มาร์ค ไรอัน: บทเรียนแชมป์โลกทีมเปอร์ซูทและเจ้าของเหรียญทองแดงโอลิมปิก 2 สมัย

ถึงจักรยานจะเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากในประเทศไทย แต่เชื่อหรือไม่ว่าเรามีโค้ชจักรยานน้อยมาก เมื่อเทียบกับสัดส่วนจำนวนคนปั่นทั้งหมด ไม่น่าแปลกใจนักเพราะในเชิงการกีฬาแล้วที่หวังความเป็นเลิศ จักรยานก็ยังเป็นกีฬาขนาดเล็ก เรามีโค้ชจักรยานที่เปิดสอนนักปั่นทั่วไปไม่ถึงยี่สิบคน หรืออาจจะน้อยกว่า (ไม่นับโค้ชในยิมนะครับ​)

ไม่นานมานี้ Ducking Tiger ได้รู้จักกับอดีตนักปั่นอาชีพชาวนิวซีแลนด์คนหนึ่งที่ย้ายมาอยู่ประเทศไทย และอาจจะพูดได้ว่าเป็นนักปั่นที่ประสบความสำเร็จที่สุดที่อาศัยอยู่ในไทยตอนนี้ก็ว่าได้

ชายคนนี้คือมาร์ค ไรอัน อดีตนักปั่นทีมเปอร์ซูตทีมชาตินิวซีแลนด์ วัย 36 ปี

ทีมชาตินิวซีแลนด์ในศึกชิงแชมป์โลกทีมเปอร์ซูต 2015 (มาร์คคือคนกลาง)

มาร์คเป็นเจ้าของเหรียญทองแดงโอลิมปิกประเภททีมเปอร์ซูต 2 สมัย (ปักกิ่ง 2008 และลอนดอน 2012) พร้อมเสื้อสีรุ้งในฐานะแชมป์โลกทีมเปอร์ซูต์ปี 2015 ไรอันเป็นนักปั่นลู่ที่ประสบการณ์เยอะที่สุดในทีมชาตินิวซีแลนด์ด้วยการแข่งขันต่อเนื่อง 14 ปีเต็ม พาทีมลงสนามชิงแชมป์โลก 13 ครั้ง และโอลิมปิกอีก 3 ครั้ง เขาคือเสาหลักของทีมที่นอกจากจะพาทีมคว้าผลงานนับครั้งไม่ถ้วนแล้ว ยังเป็นทั้งเพื่อนและโค้ชที่ดีให้กับนักปั่นรุ่นน้องด้วย

ทีมเปอร์ซูตเป็นศาสตร์แห่งการปั่นที่ชิงชัยกันด้วยเวลาหลักเสี้ยววินาที เหตุผลอะไรที่ผลักดันให้นักปั่นคนหนึ่งทุ่มเทกับการไล่ล่าเหรียญโอลิมปิกและเสื้อสีรุ้ง? ความกดดันของการปั่นที่ต้องแบกความหวังของคนทั้งประเทศเป็นยังไง? อะไรที่ทำให้ไรอันเกือบจะเลิกปั่น? บทเรียนไหนมีค่าที่สุดสำหรับเขา? วันนี้เราจะมาหาคำตอบกันครับ

* * *

แนะนำตัวเองหน่อยครับ

สวัสดีครับ ผมชื่อมาร์ค ไรอัน อดีตแชมป์โลกและเจ้าของเหรียญโอลิมปิกทีมเปอร์ซูตสองสมัย ผมอำลาวงการในปี 2016 และตอนนี้ทำงานเป็นโค้ชจักรยานอาชีพครับ

 

ทำไมคุณถึงหันมาปั่นจักรยานเป็นอาชีพ?

พ่อผมเป็นสปรินเตอร์สนามลู่ เขาเคยติดอันดับ Top 10 ในรายการระดับโลกหลายๆ สนาม แล้วผมก็ชอบวิถีชีวิตนักกีฬาของพ่อ ก็เลยเริ่มปั่นง่ายๆ แบบนี้หละครับ

 

อธิบายทีมเปอร์ซูตให้เด็ก 5 ขวบเข้าใจ

ง่ายๆ เลยนะ เราเอานักแข่งสองทีม ทีมละสี่คนมาปั่นในเวโลโดรม ซึ่งก็คือสนามจักรยานรูปทรงไข่ พื้นทำจากไม้ ความยาวสนาม 250 เมตร

ทั้งสองทีมปล่อยตัวพร้อมกัน ปล่อยจากคนละฝั่งของสนาม ปั่นให้จบ 16 รอบ ต้องใช้นักปั่น 3 คนเข้าเส้นชัยถึงจะได้เวลา ทีมที่ทำเวลาเร็วที่สุดชนะ

ความรู้สึกการที่ต้องลงแข่งโอลิมปิกทีมเปอร์ซูตนี่มันเป็นยังไงครับ?

พูดจริงๆ มันเป็นอะไรที่หลอนมากครับ เป็นสิ่งที่กดดันที่สุดในชีวิตผมเลย คือมันไม่เหมือนแข่งชิงแชมป์โลก หรือสนาม World Cup ที่คุณแข่งทุกปีอยู่แล้ว สนามพวกนั้นสำคัญก็จริง แต่่คนดูส่วนใหญ่คือคนที่สนใจจักรยาน มันไม่ได้เยอะมากหรอก ไม่เหมือนโอลิมปิกที่คนทั้งโลกเฝ้ามองคุณทุกวินาที ทั้งคนที่รู้จักและไม่รู้จักกีฬานี้ คุณมีความคาดหวังจากคนในประเทศที่ต้องคว้าเหรียญรางวัลให้ได้ ยิ่งรอบกลางๆ นี่เครียดมากครับ ผมโล่งใจทุกครั้งที่แข่งโอลิมปิกจบ

 

แล้วประเทศคาดหวังให้คุณชนะเหรียญทองเลยไหม หรือได้โพเดี้ยมก็ดีแล้ว?

เราลงแข่งเพื่อชนะเหรียญทองทุกครั้ง แรงกดดันสูงมากโดยเฉพาะในรอบคัดเลือกที่คุณไม่รู้เลยว่าทีมชาติอื่นเขาจะทำเวลาได้ดีแค่ไหน แต่พอพ้นรอบคัดเลือกแล้วทุกอย่างมันเป็นระบบมากครับ กีฬานี้เราวัดชัยชนะกันที่เสี้ยววินาที (ส่วนมากแพ้ชนะกันที่เวลาระดับจุดทศนิยมสามตำแหน่ง)

ทีมชาตินิวซีแลนด์ระหว่างรับเหรียญทองแดงในปักกิ่ง โอลิมปิก  2008

คือทีมเปอร์ซูตเนี่ยมันเป็นการแข่งที่คุณรู้อยู่แล้วว่าคุณจะทำเวลาได้เท่าไร คุณรู้จากการซ้อม คุณอยู่กับเพื่อนร่วมทีมอีกสามคนตั้งแต่เก็บตัวซ้อมจนถึงวันแข่ง เมื่อรู้เวลาและฟอร์มเพื่อนร่วมทีมแล้ว สิ่งที่ยากคือการทำให้ได้เวลานั้นในวันแข่งจริง ถ้าทีมอื่นทำได้เร็วกว่าเรา เราก็ต้องปรับแผนกันหน้างาน เราจะขี่ด้วยเวลาเท่าเดิมไม่ได้ถ้ามันช้ากว่าเวลาทีมอื่น ซึ่งก็เป็นเกมกลยุทธ์ที่เราต้องดึงมาใช้ คุณอาจจะเลือกกดดันนักปั่นที่อ่อนที่สุดของทีมคู่แข่ง หาจุดอ่อนในวิธีการปั่นของทีมเขา แล้วปรับวิธีปั่นเรากดดันให้เขาเสียเวลา

ผมใช้เกมสงครามจิตวิทยาแบบนี้บ่อยในประเภท Individual Pursuit คู่แข่งหลายคนทำเวลารอบคัดเลือกได้ดีกว่าผม แต่ผมหาทางกดดันจนเขาช้ากว่าจนได้ มันทำให้ผมได้เหรียญรางวัลมาเยอะเลยครับ

 

คำแนะนำที่ดีที่สุดที่คุณเคยได้รับ

มีคนเคยสอนผมว่า “คุณทุ่มเทกับสิ่งที่ทำเท่าไร คุณก็ได้รับผลตอบแทนเท่านั้น”​ โดยเฉพาะในกีฬาจักรยาน คุณพร้อมจะเสียสละเวลาฝึกซ้อม ยอมทนความเจ็บปวดได้มากแค่ไหนคุณก็จะเก่งมากขึ้นเท่านั้น ไม่มีอะไรซับซ้อนครับ ตรงไปตรงมาที่สุด

 

ถ้าคุณมีเวลาปั่นแค่ 6-7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ คุณจะซ้อมยังไง?

ต้องชัดเจนกับเป้าหมายและวิธีการซ้อมนะ ถ้ามีเวลาน้อยแต่อยากแข็งแรงก็ต้องใช้เวลาให้คุ้มที่สุด มีรูปแบบการซ้อมที่ชัดเจน อาจจะเป็นซ้อมในสไตล์อินเทอร์วัล เพิ่มความหนักในช่วงวันธรรมดา แล้วใช้ช่วงสุดสัปดาห์ปั่นยาวๆ เพิ่มความทนทานและความอึด สำคัญสุดคือต้องพักให้พอครับ

แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์การปั่นของคุณด้วย ถ้าเป็นมือใหม่จะมาซ้อมอินเทอร์วัลเลยก็คงไม่เหมาะ เน้นปั่นเยอะๆ สร้างความทนทานและเคยชินก่อนดีกว่า ถ้ามีโค้ชช่วยจะพัฒนาได้เร็วมากครับ

 

จุดไหนที่คุณคิดว่าคุณสามารถเลี้ยงตัวเองจากการเป็นนักปั่นอาชีพได้?

ผมไม่เคยคิดว่าต้องหาเงินหรือเลี้ยงตัวเองจากจักรยานนะ มันเหมือนการล่าฝันมากกว่า ผมฝันอยากจะคว้าเหรียญโอลิมปิกและเสื้อสีรุ้ง (แชมป์โลก) ให้ได้ตั้งแต่เด็กครับ เรื่องเงิน ถ้ามันเพียงพอให้ผมซ้อมและแข่งได้ก็โอเคแล้ว เราโชคดีที่สมาคมจักรยานนิวซีแลนด์ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทางและการซ้อมให้ทั้งหมดครับ

ถ้านับย้อนไปผมว่าผมโชคดีที่ได้แข่งยาวนานขนาดนี้ (มาร์คเริ่มแข่งตั้งแต่ปี 2002 และอำลาวงการในปี 2016) ผมทำสำเร็จทุกเป้าหมายที่ต้องการ ร่วมกับกลุ่มเพื่อนที่ดีมากๆ ครับ

 

อะไรที่คุณเชื่อว่าจริง แต่คนอื่นไม่เห็นด้วยกับคุณ?

คำถาามนี้ยาก! แต่ขอยกตัวอย่างเรื่องนักเรียนของผมดีกว่า ผมมีไอเดียการซ้อมหลายๆ อย่างที่หลายๆ คนอาจจะไม่เห็นด้วย หรือไม่อยากทำตาม มันอาจจะขัดกับหลักการซ้อมที่เราใช้กันทั่วไป แต่นักเรียนผมแทบทุกคนเชื่อและทำตามและเราก็เห็นพัฒนาการที่ชัดเจนจากการซ้อม

สมัยที่ผมแข่งผมจะชอบแอบปรับจูนรถทีมเปอร์ซูตของผมเองอยู่ตลอด รถผมจะเบากว่าและลื่นกว่าคนอื่นในทีมเสมอ! มีประสบการณ์หลายอย่างที่ผมได้มาจากการเป็นนักกีฬาโอลิมปิก และใช้เวลาในอุโมงค์ลมปรับจูนท่าปั่นที่โค้ชหรือคนทั่วไปอาจจะไม่มีโอกาสได้เรียนรู้มาก่อนครับ

 

อะไรที่ทำให้คุณเกือบเลิกปั่นจักรยาน?

ผมไม่เคยคิดจะเลิกปั่นนะ แต่ยอมรับว่าผมก็เกือบจะเลิกแข่งหลายทีโดยเฉพาะช่วงแรกที่เทิร์นโปรครับ ถ้าผมไม่ได้อยู่ในทีมชาติสนามลู่ผมคงเลิกไปแล้ว

ตอนนิวซีแลนด์เริ่มโปรแกรมทีมจักรยานสนามลู่ สมาคมมีเงินไม่เยอะ นักกีฬาต้องหาเลี้ยงตัวเองด้วยการไปแข่งกับทีมอาชีพประเภทถนนครับ (Road bike) ผมก็ไปแข่งในยุโรปเหมือนโปรคนอื่นๆ สองปีแรกผมอยู่ในเบลเยียมกับฝรั่งเศส ปีแรกที่ผมแข่งนักกีฬาโด้ปกันเยอะมาก โด้ปทุกระดับ คือพวกผมเป็นอันดับห้าของโลกในทีมเปอร์ซูต แต่ผมปั่นสนาม road race แพ้มือสมัครเล่นในเบลเยียม มันไม่โอเคมากๆ ครับ

Photo: Terdpong Wirunkan

 

อธิบายการปั่นแบบ ‘full gas’ (สุดกำลัง) ในระดับแชมป์โลก

สั้นๆ เลยคือ หลังคุณปั่นเสร็จ คุณรู้สึกเหมือนคุณอมเลือดไว้ในคอ บางทีคุณอาจจะลงจากจักรยานเองไม่ได้ ต้องให้คนมาช่วยจับขาถอดบันไดออก เพราะขาคุณเต็มไปด้วยแลคเตตและของเสีย ชา ปวด จากการปั่นเต็มกำลังจนขยับไม่ได้

 

ช่วงเวลาที่ยากที่สุดในสนามแข่งของคุณ​ และคุณรอดมาได้ยังไง?

ในการแข่งทีมเปอร์ซูต คุณต้องท็อปฟอร์มตลอดเวลาครับ แต่มันก็ต้องมีวันที่คุณรู้สึกไม่ดี ไม่สด ขาตึงแข็ง ออกแรงไม่ได้อย่างใจคิด เราทำงานกันเป็นทีม เราจะหาทางช่วยเพื่อนที่ไม่ท็อปฟอร์ม เช่นอาจจะให้คนที่สดที่สุดนำนานกว่าปกติ คนที่ไม่พร้อมก็ไม่ต้องขึ้นนำ

ในทีมเปอร์ซูตเราไม่มีช่องว่างให้ความผิดพลาดครับ เราแพ้ชนะกันระดับเสี้ยววินาที เพราะงั้นถึงคุณจะไม่พร้อม 100% คุณก็ต้องพยายามทำให้เต็มที่ตลอดระยะเวลาแข่ง มันไม่เหมือน road race ที่คุณแอบอยู่หลังเปโลตองได้ ในสนามของเราคุณช้าจังหวะเดียวก็หมายถึงผลแพ้ชนะได้เลย

Photo: Terdpong Wirunkan

 

อะไรที่เป็นเส้นกั้นระหว่างนักปั่นที่เก่งที่สุดในโลกกับคนที่ไปไม่ถึงจุดนั้น?

หลายปัจจัยครับ ทั้งเรื่องทัศนคติ จิตใจ การซ้อม โภชนาการ ความแข็งแรง ลองดูปีเตอร์ ซากานเป็นตัวอย่าง เขาเป็นคนที่ดูมีความสุขตลอดเวลา เวลาที่คุณมีความสุขคุณมักจะทำงานได้ดีกว่าคนอื่นเสมอนะ เมื่อไรที่คุณเริ่มไม่เชื่อในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ นั่นแหละคือจุดที่ยากที่สุดครับ

 

สิ่งแรกที่คุณคิดในวันที่คุณได้เป็นแชมป์โลก

อย่างแรกเลยคือผมทำความฝันได้สำเร็จแล้ว และแบ่งปันความสำเร็จนั้นกับโค้ชและเพื่อนร่วมทีม ตอนนั้นผมมีโค้ชประจำสองคน คนนึงผมเคยแข่งด้วยตั้งแต่สมัยที่ผมเพิ่งเริ่มปั่นแล้วเขาก็มาเป็นโค้ชผมจนรีไทร์เลย มันเป็นช่วงเวลาที่วิเศษมากครับ

Photo: Terdpong Wirunkan

 

ตอนปั่นบนถนนไทยคุณเห็นอะไรที่ประหลาดที่สุด?

ครอบครัวพ่อแม่ลูก 4 คน บนมอเตอร์ไซค์คันเดียวกัน ไม่มีใครใส่หมวกกันน็อก ปั่นหนีลิงกับช้างที่เขาใหญ่ก็ไม่ธรรมดาครับ

 

นิยามกรุงเทพมหานครในสามคำ

ว้าวุ่น รวดเร็ว ไม่หยุดนิ่ง

 

คาร์บอนหรือไทเทเนียม?

คำถามยากอีกแล้ว! ผมชอบทั้งสองแบบนะ จักรยานไทเทเนียมมันนิ่มสบายและปั่นได้เรื่อยๆ เลย แต่ผมชอบประสิทธิภาพจักรยานคาร์บอนมากกว่า

Photo: Terdpong Wirunkan

 

ฟรูมหรือซากาน?

ซากานแน่นอนครับ วิธีการแข่ง เทคนิค และการวางตัวของเขามันเยี่ยมยอด เขามีทักษะการปั่นที่ดีในสนามเกือบทุกรูปแบบ การที่จะชนได้แชมป์โลกเสือหมอบ 3 ปีติดต่อกันมันแทบเป็นไปไม่ได้เลยในสมัยนี้ แต่เขาก็ยังชนะได้ทุกปี

 

คุณเป็นคนนิวซีแลนด์ แต่มาทำอะไรในกรุงเทพ?

จริงๆ มาอยู่เมืองไทยก็ไม่เลวนะครับ อย่างที่ผมบอกไป ผมทำตามเป้าหมายการปั่นได้ทุกอย่างที่ต้องการแล้วไม่ว่าจะเป็นแชมป์โลก หรือเหรียญโอลิมปิก

การแข่งทีมเปอร์ซูตสมัยนี้เปลี่ยนไปมากครับ มันเป็นเกมของพละกำลังล้วนๆ ทุกอย่างต้องวัดผลได้กันระดับเสี้ยววินาที ผมเป็นนักปั่นลู่แบบแบบรุ่นเก่าน่ะ คือผมชอบซ้อมสร้างความฟิตด้วยการปั่นเสือหมอบบนถนน ทั้งซ้อมเองและลงแข่ง แต่เกมลู่สมัยนี้เราวัดกันด้วยพาวเวอร์แบบเพียวๆ คุณต้องเข้ายิมบ่อยขึ้นเพื่อฟิตกล้ามเนื้อ ผมไม่ชอบสไตล์นี้ แล้วก็แข่งมานานมากแล้ว เลยอำลาวงการดีกว่า ผมรีไทร์ในปี 2016 ก่อนหน้าริโอโอลิมปิกพอดีครับ

ระหว่างนี้ผมเป็นโค้ชสอนปั่นจักรยานแบบตัวต่อตัว ผมช่วยสร้างโปรแกรมฝึกซ้อมให้นักปั่นทุกระดับความสามารถ แต่ละคนจะได้วิธีการซ้อมที่ต่างกันขึ้นอยู่กับเป้าหมายของเขา ความแข็งแรง และระยะเวลาที่ซ้อมได้ โดยใช้ความรู้และประสบการ์ณทั้งหมดที่สั่งสมมาตลอดระยะเวลาการเป็นมืออาชีพครับ

ถ้าใครสนใจก็มาคุยกันได้ ออฟฟิสผมอยู่ที่ร้าน Jaggad Asia (ที่ RCA) เรามีสถานที่ซ้อมอินดอร์ครับ หรือจะอีเมล์มาคุยกันก็ได้ที่ marc.ryan44 @ gmail.com ครับ

ไฮไลท์แมทช์ชิงแชมป์โลกปี 2015 ที่ทีมชาตินิวซีแลนด์ของมาร์คเฉือนเอาชนะสหราชอาณาจักร

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!