เปิดตัว: Trek Emonda SLR และ SL 2021

วันนี้ Trek เปิดตัว Trek Emonda 2021 จักรยานเสือหมอบ all around ที่ปรับรูปโฉมใหม่ จากเดิมที่เน้นเป็นเสือหมอบแนวเบาและพุ่ง รุ่นใหม่เพิ่มฟีเจอร์ด้านแอโรไดนามิกเพื่อช่วยประหยัดแรงที่ใช้ในการปั่น เข้ากับเทรนด์จักรยาน all around เจเนอเรชันใหม่จากหลายๆ ค่ายที่เปิดตัวไปก่อนหน้า มีรายละเอียดอะไรบ้างลองมาดูกันครับ

 

ดีไซน์: แอโรด้วย, เบาด้วย, ดิสก์เบรกเท่านั้น

Trek กล่าวว่า เวลาเราพูดถึงเรื่องแอโรไดนามิก หรือความลู่ลมในจักรยานแข่งขันนั้น เรามักจะโฟกัสไปที่ว่าประหยัดเวลาได้เท่าไรในการออกแรงเท่ากัน บนเส้นทางแบบทางราบ แต่จริงๆ แล้วในการขึ้นเขาที่ใช้ความเร็วไม่สูงนัก แอโรไดนามิกที่ดีก็ช่วยให้นักปั่นเบาแรงและทำเวลาได้ดีขึ้นเช่นกัน

ในเส้นทางราบ ถ้านักปั่นใช้แรง 350 วัตต์ เทียบกันระหว่าง Emonda รุ่นก่อน Emonda 2021 รุ่นใหม่จะประหยัดเวลาได้ 1 นาทีในการปั่นนาน 1 ชั่วโมง

แต่ถ้าเป็นทางขึ้นเขาชัน Emonda 2021 ก็ใช้เวลาน้อยลงกว่าเดิมเช่นกัน เช่นในเส้นทางภูเขา Alpe’d Huez (13.85km @ 8.1%) ที่ใช้ในการแข่ง Tour de France หลายๆ ครั้ง Emonda รุ่นใหม่จะเร็วกว่าเดิม 15 วินาที ถ้าเป็นทางขึ้นเขา Taiwan KOM (103km @ 3.1%) ที่ขึ้นชื่อเรื่องความยาวและความท้าทาย Emonda ใหม่ก็จะถึงยอดเขาเร็วกว่ารุ่นเดิม 80 วินาทีเลยทีเดียว (Stelvio 21 วินาที )

รูปทรงท่อใน Emonda 2021 ที่ออกแบบให้ลู่ลมกว่าเดิม

แต่ถึงจะปรับรูปโฉมให้ร่วมสมัยด้วยดีไซน์แอโรไดนามิกหลายๆ ด้าน Trek ก็วางตำแหน่งให้ Emonda เป็นเสือหมอบ all around ที่เน้นด้านความสติฟฟ์และน้ำหนักเบาอยู่ดี ตัวเฟรม Emonda SLR ใหม่ในไซส์ 56cm ที่ยังไม่ทำสีหนักเพียง 698 กรัมเท่านั้น มาคู่กับตะเกียบน้ำหนัก 365 กรัม

ส่วน Emonda SL ใหม่น้ำหนักมากกว่าพอสมควร เฟรมอยู่ที่ 1,142 กรัม และตะเกียบ 380 กรัม (แต่ถ้ารวมน้ำหนักสี ก็จะขึ้นอยู่กับลวดลาย ให้บวกน้ำหนักเพิ่มไปอีก 25-100 กรัม) เมื่อเทียบกับ Emonda รุ่นก่อนแล้ว เฟรมทั้งในรุ่น SLR และ SL หนักกว่ารุ่นก่อนเล็กน้อย

นอกเหนือจากด้านแอโรไดนามิกแล้ว Trek กล่าวว่าเรื่องความสติฟฟ์และการซับแรงสั่นสะเทือนนั้นแทบไม่ต่างจากรุ่นก่อน

รวมๆ แล้วดีไซน์ใหม่นี้ก็ปรับปรุ่งแค่รูปทรงให้ลู่ลมมากขึ้น โดยที่ยังคงความสติฟฟ์ ความสบาย และน้ำหนักให้ได้ใกล้เคียง Emonda รุ่นก่อนหน้า ซึ่งสิ่งที่ช่วยให้น้ำหนักยังเบาอยู่ถึงแม้จะเพิ่มรูปทรงท่อแอโรไดนามิกที่ต้องใช้วัสดุเยอะขึ้นก็คือ คาร์บอนไฟเบอร์ใหม่ OCLV800 ที่ Trek พัฒนาขึ้นมาสำหรับ Emonda 2021

จุดเด่นของ OCLV 800 อยู่ที่ความหนาแน่นของเส้นใยคาร์บอนที่มากขึ้น ทำให้ท่อคาร์บอนในตัวเฟรมแข็งแรงขึ้น โดยรวมแล้วทำให้ลดปริมาณวัสดุที่ใช้ผลิตเฟรมได้เล็กน้อย เพราะงั้นถึงแม้รูปทรงท่อทรงแอโรจะมีขนาดพื้นที่หน้าตัดใหญ่กว่าท่อทรงรีแบบแต่ก่อน แต่น้ำหนักก็เพิ่มจาก Emonda รุ่นก่อนแค่ไม่กี่สิบกรัม

Trek Emonda SLR และ SL รองรับการใช้งานดิสก์เบรกอย่างเดียว ไม่มีรุ่นริมเบรก โดย Trek กล่าวว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของ Trek “ไม่อยากลงทุนกับเทคโนโลยีเก่า”

แล้วเมื่อเทียบกับ Trek Madone ได้ประมาณไหน? Trek กล่าวว่ายังไง Madone ก็ยังลู่ลมกว่ามาก แต่มั่นใจว่านักปั่นส่วนใหญ่จะเลือกใช้ Emonda เพราะเป็นรถที่ครบเครื่องกว่าในทุกๆ เส้นทาง

 

Geometry: H1.5

เช่นเดียวกับ Trek Madone 9 SLR ที่เปิดตัวไปก่อนหน้า Trek ปรับปรุงองศาและมิติ Emonda ใหม่ ลดตัวเลือกลงเหลือแค่ H1.5 ซึ่ง Trek เคลมว่าเป็นองศารถที่กำลัง “พอดี” ใช้ได้กับทั้งนักแข่งอาชีพและมือสมัครเล่น จากเดิมที่ Emonda มากับ geometry แบบ H2 ซึ่งระยะ stack สูงกว่า และ reach สั้นกว่า H1 / H1.5

นอกจากจะลด geometry เหลือแค่แบบเดียวแล้ว Trek ยังตัด geometry สำหรับผู้หญิง (woman specific) ออกด้วย เคลมว่า H1.5 นั้นฟิตได้กับนักปั่นทุกคนและทุกเพศ

Emonda ใหม่มีให้เลือก 8 ไซส์ จาก 47cm-62cm

Size 47 50 52 54 56 58 60 62
Seat tube length 424 mm 453 mm 483 mm 496 mm 525 mm 553 mm 573 mm 593 mm
Seat tube angle 74.6° 74.6° 74.2° 73.7° 73.3° 73.0° 72.8° 72.5°
Headtube length 100 mm 111 mm 121 mm 131 mm 151 mm 171 mm 191 mm 211 mm
Headtube angle 72.1° 72.1° 72.8° 73.0° 73.5° 73.8° 73.9° 73.9°
BB Drop 72 mm 72 mm 72 mm 70 mm 70 mm 68 mm 68 mm 68 mm
Chainstay length 410 mm 410 mm 410 mm 410 mm 410 mm 411 mm 411 mm 412 mm
Wheelbase 972 mm 974 mm 977 mm 981 mm 983 mm 992 mm 1,001 mm 1,010 mm
Reach 373 mm 378 mm 383 mm 386 mm 391 mm 396 mm 399 mm 403 mm
Stack 507 mm 521 mm 533 mm 541 mm 563 mm 581 mm 601 mm 620 mm

 

กะโหลก T47, ซ่อนสายทั้งคัน

ใน Emonda 2021, Trek เลิกใช้มาตรฐานกะโหลก BB90 และหันไปใช้ T47 แทน ซึ่งน่าจะช่วยให้การดูแลเซอร์วิสง่ายขึ้น และรองรับขาจานแบบ oversized มากขึ้นด้วย จากเดิมที่ BB90 รองรับแค่ขาจานแกน 24mm (Shimano / SRAM GXP) กะโหลก T47 เพิ่มน้ำหนักเฟรม 30 กรัม

แน่นอนว่าเป็นรถใหม่ปี 2021 ก็ต้องซ่อนสายทั้งคัน สำหรับ Emonda รุ่นใหม่นั้นใช้วิธีการเดินสายที่เรียบง่ายไม่หวือหวา ไม่ได้ร้อยผ่านสเต็มและแฮนด์เหมือนค่ายอื่นๆ แต่ทำร่องบากที่ใต้ตัวแฮนด์กับสเต็มแทน แล้วเดินสายลงไปด้านหน้าของท่อคอ เพราะงั้นถ้าต้องการจะเปลี่ยนขนาดสเต็มหรือเปลี่ยนแฮนด์ก็ทำได้ง่ายโดยไม่ต้องต่อสายเบรกหรือเกียร์ใหม่เลย

 

Bontrager Aeolus RSL Cockpit

ส่วนแฮนด์อินทิเเกรต Bontrager Aeolus RSL ที่เห็นในภาพจะมากับ Emonda SLR เท่านั้น (รุ่น SL ใช้แฮนด์และสเต็มแยกชิ้น)

มองจากด้านข้างจะเห็นว่าแฮนด์ชุดนี้เดินสายแบบไม่ได้ซ่อนเข้าไปในแฮนด์แต่เดินผ่านร่องที่อยู่ใต้แฮนด์ แฮนด์ใช้กับซางขนาดปกติ 1 ⅛” นั่นหมายความว่าจะซื้อเฉพาะแฮนด์แล้วเอาไปใช้กับจักรยานรุ่นอื่นก็ได้ถ้าใช้ซางขนาดเดียวกัน (Trek ขายเฉพาะแฮนด์แยกต่างหากด้วย)

แน่นอนว่าใช้ได้กับทั้งชุดเกียร์ไฟฟ้าและแบบ mechanical แต่แบบ mechanical ก็จะเห็นสายโผล่มากกว่านิดหน่อยที่ใต้ตัวแฮนด์ ร้อยเดินลงไปด้านบนของท่อคอ

ด้าน geometry ของแฮนด์ Aeolus RSL ใช้สเต็ม -7° และมากับรีชที่ยาวพอสมควรที่ 100mm ระยะดรอป 124mm จุดเด่นคือน้ำหนักที่เบามากและมีให้เลือก 14 ไซส์ ตั้งแต่ความกว้างแฮนด์ 380mm ไปถึง 440mm และความยาวสเต็ม 80mm จนถึง 120mm

น้ำหนักแฮนด์อยู่ระหว่าง 272-295 กรัมขึ้นอยู่กับไซส์ของแฮนด์ที่เลือกใช้

ล้อ Bontrager Aeolus ใหม่ กว้างกว่าเดิม เบากว่าเดิม

ไม่ใช่แค่แฮนด์เท่านั้นที่มาใหม่พร้อมกับ Emonda 2021 แต่ Trek ยังเปิดตัวล้อ Bontrager Aeolus ใหม่อีก 3 รุ่นด้วย นั่นคือ RSL, Pro และ Elite

ทุกรุ่นเป็นล้อยางงัดที่รองรับการใช้งานยางทิวบ์เลส และเป็นล้อดิสก์เบรกเท่านั้น จุดเด่นคือไม่จำกัดน้ำหนักผู้ใช้งาน และเพิ่มความกว้างด้านในขอบล้อเป็น 21mm ในรุ่น RSL และ Pro ส่วนรุ่น Elite ความกว้างด้านในอยู่ที่ 19mm จุดต่างอื่นๆ คือดุมที่ใช้ โดยรุ่น RSL จะมากับดุม DT Swiss 240 EXP, รุ่น Pro ใช้ดุม DT350 และ Elite ใช้ดุมของ Bontrager เอง

สเป็คและน้ำหนักก็ตามตารางนี้เลย

รุ่น Aeolus RSL 37 TLR Disc Aeolus Pro 37 TLR Disc Aeolus Elite 35 TLR Disc Aeolus Elite 50 TLR Disc
ความสูงขอบล้อ 37 37 35 50
ความกว้างขอบล้อ (นอก) 28 28 27 28
ความกว้างขอบล้อ (ใน) 21 21 19 19
น้ำหนัก 1,325 1,505 1,665 1,730
ดุม DT Swiss 240s DT Swiss 350 Bontrager Bontrager
Freehub DT Swiss Ratchet EXP with 36 engagement points DT Swiss Ratchet freehub with 18 engagement points 24 engagement points and 3 pawl mechanism 24 engagement points and 3 pawl mechanism
ราคา € 2,399.98 € 1,299.98 € 899.98 € 899.98

 

ราคาและรุ่น

Trek Emonda 2021 มีให้เลือกสองรุ่นหลักๆ นั่นคือ Trek Emonda SLR ซึ่งใช้คาร์บอน OCLV800 และ Trek Emonda SL ใช้ OCLV500 น้ำหนักมากกว่า แต่ราคาก็ถูกกว่าด้วย ทั้งสองรุ่นใช้ดีไซน์เฟรมอื่นๆ เหมือนกันทุกอย่าง ถ้าจัดสเป็คเหมือนกันหมด Emonda SL จะหนักกว่า Emonda SLR ประมาณ 450 กรัม

Emonda SL 5 / ชุดขับ Shimano 105 / ล้อ Bontrager Affinity Disc / น้ำหนัก 9.16kg / ราคา 2,700 USD

Emonda SL 6 / Shimano Ultegra 8000 / ล้อ Bontrager Paradigm Disc / น้ำหนัก 8.28kg  / ราคา 3,300 USD

Emonda SL 7 eTap / ชุดขับ SRAM Force AXS / ล้อ Bontrager Aeolus Pro 37 / น้ำหนัก 7.94kg / ราคา 6,000 USD

Emonda SLR 7 / ชุดขับ Shimano Ultegra Di2 / ล้อ Bontrager Aeolus Pro 37 / น้ำหนัก 7.17kg / ราคา 8,300 USD

Emonda SLR 9 / ชุดขับ Shimano Dura-Ace Di2 9170 / ล้อ Bontrager Aeolus RSL 37 / น้ำหนัก 6.78kg / ราคา 12,000 USD

เฟรม Emonda SLR / ราคา 3,699 USD (ประมาณ 115,000 บาท)

เฟรม Trek Emonda SL / ราคา 1,899 USD (ประมาณ 59,000 บาท)

Via: Trekbikes.com

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!