รีวิว: Michelin Power Competition 700x25c

Michelin Power คือยางงัดรุ่นสูงสุดของ Michelin ที่มาแทนไลน์ Pro4 เดิม ซึ่ง DT เคยรีวิวตัว Pro4 Comp Limited SC ไปเมื่อปีก่อน และก็เคยใช้ Pro4 Service Course ก่อนหน้านั้น (แต่ไม่ได้รีวิว)

หลังจากรีวิวนั้นไม่นาน Michelin ก็เปิดตัวยางงัดไลน์ Power ซึ่งมี 3 ตัว ได้แก่ Power Competition, Power Endurance, และ Power All Season โดยตัว Power Competition เคลมว่าความต้านทานการหมุนน้อยกว่า Pro4 Service Course ที่มันมาแทนถึง 25%

ในฐานะคนใช้ Michelin มายาวนาน พอ Michelin ออกยางรุ่นใหม่มา ก็เลยตื่นเต้นและอยากลองไปโดยอัตโนมัติ ผมไม่รอช้ารีบยกโทรศัพท์หา CycleBoutique ผู้นำเข้าในบ้านเรา เพื่อขอมาลอง 1 คู่ทันที

(หมายเหตุ: CycleBoutique ให้ยางมาลองเท่านั้น ไม่มีค่าตอบแทนใด ๆ จากการรีวิว เรื่องนี้เป็นนโยบายของ DT มายาวนานแล้วว่าเราไม่รับเงินค่ารีวิวครับ)


I. แนะนำ

ด้วยไลน์อัพของ Power ที่มีเพียง 3 รุ่นย่อย ทำให้เข้าใจความแตกต่างระหว่างแต่ละรุ่นได้ง่ายกว่าซีรียส์ Pro4 ซึ่งมีถึง 6 รุ่นย่อย โดยแต่ละรุ่นแตกต่างกันดังนี้ เรียงตามลำดับยางแข่ง —> ยางซ้อม

1. Power Competition

Power Competition คือรุ่นชูโรงของ Michelin Power ซึ่งมาแทนที่ Pro4 Service Course เดิม ตัวโครงยางทำจากเส้นใย 180TPI x3, ใช้สารผสมยาง Race Compound, และใช้แถบกันหนาม Aramid Protek ใต้หน้ายาง (ไหล่ยางและแก้มยางไม่มี)

ด้วยลักษณะโครงสร้างแล้ว มันจัดอยู่ในหมวด “ยางแข่ง” ซึ่งเป็นหมวดยอดนิยมที่สุดในบ้านเรา เทียบรุ่นได้กับ Continental GP4000S II, Schwalbe One, Pirelli P Zero Velo, Vittoria Corsa G+, และ Zipp Tangente Course เป็นต้น

—-

2. Power Endurance

Power Endurance คือยางที่มาแทน Pro4 Endurance ตัวโครงยางทำจากเส้นใย 110TPI x3, ใช้สารผสมยาง X-Miles Compound, และใช้แถบกันหนาม Aramid Protek Plus ซึ่งหนาและเหนียวกว่า Aramid Protek โดยให้ไว้ใต้หน้ายางเช่นกัน

ยางนี้อยู่ในหมวด “ยางทนในรุ่นท็อป” ซึ่งเทียบได้กับ Specialized Roubaix Pro และ Panaracer Race D เป็นต้น รุ่นนี้หาคู่เทียบค่อนข้างยาก เพราะผู้ผลิตรายอื่นมักให้ยางทนเป็นยางซ้อมโดยตรงไปเลยมากกว่า และอยู่ในรุ่นรองลงมา เช่น Vittoria Rubino หรือ Continental Grand Prix เป็นต้น แต่ในเซกเมนต์นี้ Michelin ก็มีตัว Krylion2 Endurance อยู่แล้ว

—-

3. Power All Season

Power All Season มาแทนที่ Pro4 Grip ซึ่งตัวโครงยางทำจากเส้นใย 60TPI x3, ใช้สารผสมยาง Grip Compound, และใช้แถบกันหนาม Aramid Protek Plus เหมือน Power Endurance แต่ว่าครอบคลุมทั้งหน้ายางและไหล่ยาง (Endurance มีเฉพาะใต้หน้ายาง)

ยางนี้อยู่ในหมวดที่คนไทยไม่ค่อยนิยม คือ “ยางซ้อมฤดูหนาว” ซึ่งออกแบบมาสำหรับประเทศแถบยุโรปตอนบนที่ช่วงหน้าหนาวถนนจะเปียกตลอดเวลา เพราะหิมะตกสลับฝนตกตลอด พอถนนเปียก เศษของมีคมและหินกรวดแหลม ๆ ก็สามารถเกาะติดหน้ายางและแทงทะลุยางได้ง่าย ยางในประเภทนี้จึงต้องทั้งเหนียว ทนรั่ว และเกาะถนนเปียกได้ดีมาก โดยแลกเอาความซิ่งออกไปบางส่วน ยางในหมวดนี้เช่น Vittoria Corsa Control G+, Continental GP 4-Season, Specialized All Condition Armadillo, และ Pirelli P Zero Velo 4S เป็นต้น สังเกตว่ามักจะมีคำว่า All Season หรือ 4 Season อยู่ในชื่อ

จะเห็นได้ว่า สิ่งที่หายไปจากการเปลี่ยนซีรียส์ Pro4 มาเป็น Power ก็คือยาง TT (ยางเบาหวิวที่ไม่มีแถบกันหนาม) ซึ่งแต่เดิมคือ Pro4 Comp Limited SC และยางฮาล์ฟ ซึ่งแต่เดิมคือ Pro4 Tubular

 

II. ก่อนลงถนน

กลับมาที่ Power Competition ที่เราได้มาลองอีกครั้ง น้ำหนักชั่งจริงได้ที่ 217 กรัม ซึ่งถือว่าอยู่มาตรฐานเดียวกับยางแข่งออลราวน์ในหมวดหมู่เดียวกัน วัดความหนายางตรงหน้ายางได้ 2.1 มม. ซึ่งก็ถือว่าบางกว่ายางยอดนิยมอย่าง GP4000S II ที่ 2.6 มม. อยู่นิดหน่อย แต่ก็ไม่ได้บางเท่ายาง TT ส่วนแก้มยางก็บางไม่ต่างกับยางแข่งตัวอื่น ๆ ที่ประมาณ 0.5 มม. ดังนั้นหน้ายางที่บางอาจต้องแลกมาด้วยอายุการใช้งานเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผู้ผลิตรายอื่น เดี๋ยวมาดูกัน

ทดลองขึ้นยางกับล้อที่ความกว้างขอบ 15 มม. แล้ว ยางกว้าง 25 มม. พอดีเป๊ะ ถือว่าทำได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับยาง Pro4 ซึ่งจากประสบการณ์แล้วกว้างกว่าฉลากไป 1 เบอร์ เช่น ยาง 700×23 กว้าง 25 มม. และยาง 700×25 กว้าง 27 มม.

นอกจากนี้ ที่หน้ายางตรงใกล้ ๆ กับโลโก้ Michelin จะมีหลุมเล็ก ๆ อยู่หลุมหนึ่ง เรียกว่า Thread Wear Indicator (TWI ในภาพวาดด้านบน) ทำหน้าที่ตรงตัวคือบอกการสึกของยางคล้าย ๆ แถบสีฟ้าด้านข้างแปรงสีฟัน ถ้าหน้ายางสึกจนถึงก้นหลุมเมื่อไหร่ ก็แปลว่ายางหมดอายุการใช้งานแล้ว ถือว่าเก็บรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ดีครับ

 

III. ใช้งานจริง

ผมหนัก 58 กก. และสูบลมประมาณ 85-90 psi ใช้ยางนี้มามากกว่า 2000 กม. ตั้งแต่ถนนที่เรียบเกินจริงอย่างสกายเลน ไปจนถนนในญี่ปุ่นที่ก็เรียบพอ ๆ กับสกายเลน (อิจฉา) ไปจนทางลูกรังสุดทรหดแถวสะเมิงในงาน Rapha Prestige Chiang Mai และพบว่า มันเป็นยางแข่งโดยแท้จริง คือ ลื่นมากจนเหมือนลอย ๆ ไป สัมผัสผิวถนนนุ่มดีมาก ไม่กระด้างเลย และเข้าโค้งได้มั่นใจทีเดียว ในขณะที่ถนนหลุม ๆ บ่อ ๆ อันเป็นปรกติของบ้านเราอย่างเส้นวิภาวดี-รังสิต พหลโยธิน พระราม 9 ฯลฯ ก็ไม่มีปัญหา ไม่เคยยางแตกเพราะถนนเหล่านี้อย่างที่กังวลไว้ตอนแรก นอกจากนี้ยังได้เอาไปลงเจ็ดพับเชียงใหม่ตอนฝนตกด้วย ก็ไม่มีไถลพรืดแต่อย่างใด

แต่เมื่อเจอทางวิบากระดับ Rapha Prestige ก็ต้องเรียกว่า “ใช้งานผิดประเภท” ล่ะครับ ยางแข่งสายบริสุทธิ์เอาไปทำวิบากกรรมแบบนั้น ก็เลยยางแตกไป 2 ครั้งตั้งแต่ 80 กม. แรก เปลี่ยนยางกันเหนื่อย แต่ที่น่าประหลาดใจคือทั้งสองครั้งที่ยางแตก ควานหาเศษแก้วหรือลวดหนามไม่เจอทั้งคู่ บวกกับหลังกลับมาจากงานนั้น สังเกตว่าแก้มยางมีแผลถาวร แต่ไม่ทะลุ จึงเป็นไปได้ว่าที่ยางแตกทั้งสองครั้งนั้น อาจจะโดนเศษหินคม ๆ หรือผิวถนนคม ๆ จิ้มแก้มยางก็เป็นได้

 

IV. ผลการทดสอบในห้องทดลอง

โชคดีว่าปัจจุบันเรามีข้อมูลในห้องทดลองที่เป็นสาธารณะเกี่ยวกับยางเสือหมอบให้อ่านแล้ว ดังนั้นเราจึงตัดประเด็นเรื่องความรู้สึกออกไปได้บางส่วน คือเรื่องความต้านทานการหมุนและความทนทานต่อการรั่ว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอเวลาแปลผลเหล่านี้ก็คือ

  1. ความต่างในห้องทดลองเพียงเล็กน้อย เช่น 0.2 หรือ 0.5 วัตต์ ไม่มีผลอะไรกับชีวิตจริง
  2. จำนวนวัตต์ของแต่ละแล็ป เทียบกันภายในได้ แต่เอามาเทียบข้ามแล็ปกันไม่ได้ เพราะวิธีทดลองไม่เหมือนกัน (ความเร็วลูกกลิ้ง รัศมีลูกกลิ้ง ความขรุขระของผิวลูกกลิ้ง น้ำหนักที่กดลงบนยาง ฯลฯ)
  3. ผลลัพธ์แต่ละแล็ป อาจมีสลับอันดับกันได้ เป็นเรื่องธรรมดา ขึ้นกับวิธีทดสอบ เพราะยางบางตัวเร็วมากบนลูกกลิ้งขรุขระ บางตัวก็เร็วมากบนลูกกลิ้งเกลี้ยง ๆ เป็นต้น
  4. ลูกกลิ้งในห้องทดลองบอกได้เฉพาะความต้านทานการหมุน แต่ไม่สามารถบอกความสามารถในการเกาะถนนได้ และคุณสมบัติสองอย่างนี้ก็มักจะต้องแลกกันในระดับหนึ่งเวลาผลิตยาง คือถ้าเน้นการเกาะถนนมาก ๆ (เช่น ยางซ้อมฤดูหนาว) จะทำให้ความต้านทานการหมุนด้อยลง แต่ไม่ได้แปลว่ายางนั้นไม่ดี เช่นพวกยาง All Season มักจะอยู่ท้ายตารางเวลาวัดความต้านทาน แต่อาจจะเกาะถนนดีมาก ๆ ก็ได้ เราไม่รู้
  5. ความทนทานต่อการรั่วไม่เท่ากับอายุการใช้งาน ยางอาจจะทนรั่วได้ดีแต่อายุการใช้งานสั้นก็ได้ เพราะแถบกันหนามแข็งแรงและโครงยางเหนียว แต่ใช้หน้ายางบาง

เมื่อได้บอกข้อจำกัดและข้อควรระวังในการแปลผลทั้ง 5 ข้อนี้ไปแล้ว ก็มาถึงผลลัพธ์ที่ว่า ในปัจจุบัน Michelin Power Competition ถูกทดสอบอย่างอิสระไปแล้ว 3 ครั้ง คือ

  1. ในเว็บไซต์ bicyclerollingresistance.com โดยชุดเครื่องมือของคุณยาร์โน เบียร์แมน เจ้าของเว็บ
  2. ในเว็บไซต์ bikeradar.com โดยห้องทดลอง Wheel Energy ที่ฟินแลนด์
  3. ในนิตยสาร TOUR ของเยอรมนีฉบับ 9/2016 โดยห้องทดลองของนิตยสารเอง

 

ผลปรากฏว่า Power Competition เป็นยางงัดที่เร็วที่สุดในบรรดายางแข่งทุกตัวในตลาด (หมายความว่ามียาง TT ที่เร็วกว่า และมียางทิวป์เลสที่เร็วกว่า แต่นั่นคนละหมวดหมู่กัน)

Power Competition แทรกตัวอยู่กับยาง TT และยางทิวป์เลสเลย

ถ้าไปดูในรายละเอียดจะเห็นว่า ใน bicyclerollingresistance.com นั้นทดสอบคุณสมบัติ 2 ประการคือ ความต้านทานการหมุน และความทนทานต่อการรั่ว และพบว่า Power Competition มีความต้านทานการหมุนอยู่หัวตารางในระดับเดียวกับยางงัด TT และยางทิวป์เลสเลย เช่น P Zero Velo TT, Grand Prix TT, หรือ Pro One Tubeless แต่ยังมีความทนทานต่อการรั่วเทียบเท่ายางแข่งขันทั่วไปอยู่ (แต่แก้มยางบอบบางจริงตามที่ผมเจอด้วยตัวเอง)

ส่วนใน bikeradar.com ทดลองเฉพาะความต้านทานการหมุน แต่เน้นหาความแตกต่างระหว่างความกว้างหน้ายาง และความแข็งลมยางเป็นหลัก ทำให้กลุ่มตัวอย่างน้อยหน่อย แต่ถึงจะกลุ่มตัวอย่างน้อยกว่า แต่ Power Competition ก็เร็วมาก ๆ ในระดับเดียวกับ Schwalbe Pro One Tubeless

สุดท้ายในการทดลองของนิตยสาร TOUR ซึ่งทดสอบครบด้านที่สุด คือความต้านทานการหมุน (ลูกกลิ้งเรียบ), ความต้านทานการหมุน (ลูกกลิ้งขรุขระ), การยึดเกาะถนน, และความทนทานต่อการรั่วในหลาย ๆ รูปแบบ โดยกลุ่มตัวอย่างมียางงัดตัวท็อป 4 ตัว (Specialized Turbo Cotton, Continental GP4000S II, Vittoria Corsa G+, Michelin Power Competition) และยางทิวป์เลสตัวท็อปอีก 2 ตัว (Hutchinson Fusion 5 Galaktik II TL, Schwalbe Pro One Tubeless)

ผลปรากฏว่า Power Competition ก็มีความต้านทานการหมุนเป็นรองแค่ Schwalbe Pro One Tubeless และ Specialized Turbo Cotton เท่านั้น เฉือนกันไปแค่นิดเดียว แต่ทนรั่วกว่ากันมาก ผลลัพธ์คล้ายของคุณยาร์โน เบียร์แมนมาก ๆ จึงช่วยยืนยันกันได้ดี

 

V. สรุป

Michelin Power Competition เป็นยางแข่งที่ซิ่งมาก ซิ่งเหมือนยาง TT แต่ยังทนรั่วใกล้เคียงยางแข่งทั่วไป ใช้แข่งสเตจเรซได้เลย ฟีลลิ่งถนนดีมาก ชอบมาก แต่ไม่เหมาะใช้ซ้อม ที่สำคัญอย่าเอาลุยทางลูกรัง

* * *

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott