ผมเชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยผ่านตาล้อยี่ห้อ Lightweight นี้มาบ้างแล้ว ด้วยดีไซน์ที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์และชื่อยี่ห้อที่ทำไม “ตรงไปตรงมา” จัง 🤣
และล่าสุดคือเป็นล้อที่ทีมจักรยานชื่อดังอย่าง INEOS ใช้แข่ง Tour de France ในปีที่แล้วจนได้แชมป์ จนทำให้คนสงสัยว่ามันมีดียังไง เพราะปกติแล้วเราก็ไม่ได้เห็นทีมจักรยานไหนใช้แข่งขันกัน
โดยประวัติแล้วล้อยี่ห้อนี้จัดว่าเป็นตำนานของวงการจักรยานเสือหมอบทีเดียว
วันนี้เรามีโอกาสดีได้เปิดกล่องสำรวจ Lightweight กันใกล้ๆ (แต่เสียดายว่าเอาไปขี่ไม่ได้ครับ) แต่ไม่เป็นไรเราจะ Unboxing กันอย่างละเอียดครับ
กำเนิดจากความล้มเหลว
ไม่ใช่ทุกโปรเจ็คที่จะประสบความสำเร็จตั้งแต่ก้าวแรก Lightweight เองก็เช่นกัน
ราวๆ ปี 1984 รูดอล์ฟ ดิเอิร์ลและไฮนซ์ โอเบอร์มาเยอร์ สองวิศวกรจากเยอรมนีร่วมกันก่อตั้งบริษัทเล็กๆ เพื่อผลิตชิ้นส่วนรถแข่ง อย่างพวกกันชนและสปอยเลอร์ที่ทำจากไฟเบอร์กลาส ระหว่างนั้นทั้งคู่ก็ลองคิดทำชิ้นส่วนอื่นๆ ที่บริษัทในตลาดไม่นิยมทำกัน เช่นแผ่นปิดซี่ล้อจักรยานเด็ก ที่ช่วยไม่ให้เท้าเด็กเข้าไปติดในล้อ
ชิ้นส่วนที่ว่านี้ จริงๆ แล้วมันก็คือแฟริ่งนั่นเองครับ จนวันหนึ่งนักไตรกีฬามาเห็นแฟริงล้อจักรยานเด็กนี้ เขาก็เลยขอให้ทำใช้กับจักรยานไตรกีฬาบ้างเพื่อช่วยเรื่องแอโรไดนามิก ก็เลยเป็นไอเดียให้ทั้งไฮนซ์และดิเอิร์ลหันมาสนใจการทำล้อรูปแบบใหม่สำหรับการแข่งขันกีฬา
พวกเขาเริ่มจากการทำล้อให้รถแข่งม้าลาก (Harness Racing) แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับที่ดีเท่าไร เลยเบนเข็มไปทำล้อจักรยานแข่งขันแทน จนในปี 1990 ทั้งคู่ทำล้อดิสก์ที่ชื่อ Ultec สำหรับแข่งไทม์ไทรอัลได้สำเร็จ โดยโครงสร้างทำจากคาร์บอนและอะรามิดไฟเบอร์ มีแกนด้านในเป็นโฟม
ผลงานของทั้งสองคนเริ่มเป็นที่สนใจจากกลุ่มนักแข่งจักรยานลู่และจักรยานถนน จากปี 1990 ที่ผลิตแต่ล้อดิสก์อย่างเดียว ทั้งคู่ก็เริ่มหันมาพัฒนาล้อแข่งขันสำหรับเสือหมอบบ้าง
เมื่อลองสำรวจตลาดล้อจักรยานแข่งขันแล้ว พวกเขากลับมองว่าไม่อยากจะทำล้อจักรยานแข่งขันอลูมิเนียมแบบเดิมๆ เหมือนที่ทุกค่ายทำกัน เพราะถึงจะทำให้น้ำล้อหนักน้อยลงได้ก็ไม่ใช่โปรเจ็คที่น่าสนใจขนาดนั้น ด้วยความเชี่ยวชาญด้านวัสดุคอมโพสิท
ทั้งคู่เลยตกลงกันว่าจะลองทำล้อจักรยานแข่งขันที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ 100% ตั้งแต่ขอบล้อ ซี่ล้อ และดุม ซึ่งเป็นดีไซน์ที่ไม่มีใครทำมาก่อน เพราะคิดว่ามันเปราะบางเกินกว่าจะใช้ในการแข่งขันลงสนามจริงๆ
การจะทำล้อจักรยานจากคาร์บอนไฟเบอร์ก็ไม่ง่ายสำหรับสองวิศวกรกระเป๋าแบนที่อยู่ชานเมืองมิวนิค ทั้งคู่ไม่มีเครื่องมือในการผลิต ไม่มีต้นทุน เลยต้องดัดแปลงเครื่องฮีตเตอร์จากรถแทรคเตอร์เก่าๆ มาทำเป็นเตาอบคาร์บอน และสร้างแม่แบบล้อจากวัสดุที่หาได้ทั่วไปแถวๆ บ้าน เปลี่ยนโรงรถมาเป็นโรงผลิตล้อคาร์บอนที่ทำออกมาได้แค่วันละหนึ่งคู่
Sub 1,000g
ภายในปี 1994 ทั้งคู่ทำล้อฟูลคาร์บอนได้สำเร็จ รูปทรงที่ออกมานั้นไม่เหมือนล้อจักรยานที่เราเห็นในตลาดเลยในช่วงเวลานั้น ขอบล้อรูปทรงวีเชป แหลมเรียว เชื่อมกับซี่ล้อคาร์บอนไฟเบอร์แบน ที่โยงไปประกบกับโครงดุมล้อที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ทั้งหมดเช่นกัน
ในช่วงปี 90s ที่เทคโนโลยีคอมโพสิทยังไม่ก้าวหน้าเหมือนสมัยนี้การจะทำล้อจักรยานให้ทั้งแข็งแรงและเบาไม่ใช่เรื่องง่ายเลย สิ่งที่ Lightweight ทำออกมาได้จึงเป็นงานสร้างสรรค์ที่น่ามหัศจรรย์ เพราะพวกเขาได้ดึงเอาคุณสมบัติของคาร์บอนไฟเบอร์ ที่ทั้งแข็งแรงและเบาเมื่อเทียบกับโลหะ ออกมาใช้ได้อย่างครบถ้วน
ผลลัพธ์ที่ได้คือล้อจักรยานแข่งขันที่น้ำหนักต่ำกว่า 1,000 กรัมต่อคู่ แข็งแรงทนทานพอที่จะใช้ลงแข่งได้ในเส้นทางหลากหลายรูปแบบ ในขณะที่ล้ออลูมิเนียมจากแบรนด์อื่นที่หนักราวๆ 1,400 กรัม ถูกตั้งข้อสงสัยว่า “เบาเกินไป” และบอบบางจนเสี่ยงอันตราย
เมื่อค้นพบว่าตัวเองได้สร้างอาวุธลับที่นักแข่งทั่วโลกต้องการ ไฮนซ์และดิเอิร์ลก็ตั้งชื่อบริษัทล้อจักรยานนี้ว่า “Lightweight” แปลตรงๆ ว่า “น้ำหนักเบา” โดยไม่มีการทำการตลาดอื่นๆ เพราะเพียงแค่ผลิตล้อแต่ละวันก็หมดเวลาทำงานอย่างอื่นแล้ว ด้วยหน้าตาล้อที่ดูแหวกแนวและใช้วัสดุล้ำสมัย Lightweight ไม่สามารถผลิตล้อได้ทันตามยอดสั่ง มีคิวรอ waiting list ยาวเกิน 1 ปี 😱
ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร
เหตุผลที่เราไม่เห็นล้อ Lightweight ในการแข่งขันอาชีพมากนัก ก็เพราะว่าบริษัทมีนโยบาย “ไม่สนับสนุนโปรทีม” นั่นคือจะไม่มีทีมไหนได้ล้อ Lightweight ไปใช้ฟรีๆ แม้แต่ทีม INEOS ที่เราเห็นในปีที่แล้ว ทาง Lightweight ก็ออกมาบอกว่าทีมซื้อไปใช้เอง (แต่ก็คงจะได้ส่วนลดไม่น้อย) แม้แต่แลนซ์ อาร์มสตรองก็เคยถูกปฏิเสธเมื่อเขาขอสปอนเซอร์ฟรีจาก Lightweight เพื่อที่จะเอาไปลงแข่ง Tour de France จนกลายเป็นเรื่องเล่าที่เป็นตำนานของวงการจักรยานไปแล้ว
ไฮนซ์ เล่าให้นักเขียนจากนิตยสาร Rouleur ฟังว่า เดือนมิถุนายนวันหนึ่งเขาได้รับโทรศัพท์จากโยฮาน บรูนีล ผู้จัดการทีมของแลนซ์ อาร์มสตรอง ซึ่ง “ขอ” ล้อ Lightweights 5 คู่ ไฮนซ์ตอบไปว่า “ไม่ได้หรอก เรายุ่งมาก เราทำให้ได้แค่สองคู่”
บรูนีลตอบว่า “ไม่เป็นไร สองคู่ก่อนก็ได้”
เวลาผ่านไปสักพัก อีกไม่นาน Tour de France ก็จะเริ่ม แต่แลนซ์ยังไม่ได้ล้อ Lightweight บรูนีลเลยโทรทวงล้อจากไฮนซ์อีกครั้ง
“นี่จะเริ่มแข่งแล้ว คุณส่งล้อมาหรือยัง?”
ไฮนซ์ตอบ: “แต่คุณยังไม่จ่ายผมเลยนะ”
บรูนีลทึ่งในคำตอบของไฮนซ์ ในยุคที่อาร์มสตรองโด่งดังที่สุดนั้น มีแต่แบรนด์จักรยานที่อยากกราบอ้อนวอนให้แลนซ์ใช้ของๆ พวกเขาพร้อมจะแถมเงินให้อีกเป็นล้านๆ
“คุณรู้ไหมว่าคุณกำลังพูดอยู่กับใคร? นี่ผมแลนซ์ อาร์มสตรองถือสายอยู่”
ไฮนซ์ไม่สนใจ: “ฟังนะไอ้หนู ไม่ว่าแกจะเป็นใครก็ต้องจ่ายเหมือนกันทั้งนั้นแหละ”
…
เรื่องของแลนซ์ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีคนขอล้อ Lightweight ฟรี ไฮนซ์เล่าต่อว่าแม้แต่เออร์เนสโต้ โคลนาโก้ เจ้าของแบรนด์ Colnago อันเลื่องชื่อก็เคยขอล้อเขาฟรีถึง 50 คู่ แล้วเออร์เนสโต้ก็โกรธมากเมื่อไฮนซ์ปฏิเสธ ไฮนซ์ด่าเออร์เนสโต้ว่า “คุณมันเห็นแก่ได้” ส่วนเออร์เนสโต้ก็ตอบกลับรุนแรงไม่แพ้กันด้วยประโยคสั้นๆ ว่า “ไอ้เวร” พร้อมกระแทหูโทรศัพท์วางสายไป
Lightweight โด่งดังขึ้นเรื่อยๆ ทั้งด้วยชื่อเสียงจากประสิทธิภาพที่คู่แข่งไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ ราคาที่สูงโดด และคิวที่ต้องรอข้ามปี เรียกว่าต่อให้มีเงินก็ซื้อไม่ได้ แม้แต่ Mavic ผู้ผลิตล้อดังจากฝรั่งเศสก็เคยพยายามซื้อล้อ Lightweight กว่า 50 คู่ไปทำวิศวกรรมผันกลับ (reverse engineering) จนได้ออกมาเป็นล้อ Mavic CCU ซึ่งทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ทั้งชิ้นเช่นกัน แต่ก็ไม่ใช่รูปแบบเดียวกับที่ Lightweight ทำ และทาง Lightweight เคลมว่าประสิทธิภาพของ CCU นั้นยังไม่ “ทัดเทียม”
จากโรงงานห้องแถว
แน่นอนว่าการให้ลูกค้ารอคิวเป็นปีๆ นั้นไม่ใช่ธุรกิจที่ดีสักเท่าไรครับ ในปี 2003 CarbonSports GmbH บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุคอมโพสิทรายใหญ่ที่มีงานระดับร่วมกับ NASA, ผลิตชิ้นส่วนให้สายการบิน เครื่องมือแพทย์ ดาวเทียม และชิ้นส่วนรถ F1 ขอซื้อกิจการ Lightweight จากไฮนซ์และดิเอิร์ล และนำล้อ Lightweight เข้าสู่กระบวนการผลิตสมัยใหม่ ไม่ได้ใช้เตาอบดัดแปลงจากรถแทรคเตอร์กับโมลด์ล้อไม้อัดเหมือนสมัยก่อน พร้อมย้ายสถานที่ผลิตไปที่เมืองฟรีดีชาฟเฟน
ถึงไฮนซ์จะขายบริษัทไปแล้ว แต่เขาก็ยังทำงานเป็นที่ปรึกษาคอยสอนให้วิศวกร CarbonSports เข้าใจถึงหัวใจการผลิตล้อ Lightweight อย่างใกล้ชิดในขณะที่ดิเอิร์ลรีไทร์หยุดเกี่ยวข้องกับกิจการ Lightweight
เออร์ฮาร์ด วิซเลอร์ เจ้าของ CarbonSports ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Rouleur ภายหลังว่า “จุดสูงสุดของบริษัทที่ทำชิ้นส่วนคอมโพสิทของพวกเราคือการได้ทำชิ้นส่วนดาวเทียม แต่สิ่งที่ยากที่สุดที่พวกเราเคยทำกลับเป็นล้อจักรยานแบบ clincher”
คำพูดนี้ฟังดูเหลือเชื่อเกินจริง แต่แท้จริงแล้วล้อจักรยานประเภท carbon clincher เป็นสิ่งที่ทำให้ใช้งานได้ดี ประสิทธิภาพสูงและปลอดภัยได้ยาก เพราะล้อต้องรับทั้งแรงกด แรงสะเทือนจากพื้นถนน แรงเหวี่ยง และแรงดันลมที่ผลักออกสู่ขอบล้อตลอดเวลา รวมทั้งยังมีความร้อนที่เกิดจากการใช้งานเบรก
ถ้าต้องเพิ่มองค์ประกอบเพื่อให้ล้อปลอดภัยขึ้น เช่นเสริมขอบเบรกให้ทนความร้อน น้ำหนักก็ต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ในโลกจักรยานที่แข่งขันกันหาข้อได้เปรียบกันด้วยน้ำหนักระดับ 5-10 กรัม การจะหาจุดสมดุลที่ให้ทั้งประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และราคาที่เหมาะสมนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และสิ่งที่ Lightweight เลือก คือเลือกจะไม่ลดต้นทุนการผลิต
เออฮาร์ดกล่าวว่า “เป้าหมายของเราคือสร้างล้อที่มีเอกลักษณ์และประสิทธิภาพดีที่สุดในตลาด รวมถึงทำสิ่งใหม่ๆ ที่คู่แข่งเราทำไม่ได้ จะให้เราขายถูกกว่านี้ก็ได้ถ้าเรามีโรงงานผลิตอยู่ในจีน”
“แต่นั่นไม่ใช่วิถีของเรา เราภูมิใจที่สินค้าเราผลิตที่โรงงานของเราเองในเยอรมนี ผมภูมิใจกับพนักงานทุกคนใน Lightweight กว่าห้าสิบชีวิต ผมภูมิใจในงานที่เราทำ Lightweight เป็นสิ่งที่พิเศษมากในชีวิตของเรา – ของผม”
Meilenstein 24E Schwarz
ส่วน Lightweight ที่เราได้แกะกล่องดูวันนี้กันก็คือ Lightweight Meilenstein 24E Schwarz Edition dเป็นรุ่นพิเศษจากซีรีย์ Lightweight Meilenstein ตรงที่มากับลูกปืนเซรามิกจาก CeramicSpeed นั่นเอง
ตัวระบุ 24E หลังชื่อรุ่นล้อนั่นบ่งบอกว่าเป็นล้อ Lightweight เจเนอเรชันใหม่ที่เพิ่มความกว้างของขอบล้อด้านนอกจาก 20mm ไปเป็น 24mm เพื่อให้รองรับการใช้งานยางหน้ากว้าง 25mm ที่ตอนนี้เป็นความกว้างมาตรฐานของจักรยานเสือหมอบได้สะดวกขึ้น
ยางหน้ากว้าง 25mm ดีกว่า 23mm ยังไง? กล่าวอย่างสั้นๆ คือยางขนาดใหญ่ขึ้นนั้นจะรับปริมาตรลมได้มากกว่ายางที่หน้ากว้างน้อยกว่า ทำให้เราไม่ต้องใช้แรงดันลมสูงมากๆ เหมือนกับตอนที่ใช้ยางหน้าแคบ ซึ่งทำให้รถกระดอนน้อยลง เพิ่มความสบายลดความสะท้าน และยังช่วยเรื่องลด rolling resistance ทำให้ใช้แรงในการปั่นน้อยลงด้วย ล้อที่ทำขอบล้อให้กว้างขึ้น ก็ช่วยให้ซัพพอร์ทยางหน้ากว้างได้พอเหมาะพอดีขึ้น ยางไม่ล้นเกินขอบออกมานั่นเอง
ความสูงขอบล้ออยู่ที่ 48mm เป็นความสูงระดับกลางๆ ที่น่าจะใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ
แล้วน้ำหนักเป็นยังไงบ้าง? Lightweight Meilenstein 24E มีให้เลือกทั้งหมดสี่รุ่น แบ่งออกเป็นรุ่นยางงัด (clincher) 2 รุ่น และ tubular 2 รุ่น
- 16/20 Tubular – ล้อหน้า 16 ซี่ ล้อหลัง 20 ซี่ / 1,165 กรัม / รับน้ำหนักผู้ใช้สูงสุด 100 กิโลกรัม
- 20/20 Tubular – ล้อหน้า 20 ซี่ ล้อหลัง 20 ซี่ / 1,180 กรัม / รับน้ำหนักผู้ใช้สูงสุด 120 กิโลกรัม
- 16/20 Clincher – ล้อหน้า 16 ซี่ ล้อหลัง 20 ซี่ / 1,290 กรัม / รับน้ำหนักผู้ใช้สูงสุด 100 กิโลกรัม
- 20/20 Clincher – ล้อหน้า 20 ซี่ ล้อหลัง 20 ซี่ / 1,305 กรัม / รับน้ำหนักผู้ใช้สูงสุด 120 กิโลกรัม
รุ่น Tubular จะใช้ไส้ในดุม DT Swiss 240s ส่วน Clincher ใช้ DT Swiss 190s ทั้งสองรุ่นใช้โครงดุมคาร์บอนไฟเบอร์ที่ Lightweight ผลิตเอง
ในยุคที่ล้อจากค่ายอื่นๆ ก็ทำน้ำหนักได้ไม่ด้อยไปกว่าล้อ Lightweight ในราคาที่ถูกกว่ามากนั้น คำถามคือแล้วอะไรที่เป็นความโดดเด่นของล้อค่ายนี้? สิ่งที่ Lightweight ยังเหนือกว่าล้อยี่ห้ออื่นก็คือเรื่องความสติฟฟ์ (ตอบสนองแรงปั่นได้เร็วทันใจ ล้อไม่บิดไม่ย้วย) จากโครงสร้างล้อที่ทุกส่วนเชื่อมโยงเป็นชิ้นเดียวกัน ตั้งแต่ขอบล้อ ซี่ล้อ ไปจนถึงดุมล้อ
แล้วล้อที่สติฟฟ์ช่วยให้เราปั่นดีขึ้นได้อย่างไร? จุดเด่นที่เห็นได้ชัดทันทีจากล้อที่สติฟฟ์คือการบังคับรถ เวลาเลี้ยวโค้ง ล้อที่สติฟฟ์จะช่วยให้เราเลี้ยวได้นิ่งและมั่นคงกว่า
ท้ายสุด ด้วยการที่ซี่ล้อเชื่อมมาเป็นชิ้นเดียวกับขอบและดุมล้อก็หมายความว่าล้อ Lightweight นั้นไม่ต้องตั้งความตึงซี่ล้อ (มันตั้งไม่ได้!) ไม่มีอาการซี่หย่อนนั่นเองครับ แต่ก็แน่นอนว่าถ้าซี่หักก็ซ่อมเองไม่ได้ด้วยเช่นกัน 😅 ต้องส่งกลับไปให้ Lightweight ซ่อมซึ่งใช้เวลา 2-3 เดือน
อย่างไรก็ดี Lightweight ถ้าใช้งานในสภาวะปกติ เช่นไม่ได้ล้มคว่ำหรือมีอะไรมากระแทกล้อแรงๆ ถึงจะน้ำหนักเบาและทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ทั้งหมด แต่ก็เป็นล้อที่แข็งแรงมากๆ เช่นเดียวกับเฟรมจักรยานคาร์บอนที่ก็ไม่ได้แตกหักง่ายๆ ครับ
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวสนุกๆ ของหนึ่งในบริษัทเก่าแก่และมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครในวงการจักรยานถนน แม้แต่ทุกวันนี้ Lightweight ก็ยังทำล้อเฉพาะจักรยานเสือหมอบเท่านั้น ไม่ได้ขยายไปแวดวงอื่น
ทุกวันนี้ Lightweight อาจจะไม่ใช่เบอร์หนึ่งเรื่องน้ำหนักล้ออีกต่อไป แต่ก็เป็นล้อที่กลายเป็นไอคอนของวงการ นักปั่นหลายคนคงอยากจะหามาลองสักครั้ง น่าเสียดายว่าล้อคู่นี้มีมูลค่าสูงเกินกว่าที่เราจะนำมาทดสอบรีวิวได้ครับ
ขอบคุณ KH Cycle Thailand ที่ส่งล้อมาให้เราแกะกล่องชมงานกันอย่างใกล้ชิดครับ 🙏