รีวิวจักรยานส่วนใหญ่ไม่มีประโยชน์

มาครับ หัวข้อล่อบาทาอีกแล้ว แต่เปิดหัวแบบนี้เรารวมถึงรีวิวที่เราเคยทำทั้งหมดด้วย เราคิดเรื่องนี้มาสักพักนึงแล้ว เลยอยากเรียบเรียงเล่าออกมาให้ฟังดู

รีวิวจักรยานที่ดีเป็นยังไง?

ผมลองพยายามตอบคำถามนี้ในหลายๆ มิติ และหลายแง่มุม เพราะหนึ่งในสิ่งที่เราทำใน Ducking Tiger ก็คือพูดถึงอุปกรณ์จักรยาน ไม่ว่าจะเป็นของที่ออกใหม่ หรือประสบการณ์การใช้งานจักรยานและชิ้นส่วนต่างๆ ในฐานะคนที่ชอบอุปกรณ์จักรยานเหมือนคนอ่านทุกๆ คนนี่คือข้อสรุปของเราในตอนนี้ครับ

1.ใครเป็นคนรีวิว?

ประสบการณ์ของคนรีวิวสำคัญแค่ไหน และมีประโยชน์กับเรายังไง ต้องเป็นคนที่แข็งแรงระดับนักกีฬา ถึงจะรีวิวได้ดีหรือเปล่า?

ผมสรุปได้ว่ารีวิวจากทั้งมือใหม่ที่แทบไม่เคยขี่จักรยานเลย หรือจะรีวีวจากอดีตนักแข่งระดับโลกก็มีประโยชน์และไร้ประโยชน์พอๆ กัน เพราะอะไร?

อันดับแรกการรีวิวมันหมายความว่าคุณต้องสื่อสารสิ่งที่คุณสัมผัสจากการใช้งานสิ่งของนั้นๆ ได้อย่างมีเหตุมีผล ชัดเจน กระชับ และเข้าใจง่าย ไม่ใช่นักกีฬาทุกคนที่จะทักษะการสื่อสารที่ดี เพราะการสื่อสารเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน ถ้าทุกคนสื่อสารได้ดีหมด นักข่าว นักหนังสือพิมพ์ นักโฆษณาก็ตกงานกันหมดแล้ว

หลายๆ ครั้งนักกีฬาไม่สนใจด้วยซ้ำว่าจักรยานที่ขี่มันเป็นยังไงถ้ามันดีพอใช้งาน เพราะเอาจริงๆ เขาก็ไม่ได้มีสิทธิเลือกเท่าไรอยู่แล้วจาก ถ้าปั่นเก่งจนเป็นนักปั่นอาชีพได้ก็ต้องมีสปอนเซอร์อยู่แล้ว เลือกของยี่ห้ออื่นไม่ได้ ผมเคยสอบถามนักปั่นในระดับโปรทัวร์หลายคนว่าชอบรถคันไหน หรือไม่ชอบคันไหน 80% ที่เจอ ไม่ได้แคร์ด้วยซ้ำ หรือสื่อสารออกมาได้แค่ไม่กี่ประโยค เช่น “พุ่งดี” “ไหลดี” จบ! แล้วเราจะได้อะไรจากคำพูดแค่นี้?

ไม่ใช่ทุกคนที่จะบอกเล่าประสิทธิภาพจักรยานได้ดี ต่อให้จะเป็นนักกีฬามากประสบการณ์ก็ตาม

ขณะเดียวกัน แต่ละคนขี่จักรยาน ไม่เหมือนกัน คำนี้ผมหมายถึงปฏิสัมพันธ์ะหว่างเรากับจักรยาน และมันเป็นเหตุผลว่าทำไมรีวิวมือใหม่ก็อาจจะมีประโยชน์ไม่แพ้รีวิวจากนักปั่นที่แข็งแรงมีประสบการณ์เยอะ เพราะว่านักกีฬานั้นขี่จักรยานไม่เหมือนมือใหม่ reaction ที่เขาได้จากจักรยาน ทั้งการตอบสนตองแรง การควบคุม ความสบาย

ความรู้สึกเหล่านี้ นักปั่นแต่ละคนรับไม่เหมือนกันทั้งสิ้น จักรยานแข่งบางคัน มือใหม่อาจจะพบว่าสะท้านไม่สบายตูดเลย ต่อให้มันจะเทสต์ในห้องแล็บว่าซับแรงสะเทือนดีแค่ไหนก็ตาม แต่สำหรับคนที่ปั่นมานานที่ชินกับแรงสะท้านจากการปั่นจักรยานแล้ว เขาก็อาจจะเฉยๆ ไม่ได้รู้สึกสะท้านอะไรมากมาย คนนึงอาจจะบอกว่ารถนี้แข็งสุดๆ อีกคนบอกว่าก็ธรรมดา แล้วเราจะเชื่อใครล่ะ?

เช่นนั้นแล้ว รีวิวโดยมือใหม่ อาจจะมีประโยชน์มากๆ สำหรับมือใหม่ด้วยกัน เพราะเขาจะขี่จักรยานด้วยวิธีการแบบมือใหม่คล้ายๆ กัน แต่รีวิวจากนักปั่นที่แข็งแรงอาจจะไม่มีประโยชน์กับมือใหม่เลยก็ได้ เพราะทักษะในการปั่น และประสบการณ์การใช้อุปกรณ์ไม่เท่ากัน ถ้าโปรสปรินต์ได้ 1,800 วัตต์ เขาอาจจะพบว่าจักรยานบางคันตอบสนองไม่ทันใจ ย้วย แต่มันจะมีประโยชน์อะไรกับนักปั่นมือใหม่ที่แค่สปรินต์ให้ได้ 600 วัตต์ก็หัวใจจะวายแล้ว? จักรยานคันที่โปรบอกว่าย้วยมันอาจจะแข็งสุดๆ สติฟฟ์สุดๆ สำหรับมือใหม่เลยก็ได้

แล้วรีวิวจากคนขายจักรยานล่ะ?

คนขายอาจจะสัมผัสจักรยานมาเยอะ ปั่นมาทุกรุ่นในทุกแบรนด์ที่เขาขาย แต่ถ้ามันมีผลประโยชน์โยงอยู่ แบบนี้มันจะมีโอกาสที่เขาตำหนิของที่เขาขายหรือเปล่า? หรือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเขา upsell รุ่นที่เขาอยากขาย โดยเฉพาะของที่ได้ margin เยอะๆ โดยการกล่าวชมมัน แล้ว downsell รุ่นอื่น? แต่สุดท้ายมันก็วนกลับไปที่ประเด็นหลักของเราคือ แต่ละคนก็มีปฏิกิริยาตอบสนองกับจักรยานที่ไม่เหมือนกันอยู่ดี ขึ้นอยู่กับทักษะและประสบการณ์ คันที่เจ้าของร้านบอกว่าดี มันอาจจะไม่ดีที่สุดสำหรับเราก็ได้

รีวิวจากสื่อเชื่อถือได้แค่ไหน?

เราเห็นกันบ่อยที่คนชอบบอกว่ารีวิวจากนิตยสารหรือเว็บไซต์ก็ซื้อได้ทั้งนั้นแหละ อันนี้ผมพูดจากมุมของคนทำสื่อคุณจะเชื่อหรือจะไม่เชื่อก็แล้วแต่ แต่จากประสบการณ์ที่ทำมาทั้งหมด ที่ได้ไปร่วมงานกับสื่อระดับโลก พูดได้เต็มปากว่า 99% ไม่มีสื่อไหนรับเงินรีวิว พวกเราไม่โง่ขนาดนั้นครับ ทำแบบนี้มีแต่เสียกับเสีย ในสื่อจักรยานส่วนใหญ่ฝ่ายโฆษณาแยกกับฝ่ายบรรณาธิการชัดเจน

คุณอาจจะสงสัยว่าทำไมรีวิวส่วนใหญ่ออกมาดี ก็ต้องบอกว่า จักรยานแข่งขันและอะไหล่ตัวท็อปที่มักได้รับการพูดถึงมากกว่าจักรยานระดับราคาอื่นๆ ส่วนใหญ่มาตรฐานสูงมากๆ อยู่แล้ว แล้วเอาจริงๆ ประสิทธิภาพมันก็ไม่ได้ต่างกันอย่างเป็นนัยสำคัญขนาดนั้น บางคันอาจจะคล่องตัวกว่าหน่อย สบายกว่านิด แต่มันก็เรื่องเล็กน้อยทั้งนั้น

ผมยกตัวอย่างความต่างในการรับงานของ Ducking Tiger โฆษณากับรีวิวเราต่างกันโดยสิ้นเชิง ในโฆษณาเราจะพูดถึงคุณสมบัติ เรื่องราวของอุปกรณ์นั้นๆ แต่ไม่มีการตัดสินถึงประสิทธิภาพของมัน ไม่เหมือนกับรีวิวที่เราพยายามหาข้อดีข้อด้อยผ่านประสบการณ์การใช้งานมาเล่าให้ฟัง

คนไทยใช้คำว่ารีวิวพร่ำเพรื่อกับทุกอย่าง จริงๆ แล้วการขายรีวิวเป็นเรื่องผิดกฏหมาย (ในยุโรปและอเมริกา) ถ้ามันเป็นโฆษณา คุณต้องประกาศว่าเนื้อหาตอนนี้เป็นโฆษณาให้เห็นชัดเจน และก็เป็นมาตรฐานที่ DT ใช้เช่นกันถึงแม้บ้านเราจะไม่มีกฏหมายเรื่องนี้ก็ตาม

นอกเหนือจากเรื่องความน่าเชื่อถือแล้ว รีวิวจากสื่อนั้นมักมีข้อจำกัดด้านเวลา ถ้าเป็นงานที่แบรนด์เชิญเราไปทดสอบ เราก็มีเวลาปั่นแค่ 1-2 วันเต็มที่ ซึ่งความรู้สึกในการใช้งานแค่ 1-2 วันบอกอะไรได้น้อยมากว่ารถคันนี้มันเป็นยังไง

อย่างไรก็ดี มีสื่อ (ต่างประเทศ) หลายเจ้าที่ทำรีวิวได้ละเอียดและให้มุมมองหลายมิติ ทั้งในแบบ shor term และ long term ผมแนะนำรีวิวจาก Cyclingtips และ Velonews  ส่วนรีวิวจาก Bikeradar และ Cyclingweekly จะมาตรฐานไม่ดีเท่าไร บางคนเขียนดี บางคนเขียนสั้นจนไม่ได้ประโยชน์อะไร

สำหรับ bike gadget อย่างพวกคอมพิวเตอร์จักรยานและพาวเวอร์มิเตอร์ คนเดียวที่เชื่อถือได้ตลอดคือ DCRainmaker

GCN ช่อง Youtube จักรยานที่ดังที่สุดในโลกมีนโยบาย “ไม่รีวิวสินค้าจักรยาน” โดยให้เหตุผลว่า พวกเขาไม่มีสิทธิอะไรที่จะมาตัดสินว่าคนดูควรซื้อสินค้าตัวไหน เขามีหน้าที่แค่ให้ข้อมูลให้ดีที่สุด ซึ่งก็เป็นนโยบายที่เราเห็นด้วยครับ

 

2. อิทธิพลของอุปกรณ์ที่เราใช้

อุปกรณ์หลายๆ อย่างมีอิทธิพลต่อประสิทธิภาพจักรยาน (เฟรม) มาก การเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับเราสามารถ ลดหรือเสริมคาแรคเตอร์ของเฟรมจักรยานแบบรู้สึกได้ง่ายมาก นั่นหมายความว่าความรู้สึก หรือฟีลลิงการปั่นของคุณไม่ใช่ปัจจัยที่อ้างอิงอะไรได้แบบน่าเชื่อถือ

ยกตัวอย่าง ยางจักรยานเป็นอะไหล่ที่เปลี่ยนฟีลรถได้อย่างเหลือเชื่อ ยางราคาถูกที่เน้นความทนทานให้ความรู้สึกหนืดกว่า แข็งกระด้างกว่ายางแข่งขันแบบวัดผลได้ชัดเจนทั้งทางวิทยาศาสตร์และทางความรู้สึก จักรยานราคาถูกที่ใช้ยางดีๆ สามารถให้ฟีลความนิ่มนวล ความเร็ว ความเร่งได้ดีใกล้เคียงจักรยานราคาแพงที่มากับยางคุณภาพต่ำ

ยางจักรยานที่ดีมีผลต่อคาแรคเตอร์จักรยานมากกว่าที่เราคิด

แฮนด์จักรยาน ผ้าพันแฮนด์ เบาะ ก็เปลี่ยนความรู้สึกสัมผัสที่เรามีกับรถได้เช่นกัน ลมยางที่ต่างกันแค่ 5-10 psi ก็เปลี่ยนรถสุดกระด้างให้นิ่มสบายเท่ารถที่ออกแบบมาเพื่อซับแรงสะเทือนได้ดีมากๆ

พูดง่ายๆ คือผัสสะทั้ง 5 ของมนุษย์เป็นสิ่งที่เชื่อถือได้น้อยที่สุด ในอุตสาหกรรมที่เราไม่สามารถวัดประสิทธิภาพอุปกรณ์ได้ในเชิงวิทยาศาสตร์ เราก็ต้องวัดผลมันด้วยความรู้สึก แต่เราก็ต้องตระหนักด้วยว่า ความรู้สึกของเรานั้นเชื่อถือไม่ได้

 

3. แล้วรีวิวในห้องแล็บเชื่อถือได้แค่ไหน?

มีสื่อและผู้ผลิตหลายๆ รายที่พยายามวัดผลประสิทธิภาพจักรยานด้วยการทดสอบทางวิทยาศาสตร์เช่น Tour Magazine ที่ขึ้นชื่อจากเยอรมนี ที่วัดค่าต่างๆ เช่นความสติฟฟ์ของท่อคอและกะโหลกของเฟรมจักรยาน หรือความสามารถในการให้ตัวของหลักอาน ซึ่งใช้เป็นเกณฑ์บอกความสบายของตัวถัง แต่ก็ไม่ใช่มาตรวัดที่ดีที่สุดเช่นกัน

ผลทดสอบในห้องแล็บเป็นแค่ตัวเลข แต่มันไม่ได้บอกว่าจักรยานจะขี่ดีแค่ไหน

การออกแบบรถให้ชนะผลทดสอบพวกนี้ไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าอยากขึ้นชื่อว่าสร้างรถที่สติฟฟ์ที่สุดในโลก ใครก็ทำได้ แต่มันอาจจะเป็นรถที่ปั่นห่วยแตกเลยก็ได้ เพราะรถที่สติฟฟ์แบบทะลุชาร์ท ก็จะเสียสมดุลด้านการซับแรงสะเทือน และการบังคับควบคุมที่ดี

นั่นคือ ถ้าเราอ่านแค่ตัวเลขผลทดสอบในตาราง มันไม่ได้บอกเราหรอกว่าคาแรคเตอร์รถโดยรวมเป็นยังไง ขี่จริงแล้วจะเหมือนตัวเลขหรือเปล่า จักรยานคันหนึ่งประกอบด้วยชิ้นส่วนหลายส่วน แต่ละส่วนทำงานร่วมกันทั้งหมด ต่อให้เฟรมดีแค่ไหน ถ้าคุณเอามาประกอบกับอะไหล่ที่ประสิทธิภาพแย่ คาแรคเตอร์รถก็อาจจะไม่เหมือนที่เราเห็นในผลทดสอบ ทั้งนี้ผมเชื่อว่าการทดสอบแบบนี้อย่างน้อยก็ใช้พออ้างอิงประกอบประสบการณ์การปั่นได้ดีกว่าการทดสอบที่ใช้ความรู้สึกล้วนๆ

 

4. อ่าน/ดู รีวิวยังไงให้มีประโยชน์ที่สุด

จะซื้อจักรยานสักคันไม่ใช่การตัดสินใจราคาถูก กีฬานี้อุปกรณ์ราคาสูง ทุกคนอยากได้ของที่ดีที่สุดที่เราจ่ายไหว ถ้าเราไม่ใช่เศรษฐีพันล้านที่มีอิสระทั้งการเงินและเวลา ก็เป็นเรื่องยากมากที่เราจะมีเวลาและกำลังทรัพย์ในการเฟ้นหาจักรยานที่สมบูรณ์แบบที่สุดด้วยตัวเอง

ผมมองว่าวิธีการอ่านหรือชมรีวิวจักรยานที่ดีที่สุดคือ ต้องรู้จักรับสารจากหลายมุมให้เป็น พยายามหาแพทเทิร์นจากรีวิวของสื่อ และจากประสบการณ์ของคนที่คุณเชื่อถือและไว้ใจ อาทิเช่น สมมติมีรีวิวจักรยานแข่งรุ่นล่าสุด สื่อ 3-4 เจ้าอาจจะคอมเมนต์เหมือนกันว่า มันเร่งไม่ดี เราก็ต้องสังเกตุว่า มันเพราะอะไรเขาถึงพูดแบบนั้น สเป็ครถมันหนัก? หรือว่าเป็นที่คาแรคเตอร์ของเฟรมจักรยาน เช่นรถแอโรส่วนใหญ่มักให้ฟีลลิงความพุ่งไม่ดีเท่ารถ all round ด้วยข้อจำกัดของรูปทรง ต่อให้น้ำหนักจะเท่ากันก็ตาม

แบบนี้ก็แสดงว่าเป็นคอมเมนต์ที่มีมูลพอเชื่อถือได้ เพราะหลายคนพูดคล้ายกัน ถ้าเรามีเพื่อน ร้านค้าที่ไว้ใจได้คอมเมนต์เหมือนกันก็อาจจะแน่ชัดแล้วว่ารถคันนี้มันมีคาแรคเตอร์แบบนี้จริงๆ ซึ่งมันอาจจะเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดีก็ได้แล้วแต่ความชอบของคุณ

แต่ถ้าความเห็นจากทั้งสื่อและคนรอบข้างมันดูต่างกันไปหมด สิ่งที่เราควรทำก็คือหาโอกาสลองเอง ไม่ว่าจะยืมเพื่อน หรือสอบถามร้านค้า ตัวแทนนำเข้าว่ามีจักรยานเดโมให้เราทดลองไหม หลายๆ ผู้นำเข้าเริ่มทำโปรแกรมเดโมจักรยานแล้ว แต่หลายแบรนด์ก็ไม่ได้ทำ ลองชั่งน้ำหนักดูว่าคุณให้คุณค่ากับการสัมผัสด้วยตัวเองขนาดไหน สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่าขึ้นคร่อม ขึ้นคร่อมสิบครั้งยังไม่เท่ากับได้ปั่นสิบกิโล

รีวิวจักรยานแทบทั้งหมดในโลกนี้เป็นแค่ “ความเห็น” ซึ่งผู้อ่านควรจะมีวิจารณญาณประเมิณเอาเองว่าเราให้ค่าความเห็นนั้นขนาดไหน เว็บนี้จะให้ห้าดาว Youtuber คนนั้นจะบอกว่าดีระดับเทพ หรือพี่ข้างบ้านบอกว่าห่วยปั่นไม่ออก ก็เป็นแค่ความเห็นทั้งสิ้น ภาระมันควรจะอยู่ที่ตัวเราที่จะต้องพิสูจน์ความเห็นนั้นด้วยตัวเองถึงจะได้ความเห็นและมุมมองที่ตอบคำถามเราได้ดีที่สุด

สำหรับ Ducking Tiger เกณฑ์การรีวิวเราเลือกจากของที่เราสนใจหรือหาได้เป็นหลัก พูดมาขนาดนี้แล้วรีวิวเก่าๆ เราไร้ประโยชน์หรือเปล่า ผมบอกได้แค่ว่าในแต่ละรีวิวที่เราพูดถึง เราพูดจากประสบการณ์ของเรา โดยพยายามสื่อสารออกมาให้ครบถ้วนชัดเจนที่สุดในทุกมิติ ที่รีวิวควรจะมี ด้วยความสามารถที่เรามีในตอนนั้น ทั้งด้านแบคเกราด์คนรีวิวและวิธีการทดสอบโดยไม่มีปัจจัยอื่นเช่นเงินโฆษณาเข้ามาเกี่ยวข้อง (อย่างที่บอก เราแยกชัดเจนว่าอะไรคือรีวิว อะไรคือโฆษณา) คุณจะให้ค่ากับวิธีการรีวิวแบบนี้ขนาดไหนก็ต้องตัดสินใจเอาเอง

รีวิวอุปกรณ์ไม่ใช่โฟกัสหลักของเว็บเรา จริงๆ แล้วมันเป็นประเภทเนื้อหาที่เราทำน้อยที่สุด ก็เพราะเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดนั่นหละครับ

ทั้งนี้ทั้งนั้น จากประสบการณ์ที่ได้ขี่จักรยานทั้งที่ดีและไม่ดีในหลายๆ ระดับราคา มาหลายคัน ผมพบว่า ไม่มีจักรยานคันไหนที่ดีที่สุด เมื่อเราอัปเกรดไล่ซื้อรถมาจนถึงระดับ high performance ที่ขึ้นชื่อว่าวิจัย พัฒนาและทดสอบมาอย่างดีแล้ว คุณอาจจะพบเหมือนผมว่า ประสิทธิภาพขั้นพื้นฐานส่วนใหญ่ดีไม่ต่างกัน เช่นทั้งด้านความสบาย การตอบสนองแรง ความคล่องตัว แต่ละคันอาจจะต่างกันนิดๆ หน่อยๆ

ในด้านฟีลลิงอื่นๆ บางคันอาจจะพุ่งกว่านิด บางคันอาจจะนิ่มกว่าหน่อย ซึ่งพอถึงจุดนี้ สิ่งที่จะวัดว่าคันไหนจะดีที่สุดสำหรับเราก็คือความพอใจ และความเหมาะสมในการใช้งานครับ ซึ่งสองเรื่องนี้ไม่มีใครตัดสินแทนคุณได้

การเฟ้นหารถจักรยานที่ดีที่สุดก็คงไม่ต่างอะไรกับหนวดเต่า เขากระต่าย ตามหายังไงก็ไม่จบสิ้น จนกว่าเราจะหยุดเองครับ บางทีรถที่ดีที่สุดสำหรับหลายๆ คนอาจจะไม่ใช่รถที่แพงที่สุด หรือเป็นรถที่ชนะมาหลายสิบรางวัลก็ได้ อย่าลืมว่าเราไม่ได้เลือกซื้อจักรยานด้วยประสิทธิภาพอย่างเดียว ยังมีเรื่องภาพลักษณ์ แบรนด์ ลวดลายสีสัน ราคา ความชอบส่วนตัวอีกหลายๆ อย่างครับ

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!