รองเท้าปั่น พื้นไนล่อนหรือคาร์บอนก็เหมือนกันแหละ?

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีบัณฑิตวิศวกรรมเครื่องกล จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด อัพโหลดวิทยานิพนธ์ของเขาขึ้นบนอินเตอร์เน็ต ชื่อวิทยานิพนธ์ว่า “ความสติฟของพื้นรองเท้าจักรยานไม่มีผลต่อการสปรินต์” แค่ชื่อก็สนุกแล้ว

คุณเจมส์ เฮิร์ท ประดิษฐ์รองเท้าคลิปเลสสำหรับทดลองขึ้น 3 คู่ โดยใช้หนังรองเท้าของ Specialized Torch 3.0 เหมือนกันหมดเพื่อไม่ให้อาสาสมัครรู้ แต่พื้นรองเท้านั้นทำจากวัสดุแตกต่างกัน

  • คู่แรกใช้พื้นของ Specialized Torch 1.0 ซึ่งทำจากไนลอน
  • คู่ที่สองใช้พื้นของ Torch 3.0 ซึ่งทำจากไนลอนผสมคาร์บอน
  • คู่สุดท้ายใช้พื้นของ S-Works 7 ซึ่งทำจากคาร์บอนล้วน

(ดัชนีความสติฟที่ Specialized เคลมคือ 6.0, 8.5, และ 15.0 ตามลำดับ ซึ่งแปลว่าอะไรก็ไม่มีใครทราบเหมือนกัน)

จากนั้นเขาเชิญอาสาสมัครชายซึ่งเป็นนักปั่นสมัครเล่นมา 19 คน อายุเฉลี่ย 30 ปี ประสบการณ์การปั่นเฉลี่ย 10.5 ปี และจำนวนชั่วโมงซ้อมเฉลี่ย 9.2 ชั่วโมง/สัปดาห์ มาสปรินต์ขึ้นเนินชัน 5% เป็นระยะ 50 เมตร รองเท้าหนึ่งคู่สปรินต์ 3 ครั้ง ดังนั้นมีสามคู่จึงสปรินต์ 9 ครั้ง เก็บข้อมูลด้วยพาวเวอร์มิเตอร์ของ Quarq ผลการทดลองเป็นดังนี้

1. กำลังเฉลี่ยตลอดระยะ 50 เมตร เส้นแต่ละสีคืออาสาสมัครแต่ละคน

Data: James Warren Hurt

2. กำลังสูงสุด 1 วินาที

Data: James Warren Hurt

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าไม่มีความต่างกันแต่อย่างใดระหว่างพื้นรองเท้าแต่ละคู่ ตั้งแต่ไนลอนล้วนไปจนคาร์บอนล้วน และการวิเคราะห์ทางสถิติก็ยืนยันว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจริงๆ

 

แต่รองเท้าคลิปเลส ช่วยส่งแรงได้ดีกว่ารองเท้าธรรมดาจริงๆ

งานของคุณเจมส์ เฮิร์ท ช่วยเสริมกับงานวิจัยของคุณเบิร์นส์และแครมที่ตีพิมพ์ใกล้ ๆ กันว่ารองเท้าคลิปเลสกับบันไดคลิปเลส ส่งพลังงานได้ดีกว่า รองเท้าวิ่งที่พื้นนิ่ม ๆ กับบันไดตะกร้อ ซึ่งส่งพลังงานได้ดีกว่า รองเท้าวิ่งกับบันไดธรรมดา อีกที

แต่! ถ้าใช้รองเท้าคลิปเลสกับบันไดคลิปเลสแล้วล่ะก็ คุณเจมส์พบว่าพื้นไนลอนก็ไม่ได้ต่างจากพื้นคาร์บอน พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ประสิทธิภาพการถ่ายทอดแรงสู่บันไดไม่เพิ่มไปมากกว่านี้อีกแล้ว ไนลอนก็เพียงพอ เขาตั้งสมมุติฐานว่า เวลาสปรินต์ ประสิทธิภาพในการส่งแรงนั้นประสิทธิภาพสูงสุดแล้วที่พื้นไนลอน

Data: James Warren Hurt

ส่วนการปั่นควงขาไปเรื่อย ๆ ที่ไม่ใช่การสปรินต์นั้น มีงานวิจัยถึงสามงานแล้วในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาซึ่งบอกว่า รองเท้าวิ่งกับบันไดธรรมดาก็ไม่ต่างกับรองเท้าคลิปเลส ดังนั้นในแง่ของการส่งแรงแล้ว รองเท้าคลิปเลสได้เปรียบเฉพาะตอนยกสปรินต์แค่นั้นเอง

ความสติฟฟ์ของพื้นรองเท้าไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง

จากการทดลองนี้ เราได้ข้อคิดว่า เวลาเลือกรองเท้าคลิปเลส ความสติฟฟ์ของพื้นวัสดุตามที่ผู้ผลิตชอบเคลม อาจจะไม่ได้มีผลต่อประสิทธิภาพการปั่นมากขนาดนั้น

จุดสำคัญในการเลือกรองเท้าที่ควรใส่ใจจริงๆ คือการเลือกคู่ที่เข้ากับรูปเท้าเราได้ดีที่สุด แม้ว่ารุ่นนั้นจะไม่ใช่รุ่นท็อปก็ตาม (บางยี่ห้ออาจทำรุ่นท็อปมาเฉพาะคนเท้าปรกติ ไม่มีรุ่นสำหรับคนเท้ากว้าง ซึ่งคนไทยเท้ากว้างกันเยอะ) และมั่นใจว่า ถึงดัชนีความสติฟ (ซึ่งไม่รู้แปลว่าอะไร) จะไม่ได้สูงสุดในแคตาล็อก ก็ไม่ได้ทำให้เราเสียเปรียบในการสปรินต์แข่งกับเพื่อนเราแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี ไม่ได้แปลว่ารองเท้ารุ่นท็อปที่ส่วนใหญ่มากับพื้นรองเท้าที่สติฟฟ์ที่สุดที่แบรนด์นั้นๆ ผลิตจะไม่มีข้อดีอย่างอื่นเลย

รองเท้ารุ่นแพง ๆ นอกจากจะสติฟกว่าในทางทฤษฎีแล้ว มักจะมีรายละเอียดอย่างอื่นที่ทำให้เราสวมใส่ได้สบายและสะดวกกว่า เป็นงานที่ฝีมือการผลิตสูงกว่า คุณภาพหนังที่ใช้มักดีกว่า และความทนทานก็มักจะมากกว่ารุ่นเริ่มต้นด้วย ยังไม่รวมเรื่องระบบรัดกระชับ ที่มักใช้วัสดุที่ดีและทนทานกว่า

นอกจากนี้ยังมีน้ำหนักเบากว่ามากรุ่นเริ่มต้นที่ใช้พื้นไนล่อนพอสมควร สำหรับคนที่ชอบลดน้ำหนักจักรยาน การลดน้ำหนักบริเวณรองเท้ามักเป็นอะไรที่คุ้มค่าที่สุด เพราะเทียบราคาต่อกรัมแล้ว จะถูกกว่าไปลดน้ำหนักส่วนอื่นๆ ของรถอยู่พอสมควร

ดังนั้นรุ่นแพงก็ยังมีจุดขายตรงนี้อยู่ แต่ถ้ากำลังพิจารณารุ่นท็อปกับรองท็อป หรือรุ่นท็อปตัวใหม่กับรุ่นท็อปที่กำลังจะตกรุ่น แล้วล่ะก็ ไม่ต้องกังวลเลยครับ

อ้างอิง: Cycling Shoe Sole Stiffness: Effects on Sprint Performance and Preliminary Analysis of Strain Distribution

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott