6300 เมตรหน้าเส้นชัย ปลายทางคือรูเบเวโลโดรม Niki Terpstra แห่ง Omega-Pharma Quickstep อาศัยจังหวะที่กลุ่มชะลอความเร็วเข้าโค้ง เดินเครื่องหนีห่างคู่แข่งทั้ง 11 คน ระยะทางระหว่าง Terpstra และกลุ่มเพิ่มขึ้นจาก 10 เมตร เป็น 20 เมตร เป็น 150 เมตร… จนในที่สุดไม่มีใครได้เห็นแผ่นหลังของเขาอีกเลย
Niki Terpstra นักปั่นชาวดัทช์วัย 28 ปีคว้าชัยชนะการแข่งสนามคลาสสิค Paris-Roubaix ครั้งที่ 112
[separator type=”double”]
นับถอยหลังสู่ชัยชนะ
Paris-Roubaix ยังคงเป็นเกมการแข่งที่คาดเดาไม่ได้สมคำร่ำลือ เมื่อกลุ่ม peloton เริ่มเข้าสู่ช่วงถนนหินโบราณที่ครึ่งแรกของการแข่งขันปัญหาก็ตามมาแบบไม่ขาดสาย ทั้งปัญหารถเสียและนักปั่นล้มบาดเจ็บ Alexander Kristoff ตัวเต็งจาก Katusha ยางรั่วสองครั้งและล้มจนต้องเข้าโรงพยาบาล Cancellara, Vanmarke, Sagan, Van Avermaet ได้เปลี่ยนจักรยานแทบทุกคน
เบรคอเวย์ของวันมาจากทีม local และทีมดิวิชันสอง น่าแปลกใจที่ไม่มีตัวล่อจากทีมใหญ่ๆ เข้าไปด้วย เบรคอเวย์หนีห่างออกไปได้ร่วม 10 นาทีในชั่วโมงที่สองของการแข่งขันแต่ก็ต้องยอมศิโรราบให้กับความยากของเซกเตอร์ป่าอาเรนเบิร์ก โดนกลุ่ม peloton ไล่จนทัน
65km to go: Boonen attack
จังหวะสำคัญของการแข่งอยู่ในช่วง 65 กิโลเมตรสุดท้ายเมื่อ Tom Boonen (OPQS) เริ่มยืดเส้นยืดสายกระตุกหนีออกจากกลุ่มหลังจากที่พ้นป่าอาเรนเบิร์กมาได้เล็กน้อย เมื่อแชมป์เก่าเดินเครื่องกลุ่มข้างหลังก็ไม่ยอมให้หลุดไปง่ายๆ Damien Gaudin (Ag2r), Clément Koretzky (Bretagne-Séché), Geraint Thomas (Sky), Bram Tanking (Belkin), Bart De Backer (Giant-Shimano) และ Yannick Martinez (Europcar) ขึ้นไล่ตามทันที
Boonen ไม่แฮปปี้กับกลุ่มที่ไม่ยอมช่วยขึ้นมาผลัดกันลาก พยายามหนีออกคนเดียวหลายทีแต่ก็ไม่สามารถสลัดได้ การโจมตีของ Boonen อาจจะไม่เด็ดขาดเหมือนตอนที่เขาได้แชมป์ในปี 2012 แต่จังหวะนี้ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนการแข่งขันเลยทีเดียว เพราะ BMC และ Trek ที่ไม่มีนักปั่นในกลุ่มหนีต้องไล่ตามกันสุดชีวิต ขณะเดียวกันก็เป็นการกำจัดตัดแรงคู่แข่งและผู้ช่วยของทีมอื่นๆ ไปในตัว ใน Tour of Flanders OPQS ส่ง Vandenbergh ขึ้นหนี ถึงกลุ่ม Vandenbergh จะหนีรอดจนถึงเส้นชัยแต่เขาก็ทำได้แค่ที่ 4 ครั้งนี้ OPQS เดิมพันส่งเอซขึ้นไปเพราะ Boonen สปรินต์ได้ดีมาก ชัดเจนว่าถ้ากลุ่มหนีจะรอด ทีมจะไม่ยอมตกเป็นจำเลยคู่แข่งอีกครั้งในการสปรินต์
40km to go: ถึงคราว Vanmarke
กลุ่มหน้าเหลือนักปั่นเพียง 6 คน แต่เมื่อไม่ร่วมมือกันก็ทำให้หนีไปได้ไม่ไกลมาก จังหวะเดียวกันบนเซคเตอร์ถนนหิน Pont-Thibaut, Sep Vanmarke (Belkin) ตัดสินใจกระชากหนี แต่โดน Fabian Cancellara ประกบทันที กลุ่มของ Boonen ข้างหน้าเริ่มชะลอลงบนเซคเตอร์ความยากระดับ 5 ดาว Mont-en-Pavele และโดนจับได้ในที่สุด
21km to go: peloton ระส่ำระส่าย
ความยากของระยะทางร่วม 200 กิโลเมตรบนถนนหินเริ่มทำพิษ ช่วงควอเตอร์สุดท้ายของการแข่ง Peter Sagan โชว์ฟอร์มหนีเดี่ยว เป็นการโจมตีที่ดูเหมือนจะไปได้ดี แต่เป็น Sep Vanmarke (อีกแล้ว!) ที่ไม่ยอมให้โชคชะตาของเขาตกอยู่ในมือคนอื่น ออกไล่ Sagan มี Cancellara, Stybar, และ Degenkolb ติดมาด้วย กลุ่มไล่จับ Sagan ได้ทันเหลือกันทั้งหมด 5 คน ปัญหาของกลุ่มนี้คือ Degenkolb และ Sagan สามารถ “อู้” ได้ ไม่ต้องขึ้นนำ เพราะถึงแม้จะเข้าเส้นชัยพร้อมกันทั้งคู่สามารถสปรินต์ชนะ Stybar, Vanmarke และ Cancellara ได้สบายๆ บังคับให้ทั้งคู่ต้องขึ้นลาก หรือออกหนี แต่ก็ไม่สำเร็จ
กลุ่มข้างหลังเริ่มระส่ำระส่าย Stybar มี Boonen และ Terpstra อยู่ในกลุ่มหลังซึ่งร่วมมือกับ Wiggins, Thomas (Sky), De Backer (Giant) และ Seb Langeveld (Garmin) ช่วยกันตาม จังหวะนี้ peloton แตกสลายไปแล้ว
9k to go: สมการที่ไม่ลงตัว
เมื่อกลุ่มหน้าเกี่ยงกัน กลุ่มของ Boonen ก็ไล่มาตามทันในที่สุด กลายเป็นกลุ่มผู้นำที่แกร่งที่สุดในสนาม 11 คน OPQS ได้เปรียบกว่าใครเพราะมีนักปั่นในกลุ่มถึง 3 คน กลุ่มชะลอความเร็วลง ตัวเต็งทุกคนรู้ดีว่านี่คือวินาทีตัดสิน เป็นวินาทีที่ต้องทำอะไรสักอย่าง แต่จะทำอะไรดี? ถึงแม้จะมีจำนวนเพิ่มมาเป็น 11 คนแต่ก็ไม่มีใครอยากจะสปรินต์แข่งกับ Sagan และ Degenkolb แต่คนที่สปรินต์ไม่ได้ก็รู้ว่าถึงหนีตอนนี้อาจจะไม่หลุด โดยเฉพาะ Cancellara และ Vanmarcke ที่ไม่มีเพื่อนร่วมทีม
6km to go: Terpstra says Good bye
6.3 กิโลเมตรหน้าเสันชัย Niki Terpstra ออกทิ้งห่างกลุ่ม ในจังหวะแรกดูเหมือนเป็นการโจมตีอาจจะไม่รอด แต่! แทนที่ตัวเต็งคนอื่นจะช่วยกันออกไล่ กลับเป็น Bert de Backer มือขวาของ Degenkolb จาก Giant เพียงคนเดียวที่ขึ้นมาลาก จังหวะนี้ก็เดาไม่ยากว่ากลุ่มอาจจะหมดกำลังแล้วหลังจากที่ปั่นมาร่วม 250 กิโลเมตร และตัวท๊อปหลายคนก็เผาผลาญพลังงานไปกับการแบ่งรับแบ่งสู้อยู่ตลอด
ภาพนี้บอกอะไรได้หลายอย่างครับ Terpstra มากับชุดสกิทสูทลู่ลม (ใน Roubaix!?) หมวกแอโร และท่าปั่นที่เห็นได้ชัดว่าหนีอย่างเอาจริง แผ่นหลังแบนราบลู่ลม ในมุมกลับกลุ่มหลังมีทั้งคนที่ฟรีขา ไม่ยอมไล่ หมดแรงหรือไม่อยากช่วยคู่แข่ง จะแบบไหนก็ดี แต่ข้อเท็จจริงวันนี้ชัดแล้วว่ามีอย่างเดียว: Niki Terpstra จะเป็นคนแรกที่ได้ปั่นเข้าสู่เส้นชัยใน Roubaix Velodrome
ส่งท้าย
ไม่ใช่สนามที่ลุ้นจิกหมอนจนถึงวินาทีสุดท้าย แต่ก็เป็นเกมที่ลุ้นระทึกมากๆ และเราได้เห็นชัดเจนว่าสนามคลาสสิคมันคือเกมเป่ายิงฉุบดีๆ นี่เองครับ สปรินเตอร์คานอำนาจกับขาแรง เมื่อเสมอกันจนหมดแรงทุกฝ่าย ผู้ชนะคือคนที่เรามักจะคาดไม่ถึง
แต่จะบอกว่าคาดไม่ถึงก็คงไม่ใช่ Terpstra คือคนที่ฟอร์มดีที่สุดในทีม OPQS ในฤดูกาลนี้ ดีกว่า Tom Boonen หัวหน้าอย่างเห็นได้ชัด OPQS ใช้ความแกร่งของนักปั่นในทีมได้สมบูรณ์แบบ จังหวะที่ Boonen ยิงหนีออกมาใน 65 กิโลเมตรสุดท้ายคือจุดเปลี่ยนเกมที่บังคับให้กลุ่มหลังต้องเร่งเครื่อง ตัดกำลังทีมอื่นๆ ไปเป็นจำนวนมาก
Terpstra ใช้จุดเด่นของตัวเองในการโจมตีจากทางไกลที่เขาใช้จนสำเร็จหลายต่อหลายครั้ง เขาคว้าแชมป์เสือหมอบดัทช์สองสมัยด้วยการหนีเดี่ยวทำลายแผนทีม Rabobank ทั้งทีมในปี 2010 และ 2012 ล่าสุดใน Dwars door Vlaanderen ก็คว้าแชมป์รายการด้วยสเต็ปเดียวกัน ถึงจะไม่ใช่การหนีเดี่ยวที่เด็ดขาดเหมือน Boonen และ Cancellara แต่เมื่อดึงออกมาใช้ในจุดวิกฤติที่ทุกคนส่ายหน้ามันก็กลายเป็นท่าไม้ตายที่ยากจะต่อกร
Degenkolb ก็ทำได้เกินคาด คว้าอันดับ 2 คอนเฟิร์มทักษะที่ซุ่มซ้อมมานานในขณะที่ Fabian Cancellara ปิดงานด้วยอันดับ 3 กลายเป็นอันดับโพเดียม 12 ครั้งต่อกันในสนามระดับ Monument
BMC และ Sky พยายามได้ดีแต่เมื่อโชคไม่เข้าข้างอะไรก็ช่วยไม่ได้ เอซ Edvald Boassan Hagen ล้มกลางทาง แต่ Wiggins กลับมาติดอันดับ 9 ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เอซของทีม เกือบ 20 ปีแล้วที่เราไม่ได้เห็นนักปั่น GC ทำผลงานได้ถึงขนาด top 10 ในสนามคลาสสิค ท่านเซอร์ดูจะเอนจอยกับการแข่งขันไม่กดดัน เครียดเหมือนปีก่อนๆ ครับ ฤดูกาลนี้คงได้เห็นผลงานท่านเซอร์อีกบ่อยๆ
Belkin ก็เป็นอีกหนึ่งทีมที่กราดเกรี้ยวที่สุด ไล่มาร์กการโจมตีลูกใหญ่ได้ทุกครั้ง แต่ Sep Vanmarke ก็ปิดจ๊อบไม่ได้ทำได้แค่อันดับ 4 อย่างไรก็ดีเราเห็นพัฒนาการที่ชัดเจนของทีม Belkin หลังจากเปลี่ยนสปอนเซอร์ไปหลายที และตัว Sep เอง อายุเพียง 25 ยังเหลือเวลาให้แก้มืออีกเยอะ
OPQS ล้างตาได้สำเร็จด้วยชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาสนามคลาสสิคหลังจากที่โค้ช Patrick Lefevere ต้องปวดหัวเพราะพ่ายมาหลายครั้งทั้งๆ ที่มีนักปั่นฝีมือดีครบทีมและอยู่ในกลุ่มตัวเต็งทุกสนาม หมดฤดูกาลคลาสสิคแล้วทีมยังมีเอซสปรินเตอร์ Mark Cavendish กับเอซ GC Michal Kwiatkowski, Rigoberto Uran และเอซ Time Trail Tony Martin ที่พร้อมจะลุยงานในสนามแกรนด์ทัวร์ และจะไม่แปลกใจเลยถ้า OPQS คว้าแชมป์เป็นทีมที่ชนะเยอะที่สุดในฤดูกาลเป็นปีที่ 3 ต่อกัน
9/10
[separator type=”thin”]
วิดีโอการแข่งขัน Full HD
– opqs สามารถทำตามแผนกองทัพเทพคลาสสิคได้ซักที
– ทีมอื่นยังคงต้องพึ่งพาความเป็นยอดมนุษย์ของเอซของทีม
– สปาตาคัส ก็คือสปาตาคัสจริงๆ แม้จะไม่ชนะ แล้วก็โดนทีมตัวเองทำพิษ แต่ก็ใช้อาวุธใหม่(ที่ได้มาตอนแก่) = sprint ท้าสู้หน้าเส้นเก็บโพเดียม โมนูเมนต์ทั้ง 3 สนาม แกสู้ด้วยวิธีนี้ตลอด
– ฟานมาร์ค ขวัญใจคนใหม่เลยครัฟ ได้ใจจริงๆ