[dropcap letter=”จ”]บลงไปแล้วกับศึกชิงแชมป์โลกจักรยานถนน เราได้แชมป์โลกคนใหม่เป็นเด็กหนุ่มไฟแรงจากโปแลนด์ – มิฮาล เควียทคอฟสกี สังกัดทีม Omega Pharma-Quickstep. “The Winning Move” หรือจุดตัดสินเกมการแข่งขันอยู่ที่จังหวะทางลงเนินคอนเฟเดอร์เรต เนินยุทธศาสตร์ลูกรองสุดท้ายของการแข่งขันที่เควียทคอฟสกี “แอบ” หนีออกไปที่หน้ากลุ่ม อาศัยจังหวะที่ตัวเต็งแทบทุกคนในการแข่งขันเผลอ (ไซมอน เจอรานส์ อันดับสองให้สัมภาษณ์ว่าเขาไม่ทันรู้ด้วยซ้ำว่าเควียทคอฟสกีหนีไปแล้ว) ไล่ตามเบรคอเวย์ที่ยังเหลือรอดอยู่ด้านหน้า หารู้ไม่ว่ามันคือการหลบหนีครั้งสุดท้ายของวัน เพราะเมื่อตัวเต็งออกเดินเกมกันที่จุดสปรินต์ เควียทคอฟสกีก็เข้าเส้นชัยไปแล้ว
6 ชั่วโมงแห่งความทรมาน
สำหรับสนามแข่งที่ยาวร่วม 260 กิโลเมตร ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะไม่มีทีมไหนอยากจะ “ออกแรง” ขึ้นมาลาก ด้วยที่ทุกคนหวังจะเก็บโดเมสติกไว้หนุนหัวหน้าทีมในช่วงที่การแข่งขันถึงจุดเดือดจริงๆ… ใช่ไม่มีครับ ยกเว้นทีมชาติโปแลนด์ของเควียทคอฟสกีที่ขึ้นมาทำงานหนักตลอดในช่วงแรก ตั้งความเร็วประคองเวลาไม่ให้กลุ่มหนีหลุดจนนานเกินไป การขึ้นมานำของทีมโปแลนด์มีผลเชิงบวกหลายประการ นอกจากจะสร้างแรงกดดันให้ชาติอื่นๆ แล้ว ยังช่วยตัดกำลังทีละนิดทีละหน่อยในแต่ละรอบที่นักปั่นต้องขึ้นเนินชัน
ครึ่งหลังของการแข่ง ทีมอิตาลีเริ่มกดดันทีมอื่นๆ ฟาบิโอ อารู เอซเบอร์รองที่ขึ้นมาทำหน้าที่แทนวินเชนโซ นิบาลิ (ล้มไปสองครั้ง) กระชากขึ้นเนินคอนเฟเดอร์เรต อังกฤษส่งปีเตอร์ เคนยอท์ไล่ประกบ ตามมาด้วยออสเตรเลีย ฝรั่งเศสและเบลเยียมอีกประปราย โทนี มาร์ตินจากเยอรมันพยายามหนีเดี่ยว แต่ก็แรงตกไปเสียก่อน
แลปสุดท้าย ความเร็วกลุ่มเริ่มสูงขึ้นถึง 41 กิโลเมตรต่อชั่วโมงต่อรอบเป็นครั้งแรก หลังจากการโจมตีครั้งแล้วครั้งเล่าของชาติใหญ่ๆ เบรคอเวย์สุดท้ายของวันก็ฟอร์มตัว ประกอบด้วยซิริล กอเทียร์ (ฝรั่งเศส), อเลซานโดร เดอ มาชี (อิตาลี), วาซิล คิริเยนกา (เบลารุส), มิเชล วาลเกรน (รัสเซีย) ทั้ง 4 คนนำกลุ่ม peloton ราว 40 วินาที
แน่นอนว่าไม่มีใครในกลุ่มนี้ที่จะเป็นตัวเต็งฟอร์มดีขนาดหนีไปจนชนะ แต่ก็สร้างปัญหาให้กับกลุ่ม peloton ไม่น้อย เพราะถ้าใครคิดจะหนีจากกลุ่ม peloton ก่อนที่เบรคจะโดนจับ เขาก็ต้องพยายามไล่ไปให้ถึงกลุ่มเบรคให้ได้เสียก่อนโดยไม่รู้ว่าจะโดนกลุ่มเบรคเชือดเอาอีกทีหรือเปล่า
ถึงทางขึ้นเนินคอนเฟเดอร์เรตรอบสุดท้าย ทีมอิตาลีและสเปนเริ่มเดินเครื่องหนัก เพราะเอซของทีมอย่างวาวเวอเด้ และอารู ไม่ใช่สปรินเตอร์ที่จะต่อกรกับขาแรงแบบเดเกนโคลบ์ (เยอรมัน) ได้ ยังไงก็ต้องนวดให้สปรินเตอร์ร่วงให้หมด ขึ้นถึงยอดเนินไม่มีใครโจมตีกลุ่ม ยกเว้นเควียทคอฟสกีที่แอบซุ่มหลบหนีไปในจังหวะลงเขาที่ความเร็วกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
เควียทคอฟสกีใช้เวลาไม่นานก็ไล่ตามกลุ่มเบรคอเวย์ทั้ง 4 ได้ทันในจังหวะขึ้นเนินมิราดอร์พอดี เขาเลี้ยงความเร็วขึ้นจนถึงยอดเนินไปกับกลุ่มซึ่งหลุดร่วงไปทีละคนสองคน เขานำกลุ่ม peloton ข้างหลังไม่ถึง 10 วินาที
What went wrong?
10 วินาทีสำหรับคนหนีคนเดียว และคนไล่ 6-7 คนกับระยะทางราว 2 กิโลเมตร… จะว่าง่ายมันก็ง่ายที่จะไล่จับ แต่จะว่ายากก็ยากเหมือนกัน เพราะอะไร? กลุ่มไล่ที่ตามมาเป็นตัวเต็งทั้งหมด ซึ่งมี โรดริเกรซ, วาวเวอเด้ (สเปน), แวน เอเวอร์ มาร์ท, จิลแบร์ (เบลเยียม), เจอรานส์ (ออสเตรเลีย), แมท เบรซเชล (เดนมาร์ก), และโทนี กาโลแพน (ฝรั่งเศส)
ในกลุ่มนี้ (ความเห็นผม) มีแค่เบลเยียมที่ปั่นเพื่อจะเอาเหรียญจริงๆ จังหวะลงเนินมิราดอร์ ฟิลลิป จิลแบร์เป็นคนเดียวที่ลากกลุ่มอย่างเต็มใจหวังให้แวน เอเวอร์มาร์ท ออกโรง คืออยากจะจับเควียทคอฟสกีให้ได้ก่อนที่จะวัดดวงกันด้วยการสปรินต์ แต่ชาติอื่นกลับคิดไม่เหมือนกัน เจอรานส์ที่ฟอร์มดีที่สุดในกลุ่มแทบไม่ขึ้นช่วยจิลแบร์เลย สเปนที่มีทั้งโรดริเกรซและวาวเวอเด้ก็ดูลังเล ผลก็คือจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ทำได้ดีที่สุดแค่ชิงที่สอง
แชมป์โลกชาวโปแลนด์คนแรก
ในปี 1985 เลช เพียเซคสกีชาวโปแลนด์เคยคว้าแชมป์โลกในระดับมือสมัครเล่น แต่โปแลนด์ก็ยังไม่เคยมีแชมป์โลกในระดับโปรเลยสักครั้งเดียว เควียทคอฟสกีตัดสินใจได้เฉียบขาดและอาศัยจังหวะที่ทุกคนเผลอทำเกมรุก รักษาฟอร์มการปั่นได้จนถึงเส้นชัย เป็นชัยชนะที่เด็ดขาด (ผมคิดว่าสมบูรณ์แบบเลยหละ) ความกล้าได้กล้าเสียของเขานำมาซึ่งผลลัพธ์ที่คู่แข่งคาดไม่ถึง
ต้องบอกว่าปีนี้เป็นที่ดีมากสำหรับนักปั่นโปแลนด์จริงๆ เควียทคอฟสกีเองทำผลงานได้ดีที่สุดตั้งแต่เริ่มแข่งขันมา ได้แชมป์โลก แชมป์ Time Trial โปแลนด์, แชมป์ Volta ao Algarve, แชมป์ Strade Bianche, อันดับ 2 ใน Tour of Britain และติดโพเดี้ยมรายการคลาสสิคอีกหลายรายการ ไหนจะราฟาล ไมย์กาที่ได้แชมป์สเตจใน Tour de France ปีหน้าก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาฟอร์มยิ่งขึ้นไปอีก
ท้ายสุด สำหรับอันดับโพเดี้ยม วาวเวอเด้ และไซมอน เจอรานส์ ที่ตามมากับกลุ่มตัวเต็ง ถึงจะไม่ชนะ แต่ก็น่าจะภูมิใจกับผลงานได้ไม่น้อย เพราะหากไม่กระชากออกมาจากกลุ่มรับรองว่าอาจจะไม่ได้ลุ้นแม้กระทั่งเหรียญเงินและทองแดง เพราะด้านหลังมีแต่สปรินเตอร์ตัวแรง ทั้งเดเกนโคลบ์, บูฮานี, และคริสทอฟ
สรุปแล้วเป็นสนามชิงแชมป์โลกที่สนุกใช้ได้ครับ ช่วงแรกอาจจะซึมๆ หน่อยเพราะระยะทางมันค่อนข้างเยอะ แต่ตั้งแต่ 4 แลปสุดท้ายเป็นต้นไปเกมการแข่งขันก็เดือดขึ้นเรื่อยๆ ใครพลาดไปดูวิดีโอไฮไลท์ 7 นาที ลิงก์อยู่ด้านล่างแล้ว
ผลการแข่งขัน
[iframe src=”http://www.procyclingstats.com/widgets/pcs-race-results.php?id=140586&ref=default” scrolling=”YES” frameborder=”0″ height=”356″]วิดีโอไฮไลท์
Quote เด็ด
1. ฟิลลิป จิลแบร์ (เบลเยียม)
“ผมไม่เข้าใจกลยุทธ์ของนักปั่นหลายๆ คนในกลุ่มเรา มันไม่ใช่สนามคลาสสิคสนามอื่นๆ ที่อันดับโพเดี้ยมยังพอมีความหมาย ในสนามชิงแชมป์โลก ถ้าไม่ได้แชมป์ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ผมไม่เข้าใจว่าทำไมคนอื่นๆ ถึงต้องคิดวางแผนเพื่อชิงที่สอง ถึงคุณจะได้ Top 5 มันก็ไม่มีคุณค่าอะไรอยู่ดี”
“ผมเห็นเควียทคอฟสกีหนีไปในจังหวะลงเนิน แต่ไม่คิดว่าเขาจะหนีรอด แต่ก็นั่นแหละ…ผู้ชนะถูกต้องเสมอ”
2. อเลฮานโดร วาวเวอเด้ (สเปน)
“ตั้งแต่นี้ไป เราจะประมาทเควียทคอฟสกีไม่ได้อีกแล้ว เขาเป็นนักปั่นที่แกร่งมาก ทั้งด้านกายภาพและกลยุทธ์การแข่ง ที่สำคัญเขาอายุน้อยกว่าเราทุกคน”
3. ไซมอน เจอรานส์ (ออสเตรเลีย)
“เควียทคอฟสกี แกร่งมาก ผมเห็นเขายังหลุดเดี่ยวอยู่ตรงทางขึ้นเนินลูกสุดท้าย จากตรงนั้นผมรู้เลยว่าเราจับเขาไม่ได้ง่ายๆ แน่ๆ เพราะกลุ่มข้างหลังไม่มีใครอยากเปลืองแรงไล่จับตั้งแต่เริ่มขึ้นเนิน แต่มันก็คือจังหวะเดียวกับที่เควียทคอฟสกีใช้เร่งหนีเรา เพราะเขารู้ว่าเราจะไม่ไล่ ว่ากันด้านกลยุทธ์แล้ว เควียทคอฟสกีทำเกมได้สมบูรณ์แบบ ท้ายสุดแล้วผมพ่ายให้คนที่แกร่งกว่าจริงๆ”