ผู้พันเทย์เลอร์: นักปั่นผิวสีที่โลกลืม

“ชีวิตเราสั้นเกินกว่าที่เราจะทนแบกความขมขื่นไว้ในหัวใจ”

 / มาร์แชลล์ เทย์เลอร์

* * *

จักรยานเป็นยานพาหนะที่ขับเคลื่อนสังคมในมิติที่เรามักจะคาดไม่ถึง ก่อนที่เราจะมีรถยนต์ จักรยานนำมาซึ่งความเคลื่อนไหวทางสังคม ลดช่องว่างชระหว่างชุมชนและชนชั้น และช่วยผลักดันให้นักกีฬาผู้ยากไร้หลายคนได้กลายมาเป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จในวงกว้าง

ในปี ค.ศ. 1899 มันไม่ง่ายที่จะเกิดเป็นคนผิวสีในสหรัฐอเมริกา ถึงแม้ในยุคนั้น รัฐธรรมนูญของอเมริกาจะมบีบทบัญญัติยกเลิกทาส และกำหนดให้คนผิวสี African American เป็นประชาชนอเมริกันเต็มตัวมากว่า 30 ปีแล้ว แต่ชีวิตของชนกลุ่มนี้ยังเต็มไปด้วยความยากจนแร้นแค้นและการดูถูกเหยียดหยามจากกลุ่มคนผิวขาว

ไม่มีใครเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่สร้างจากการปั่นจักรยานได้ดีไปกว่ามาร์แชลล์ “เมเจอร์” เทย์เลอร์ นักปั่นผิวสีผู้ก้าวข้ามกำแพงชนชั้นและชาติพันธ์ ซึ่งคว้ารางวัลแชมป์โลกในการแข่งสปรินต์ในสนามลู่ในปี 1899 และเป็นคนผิวสีคนที่สองที่ได้ตำแหน่งแชมป์โลกในการแข่งขันกีฬา ถึงแม้ว่าจักรยานอาชีพในสมัยนั้นจะเป็นกีฬาที่ครอบงำโดยคนผิวขาวก็ตาม

เทย์เลอร์เกิดในปี 1878 แค่หนึ่งทศวรรศก่อนสงครามกลางเมืองอเมริกันจะจบลง เทย์เลอร์เป็นคนมีพรสวรรค์เรื่องจักรยานตั้งแต่เด็ก ด้วยที่เขาชอบปั่นจักรยานโลดโผนโชว์ท่วงท่าท้าแรงโน้มถ่วงและชอบสวมใส่เครื่องแบบทหารระหว่างปั่น ทำให้เขาได้ฉายา Major หรือ “ผู้พัน” ในกลุ่มเพื่อนและได้ทำงานปั่นจักรยานผาดโผนให้ร้านจักรยานในชุมชนเพื่อดึงดูดลูกค้าเข้าร้าน

เมื่อเขาอายุได้ 13 ปี เทย์เลอร์เริ่มลงแข่งสนามลู่ระดับมือสมัครเล่นและชนะอย่างต่อเนื่อง เขาทำลายสถิติ one mile record จนนักปั่นผิวขาวต้องทึ่ง

แต่เมื่อกลไกทางสังคมยังเอื้อให้การเหยียดผิวสีเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เทย์เลอร์ที่ชนะจนแย่งผลงานนักปั่นผิวขาวเป็นนิจกลับถูกกรรมการแบนจากการแข่งตอนเขาอายุได้ 15 ปีเพราะเก่งเกินไปในฐานะนักปั่นผิวสี

เทย์เลอร์บนจักรยานไร้โซ่ที่เขาใช้ทำลายสถิติโลกในปี 1899

ด้วยความเพียรพยายามของผู้พัน ในปี 1985 สองปีให้หลังจากการโดนแบน เขาหาผู้สนับสนุนได้สำเร็จ และกลับมาผงาดในสังเวียนสนามลู่ในชายฝั่งอีสโคสต์ของอเมริกาแทบทุกหัวเมือง ไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์คหรือแมซซาชูเซ็ตต์ จนเทย์เลอร์ผันตัวมาเป็นนักปั่นอาชีพอย่างเต็มตัวในปี 1896 เมื่อเขาอายุได้ 18 ปี และทำผลงานชนะต่อเนื่องทั้งในอเมริกาและยุโรป จนเป็นฮีโร่ในสนามลู่ประเภท 6 Days Race ไปทั่วโลก

ถามว่าเทย์เลอร์เก่งกาจแค่ไหน ในปี 1989 เขาเป็นเจ้าของสถิติโลก 7 รายการในสนามลู่ ในประเภท 400,500, 600 เมตร และประเภท 1, 1.2, 1.6, 3.2 กิโลเมตร สถิติของเขาในประเภท 1.6 กิโลเมตรใช้เวลาเพียง 1:41 นาทีและคงอยู่ถึง 28 ปีเต็ม

นอกจากนี้เขายังเป็นนักปั่นผิวสีคนแรกที่ทำความเร็วสูงสุดในสนามลู่ได้ถึง 73 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ถึงแม้เขาจะไม่ได้รับการยอมรับมากนักในอเมริกา แต่เทย์เลอร์คือฮีโร่นักปั่นในยุโรปในปี 1902 เขาลงแข่งทั่วทวีปกว่า 57 รายการ และชนะถึง 40 รายการ ชื่อเสียงของเขาโด่งดังไปถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์​​ซึ่งเขาถูกเชิญให้ไปลงแข่งด้วย

ถึงเทย์เลอร์จะเป็นนักกีฬาระดับโลกคนแรกๆ ของอเมริกา แต่ในประเทศบ้านเกิดของเค้า มันยากที่จะหาคนยอมรับ เขาเป็นเหยื่อของการเหยียดชนชั้นและสีผิว ในหนังสือชีวประวัติของเขา เทย์เลอร์เล่าถึงการถูกห้ามไม่ให้ลงแข่งในหลายๆ รัฐ การถูกรังแกขว้างปาด้วยสิ่งของ ถูกสาดด้วยน้ำเย็น ถูกโยนตะปูใส่ระหว่างแข่ง และโดนหลายๆ ทีมรวมหัวกันตั้งใจขัดขวางอย่างผิดกฏและออกนอกหน้า ซึ่งกรรมการก็ทำทีไม่สนใจจะห้าม สุดท้ายเทย์เลอร์ตัดสินใจอำลาจากวงการนักปั่นในปี 1910

เทย์เลอร์เสียชีวิตในปี 1932 เขาป่วยหนักและกลับไปสู่ความยากไร้อีกครั้งเมื่อสหรัฐอเมริกาต้องเจอพิษเศรษฐกิจโลก เขามีรายได้ปีละราว 25,000-30,000 เหรียญสหรัฐซึ่งถือว่าเยอะมากในสมัยนั้น แต่เพราะการลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงปีที่เศรษฐกิจลงต่ำสุดทำให้เขากลายเป็นคนจนในชั่วข้ามคืน สุดท้ายชื่อของเขาก็หายไปจากประวัติศาสตร์การแข่งขันจักรยาน

ปัจจุบันชาวอเมริกันกลับมาให้ความสนใจและยกย่องเทย์เลอร์อีกครั้ง ไม่ว่าใครจะมองเขาอย่างไรก็ตาม เทย์เลอร์คือนักปั่นผิวสีคนแรกที่ต่อสู้ด้วยลำแข้งของตัวเองเพื่อก้าวข้ามการเหยียดชนชั้นและสีผิว กลายมาเป็นแชมป์โลกคนที่สองของคนดำในการแข่งขันกีฬา เป็นทั้งนักปั่นตัวอย่างและแรงบันดาลใจให้คนทั้งโลก ตั้งแต่สมัยที่เราไม่มีแม้โทรทัศน์ ซึ่งมันคือความสำเร็จที่ไม่มีนักกีฬาคนไหนทำได้ในยุคสมัยนั้น

ในหนังสืออัตชีวประวัติของเขา เทย์เลอร์ทิ้งท้ายว่า

“ผมเชื่อมั่นว่า การใช้ชีวิตอย่างสุจริต, การทำตามกฏการแข่งขันอย่างเข้มงวด, และการมีน้ำใจนักกีฬา คือสามเสาหลัก ที่ยอดนักกีฬาควรต้องยึดถือไว้ให้มั่นทุกคน”

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *