สังคมจักรยาน โดยเฉพาะเสือหมอบเป็นแวดวงที่นึกๆ ดูแล้วก็ขำดีครับ เวลาที่เราเจอจักรยานใหม่ของเพื่อน คำถามแรกที่พูดคือ “หนักเท่าไร” ตามมาติดๆ ด้วยการจับยกดูว่าเบาอย่างคำตอบของเพื่อนหรือเปล่า นั่นก็เพราะเราเชื่อว่าน้ำหนักจักรยาน (หรือน้ำหนักตัวที่หายไป) ช่วยให้ปั่นได้เร็วกว่า โดยเฉพาะเวลาขึ้นเขา แต่อุปกรณ์แต่งเบาๆ ก็ราคาแสนแพง หรือจะตั้งใจมาคุมอาหารลดน้ำหนักส่วนเกินแทนก็ยากเหลือเกิน แล้วเราจะเลือกอย่างไหนดี?
คำตอบอยู่ที่ “Power to weight”
DT เคยถามคำถามเดียวกันกับเดมอน ไรนาร์ด วิศวกรจาก Cervelo ในงาน Eurobike ปีที่ผ่านมา แต่คำตอบที่ได้ไม่ใช่อย่างที่คิดครับ ไรนาร์ดบอกเราว่า:
“ถ้าคุณคิดดีๆ ทำไมต้องเลือกระหว่างลดน้ำหนักจักรยานกับน้ำหนักตัว ทำไมไม่ลดสองอย่างเลย? ไม่ว่าน้ำหนักจะหายไปจากคนหรือจากรถ ก็ได้ประโยชน์เหมือนกัน”
ไรนาร์ดพูดถูก เพราะเวลาเราต้องสู้กับแรงโน้มถ่วงอย่างการปั่นขึ้นเขา ไม่ว่าน้ำหนักจะอยู่ที่ล้อ กระติกน้ำ หรือที่พุงของเรา มันก็เป็นน้ำหนักที่เราต้องแบกขึ้นเขาทั้งหมดอยู่ดี เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดเวลาพูดถึงน้ำหนักคนหรือจักรยานก็คือ ค่าปริมาณพลังงานที่คุณสามารถผลิตออกมาต่อน้ำหนักของร่างกาย (Power to weight ratio) ยิ่งค่านี้สูงยิ่งมีแรงสู้แรงโน้มถ่วงได้ดี
- ยกตัวอย่างเช่นคุณ A หนัก 60 กิโลกรัม มีค่า FTP* 240 วัตต์ ค่า Power to weight ของเขาคือ 240/60 = 4 วัตต์/ กิโลกรัม
- คุณ B หนัก 75 กิโลกรัม มีค่า FTP 260 วัตต์ ค่า Power to weight ของเขาคือ 260/75 = 3.46 วัตต์/ กิโลกรัม
ถึง B จะมีค่าวัตต์สูงกว่า แต่เมื่อหารกับน้ำหนักตัวแล้ว กลับได้ต่ำกว่า ซึ่งก็แปลว่าคุณ A แข็งแรงกว่า B มาก เพราะอัตราส่วนพลังต่อน้ำหนักตัวของ A สูงกว่าครับ นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมนักไต่เขาเก่งๆ อย่างคริส ฟรูม หรืออัลเบอร์โต้ คอนทาดอร์ ขึ้นเขาได้เร็วกว่านักปั่นกล้ามเยอะๆ ตัวใหญ่ๆ อย่างมาร์เซล คิทเทลนั่นเองครับ
*FTP หรือ Functional Threshold Power คือค่ากำลังที่คุณสามารถปั่นได้มากที่สุดภายในหนึ่งชั่วโมง จะรู้ค่านี้ได้จำเป็นต้องมีเครื่องพาวเวอร์มิเตอร์ครับ
น้ำหนักตัวน้อยเกินก็ใช่ว่าดี
การลดน้ำหนักตัวก็อาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดีเสมอไป โดยเฉพาะถ้าคุณทำผิดวิธี ถ้าน้ำหนักตัวที่หายไปคือมวลกล้ามเนื้อ เราก็จะออกแรงได้น้อยลงกว่าเดิมด้วย นั่นหมายความว่าเวลาเราลดน้ำหนัก น้ำหนักที่หายไปควรจะมาจากไขมันเท่านั้น ถ้ามวลกล้ามเนื้อเราหายไป ค่า power to weight เราก็จะลดลงตามไปด้วย
เช่นนั้นแล้วจะตะบี้ตะบันอดอาหารเพื่อลดน้ำหนักก็คงไม่ฉลาดนัก ถ้าเรามีไขมันส่วนเกินอยู่มาก การไดเอ็ตอย่างเดียวจะพาลลดกล้ามเนื้อส่วนสำคัญในการปั่นไปด้วย ก็ต้องเสริมด้วยการออกกำลังกายลักษณ stregnth และ weight training ควบคู่ไปเพื่อคงมวลกล้ามเนื้อในขณะที่เผาผลาญไขมันส่วนเกินครับ (เรื่องวิธีและประเภทการออกกำลังเราจะมาว่ากันอีกทีนะฮะ)
แล้วจักรยานเบาๆ ละ?
กฏที่แน่นอนที่สุดในโลกจักรยานก็คือ “ยิ่งเบายิ่งแพง”
จักรยานและชิ้นส่วนที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์สมัยใหม่ มีน้ำหนักเบามาก และมีความสติฟสูง นั่นคือผู้ปั่นไม่เสียแรงกระทำ มีแรงกดลูกบันไดเท่าไรจักรยานก็พุ่งไปข้างหน้าได้ไว้เท่านั้น ผิดกับวัสดุสมัยก่อนที่อาจจะไม่สติฟมาก (ย้วย) ทำให้แรงที่เราออกปั่นทั้งหมดศูนย์เสียไปกับการให้ตัวของวัสดุ
ถ้าจักรยานเราเบาขึ้น ก็หมายความว่าค่า power to weight มันจะสูงขึ้นด้วย เพราะตอนเราปั่นขึ้นเขาอย่าลืมว่าน้ำหนักที่เราต้องออกแรงยกทั้งหมดรวมจักรยานที่คุณปั่นอยู่ครับ จักรยานยิ่งเบาการขึ้นเขาก็ง่ายและเปลืองแรงน้อยกว่าเดิม
แต่ประโยชน์จากจักรยานเบามันเห็นชัดขนาดไหน? เดมอน ไรนาร์ดเคยอธิบายเรื่องนี้ไว้ครับ เขาบอกว่า ประโยชน์จากล้อ หรือเฟรมที่มีน้ำหนักเบามาก มันอาจจะรู้สึกได้เวลาปั่น แต่ความรู้สึกนั้นเมื่อวัดออกมาเป็นค่าความเร็วจริงๆ แล้วมันเร็วขึ้นกว่าเดิมเท่าไร?
สิ่งที่ Cervelo ค้นพบคือประโยชน์ไม่ได้เพิ่มมากอย่างที่คุณหวัง: ถ้าเทียบน้ำหนักล้อคาร์บอนเบาหวิวราคาเหยียบแสนบาท กับน้ำหนักทั้งระบบ (จักรยาน+คนปั่น) น้ำหนักล้อก็เป็นแค่เสี้ยวเดียวเท่านั้น เช่น 1.2 กิโล (ล้อ) : 75 กิโล (ระบบ) ล้อคู่เดิมของคุณอาจจะหนัก 1.5 กิโลกรัม แต่ 300 กรัมที่หายไปนั้นไม่ได้เป็นผลให้เราขึ้นเขาได้เร็วกว่าเดิมขนาดถึงขั้นแพ้-ชนะ
แอโรไดนามิคก็สำคัญ
แรงต้านที่เป็นอุปสรรคต่อการปั่นจักรยานที่สุดก็คือแรงต้านลม ไรนาร์ดอธิบายต่อว่าถ้าสภาพภูมิประเทศที่เราปั่นไม่ชันเกิน 5% การลดแรงต้านลมจากอุปกรณ์และท่าปั่นมีประโยชน์ (ทำให้เราไปได้เร็วขึ้น) กว่าการพยายามลดน้ำหนักอุปกรณ์อย่างเห็นได้ชัด สำหรับนักกีฬาอาชีพที่แข็งแรง ปั่นได้เร็วกว่ามือสมัครเล่น ประโยชน์ของการลดแรงต้านลมใช้ได้ที่ความชันถึง 8%
นิตยสาร TOUR Magazine (ฉบับ 2/2015) ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นนิตยสารจักรยานที่ทดลองและรีวิวจักรยานได้น่าเชื่อถือที่สุดในโลก ทำการทดลองเรื่องประโยชน์ของการลดแรงต้านลม vs การลดน้ำหนัก ผลของการทดลองพบว่า:
“ในการปั่นระยะทาง 100 กิโลเมตรที่มีการไต่เขาสูง 500 เมตร คุณต้องลดน้ำหนัก (คน+จักรยาน) ถึง 7 กิโลกรัม เพื่อให้ถึงยอดเขาพร้อมจักรยานคันที่แอโรที่สุดในการทดสอบ (Ceverlo S5/ Canyon Aeroad CF SLX)”
พูดง่ายๆ จักรยานและคนปั่นที่แอโรลู่ลม จะไปได้เร็วกว่าจักรยานและคนปั่นที่น้ำหนักเบา ถ้าไม่ใช่เส้นทางที่ปีนเขาสูงชันตลอดเวลาครับ (ถ้าทั้งแอโรทั้งเบาก็จะเร็วที่สุด!)
เดินทางสายกลาง
แต่ถึงที่สุดแล้วคุณเคยถามตัวเองหรือเปล่าว่าเราลดน้ำหนักจักรยานไปเพื่ออะไร? เวลาออกปั่นแต่ละครั้งเราต้องแบกขวดน้ำที่หนักอย่างน้อย 500 กรัม ถ้าแบกสองขวด นั่นคือ 1 กิโลที่เพิ่มขึ้นมาเฉยๆ ถ้าเป็นขวดใหญ่สองขวดก็หนักถึง 1.5 กิโล! เท่าล้ออลูมินัมดีๆ หนึ่งคู่เลยนะครับ
ว่ากันว่าถ้าคุณมีเงินห้าหมื่นบาท และอยากจะลงทุนให้มันเกิดผลที่สุดในการแข่งขัน สู้เอาเงินไปจ้างคนส่งน้ำ (ไม่ต้องแบกเอง!) จะคุ้มกว่าลดน้ำหนักเฟรมหนึ่งกิโลกรัมเสียอีก
ยังไม่รวมอุปกรณ์ซ่อมสารพัดอย่างเวลาที่ต้องออกปั่นไกลๆ ยางสำรอง ประแจงัดยาง ชุดเครื่องมือ คอมพิวเตอร์ติดรถ ไฟหน้า ไฟหลัง และช่วงนี้มีเรื่องของเกียร์ไฟฟ้าที่คนกำลังนิยม แต่กลับมีน้ำหนักมากกว่าเกียร์จักรกล
อีกทางเลือกหนึ่งก็คือ เงินห้าหมื่นบาทนั้นเอาไปจ้างโค้ช หรือเข้ายิมเพื่อฝึกซ้อมให้ตรงกับเป้าหมายการปั่นของเราน่าจะคุ้มกว่าการอัปเกรดจักรยาน คิดดูดีๆ ถ้าจักรยานคุณหนัก 7.5 กิโลกรัม (ซึ่งถือว่าไม่เลว) กับตัวคุณที่หนัก 75 กิโลกรัม น้ำหนักจักรยานคิดเป็นแค่ 10% ของน้ำหนักรวมเท่านั้น การลงทุนที่คุ้มค่ากว่าย่อมดีเป็นการลดไขมันส่วนเกินในร่างกาย
แล้วเราเลือกอะไรดี?
สรุปแล้ว DT คิดว่าคุณจะเลือกอัปเกรดจักรยานหรืออัปเกรดกล้ามขา ก็ไม่มีใครบอกแทนคุณได้ว่าอย่างไหนดีที่สุด เพราะมันขึ้นอยู่กับเป้าหมายในการปั่นจักรยานของเราครับ บางคนแค่อยากแต่งรถและพอใจที่จะได้เห็นตัวเลขน้อยๆ บนตาชั่ง เขาอาจจะไม่ปั่นมาก ไม่ได้แข่งขันแต่มีความสุข ก็ไม่ใช่เรื่องผิด
หรือถ้าคุณมีเป้าหมายเป็นการแข่ง Time Trial บนทางราบ การลดน้ำหนักจักรยานอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยได้ประโยชน์และไม่คุ้มเงิน เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดในการปั่น Time Trial คือแรงต้านลม เมื่อปั่นได้ความเร็วคงที่และไม่มีการเร่งกระชากเหมือนการแข่ง road race น้ำหนักอุปกรณ์แทบไม่มีผลต่อประสิทธิภาพการปั่น สู้เอาเงินไปซื้อเฟรมแอโร หมวกแอโร ชุดสกินสูท หรือทำไบค์ฟิตติ้งปรับท่าปั่นให้มุดลมก็จะคุ้มค่ากว่า
แต่ถ้าคุณเป็นสายแพะภูเขา หลงรักการปีนดอย สิ่งที่คุณต้องให้ความสำคัญก็คือน้ำหนัก ทั้งตัวคนและจักรยานครับ
- ลดน้ำหนักตัวเองก่อน (ถูก เห็นผลชัดสุด หล่อขึ้น/ สวยขึ้นด้วย)
- ดูเป้าหมายการปั่น (ขึ้นเขาบ่อยก็แต่งรถเท่าที่จ่ายไหว ถ้าปั่นแต่ทางราบ ชอบแช่ความเร็ว ไม่ชอบพุ่งกระชาก ก็อย่ากังวลเรื่องน้ำหนักมาก สนใจเรื่องแอโรไดนามิกจะเห็นผลชัดกว่า)
- ดีที่สุดคือลดน้ำหนักทั้งคนทั้งรถ (โดยที่ไม่เสียกล้ามเนื้อ) แบบนี้เห็นผลชัดสุดแน่นอน แต่ระวังกระเป๋าแฟ่บนะครับ :D
***