ปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปปั่นจักรยานที่ไต้หวันกับเพื่อนต่างชาติ โดยเป้าหมายในการปั่นครั้งนี้คือการขึ้นไปพิชิตภูเขาที่ขึ้นชื่อว่าสูงที่สุดที่เราสามารถปั่นขึ้นไปได้ นั่นคือยอด Wuling (อู่หลิง)
ไต้หวันเป็นประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับจักรยานไม่น้อยครับ นอกจากจะเป็นผู้ผลิตจักรยานส่งออกรายใหญ่ที่สุดในโลก แล้วประเทศนี้ก็ยังมีเส้นทางที่สะดวกต่อการปั่นจักรยานและมีสถานที่ปั่นจักรยานที่น่าสนใจเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย
สถานที่ๆ ดังที่สุดก็คงไม่พ้นเทือกเขาอู่หลิง หลายคนอาจได้ยินชื่ออู่หลิงจากสื่อต่างๆ รวมถึงการแข่งขัน Taiwan KOM Challenge ที่จัดขึ้นเป็นประจำปีละ 2 ครั้ง ที่เขาปั่นขึ้นเส้นทางตะวันออก ระยะทางปั่นราว 100 กิโลเมตร กับยอดความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 3,275 เมตร
สำหรับงานที่เราไปกันเองนี้มีโค้ชจักรยาน 1 คน, นักปั่นชายสมัครเล่น 6 คน, นักปั่นหญิง 1 คน, รถเซอร์วิส 1 คัน เตรียมตัวกันมาขนาดนี้เส้นทางขึ้นอู่หลิงตะวันออกอย่างเดียวนั้นคงยังไม่สาสมใจ ดังนั้นเราจึงวางแพลนขึ้นอู่หลิงตะวันตกด้วย รวมขึ้นถึงยอด 2 ครั้งในกรอบเวลา 5 วัน
บทเรียนจากความทรมานนี้จะเป็นอย่างไร เรามาลองไล่เรียงกันดูครับ
1. รู้จักอู่หลิง
อู่หลิงเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของไต้หวันที่เราสามารถปั่นจักรยานขึ้นไปได้ ยอดอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 3,275 เมตร เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติ Taroko ซึ่งสามารถปั่นขึ้นไปได้สองเส้นทางคือ เส้นทางตะวันออก เริ่มต้นจากเมือง Hualien ระยะทางราว 100 กิโลเมตร
เส้นทางนี้เป็นเส้นทางเดียวกับที่จัดงาน Taiwan KOM Challenge กับอีกเส้นหนึ่งคือเส้นทางตะวันตก เริ่มต้นจากเมือง Puli ระยะทางสั้นกว่าเหลือเพียง 50 กิโลเมตร
2. อย่าประมาทก่อนขึ้นเขาที่ไม่คุ้นเคย
ก่อนปั่นขึ้นอู่หลิง เราพกความมั่นใจมาเต็มที่ว่าจะต้องผ่านไปได้อย่างง่ายดาย เพราะอินทนนท์ที่ว่ายากก็ยังผ่านมาได้แล้ว แต่นั่นคือความประมาท และชะล่าใจเกินไป แม้ว่าความชันอาจไม่หนักหนา แต่ตัวแปรอื่นๆ นั้นพร้อมที่จะถาโถมเข้าใส่อย่างเต็มๆ
เราเจอกับฝนที่ตกตลอดทางใน 3 วันแรก หนาวแบบไม่ทันได้เตรียมใจ สิ่งที่คนไทยพกไปมีแค่เสื้อกันลมบางๆ เท่านั้น ส่วนนักปั่นต่างชาติอื่นๆ คุ้นเคยกับฝนตกมากกว่า ดังนั้นเครื่องแต่งกายเค้าพร้อมกว่าเรามาก
เราเจอกับตะไคร่บนถนนที่พร้อมจะลื่นได้ตลอดเวลา แถมขอบทางยังเป็นร่องน้ำลึก
เราเจอกับความหนาวและลมที่เปลี่ยนแปลง อากาศเปลี่ยนแปลงตามระดับความสูง บางครั้งอากาศดี แต่พอเลี้ยวพ้นมุมเขา อากาศก็หนาวและลมพัดจักรยานเซได้ง่ายๆ
เราเจอกับออกซิเจนที่บางเบา ที่พื้นล่างปกติจะมีออกซิเจนในอากาศ 21% แต่บนยอดเขา Wuling จะเหลือออกซิเจนเพียง 14% เท่านั้น ดังนั้นแม้ว่าจะปั่นไม่หนัก Heartrate ไม่สูง แต่ก็ต้องหายใจถี่ขึ้นมากเพื่อนำออกซิเจนไปสันดาปพลังงานให้ร่างกาย
3. ทำการบ้านก่อนมาปั่นเป็นเรื่องดีเสมอ
นอกเหนือจากเรื่องอุณหภูมิและสภาพอากาศ สิ่งหนึ่งหลายคนมองข้ามแต่สำคัญมากๆ นั่นคือ “เวลาที่อาทิตย์ตกดิน” คนไทยคุ้นเคยกับพระอาทิตย์ที่ตกดินตอน 6 โมงตรง แต่ช่วงที่พวกเราไปนั้นพระอาทิตย์ตกตอน 5 โมงเย็น
ดังนั้นฟ้าจะเริ่มมืดเร็วมาก และด้วยความที่เรากะเวลาผิด ทำให้ต้องปั่นบนภูเขาท่ามกลางความมืดสนิทอยู่หลายกิโล สิ่งที่นำทางเราไปได้คือไฟที่ส่องมาจากรถที่สวนมาเท่านั้น และอย่าลืม ถนนที่ไต้หวันขับด้านขวา อย่าปั่นผิดเลนนะ
4. เฉลี่ยแรงไม่ดีอาจจะมีปั่นไม่จบ
Wuling ไม่เหมือนกับที่อื่นๆ ด้วยความสูง และระยะทางที่ยาวไกล ดังนั้นการเอาตัวรอดในขุนเขาเช่นนี้จำเป็นต้องประเมินแรงให้ดี
ช่วงแรกของภูเขาความชันไม่มาก เฉลี่ยราว 3–4% เท่านั้น ทำให้หลายคนเร่งความเร็วที่จุดนี้
แต่ช่วงท้ายของภูเขา โดยเฉพาะที่ 10 กิโลสุดท้ายนั้น ความชันเริ่มมากขึ้น แม้ว่าจะไม่ชันระดับอินทนนท์ แต่ระยะทาง 90 กิโลที่เพิ่งปั่นผ่านมานั้นได้ทำร้ายกล้ามเนื้อไปเกือบหมดสิ้นแล้ว ดังนั้นจึงเป็นช่วงที่ยากที่สุดที่ต้องบริหารแรงให้จบได้พอดี หลายๆ คนที่เคยไปปั่นมาต้องยอมถอดใจลงเข็นที่ระยะ 50 เมตรก่อนถึงเส้นชัย
5. ไม่แน่ใจก็ไม่ไหลลงเขา
สิ่งที่ยากกว่าการปั่นขึ้นเขา คือการปั่นลงเขาอย่างปลอดภัย บางช่วงของอู่หลิงนั้นเป็นทางลงลาดชันและยาว ดังนั้นหากทักษะการเบรคยังไม่ดี เบรคแช่ตลอดเวลา มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ อีกทั้งตัวถนนที่ไม่ได้เรียบสนิท บางช่วงค่อนข้างแคบ สองข้างทางเป็นเหวลึก หากเลือกได้ นั่งรถลงมาจากยอดเขาจะปลอดภัยที่สุดครับ
อีกปัจจัยที่เจอมากับตัวตอนไหลลงเขาระยะแค่ 2 กิโลเมตรพบว่า ปลายนิ้วชา ตัวสั่นเนื่องจากลมที่หอบเอาความหนาวมาด้วย ทำให้ประสิทธิภาพในการควบคุมรถยิ่งต่ำลงไปอีก
6. เห็นวิวแล้วก็หายเหนื่อย
ระหว่างทางคุณจะได้พบกับวิวสองข้างทางที่ไม่ซ้ำแบบกันเลย เริ่มต้นจากวิวหน้าผาหินตระหง่านสูงชันในบริเวณอุทยานแห่งชาติ Taroko ตัดภาพไปเป็นวิวแม่น้ำไหลที่ไหลผ่านตรงกลางช่องเขา สูงขึ้นไปอีกจะพบกับแนวป่าไม้เมืองหนาว จนถึงยอดเขาที่เปลี่ยนเป็นทุ่งหญ้าโล่งเตียน เหมือนกับวอลเปเปอร์ของ Windows XP เลยทีเดียว ดังนั้นไม่จำเป็นต้องปั่นให้เร็วที่สุด แต่ซึบซับบรรยากาศให้มากที่สุดดีกว่า
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโชคที่พกมาด้วย หากเรามาปั่นในวันที่ท้องฟ้าปิด เราจะแทบไม่เห็นอะไรเลยนอกจากสีขาวโพลนของเมฆและหมอกรอบตัว
7. อาหารอร่อย ผู้คนเป็นมิตร
อาหารที่ไต้หวันโดยส่วนตัวรู้สึกถูกปาก กินง่ายคล้ายๆ กับของประเทศไทย อีกทั้งค่าเงินที่ใกล้เคียงกัน เมื่อตีเป็นเงินไทยแล้วถือว่าถูกเลยเมื่อเทียบกับปริมาณที่ได้มา
คนไต้หวันให้เกียรติกับนักปั่นมาก แม้ว่าถนนบางช่วงจะแคบมากจนรถไม่สามารถสวนกันได้ แต่รถยนต์จะขับรออย่างใจเย็น ไม่เร่ง ไม่กดดัน และตลอดทางเราจะได้ยินเสียงตะโกน เจีย โหยว (สู้ๆ) จากชาวไต้หวัน ทั้งจากในรถยนต์ ชาวบ้านข้างทาง ไปจนถึงคนทำถนนที่พร้อมต้อนรับนักปั่นด้วยความเต็มใจ
8. นอกจากภูเขา ปั่นรอบเมืองก็สนุกไม่แพ้กัน
ทริปครั้งนี้เรามีวันพัก 1 วัน ซึ่งวันพักที่ว่าคือไม่ได้ไปปั่นขึ้นเขา แต่เปลี่ยนเป็นปั่นทางราบรอบเมือง Hualien แทน และเราพบว่ารอบเมืองนั้นสนุกไม่แพ้กัน
เส้นทางปั่นเลียบทะเลตะวันออก น้ำใส ลมเย็น อากาศดี มีทางจักรยาน แถมร้านข้างทางก็น่าแวะ เหมาะแก่การมาปั่นเล่นกินลมชมบรรยากาศ
แต่เหมือนสวรรค์แกล้ง ช่วงบ่ายดันฝนตกเลยต้องเปลี่ยนโหมดเป็นปั่นซิ่งหนีฝนกลับที่พัก จบสิ้นกันวันพักของพวกเรา
9. หากต้องการความสะดวก ให้มาตอนงาน Taiwan KOM Challenge
งาน Taiwan KOM Challenge เป็นงานใหญ่ระดับนานาชาติที่ดึงดูดนักปั่นจากทั่วทุกมุมโลกให้มาลิ้มลองประสบการณ์การปั่นขึ้นอู่หลิงโดยแชมป์ปีที่แล้วคือวินเชนโซ นิบาลี อดีตแชมป์แกรนด์ทัวร์ทั้งสามรายการ ซึ่งงานนี้จะปิดถนนแบบ 100% ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย อีกทั้งในประเทศไทยเองก็มีเอเจนซี่รับจัดทริปไปงานนี้มากมาย ซึ่งทำให้การไปปั่นสะดวกมากขึ้นเยอะครับ
10. คุ้มค่าแก่การมาเยือนทุกประการ
แม้ว่าจะมีทั้งบทเรียนที่เจ็บปวด หรือบทเรียนที่สวยงาม สรุปแล้วทุกอย่างนั้นเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่า แม้ระหว่างทางกล้ามเนื้อจะกรีดร้องจนอยากจะถอดใจ เฝ้าถามตัวเองว่าเราทุ่มเททุกอย่างเพื่อภูเขาลูกนี้ไปทำไม
แต่เมื่อไปถึงยอดเขาได้แล้วคำถามเหล่านั้นถูกลืมสิ้น รู้สึกถึงความอิ่มเอม เหมือนถูกเติมเต็มความภาคภูมิใจที่สามารถขึ้นมาถึงด้วยตัวของเราเอง เช่นนั้นแล้วผมอยากแนะนำอู่หลิงให้เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่นักปั่นควรมาให้ได้สักครั้งในชีวิตครับ