นิบาลีคว้าแชมป์ Milan-San Remo 2018

Foto LaPress - Marco Alpozzi 17/03/2018 Sanremo (Italia) Sport Ciclismo Milano-Sanremo 2018 - edizione 109 - da Milano a Sanremo (294 km) Nella foto: Vincenzo Nibali (Bahrain - Merida) Photo LaPresse - Marco Alpozzi March 17, 2018 Sanremo (Italy) Sport Cycling Tirreno-Adriatico 2018 - edition 109 - Milano to Sanremo (182 miles) In the pic: Vincenzo Nibali (Bahrain - Merida)

วินเชนโซ นิบาลี (Bahrain-Merida) ยืนยันการเป็นนักปั่นที่รอบด้านที่สุดในเปโลตองเมื่อเขาคว้าแชมป์รายการ Milan-San Remo ประจำปี 2018 เมื่อคืนนี้ กับการออกหนีกลุ่มที่เนินชันสุดท้าย ชิงเข้าเส้นชัยก่อนกลุ่มสปรินเตอร์เพียงไม่กี่วินาที

นิบาลีโจมตีกลุ่มบนเนิน Poggio เหมือนที่เขาทำแทบทุกปีที่ลงแข่งขัน (แต่ไม่สำเร็จ) ก่อนหน้านี้กลุ่มเบรคอเวย์โดนรวบจับที่ราว 40 กิโลเมตรสุดท้าย และไม่มีตัวเต็งคนไหนโจมตีบนเนิน Cipressa จากที่มีกระแสลมต้านเยอะทำให้เกมจืดลง จนถึงตีนเนิน Poggio มาร์คัส เบิร์กฮาร์ท (Bora-Hansgrohe) ชงเกมให้ปีเตอร์ ซากาน ชิงหนีออกไปก่อน บังคับให้คู่แข่งไล่ตาม BMC ส่งเจมปี้ ดรักเกอร์ขึ้นเก็บ แต่ทั้งคู่โดนรวบที่ราว 7 กิโลเมตรสุดท้าย

ใกล้ถึงยอดเนิน นักปั่นจากทีมรับเชิญ Israel Cycling Academy คริส นีแลนดส์ ชิงหนีกลุ่ม แต่นิบาลีเห็นโอกาสที่กลุ่มไม่ออกไล่นีแลนสด์​ กระแทกขึ้นหนีตามอย่างรวดเร็ว และแซงนีแลนส์ด้วยเวลาไม่กี่อึดใจ

ตาม
ชิด
เทียบ
นำ
แซง
หลุดยาว

ด้านหลังเปโลตองยังเกี่ยงกันว่าใครจะออกตามนิบาลี เควียทคอฟสกี้ (Sky) แชมป์เก่าผลัดกันโจมตีกับจิอันนี มอสคอน เพื่อนร่วมทีม แต่ถูกปีเตอร์ ซากาน (Bora) ไล่เก็บ เปิดโอกาสให้แมทเทโอ เทรนติน (Mitchelton-Scott) ออกไล่นิบาลีในจังหวะลงเขา ระหว่างนี้นิบาลีมีเวลานำกลุ่มราว 11 วินาทีเท่านั้น

เทรนตินถูกกลุ่มจับที่ 1,500 เมตรสุดท้าย ขบวนลีดเอาท์ของ Quickstep และ Groupama FDJ ขึ้นนำเปโลตอง ภาพจากมุมกล้องดูราวกับว่านิบาลีน่าจะโดนไล่ทันก่อนถึงเส้นชัย แต่ก็ยังมีระยะพอหายใจ เขามีเวลาเหลือไม่ถึง 7 วินาทีที่กิโลเมตรสุดท้าย

แต่ถึงลีดเอาท์ของเหล่าสปรินเตอร์จะเร่งสุดแรงขนาดไหน ระยะห่างมันก็ยาวเกินไป นิบาลีมองหลังหนึ่งครั้ง มั่นใจกับชัยชนะ ชูมือขึ้นก่อนเข้าเส้นชัย 20 เมตร คาเล็บ ยวน (Mitchelton-Scott) พุ่งตามเข้ามาเป็นอันดับสอง สปรินต์เอาชนะเปโลตองทั้งกลุ่ม และแชมป์เก่าอานอด์ เดอมาร์ (Groupama-FDJ) คว้าอันดับสาม

วิดีโอไฮไลท์

วิดีโอไฮไลท์ 10 กิโลเมตรสุดท้าย (แบบไม่ตัด)

 

นิบาลี

“ผมไม่ได้คิดว่าจะชนะ แต่ผมเชื่อมั่นจนถึงวินาทีสุดท้าย”

“เป็นการโจมตีที่คำนวนเยอะเหมือนกัน ผมไล่ตามแชมป์ลัตเวีย (คริส นีแลนดส์) เขาบอกให้ผมช่วยนำหน่อย ผมก็นำ พอเห็นว่าเรานำกลุ่มได้ 20 วินาที ตอนช่วงก่อนลงเนิน ผมเลยเร่งเต็มที่แล้วก็หลุดเดี่ยว แล้วก็รั้งให้มันห่างจนถึงเส้นชัย กิโลเมตรสุดท้ายมันไม่จบไม่สิ้นครับ ทรมานที่สุด”

“ผมเคยได้โพเดี้ยมมาแล้ว ผมรู้ว่าผมน่าจะชนะได้ มันทำให้ผมมีความหวัง”

“ผมเคยคิดว่าแชมป์ MSR มันเกินความสามารถไม่เข้ากับสไตล์การปั่นของผม ผมเคยโจมตีหลายครั้งบน Poggio แต่ก็พ่ายให้กับคนที่เร็วกว่าทุกครั้ง รอบนี้ผมรู้ว่าผมทำงานให้ทีม ช่วยโคลเบรลลี (สปรินเตอร์) ถ้าผมจะหนี ผมต้องไปคนเดียว”

“ทีมให้โอกาสผมสองครั้งในสนามนี้ที่จะโจมตี บน Cipressa ถ้ามีนักปั่นหลุดมาด้วย 5-6 คน หรือบน Poggio แต่มันอันตรายกว่าเพราะมีทั้งซากานและเควียทคอฟสกี้ ทั้งคู่เร็วกว่าผมในการสปรินต์ ผมรอ รอจนไม่มีใครออก แล้วก็หนีเอง”

“มันใช้ทั้งหัว และใช้ทั้งใจ การที่จะหนีให้รอดจนถึงกิโลเมตรสุดท้ายในอากาศแบบนี้ คุณต้องเชื่อมั่นมากๆ ครับ”​

 

เควียทคอฟสกี้:

“ทีมเรานำทั้งบนเนิน Cipressa และ Poggio แต่ตอนที่นิบาลีหนีไป เราเผลอครับ ทั้งกลุ่มเลย เราปล่อยให้เขานำไป 15-20 วินาที ผมแปลกใจที่ไม่มีทีมสปรินเตอร์ไหนตามเขา ทุกคนหยุด ผมต้องหนี ผมสลับกันหนีกับมอสคอน แต่ก็นั่นแหละ คู่แข่งออกไล่จับเรา สุดท้ายไม่มีใครจับนิบาลีได้ เรามีแค่สองคน เราจะทำอะไรได้?”

 

ซากาน:

“ผมไม่ไล่บน Poggio ผมอยากรอจนถึงตีนเนินเพื่อดูว่าใครจะไล่บ้าง เพราะมันยังมีโอกาสจะไล่เขาทัน แต่สุดท้ายนิบาลีแข็งแกร่งกว่าทุกคน”

“ผมรู้ว่าถ้าผมไล่เขาตั้งแต่ทีแรกคนเดียว ผมจะจับเขาได้ แต่ไม่มีใครออกเลย ทุกคนรอผมหมด เพราะงั้นผมตัดสินใจว่า โอเค มันจบแค่นี้แหละถ้าไม่มีใครจับนิบาลีเราก็แพ้ สุดท้ายเราจับไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร”

“ผมยินดีกับนิบาลีครับ เขาสมควรได้รับชัยชนะนี้ มันเป็นชัยชนะที่คนอิตาลีและกีฬาของเราควรได้รับ เขาเป็นคนเดียวที่กล้าจะคว้าชัยชนะในวันนี้”

 

ข้อสังเกต

1. นิบาลีไม่ใช่คนที่ชนะบ่อย แต่ชนะรายการใหญ่เสมอ

นิบาลีเป็นคนที่สื่อไม่ค่อยพูดถึงเท่าไร อาจจะเพราะที่เขาเป็นคนอิตาเลียน (สื่อภาษาอังกฤษไม่ค่อยเข้าไปสัมภาษณ์)​ เป็นคนไม่ค่อยมีดราม่า (เหมือน Sky) ทำอะไรไม่หวือหวา (เหมือนซากาน) แต่หากเราย้อนดูชัยชนะของนิบาลีแล้วปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาเป็นหนึ่งในนักปั่นที่ประสบความสำเร็จทีสุดในเปโลตอง เขาเป็นนักปั่นคนเดียวตอนนี้ที่ได้แชมป์แกรนด์ทัวร์ครบทั้งสามรายการ (Giro/ Tour/ Vuelta) และชนะสนามคลาสสิคถึงสองรายการ (Giro d’Lombardia + Milan San Remo)

สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดเมื่อคืนนี้คือความธรรมดาของมันครับ คือการโจมตีที่เนิน Poggio นี่เป็นสิ่งที่ทุกคนรู้ว่าต้องเกิดขึ้นแน่นอน ไม่มีเซอร์ไพรส์อยู่แล้ว แต่จะเกิดจากใคร และจะทำได้ดีแค่ไหน ยิงให้หลุด ลงเขาให้เร็ว และหนีให้รอด วิธีสำหรับนักปั่นที่ไม่ใช่สปรินเตอร์มันมีแค่นี้จริงๆ เพราะหนีก่อนเนิน Poggio ก็ยาวเกินไป หนีหลังจากนั้นก็รอดยาก

นิบาลีเป็นคนเดียวในรอบสิบปี หลังจากเฟเบียน แคนเชอลาราที่คว้าแชมป์ได้ด้วยการหนีเดี่ยว (2008) แต่แคนเชอลารานั้นหนีที่ตีนเนินแล้ว สองกิโลเมตรสุดท้าย ถ้าจะนับจริงๆ นิบาลีเป็นคนแรกที่หนีบน Poggio สำเร็จ ครั้งสุดท้ายเมื่อ 24 ปีก่อนเป็นผลงานของ จิออร์จิโอ เฟอร์ลานในปี 1994 นอกนั้นเป็นการสปรินต์แทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจากกลุ่มเล็กหรือกลุ่มเปโลตองก็ตาม และมันเป็นการโจมตีที่เร้าใจที่สุด ด้วยระยะห่างที่มีไม่มาก และเราไม่รู้จริงๆ ว่าเขาจะโดนจับหรือเปล่า

การโจมตีครั้งนี้ต้องมีทั้งพละกำลัง ความมั่นใจ โชค ความลังเลจากทีมคู่แข่ง ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ระยะห่างหนึ่งวินาทีที่เขาได้ที่หน้าเส้นชัยก็จะหายไปทันที ถ้าไม่เชื่อในตัวเองจนวินาทีสุดท้ายก็คงทำไม่ได้จริงๆ

 

2. เกือบจะเป็นคราวของสปรินเตอร์

ถึงนิบาลีจะเบรคอเวย์รอด แต่ก็เกือบจะเสร็จทีมสปรินเตอร์เหมือนกัน คาเล็บ ยวน (Mitchelton-Scott) พิสูจน์ตัวเองว่าเขารับมือกับสนามคลาสสิคเส้นทางไกลๆ อย่าง MSR ได้พุ่งเข้าเส้นชัยเป็นอันดับสอง เอาชนะคู่แข่งตัวเต็งได้ทั้งกลุ่ม เดอมาร์เองก็มีทีม FDJ ที่ลีดเอาท์ได้ดีมากในช่วงสุดท้าย

ถ้าจะมีสปรินเตอร์ที่โชคไม่ดีก็คงเป็นไกรเปิล (Lotto-Soudal) ที่ล้มไหปลาร้าหัก, คาเวนดิช (Dimension-Data) ที่ชนเข้ากับตัวกั้นถนน และเป็นการล้มครั้งที่สามในรอบปีนี้ แต่โชคดีว่าไม่บาดเจ็บหนักเท่าไร

ส่วนมาร์เซล คิทเทล (Katusha) ที่ลงสนามนี้เป็นครั้งแรก หลุดกลุ่มตั้งแต่เนิน Cipressa ก็คอนเฟิร์มเหมือนกันว่าเขาเป็นเพียวสปรินเตอร์ที่ต่อกรกับเนินได้ไม่ค่อยดีนัก

 

3. ซากานกับเควียทคอฟสกี้เจอปัญหาเดียวกับแคนเชอลารา

อย่างที่กล่าวไปในบทวิเคราะห์​ ทั้งซากานและเควียทคอฟสกี้ ด้วยความที่เป็นตัวเต็งห้าดาวทั้งคู่ก็ต้องเจอสภาวะที่โดนกลุ่มหมายหัวบนเนินคัดตัว ต่างคนต่างรอกันให้อีกคนเปิดโจมตีก่อน หรืออกไล่จับกลุ่มหนีก่อน ซึ่งสุดท้ายเป็นการตัดสินใจที่ช้าไป เปิดโอกาสให้นิบาลีทำเวลานำได้มากพอ ช่วงหลังเควียทคอฟสกี้ให้มอสคอนออกช่วยนำ และซากานให้แดนเนียล ออสขึ้นไล่นิบาลี

ทั้งคู่คงเจอปัญหานี้ไปในทุกๆ รายการคลาสสิคที่ลงแข่ง แต่อาจจะทำได้ดีกว่านี้ เพราะ MSR เป็นสนามที่ “ไม่ได้ยาก” ขนาดนั้น ถึงจะระยะทางไกล แต่เส้นทางไม่ selective เหมือน Roubaix / Flanders ที่มีทั้งเนินและถนนหิน ส่วนใหญ่กลุ่มแตกเป็นกลุ่มเล็กอยู่แล้ว เปิดโอกาสให้คนที่แข็งแรงที่สุดหนีได้ง่ายกว่าใน MSR ซึ่งก็น่าจับตามองว่าฤดูกาลคลาสสิคนี้ทั้งคู่จะแก้เกมยังไงครับ

ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาใหม่ ทั้งทอม โบเน็น และเฟเบียน แคนเชอลาราก็เจอมาตลอด จนกลายเป็นโอกาสให้นักปั่นม้ามืดหนีไปคว้าชัยชนะแทนที่เขาได้เสมอๆ

 

สรุป

MSR ปีนี้ก็เป็นไปอย่างที่เราคาด ไม่มีอะไรเกิดขึ้นจนถึงสิบกิโลเมตรสุดท้าย การที่ล้มต้านแรงตลอดเส้นทางก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไม่มีใครกล้าโจมตี หนีไปก็เปลืองแรง แล้วก็มาวัดกันที่ Poggio

นิบาลีเดินหมากได้ดีที่สุดในเกมนี้ เป็นการโจมตีที่สมบูรณ์แบบมาก ทั้งจะหวะที่ออกไป จังหวะเร่งหนี ตรงกับช่วงที่ตัวเต็งคนอื่นล็อกคอกันเองไม่มีใครอยากโต้ลมเปลืองแรงเป็นคนแรก และแน่นอน ช่วงลงเขาการหนีคนเดียวย่อมทำได้เร็วกว่ากลุ่ม

น่าสนใจว่าปีนี้นิบาลีจะชนะอะไรอีกบ้าง แกรนด์ทัวร์ก็เป็นของถนัดเขา และชิงแชมป์โลกในเมือง Innsbruck ที่เส้นทางเป็นภูเขาเยอะก็ดูจะเหมาะกับเขาเช่นกัน

ผลการแข่งขัน

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!