8 วินาทีที่เปลี่ยนชีวิต

ทันทีที่คุณอ่านประโยคนี้จบคุณใช้เวลาไปแล้วอย่างน้อย 3 วินาที

เวลาหนึ่งวินาทีนั้นสั้นมาก และมันอาจจะไม่มีความหมายอะไรกับคนทั่วไป แต่เมื่อมันอยู่ในบริบทของการแข่งขัน (จักรยาน) แล้ว แค่หนึ่งวินาทีก็ยอมแพ้กันไม่ได้

ปี 1989 หรือเมื่อ 29 ปีที่แล้ว โลกได้เห็นการแข่งขัน Tour de France ที่สูสีที่สุดในประวัติศาสตร์ เมื่อเด็กหนุ่มอเมริกันไฟแรง เกร็ก เลอมองด์​ (ซ้ายบน) เอาชนะแชมป์เจ้าถิ่นสุดเก๋า ลอเรนท์ ฟิญญอง (ขวาล่าง)​ ด้วยเวลาเพียง 8 วินาทีเท่านั้น

อ่านแค่นี้คุณอาจจะสงสัยว่ามันน่าตื่นเต้นตรงไหน แต่ตูร์ปี 1989 นั้นเป็นปีประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนวงการแข่งขันจักรยานในแบบที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อนครับ

ก่อนจะถึงสเตจสุดท้าย ฟิญญองจากทีม Système U ครองเสื้อเหลือง มีเวลานำเลอมองด์จากทีม ADR อยู่ 50 วินาที

ตลอด Tour de France 1989 เลอมองด์และฟิญญองไม่เคยมีเวลาห่างกันเกิน 53 วินาที

ถ้าเป็นการแข่งขันสมัยนี้ นำ 50 วิก่อนถึงสเตจสุดท้ายนี่ก็เรียกว่าได้แชมป์แบบแบเบอร์ไปแล้ว แต่ไม่ใช่วันนั้นครับ เพราะสเตจสุดท้ายคือการแข่งขันจับเวลาเดี่ยว (Individual Time Trial) ระยะทาง 24.5 กิโลเมตร นสพ. ทั่วฝรั่งเศสนี่เตรียมภาพและจั่วหัวพร้อมพิมพ์แล้วว่าปีนี้คนฝรั่งเศสจะเป็นแชมป์ตูร์! ไม่มีใครคิดเลยว่าเลอมองด์จะหาทางทำเวลาคืนได้ในวันสุดท้าย

เลอมองด์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นนักประดิษฐ์แห่งเปโลตองก็ไม่คิดจะยอมแพ้ง่ายๆ เขาคือชาวอเมริกันคนแรกที่ได้แชมป์ตูร์มาแล้วหนึ่งสมัย (1986) สมัยนั้นมันยากมากที่นักปั่นนอกยุโรปจะมาเติบโต โด่งดังและมีผลงานในกีฬาจักรยานอาชีพ

ก่อนลงแข่งตูร์เลอมองด์พบว่ากฏของสหัพันธ์จักรยานนานาชาติ (UCI) ไม่ได้ห้ามให้นักปั่นใช้แอโรบาร์กับเสือหมอบ (หรือเป็นที่รู้จักกันตอนนั้นว่าไตรบาร์ ใช้แข่งในไตรกีฬาเป็นปกติ)​ เขาเลยเริ่มใช้ตั้งแต่สเตจ Time Trial ครั้งแรกในสเตจ 5 และมันก็ได้ผลครับ เพราะนอกจากจะได้แชมป์สเตจแล้วเขายังชนะอันดับสองขาดลอย แอโรบาร์ช่วยให้เลอมองด์ปั่นในท่านอนระนาบแนบไปกับเฟรม ประหยัดพลังกว่านักปั่นคนอื่นๆ มาก สมัยนี้เราอาจจะคิดว่าเรื่องแบบนี้ใครๆ ก็รู้ แต่สมัยนั้นไม่มีทีมไหนคิดว่าแอโรไดนามิกจะมีผลกับการแข่งจักรยานครับ

นอกจากเลอมองด์จะใช้ไตรบาร์แล้ว เขายังใช้ล้อดิสก์หลังและหมวกกันน็อคทรงหยดน้ำด้วย ในขณะที่ฟิญญองใช้จักรยานธรรมดาแฮนด์ดรอปธรรมดา

และวันนั้นเลอมองด์ปั่นแบบเต็มเหนี่ยว เขาปั่นจบคอร์ส 24.5 กิโลเมตรด้วยความเร็วเฉลี่ย 54.545 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยใช้อัตราทด 54×11 (เป็นสถิติที่อยู่นานถึง 26 ปี เพิ่งถูกทำลายโดยโรฮาน เดนนิสจาก BMC ในปี 2015 ที่ความเร็ว 55.446 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)

ระหว่างที่ปั่นเลอมองด์ขอร้องทีมว่าจะไม่ใช้วิทยุสื่อสาร จะปั่นเองโดยไม่ฟังคำสั่งใดๆ จากทีมทั้งสิ้น กลับกันฟิญญองเลือกใช้วิทยุและขอข้อมูลอัปเดตเวลากันแบบกิโลเมตรต่อกิโลเมตร

เมื่อเลอมองด์เข้าเส้นชัยแล้ว ฟิญญองเป็นนักปั่นคนสุดท้ายที่อยู่บนสนาม ถึง 200 เมตรสุดท้าย ฟิญญองยังมีเวลานำเลอมองด์แค่ 2 วินาทีเท่านั้น แต่ที่ 150 เมตรหน้าเส้นชัย เส้นทางกลับเป็นถนนหินที่ชันขึ้นเล็กน้อย ฟิญญองที่นอนไม่หลับในคืนก่อนหน้าและระบมก้นตั้งแต่สเตจ 19 แรงตกและสุดท้ายทำเวลาช้ากว่าเลอมองด์ 8 วินาที เสียเสื้อเหลืองและพ่ายแชมป์ในที่สุด

หลังจากแข่งขันกันมา 3,288 กิโลเมตร ฟิญญองพ่ายให้เลอมองด์แค่ 150 เมตรสุดท้ายเท่านั้น (คิดเป็น 0.00456% ของระยะทางทั้งหมด)​ หลังการแข่งมีนักวิทยาศาสตร์คำนวนว่าถ้าฟิญญองยอมตัดผมหางม้าของเขาออก ซึ่งจะช่วยลดแรงต้านอากาศได้ไม่น้อย ก็น่าจะเพียงพอให้เขารักษาเสื้อเหลืองไว้ได้

ฟิญญองได้ฉายาใหม่ว่า “ท่านชาย 8 วินาที”​ (Monsieur Eight Seconds) และต้องเจอคำถามที่ทำร้ายจิตใจที่สุด คนมักทักเขาว่า “คุณคือคนที่แพ้ตูร์ 8 วินาทีหรือเปล่านะ?” ซึ่งเขาก็จะตอบ

“ไม่ใช่ ผมคือแชมป์ตูร์ 2 สมัยต่างหาก”


 

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *