รีวิว: Northwave Extreme Wide

I. ใจกลางอุตสาหกรรมจักรยานอิตาลี

Northwave เป็นบริษัทที่อยู่ในแคว้น Veneto ทางตอนเหนือของอิตาลี ด้วยชื่อแคว้นแล้วบางคนอาจยังไม่คุ้น แต่ถ้าเอ่ยถึงเมืองแห่งน้ำ Venice ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นนี้ คงมีน้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก นอกจากการท่องเที่ยวแล้ว Veneto ยังเป็นบ้านเกิดของผู้ผลิตสินค้าที่เราคุ้นเคยกันดีหลายเจ้าทั้ง Pinarello ในเมือง Treviso, Wilier Triestina ในเมือง Bassano del Grappa, Campagnolo ในเมือง Vicenza, Selle Royal เจ้าของ fi’zi:k ในเมือง Pozzoleone, และ Luxottica เจ้าของ Ray-Ban และ Oakley ในเมือง Belluno เป็นต้น

ทางด้านรองเท้า Gaerne กับ Sidi อยู่ห่างกันไม่กี่ร้อยเมตรในเมือง Maser และ Northwave ก็อยู่ใน Montebelluna ซึ่งห่างไปแค่ 10 กิโลเมตร รวมถึง Diadora และ D.M.T. ก็อยู่ในแคว้นนี้เช่นกัน ดังนั้นถึง Northwave จะอายุราว 20-30 ปีซึ่งถือว่าน้อย แต่ก็เกิดและโตในใจกลางอุตสาหกรรมจักรยานอิตาลี

 

II. สำหรับคนเท้ากว้างและแฟนบันได Speedplay

Northwave Extreme Wide (2016) คู่นี้ผมซื้อมาแทน Northwave Extreme Tech 3V (2012) ที่ถึงผมจะชอบมันแค่ไหนแต่สุดท้ายใส่ปั่นไปนาน ๆ ก็มีปัญหาชาปลายนิ้วตลอดเพราะเป็นคนเท้ากว้าง ต้องใส่รองเท้าหน้ากว้างซึ่งก็มีไม่กี่เจ้าที่ทำ และด้วยเป็นคนใช้บันได Speedplay ตั้งแต่หัดใช้คลีตจึงพยายามหารองเท้าที่มีคุณสมบัติทั้งสองอย่างนี้มาตลอด แต่ไม่เคยหาได้เลย เพราะถ้าเป็นรองเท้าหน้ากว้างก็จะเป็นพื้นแบบ Look หรือถ้าเป็นรองเท้าพื้น Speedplay ก็จะเป็นรองเท้าหน้าไม่กว้าง

ค้นไปค้นมาก็ไปเจอ Lake CX302 รุ่น Wide พื้น Speedplay เป็นรุ่นแรกที่มีคุณสมบัติทั้งสองอย่าง แต่ต้องสั่งพิเศษ แถมราคายังมหาโหดก็เลยยอมแพ้ไป จนกระทั่ง Northwave เจ้าเก่าที่ใช้อยู่เดิมทำรองเท้าหน้ากว้างเป็นครั้งแรกในปี 2016 เลยได้โอกาสรีบออกเสาะหาทั่วแผ่นดิน

Northwave อ้างว่าบริเวณที่กว้างที่สุดของรองเท้า (toe box) นั้นกว้างขึ้น 5 มิลลิเมตรเทียบกับรุ่นธรรมดา ฟังดูไม่เยอะแต่ก็เป็นแค่ 1 ใน 2 รุ่นในโลกที่ตอบโจทย์ด้านบน เป็นไงเป็นกัน (วะ) ไม่ลองไม่รู้

พอได้ของมาก็ลองเอาแวร์นีเยคาลิเปอร์ (ไม้บรรทัดวิทยาศาสตร์) วัดดู ปรากฏว่าที่ไซส์ 42 เหมือนกัน ตรง toe box ของรุ่น Wide กว้าง 97.3 มิลลิเมตร ในขณะที่ของเดิมกว้าง 92.5 มิลลิเมตร ต่างกันประมาณ 5 มิลลิเมตรตามที่โฆษณา ส่วนที่เป็นพื้นคาร์บอนนั้นเท่ากันเป๊ะที่ 87.6 มิลลิเมตร แสดงว่าเปลี่ยนเฉพาะตัวหนังสังเคราะห์ด้านบน

ความพิเศษของรองเท้า Northwave รุ่นท็อป ๆ คือเขาออกแบบพื้นคาร์บอนร่วมกับ Speedplay โดยตรง ถึงแกะกล่องมาจะเป็นพื้น Look ในตอนแรก แต่มีอแดปเตอร์พิเศษที่ความหนาแค่ 0.5 มิลลิเมตรเท่านั้น (ซื้อแยก) เทียบกับอแดปเตอร์มาตรฐาน 3 มิลลิเมตรที่ต้องใช้เวลาใช้ Speedplay กับรองเท้าพื้น Look คู่อื่น ๆ พอรวมเรื่องนี้เข้ากับพื้นคาร์บอนที่บางอยู่แล้วของ Northwave และ stack height (ระยะห่างระหว่างเท้ากับบันได) ที่ต่ำมากของ Speedplay เป็นทุนเดิม น่าจะทำให้ได้ฟีลลิ่งการกดบันไดที่แน่นและติดเท้ามาก ๆ

III. แกะกล่อง

นอกจาก NW Extreme Wide จะหน้ากว้างและใช้กับ Speedplay ได้เต็มตัวแล้ว ยังน้ำหนักเบาถูกใจ weight weenie อย่างผมด้วย ถึงจะไม่ได้เบาเท่าคู่เก่าที่ล็อกด้วยตีนตุ๊กแก 3 เส้น (203 กรัม) แต่ก็ถือว่าไม่น่าเกลียด น้ำหนักรองเท้าเปล่า ๆ ไซส์ 42 อยู่ที่ 231 กรัม/ข้าง (+น้ำหนักอแดปเตอร์ Speedplay ทั้งเซ็ท 49 กรัม +พื้นในรองเท้า 22 กรัม) หนึ่งในเทคนิคลดน้ำหนักที่ NW ใช้มาตั้งแต่ Extreme รุ่นแรกคือด้านบนของรองเท้า (shoe upper) ทำจากหนังสังเคราะห์ชิ้นใหญ่ชิ้นเดียว ไม่มีรอยเย็บใด ๆ เพื่อลดวัสดุที่ทับซ้อนกันตรงรอยต่อออกไป

ระบบล็อกมี 3 ส่วน ส่วนบนและส่วนกลางใช้ S.L.W.2 (Speed Lace Winch 2) 2 ตัว ส่วนปลายเท้าใช้ตีนตุ๊กแก 1 เส้น ตัว S.L.W.2 จะคล้าย ๆ กับ Boa แต่ไม่เหมือน โดยตัวปุ่มจะหมุนได้ทิศทางเดียวคือรัดให้แน่นขึ้นเป็นคลิก ๆ ส่วนตอนคลายจะใช้เขี้ยวสีเงินที่ติดอยู่นอกวง เวลากดเขี้ยวลงจะคลายเชือกออก 1 คลิก ใช้เวลาปรับความแน่นขณะปั่นอยู่ และเวลายกเขี้ยวขึ้นจะคลายเชือกฟรี ใช้เวลาถอดหรือใส่รองเท้า สรุปแล้วก็ไม่ได้ดีกว่าหรือแย่กว่า Boa แค่ไม่เหมือนกันเฉย ๆ ส่วนเส้นเชือกที่ใช้ไม่ใช่ลวด แต่เป็นโพลีเมอร์นุ่ม ๆ แต่เหนียวชื่อ Dyneema ทำให้ทั้งแข็งแรง ไม่ขาดง่าย และไม่บาดเท้า

ตรงบริเวณส้นเท้า (heel cup) จะใช้วัสดุแข็งกว่าส่วนที่อยู่ข้าง ๆ ด้านในบุด้วยเส้นใยที่สาก ๆ ฝืด ๆ เวลาลูบขึ้นบน และลื่นเวลาลูบลงล่าง คล้าย ๆ ลิ้นแมว สองอย่างนี้รวมกันทำให้ส้นเท้าไม่กระดกในจังหวะยกลูกบันได

ส่วนพื้นนอกรองเท้า (outsole) เป็นคาร์บอน มีจุดที่เจาะรูไว้เพื่อให้ลมเข้าได้ 7 จุดซึ่งสอดคล้องกับตำแหน่งจุดเล็ก ๆ ของพื้นในรองเท้า (insole) ที่แถมมา ช่วยให้รองเท้าสามารถระบายอากาศได้ดีขึ้นและไม่ร้อน แต่พื้นในรองเท้าจะมีตรงกลางเท้าที่ไม่ได้เจาะรูเอาไว้ อันที่จริงรุ่นแรก ๆ พื้นในรองเท้าก็มีรูตรงกลางด้วย แต่ในรุ่นปี 2016 นี้ Northwave เลือกใส่ metatarsal pad ซึ่งเป็นปุ่มนูน ๆ ตรงกลางเท้ามาแทนรูระบายอากาศ โดยตัว metatarsal pad นี้ช่วยกระจายกระดูกนิ้วเท้าให้แผ่ออกจากกันเวลากดลูกบันได ลดการกดเบียดเส้นประสาทที่อยู่ระหว่างกระดูกนิ้ว ช่วยลดอาการชาปลายเท้าได้ดีกว่าพื้นแบน ๆ ฟีเจอร์นี้พบในพื้นในรองเท้าบางยี่ห้ออย่าง eSoles และ Specialized Body Geometry เป็นต้น

NW Extreme เป็นรองเท้าที่เน้นน้ำหนักเบามาตั้งแต่เปิดตัวในปี 2011 แล้วค่อยพัฒนาต่อยอดมาเรื่อย ๆ การรีดน้ำหนักทำให้ต้องแลกกับฟีเจอร์ความทนทานอย่างยางส้นเท้าที่เปลี่ยนไม่ได้ ในขณะที่รองเท้าจักรยานบางยี่ห้อจะเปลี่ยนยางตรงส้นเท้าได้ด้วยอะไหล่สำรองและน็อต 1-2 ตัว Northwave ใช้วิธียิงตาไก่ยึดยางตัวนี้แทน ถ้าสึกแล้วก็สึกเลย ส่วนยางที่ปลายเท้าใช้กาวยึดแล้วก็ค่อนข้างบางทีเดียว เป็นการบอกทางอ้อมว่าใช้คู่นี้ไม่ควรเดินเยอะนะ

นอกจากนี้ Northwave แถมถุงใส่รองเท้าที่ทำจากผ้าร่มมาให้ 1 ใบ สำหรับเวลาเดินทาง ก็ถือว่าใส่ใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ดี

IV. ทดลองใช้งาน

หลังนำรองเท้าออกจากกล่องและติดคลีต Speedplay แล้วก็ทดลองนำไปปั่นดู ความรู้สึกแรกคือความติดเท้าและความแน่นที่เกิดจากการที่เท้าห่างจากบันไดแค่ไม่กี่มิลลิเมตร ซึ่งส่วนตัวเป็นของเดิมที่ Northwave คู่เก่าก็มีให้เช่นกัน แต่ว่าสิ่งที่ต่างไปคราวนี้คือปั่นไป 1 ชม. 3 ชม. 5 ชม. …ไม่มีอาการชาปลายนิ้วมากวนเท้าอีกต่อไป ในที่สุดผมก็หารองเท้าที่ตอบโจทย์ทั้งสองข้อของผมเจอจนได้

สำหรับความสติฟของพื้นรองเท้านั้นสำหรับผมแล้วเหลือเฟือ ไม่เคยรู้สึกว่ามันให้ตัวได้เลยไม่ว่าจะเวลาเร่งไล่กลุ่มหรือเวลายกขึ้นเนินสั้น ๆ แต่ถึงอย่างนั้นก็รู้ตัวดีว่าไม่ได้แรงบิดเยอะอะไรครับ ตรงบริเวณเอ็นร้อยหวายที่มีวัสดุสาก ๆ ร่วมกับรูปทรงของ heel cup ที่เป็นถ้วยเว้าช่วยให้ส้นเท้าไม่ยกได้ดี แต่ก็ไม่ได้แน่นป้าบเท่าระดับ Specialized Sub 6

เนื่องจากส่วนบนของรองเท้าคู่นี้ไม่มีชิ้นเล็กชิ้นน้อยมาเย็บต่อกัน ทำให้ด้านในที่สัมผัสกับเท้าเป็นผิวเรียบสนิทไปตลอดทั้งคู่ เวลาขึ้นเทรนเนอร์อยู่บ้าน ไม่ต้องแต่งตัวอะไรมาก ผมไม่เคยใส่ถุงเท้าเลย และก็ไม่มีจุดไหนเสียดสีทำให้รำคาญเท้าด้วย เวลาปั่นถนนซึ่งมีถุงเท้าอยู่ก็ยิ่งสบายขึ้นอีก

การระบายอากาศทำได้ดีพอสมควร ทั้งพื้นนอก ส่วนบน และลิ้นรองเท้ามีรูระบายอากาศทั้งหมด สามารถใช้ปั่นตอนหน้าร้อนเมืองไทยได้ไม่มีปัญหาอะไร

เวลาถอดหรือใส่รองเท้าก็สามารถทำได้ง่ายมาก เพราะ NW มีห่วงไว้ให้ดึงที่ S.L.W. ตัวบนสุด นิ้วกลางยกเขี้ยว นิ้วชี้เกี่ยวห่วง รูดฟืดเดียวเอาเชือกออกมาได้ทั้งม้วนครับ ออกจากบ้านแล้วนึกขึ้นได้ว่าลืมของ ต้องเข้าไปเอาใหม่ก็ไม่หงุดหงิดมาก เพราะถอดออกง่ายใส่ใหม่เร็ว

V. การดูแลรักษาและความทนทาน

ในด้านการดูแลนี่ไม่รู้ Northwave คิดยังไงถึงใช้หนังแก้วสลับหนังด้านกับรองเท้าสีขาวล้วน คือใช้หนังด้านก็ว่าแย่แล้วกับสิ่งที่อยู่ใกล้โซ่ บันได และขี้โคลนจากถนน แล้วยิ่งนี่สีขาวยิ่งเปื้อนง่ายมาก ทำความสะอาดให้กลับมาขาวจั๊วะยากมาก เปลืองเวลาและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดรองเท้าเป็นอย่างมาก

ตอนนี้ใช้มาประมาณครึ่งปี หนังสีขาวที่หุ้มปุ่ม S.L.W.2 เร่ิมเหลืองชัดมากแล้ว ไม่มีผลกับการใช้งานใด ๆ ทั้งสิ้น แค่มีผลทางจิตใจต่อคนที่เป็นเพอร์เฟ็คชันนิสต์อย่างผมแค่นั้น ยังดีที่ S.L.W.2 นี่มันมีอะไหล่สำรองให้สั่งอยู่หลายสี ทั้งส้ม เขียว ดำ ขาว ฯลฯ และมีวิธีเปลี่ยนอย่างละเอียดให้ดูใน YouTube ถึงอาจจะต้องสั่งจากต่างประเทศก็ยังดีกว่าไม่มีทางเลือก

ในด้านความคงทนนั้นขออนุมานเอาจาก Extreme Tech 3V คู่เก่าที่มีเพราะใช้วัสดุเหมือนเดิมทั้งพื้นคาร์บอนและส่วนบนรองเท้า สรุปว่าหลังจากใช้มา 4 ปีและล้มไปหลายรอบจนพื้นคาร์บอนแตกเห็นเสี้ยนเป็นเส้น ๆ เหมือนไม้ระแนงแตก แต่ทุกอย่างก็ยังใช้การได้ปรกติทั้งหมด ไม่มีอะไรขาดหรือชำรุด แม้แต่ยางตรงส้นเท้าที่ว่าเปลี่ยนไม่ได้ก็ทนทานกว่าที่คิด

สิ่งที่กลัวอย่างเดียวคือเวลาล้มเท้าไถลไปกับถนนแล้วปุ่ม S.L.W.2 มันจะหลุดกระจายไปด้วย ทำให้ถอดรองเท้าไม่ได้ ไม่ก็รองเท้าหลุดไปตอนนั้นเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้กับระบบตีนตุ๊กแกของคู่เก่า

 

VI. ทิ้งท้าย

ข้อดี

  • หน้ากว้างสำหรับคนเอเชีย และพื้นสำหรับ Speedplay โดยเฉพาะ
  • น้ำหนักเบา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับรองเท้าที่ใช้ปุ่มหมุน ๆ เหมือนกัน
  • ระบายอากาศได้ดี
  • ถอดใส่ง่าย

ข้อเสีย

  • หาซื้อยากเหลือเกิน ทั้งรองเท้า ทั้งชุดอแดปเตอร์ Speedplay
  • เปื้อนง่ายจัง เปลืองสเตคลีน
  • Northwave ใช้ระบบปุ่มหมุนของตัวเองแทน Boa ซึ่งแพร่หลายกว่า ถึงใช้งานดีแต่อะไหล่หายากกว่าเยอะ
  • ยางหุ้ม S.L.W.2 เหลืองเร็วมาก

รองเท้าคู่นี้ผมซื้อออนไลน์มาจากร้านในเยอรมนี wecycle.de ในราคา 254.95 ยูโร รวม VAT (ประมาณ 10,000 บาทด้วยอัตราแลกเปลี่ยนตอนนั้น) โดยให้ส่งไปที่อยู่ในเยอรมนีแล้วค่อยหิ้วกลับมาอีกที ไม่ได้ทำ tax refund เลยโดนภาษีมูลค่าเพิ่ม 19% ไปเต็ม ๆ เหตุผลที่ซื้อต่างประเทศเพราะหาในไทยแล้วเจอแต่รุ่นปีก่อน ๆ พยายามถามร้านตัวแทนก็มีใหม่สุดถึงแค่ปี 2015 ครับ ส่วนชุดอแดปเตอร์ Speedplay ผมซื้อจาก probikekit.co.ukโดยให้ส่งมาไทยเลย ตั้งแต่ตอนได้คู่แรกมาเมื่อ 2012 ครับ จำราคาไม่ได้แล้ว

ล่าสุดปี 2017 นี้ Northwave ออกรุ่นใหม่ที่อยู่สูงกว่า Extreme มาแล้ว กลายเป็นรุ่นท็อปแทน Extreme เดิมที่อยู่มา 4-5 ปีโดยมี minor change นิด ๆ หน่อย ๆ คู่ใหม่มีชื่อว่า Extreme RR (Road Race) ตรง shoe upper ขึ้นโครงโพลีเมอร์ก่อนแล้วค่อยหุ้มด้วยหนังสังเคราะห์อีกที ร้อยเชือกวกวนไปมาแล้วใช้ S.L.W.2 ตัวเดียวปรับความแน่นทั้งเท้า Northwave อ้างว่ากระจายแรงไปทั่วเท้า และไม่ทำให้เกิดจุดกดทับที่ใดที่หนึ่ง ล่าสุดวาเลริโอ คอนติ (UAE Fly Emirates) ใช้แข่งจิโรดิตาเลียด้วย หลังจากล้มตรงหัวโค้งในสเตจ 8 แล้วรองเท้าหลุดเลย (อ้าว…)

ส่วนรุ่น Extreme รุ่นนี้ ในปี 2017 ก็ยังมี regular fit กับ wide fit เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือมี slim fit ด้วย ความกว้างตรง toe box -5mm เทียบกับ regular ไม่น่าเหมาะกับคนเอเชียเท่าไร

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *