DT พาปั่นมิยากิ (3): เส้นทางแห่งความสูญเสีย

เส้นทางวันที่สองของเรา บรรยากาศจะต่างจากวันแรกที่ไต่เขาซาโอมาก เพราะวันนี้หลักๆ แล้วเป็นเส้นทางเรียบระยะประมาณ 50 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ออกจะเป็นเส้นทางที่ “ไม่ค่อยมีอะไร” นัก เหตุผลหลักก็คือ นี่คือเส้นทางปั่นไปสัมผัสกับบรรยากาศของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิในปี 2011 ที่หนักที่สุดก็ว่าได้ เพียงแต่หลังจากนั้นความสนใจจะไปหนักที่เตาปฏิกรณ์ที่ฟุคุชิมะมากกว่า

แต่จริงๆ แล้ว ความเสียหายในพื้นที่ตอนใต้ของจังหวัดมิยากิก็หนักหน่วงไม่แพ้กันซึ่งเราก็ได้ไปปั่นและสัมผัสกับผลกระทบเหล่านั้นด้วยตัวเองกันครับ พวกเราเอาจักรยานขึ้นรถมาเตรียมตัวที่จุดสตาร์ตที่ที่ว่าการเมืองนะโทะริ ซึ่งตอนที่ตามข่าวสึนามิผมก็ได้ยินชื่อนี้วนซ้ำไปมาทางช่อง NHK อย่างน่าเป็นห่วง นะโทะริก็เป็นเมืองที่อยู่ติดฝั่งแปซิฟิคนี่ล่ะครับ ทำให้ได้รับผลกระทบหนัก และเส้นทางวันนี้ประมาณ 2 ใน 3 ก็เป็นเส้นทางที่ปั่นเลียบทะเลเป็นหลัก แต่ถึงจะบอกงั้นก็ไม่ได้หมายความว่าปั่นริมหาดแบบเก๋ๆ แต่เป็นเส้นทางที่ขนานไปกับทะเลเฉยๆ ส่วนใหญ่ก็จะห่างจากทะเลประมาณ 500 เมตรครับ

 

1. สึนามิเคยมาเยือนที่นี่

พวกเราออกจากนะโทะริ ไปที่เป้าหมายแรกของพวกเราคือ สนามบินเซนได ที่เป็นหนึ่งในหัวใจของการคมนาคมของที่นี่ เพราะเป็นสนามบินขนาดกลางที่มีไฟลต์บินจากต่างประเทศมาลงที่นี่เหมือนกัน จุดเด่นของสนามบินนี้ก็คือ การที่รันเวย์อยู่ใกล้กับถนนมากๆ ทำให้มีคนมาแวะมาจอดรถรอถ่ายภาพเครื่องบินบินผ่านหัวกันหลายต่อหลายคน แต่ถึงเห็นเป็นสนามบินที่ใหญ่ขนาดนี้ ช่วงที่โดนสึนามิ ก็ได้รับผลกระทบหนักเช่นเดียวกันนะครับ

ปกติการตั้งสนามบินเขามักจะคำนึงถึงภัยธรรมชาติด้วย แต่การโดนสึนามิซัดมาถึงสนามบินได้นี่แสดงว่าครั้งนั้นจัดว่าหนักกว่าที่คาดการณ์ไว้เยอะจริงๆ หลังจากสึนามิถล่ม พวกเขาก็ใช้เวลาสองสัปดาห์ในการจัดการทำให้สนามบินกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง เพราะสนามบินถือเป็นหนึ่งในเส้นทางสำคัญในการบรรเทาทุกข์ของผู้ได้รับผลกระทบ

หลังจากแวะสนามบิน พวกเราก็ปั่นต่อไปยังพื้นที่ที่ไม่ไกลจากสนามบินนัก ทีแรกผมก็งงว่าเราแวะทำไม เพราะดูเป็นเหมือนสวนสาธารณะเล็กๆ เท่านั้น แต่สะดุดตาไปที่เนินสูงที่มีศาลาอยู่ด้านบน คุณเชนโฮสต์ของเรา ก็อธิบายว่า มันคือ จุดสำหรับลี้ภัยเวลาสึนามิมา

เขาก็ทำเป็นทรงกรวยฐานกว้างตัดบน สูงประมาณ 11 เมตร ก็พอๆ กับความสูงของคลื่นสึนามิครั้งก่อน ทำให้วางใจได้ว่าจะปลอดภัยในระดับหนึ่ง รูปทรงของมันก็ช่วยให้ฐานรากมั่นคงและสู้กับน้ำได้ ไม่ต้านน้ำ

นอกจากความสูง ตัวศาลาก็ยังมีทีเด็ดเก็บไว้อีก ก็คือมีม่านซ่อนไว้ สามารถดึงลงมาทั้งสี่ด้าน กันลมได้ และใต้ม้านั่งก็สามารถเปิดออกมาเพื่อเอาเครื่องบรรเทาทุกข์ที่เก็บไว้มาใช้ได้อีก เป็นการเตรียมความพร้อมที่ดีครับ ตลอดทางของเรา จะเห็นเนินลี้ภัยแบบนี้เป็นระยะ และจากจุดที่เรายืนยู่ เมื่อมองไปรอบๆ ก็จะเห็นสวนรำลึกให้กับผู้เสียชีวิต

เมื่อมองไปฝั่งทะเล ก็จะเห็นแนวแบริเออร์กันคลื่น เขาบอกว่า มันก็สูงแล้ว แต่ก็สึนามิก็สูงกว่าที่คาดไว้อีก ครั้งนี้เลยพยายามเพิ่มความสูง และปลูกต้นไม้ยืนต้นเป็นแนวเพื่อช่วยซับแรงคลื่นด้วย และแน่นอนว่า พื้นที่นั้น แทบไม่มีบ้านอยู่เลยครับ เพราะโดนน้ำซัดไปหมด แถมเกลือจากน้ำทะเลยังทำให้ดินกร่อย จะปลูกพืชผลอะไรก็ยาก ต้องพยายามค่อยๆ พลิกฟื้นสภาพดินไปพร้อมๆ กับการวางผังเมืองใหม่เลยทีเดียว

 

2. ชายผู้ปั่นจักรยานรอบญี่ปุ่น

เสร็จจากนั้นเราก็ปั่นลงใต้ไปเรื่อยๆ ผ่านเมืองอิวะนุมะ ระหว่างทาง ก็เจอจักรยานทัวริ่งคันนึง เลยเข้าไปประกบเพื่อถามสารทุกข์สุกดิบ ตามประสาคนรักจักรยาน (และขี้เสือก) ได้ความว่า เขาปั่นจักรยานเพื่อมุ่งหน้าไปทางจังหวัดนีกาตะ เพราะเขาปั่นจักรยาน “ทั่วประเทศญี่ปุ่น” อยู่ ก็ไปมาครบแล้วตั้งแต่ฮอกไกโดยันคิวชู (คงไม่ได้ไปถึงโอกินาว่านะ) แล้วนี่ก็คือทางกลับของเขาแล้ว ก็ได้แต่คารวะล่ะครับ เราก็บอกไปว่าเรามาจากไทยนะ มาปั่นที่นี่ สู้ๆ แล้วก็ปั่นเลยพี่แกไป คิดแล้วก็อิจฉานะครับ เพราะว่าญี่ปุ่นปลอดภัยพอที่จะปั่นจักรยานบนถนนแบบนี้ และปลอดภัยพอที่จะแวะพักที่ไหนก็ได้ตามสะดวก

 

3. ถนนที่ถูกสินามิซัดสาด

ปั่นเลาะชายฝั่งมาสักพักก็ได้เวลาทานข้าวเที่ยงครับ เส้นทางไปกินข้าวของเรา ก็ต้องเลี้ยวปั่นเข้าไปหาชายฝั่งอีกครั้ง มีแต่สิ่งก่อสร้างใหม่ๆ แสดงว่าโซนนี้ก็โดนน้ำซัดเช่นเดียวกัน เขาก็พยายามพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกครั้ง สร้างออนเซ็นริมทะเล มีจุดชมวิว มีทางให้เรือเข้ามาจอดด้านในต่างหาก ดูแล้วก็เหมือนเป็นทะเลสาบเล็กๆ ที่มีทางเชื่อมต่ออกไปทะเล

ตรงชายฝั่งนี้เป็นจุดที่มาถ่ายทำละครเรื่อง Rock Letter ทางช่อง 3 อีกด้วย ก็ได้แต่ไปยืนแล้วพยายามปั้นหน้าให้เหมือน เคน ภูภูมิ แต่ออกมาไม่ค่อยเหมือนเท่าไหร่ครับ
พอไปชมวิวเสร็จ ก็แวะกินมื้อเที่ยงที่ร้านอาหารขึ้นชื่อของย่านนั้น แน่นอนว่าของเด็ดของเขาก็คืออาหารทะเล เราก็จัดกันเต็มที่ครับ ผมก็ไม่พลาดของโปรดของผมอย่างข้าวสามหน้า แซลมอน ไข่ปลาอิคุะ และหอยเม่น เรียกได้ว่าอิ่มสบายท้องจนไม่อยากปั่น แต่ ถ้าไม่ปั่น ก็ไม่มีที่พักครับ เพราะเราต้องปั่นไปโรงแรมกันเอง โถ่ว
ระหว่างสองทางที่เราปั่นจากเมืองเมืองวาตาริ เข้าเมืองยามาโมโตะ สองข้างทางแทบจะเป็นพื้นที่โล่งๆ ตลอด เพราะตัวอาคารบ้านเรือน โดนน้ำซัดสาดไปทั้งหมดนั่นล่ะครับ ตลอดทางก็มีการก่อสร้างสารพัดสารพัน เพื่อเตรียมพัฒนาฟื้นฟูเมืองให้กลับมาพร้อมอยู่อาศัยอีกครั้ง  บางทีเราก็เจอบ้านที่รอดจากน้ำซัดได้ สังเกตดีๆ ก็จะเห็นแผ่นป้ายระบุว่า ตอนที่สึนามิซัดมา น้ำดันขึ้นมาสูงแค่ไหน เท่าที่เห็นส่วนใหญ่ก็คือท่วมหัวคนยืนชั้นสองสบายๆ ครับ แค่คิดว่ามวลน้ำขนาดนี้ซัดเข้ามาก็น่ากลัวแล้ว (ปั่นๆ อยู่หวังว่าคงไม่เจอ) คุณเชนก็เสริมต่อว่า แต่ก่อนตรงใกล้ๆ ที่เราปั่นจักรยานเคยเป็นทางรถไฟ แต่น้ำซัดไปหมด ไม่เหลืออะไร ต้องไปสร้างใหม่ ลึกเข้าไปในแผ่นดินอีกกิโลกว่าๆ เพื่อจะได้ไม่เจอน้ำซัดจนทางขาด ก็เป็นการพยายามแก้ปัญหาของเขานั่นล่ะครับ

 

4.โรงเรียนนี้มีผู้รอดชีวิต

และหลังจากหลังสู้แดด ปั่นผ่านที่โล่งๆ แซมด้วยฟาร์มสตรอเบอรี่ เราก็ถึงเป้าหมายของเรา จัดว่าเป็นสถานที่ที่ดูแล้วก็มีความรู้สึกผสมปนเปกันไปครับ เพราะมันคือ ซากของโรงเรียนประถม นาคาฮามะ ที่โดดเด่นเป็นสง่าอยู่กลางพื้นที่โล่งๆ ห่างๆ ออกไปมีต้นไม้รอดอยู่ต้นหนึ่ง ที่เราต้องปั่นมาถึงที่นี่ เพราะที่นี่มีเรื่องเล่านั่นเองครับ อาคารหลักของโรงเรียนประถมนาคาฮามะ กลายเป็นอาคารที่ถูกเก็บรักษาไว้ ไม่ถูกทำลายไปเพื่อปรับหน้าดินพัฒนาเมือง เหตุผลก็คือ เรื่องราวของโรงเรียนนี้สามารถเป็นเครื่องเตือนใจคนรุ่นหลังได้ เขียนมาแบบนี้ไม่ได้หมายความว่ามีโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นที่นี่นะครับ แต่กลับกันที่นี่มีปาฏิหาริย์ที่เกิดจากการตัดสินใจอย่างเฉียบคมของอาจารย์ใหญ่ครับ

โรงเรียนประถมนาคาฮามะ
มองย้อนเข้ามาจากทางชายฝั่งทะเลจะเห็นว่าไม่มีตึกขึ้นอยู่รอบๆ โรงเรียนนี้เลยครับ ไม่ใช่ว่ามันเป็นที่รกร้างนะ แต่เพราะตึกรอบๆ นั้นโดนสึนามิซัดพังไปหมดแล้วครับ
วันที่ 11 มีนาคม 2011 เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้น ทุกคนที่อยู่ไม่ไกลจากทะเล ก็พอจะรู้ความเสี่ยงของการเกิดสึนามิ ทำให้หลายคนเลือกที่จะพยายามอพยพเข้าไปในฝั่งให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจจะแตกต่างจากการหลบภัยแผ่นดินไหวทั่วไปที่พยายามเลี่ยงออกจากอาคาร เพราะความเสี่ยงที่จะโดนซากตึกหรือสิ่งอื่นๆ ตกใส่สูงกว่า แต่พื้นที่นั้นติดทะเลและเป็นพื้นที่โล่ง การวิ่งออกมาเพื่อหนีสึนามิจึงเป็นเรื่องสำคัญกว่า
แต่ไม่ใช่ในความคิดของอาจารย์ใหญ่โรงเรียนนาคาฮามะ เพราะท่านคิดว่า ถ้าระดับการสั่นแรงขนาดนั้น สึนามิต้องซัดมาอย่างหนักแน่นอน และต่อให้วิ่งเข้าฝั่งไวแค่ไหน ก็หนีไม่ทันแน่ๆ เพราะมองไปกว่าจะถึงเนินเขา ก็ประมาณ 3–4 กิโลเมตรได้ และในยุคเมจิ ก็มีบันทึกว่าโรงเรียนเคยโดนสึนามิเล่นงานมาแล้ว ถ้าจะพยายามหนีคงไม่ได้ผล
ท่านจึงเลือกที่จะประกาศให้นักเรียนและบุคลากรทุกคนหนีขึ้นไปชั้น 2 ของโรงเรียน
แต่พอน้ำซัดเข้ามาจริงๆ ชั้น 2 ก็ยังสูงไม่พอ จึงเลือกที่จะหนีขึ้นไปบนดาดฟ้าของโรงเรียนทั้ง 57 คน และได้แต่ยืนมองน้ำซัดและทำลายทุกอย่างรอบๆ อย่างไร้แรงจะทำอะไร ทุกคนก็ต้องค้างอยู่บนดาดฟ้าในคืนนั้น ก่อนจะสามารถแยกย้ายกันได้ในเช้าวันต่อมา
กลายเป็นว่าทุกคนรอดมาได้ด้วยการตัดสินใจอย่างฉับไวของอาจารย์ใหญ่ เป็นข่าวใหญ่ในญี่ปุ่นและเขาก็ตัดสินใจเหลืออาคารเรียนไว้เป็นอนุสรณ์ของเหตุการณ์สึนามิในครั้งนั้นด้วย
ตอนที่เราไปดู ก็เป็นอาคารที่ถูกน้ำถล่มอย่างหนักจริงๆ แรงน้ำซัดเอาท่อเหล็กงอเหมือนกับหลอดดูดน้ำเลยทีเดียวครับ คุณเชนบอกว่า สึนามิตอนซัดมาก็น่ากลัว แต่ตอนที่น้ำมันลดถอยลงไป ก่อนที่จะซัดมาอีกรอบ น่ากลัวกว่าครับ เพราะว่ามันจะโกยเอาเศษซากต่างๆ ที่มันถล่มไปแล้วกลับลงมาด้วย ยังดีที่อาคารเรียนแข็งแรงพอที่จะทานแรงน้ำไว้ได้ ทำให้ทุกคนรอดมาได้ แต่ในตัวอาคารก็เละอย่างหนักจริงๆ
เดินรอบๆ อาคาร ก็ได้เห็นป้ายที่ติดไว้ว่าระดับน้ำขึ้นมาสูงแค่ไหน ความสูงของมันก็คือ มิดเพดานชั้นสองครับ ได้แต่ยอมแพ้พลังของธรรมชาติ แต่การเก็บอาคารนี้ไว้ก็เป็นเครื่องเตือนใจให้พยายามหาทางลดความเสียหายให้น้อยลงที่สุดเท่าที่จะทำได้นั่นล่ะครับ

 

5. “ข้ามเขาลูกนี้ไปแล้วจะถึงที่พัก”

หลังจากที่ปั่นไปถึงโรงเรียนเราก็พร้อมที่จะปั่นไปเมืองคาคุดะ เป็นที่พักของเราในคืนนั้น เราก็ต้องปั่นย้อนกลับทางเดิมซักหน่อย แล้วค่อยเบี่ยงซ้ายปั่นบนถนนกลางนาอันกว้างไกล บางช่วงก็เป็นฟาร์มสตรอเบอรี่ ใครมาช่วงฤดูสตรอเบอรี่ช่วงประมาณเดือนตุลาคม ถึง เมษายน คงสามารถแวะเก็บสตรอเบอรี่สดกินได้ครับ (บอกเลยว่า เก็บจากต้นนี่หวานเจี๊ยบ ไม่มีเปรี้ยวปนแบบที่เขาแพ๊คส่งขายต่างประเทศนะครับ) พอถนนโล่ง รถก็น้อย สภาพถนนดี พวกเราก็ปั่นเร่งความเร็วกันอย่างสนุกนั่นล่ะครับ แต่สิ่งที่ทำให้ผมเป็นห่วง อยู่ซ้ายมือของพวกเราตลอดทางกลับ นั่นคือ แนวเทือกเขา (เนิน) ไล่เรียงตามทางของเรา เพราะได้ยินว่า “ที่พักของเรา อยู่หลังเทือกเขานั่นล่ะครับ” ฟังแล้วก็ปาดเหงื่อรอครับ

ในที่สุดเราก็ถูกบอกให้เลี้ยวซ้าย เผชิญหน้าเนินข้างหน้า ดูแล้วก็ไม่ได้สูงอะไรมากหรอกครับ แต่การปั่นทางราบมาทั้งวัน แม้ระยะจะไม่ได้มากนัก แต่เจอแดดร้อนๆ มาตลอดก็ตัดกำลังเหมือนกัน ที่สำคัญเราไม่ได้มีข้อมูลด้วยว่า เนินข้างหน้าสูงแค่ไหน…(นึกถึงคำของ Daneil Amby ที่บอกว่า แค่นี้มันแค่เนินหลังเต่าเอง)
แถมทางก็คดไปมา มองไม่เห็นว่าทางจะยาวแค่ไหน ก็ได้แต่ปรับเกียร์เบา แล้วค่อยๆ ปั่นไปตามจังหวะหายใจที่ได้รับคำแนะนำมาตามประสาคนอ่อนขึ้นเขา ก็พอไหวครับ ไล่ๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ มาเช็คทีหลัง ความยาวประมาณ 2.5 กิโลเมตร แต่ช่วงครึ่งหลังมันหนักตรง Grade ประมาณ 8% เลยทีเดียวครับ ก็ปั่นกันแฮ่ก จนผมต้องแวะพักจังหวะนึง พอหายเหนื่อย ปั่นไปอีกประมาณร้อยเมตร แล้วหักเลี้ยว อ้าว ถึงยอดแล้วนี่หว่า กลั้นใจอีกนิดเดียวก็ปั่นรอบเดียวจบแล้วววว กลายเป็นว่าพักให้เสียเวลาเปล่าๆ ครับ (ฮา)
คุณเชนบอกว่า ลงเขาแล้วให้ปั่นไปยาวๆ แล้วไปรอที่ร้านสะดวกซื้อเลย (จังหวะนี้คุณเชนขึ้นรถ แล้วให้มาริโอซังปั่นขึ้นเขาแทน ซึ่งก็ช้ากว่าพวกเรา) พวกเราเลยปั่นลงเขากันอย่างเมามัน แล้วไหลยาวไปจนถึงร้าน MiniStop แวะซื้อกาแฟและซอฟต์ครีม หรือซอฟต์เซิร์ฟ ของดังประจำร้านกินกันอย่างเพลิดเพลิน รอสองท่าตามมาทีหลังนั่นล่ะครับ

พักเสร็จก็ปั่นไปถึงเมืองคะคุดะ เป้าหมายของเรา ที่เป็นเมืองเล็กๆ เงียบๆ ตามสไตล์เมืองเล็กในต่างจังหวัดของญี่ปุ่น แต่ก็มีอะไรต่อมิอะไรพร้อมดีครับ รอบๆ โรงแรมเราก็มีที่กินที่ซื้อของครบ โรงแรมก็มีออนเซ็นให้แช่ (แต่กลับไปไม่ทันเขาปิดก่อน…) แล้วก็ร้านอาหารที่เราไปกินมื้อเย็นกันก็อร่อยเอาเรื่องเลยล่ะครับ ปั่นมาเหนื่อยๆ ท้องอิ่ม ถึงโรงแรมก็หลับเป็นตาย ปิดเส้นทางการปั่นเพื่อสัมผัสกับเมืองที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ และชมการพัฒนาของเขาเพื่ออนาคต คิดว่า ต่อให้มาปั่นทุกปี ก็จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทุกปีจากพลังของคนที่ไม่ยอมแพ้ให้กับธรรมชาติครับ

By ณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล

นัท - สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ประเทศญี่ปุ่น ชอบปั่นจักรยาน ฟังเพลง อ่านหนังสือ และเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่ชอบ มีผลงานหนังสือกับสำนักพิมพ์แซลมอนมา 3 เล่มแล้วจ้า

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *