[Video] ล้อ Mad Fiber- คนบ้ากับคาร์บอน

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อผู้คลั่งไคล้ล้อจักรยานมาเจอกับนักออกแบบเครื่องบิน? คำตอบคือล้อจักรยานรูปแบบใหม่ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน วันนี้มาดูความเป็นมาของล้อคาร์บอนล้ำยุคจาก Mad Fiber ครับ

ผมติดตามดูล้อ Mad Fiber มาพักหนึ่งแล้ว เห็นมันน่าสนใจดีเพราะรูปร่างหน้าตาดูไม่เหมือนล้อทั่วๆ ไปที่เราเห็นวางขายกันในตลาด ที่สำคัญน้ำหนักเบาขั้นเทพ แค่ 1300 กรัม (ยางงัด!) วันก่อนได้ดูสารคดี “The American Way” ถ่ายทำโดย Peloton Magazine ที่เคยไปถ่ายโรงงาน Time และ Bianchi ครั้งนี้เขาทำหนังสั้นเกี่ยวกับผู้ผลิตอุปกรณ์จักรยานที่ผลิตสินค้าเองในประเทศ USA เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ ครั้งนี้เขาไปสัมภาษณ์เจ้าของ Mad Fiber และทัวร์โรงงานผลิตล้อยี่ห้อนี้ ดูแล้วน่าตื่นตาตื่นใจครับ มาดูกัน (เริ่มที่ 5.18)

กว่าจะมาเป็น Mad Fiber

madfiber5
Ric Hjertberg ผู้ก่อตั้ง Mad Fiber

ผู้ก่อตั้ง Mad Fiber นามว่า Ric Hjertberg เป็นคนที่อยู่ในวงการล้อจักรยานมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหา ก่อตั้งบริษัท Wheelsmith ผู้ผลิตซี่ล้อรายแรกๆ ของอเมริกา Mad Fiber ผลิตล้อคาร์บอนด้วยแนวคิดที่ว่า เทคโนโลยีการผลิตล้อสมัยนี้ใช้คาร์บอนไฟเบอร์เป็นวัสดุกันหมดแล้ว แต่วิธีการผลิตยังใช้แนวคิดเดิมๆ เหมือนสมัยที่ผลิตล้อด้วยโลหะและอลูมิเนียมอยู่ หมายความว่าปัจจุบันเราก็แค่ออกแบบล้อโดยใช้วัสดุคาร์บอนแทนอลูมิเนียมเท่านั้น ซึ่งอีตา Ric เห็นว่าผลิตล้อแบบนี้มันไม่ได้ดึงเอาคุณสมบัติของคาร์บอนมาใช้ได้อย่างเต็มที่ คาร์บอนทั้งเบา และมีความยืดตึง (tensile strength) สูง เป็นวัตถุดิบแห่งอนาคต ถ้าเราออกแบบล้อที่ดึงเอาคุณสมบัติคาร์บอนออกมาได้ทั้งหมด มันคงจะเป็นล้อที่เจ๋งแน่ๆ แต่จะผลิตล้อแบบนี้ได้ก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการผลิตล้อใหม่ทั้งหมด จะทำเหมือนล้อที่เขาขายกันอยู่ไม่ได้ Mad Fiber จึงผลิตเครื่องมือและโรงงานในการสร้างล้อเทพเอง ไม่ส่งไปให้โรงงานแถวๆ จีนทำเหมือนหลายๆ เจ้าครับ แน่นอนว่าความลู่ลม (aerodynamic) ก็เป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกซื้อล้อ อีตา Ric เลยแทคทีมร่วมงานกับ Max Kismarton ซึ่งเป็นวิศวะให้บริษัทการบินโบอิ้่ง เป็นผู้เชี่ยวชาญการผลิตและประยุกต์ใช้วัสดุไฮเทคในการผลิตเครื่องบินแบบรอบจัดประสบการณ์สูง ฟังดูเหมือนจะเป็นสูตรสำเร็จที่ลงตัว

hub-flangesrim-section

ขั้นตอนการผลิต

ล้อ Mad Fiber แต่ละคู่ใช้เวลาผลิต 18 ชั่วโมง handmade in USA ผลิตในโรงงานเล็กๆ ในเมือง Seattle โครงสร้างของล้อเป็นขอบล้อคาร์บอนสองข้างใช้ประกบเข้ากับแกนล้อที่ทำจากอลูมิเนียม การผลิตเริ่มจากเอาซี่ล้อคาร์บอนไปเชื่อมกับขอบล้อแล้ว นำขอบล้อคาร์บอนทั้งสองข้างประกบกับแกนอลูมิเนียม จากนั้นเชื่อมซี่ล้อเข้ากับดุมคาร์บอนอีกทีเพื่อตั้งความตึง ออกมาเป็นล้อชิ้นเดียว ประโยชน์ของวิธีการผลิตล้อแบบนี้คือล้อที่ออกมาจะมีความตึงฟิกซ์ตายตัว ไม่ต้องตั้งซี่ล้อใหม่อีกเลยตลอดการใช้งาน การเชื่อมซี่ล้อเข้ากับขอบล้อช่วยให้ไม่ต้องเจาะดุมเพื่อเสียบซี่ลวดและช่วยกระจายแรงกดไปทั่วทั้งขอบล้อ ซี่แบนลดแรงต้านลม

madfiber2
เครื่องมือขึ้นขอบล้อคาร์บอน

madfiber4

แกนอลูมิเนียมช่วยระบายความร้อนที่เกิดจากการเบรคบนขอบสัมผัสคาร์บอน
แกนอลูมิเนียมช่วยระบายความร้อนที่เกิดจากการเบรคบนขอบสัมผัสคาร์บอน

Spec

  • ขอบล้อ – หน้าสูง 60mm, หลังสูง 66mm
  •  ซี่ล้อ – ซี่ทำจากคาร์บอนห้าชั้น หน้า 12 ซี่ หลัง 18 ซี่
  • น้ำหนัก – ขอบยางงัดคู่ละ 1,300g, ยางฮาฟ Tubular คู่ละ 1,085 กรัม
  • ดุม – ไททาเนียม ใช้แกนโครโมลี่ ลูกปืนเซรามิคหรือธรรมดา
  • แกนปลด – ไททาเนียม
  • ประกัน – 4 ปี
  • น้ำหนักผู้ปั่นมากสุด – ไม่จำกัด
  • ใช้ได้กับ Shimano/SRAM และ Campagnolo
  • ราคาตั้ง – แบบลูกปืนธรรมดาประมาณ 100,000 บาท, ถ้าใส่ลูกปืนเซรามิค 110,000 บาท (ราคาแปลงจาก USD)
  • UCI approved ใช้แข่งได้
ขอบล้อ
ขอบล้อ

สรุป

แอดมินเขียนโพสต์นี้ไม่ได้เขียนเพื่อเชียร์สินค้าให้บริษัทหรือห้างร้านไหนๆ (ไม่ได้ตังก์นะครับ) แต่เพราะชอบความกล้าบ้าบิ่นของผู้ก่อตั้ง Mad Fiber ที่กล้าลงทุนสร้างล้อด้วยแนวคิดใหม่ ท้าทายหลักการผลิตอุสาหกรรมล้อจักรยานที่อยู่นิ่ง ไม่ก้าวหน้าไปตามเทคโนโลยีและกาลเวลา (If it ain’t broke, don’t fix it)…. เลยอยากเอาเรื่องน่าสนใจอย่างนี้มานำเสนอครับ ที่แน่ๆ อุสาหกรรมจักรยานจะก้าวหน้าไปได้ก็ต้องมีคนที่กล้าคิดไปข้างหน้าและกล้าทำแบบนี้ครับ

ล้อเขาจะดีหรือไม่อย่างไรคงไม่อาจทราบได้ อันนี้คนอ่านคงต้องหามาลองใช้เอง ตามทฤษฏีแล้วดูจะเป็นล้อในฝันทีเดียวทั้ง เบา แอโร่ และ stiff แต่ในทางปฏิบัติก็ต้องมีข้อเสียกันบ้าง เท่าที่ดูจากรีวิวของเว็บไซต์ต่างๆ ข้อดีคือเบามากและดุมลื่นใช้ได้ แต่ว่าถ้ามีปัญหาเล็กๆ น้อยก็ซ่อมเองไม่ได้แน่ๆ เพราะล้อขึ้นมาเป็นชิ้นเดียวถอดอะไรไม่ได้สักอย่าง ต้องส่งกลับไปเคลมอย่างเดียว

Published
Categorized as Machine

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

2 comments

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *