกกระแส อะไหล่คุ้มค่า ราคาไม่โหดมาก ทรงเป็นเอกลักษณ์ งานสีเนี๊ยบ เซ็ตอัพแล้วดูดี ไม่ต้องรองแหวนเยอะ ไม่ต้องสเต็มกุด แถมขี่สบายมาก ขี่มันทั้งวันก็ไม่ล้า กดแล้วมา ขึ้นเขาดี ลงเขายิ่งดีไปอีก แต่ช่วงทางราบให้หลบหลังเพื่อนเยอะ ๆ หน่อย

Lapierre Xelius SL 600 FDJ (2017) ราคาตั้ง 115,000 บาท

ขอขอบคุณ Team Bike ที่ให้รถมาทดสอบด้วยครับ ยืมใช้นานจนเหมือนเป็นรถตัวเองแล้ว

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *