แข่งได้ให้ล้านนึง?: บอส Tinkoff แจกเงินผู้กล้าลง 3 แกรนด์ทัวร์ต่อกัน

ในงานเปิดตัวเส้นทาง Giro d’Italia 2015 เมื่อวานนี้ บอสใหญ่และเจ้าของทีม Tinkoff-Saxo โอเล็ก ทิงคอฟประกาศว่าถ้านักปั่นชื่อดังคนไหน กล้าลงแข่งสนามแกรนด์ทัวร์ทั้งสามสนามต่อกันในปีเดียวกัน (จิโร ตูร์ และวูเอลต้า) เขาจะให้เงินรางวัล 1 ล้านยูโร

“If Quintana, Froome, Nibali and Contador all agree to ride all three Grand Tours, I’ll get Tinkoff Bank to put up €1 million. They can have €250,000 each as an extra incentive. I think it’s a good idea,”

ใจความสำคัญคือทิงคอฟอยากให้นักปั่นที่แข็งแกร่งที่สุดได้เผชิญหน้ากันในทุกๆ สนาม ไม่ใช่เพียงแค่สนามเดียว อย่างตูร์ หรือจิโร หรือวูเอลต้าเท่านั้น ซึ่งตอนนี้ คอนทาดอร์ก็ประกาศแล้วว่าเขาจะลงทั้งจิโรและตูร์ในปีหน้า โดยหวังจะคว้าแชมป์ทั้งสองรายการ

สำหรับนักปั่นสมัยนี้ เห็นได้ชัดว่าน้อยคนที่อยากจะลงแกรนด์ทัวร์หลายๆ รายการในปีเดียว เพราะจะชนะได้สักรายการนั้นต้องใช้เวลาเตรียมตัวในการเค้นสร้างฟอร์ม และยังต้องพักฟื้นระหว่างรายการ ซึ่งส่วนใหญ่ห่างกันไม่ถึงเดือนครึ่ง จะชนะให้ได้ทุกรายการนั้นเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ อย่างดีก็คือชนะสองรายการ หัวกับท้ายปี เช่นจิโร และวูเอลต้า ข้ามตูร์ เดอ ฟรองซ์ช่วงกลางปีไป

ทำไมถึงชนะต่อกันไม่ได้? เหตุผลนั้นไม่ยากครับ ด้วยที่ยุคสมัยนี้นักปั่นแต่ละคนมีการฝึกซ้อมเฉพาะทางค่อนข้างมาก เช่นถ้าเป็นตัวเต็งสปรินเตอร์ก็จะเน้นด้านการสปรินต์ให้เด่นไปเลย หรือเป็นนักไต่เขาก็จะเค้นฟอร์มการไต่เขาให้มีสิทธิชนะสเตจหรือคว้ารางวัลไต่เขาให้ได้เยอะที่สุด ซึ่งถ้าตัวเต็งอย่างฟรูม สมมติลง 3 แกรนด์ทัวร์ นอกจากจะเจอคู่แข่งที่อาจจลงแค่สนามเดียวต่อปี (ฟอร์มดี ไม่กรอบ) แล้ว ยังต้องเจอ นักปั่นที่ไม่ใช่ตัวเต็ง แต่เป็นนักไต่เขาชั้นดีด้วย จะชนะได้จึงยาก จะชนะทั้งสามรายการ นั้นก็แทบเป็นไปไม่ได้ นี่ยังไม่รวมกับอุบัติเหตที่อาจจะเกิดขึ้นในรายการแข่งขันที่ยาวต่อเนื่อง 3 สัปดาห์

ข้อเสนอของโอเล็ก เผินๆ ฝังดูน่าสนใจดี เบื้องต้นคือเขาให้เงินทั้ง 4 คนฟรีๆ เพียงแค่ลงแข่ง (ไม่ต้องชนะก็ได้) และในอนาคตคงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นถ้าเราเห็นตัวเต็งทั้ง 4 คนได้สู้กันแบบตัวต่อตัวทุกสนาม สไตล์การคว้าแชมป์เทนนิสแกรนด์สแลม คือหวังเอาชนะทั้งปี ไม่ใช่แค่ชนะรายการใหญ่ที่สุดปีเดียว (ตรงนี้ผมว่ามันเป็นช่องโหว่ของจักรยานเหมือนกันนะ เพราะคนทั้งโลกต่างให้ความสนใจกับตูร์ เดอ ฟรองซ์รายการเดียว รายการอื่นแทบไม่รู้จักกัน)​

แต่ในทางปฏิบัติก็เป็นไปได้ยาก เพราะถ้าสมมติมีคนล้มร่วงถอนตัวไปตั้งแต่วันแรก เขาก็จะสดกว่าเพื่อนในสนามต่อไป ซึ่งทำให้ ข้อสมมติของโอเล็กที่คิดว่า ถ้าทุกคนแข่งรายการเดียวกันเหมือนกัน ก็จะเหนื่อยเท่ากันไม่มีใครสดกว่าใคร ไม่เกิดขึ้นจริง

อีกอย่าง มันเหมือนเป็นการไม่ให้เกียรติตัวเต็งระดับรองลงมาอย่าง ฟาบิโอ อารู, ริกโอเบอร์โต้ อูราน, และ อเลฮานโดร วาวเวอเด้ เป็นต้น เพราะถ้าโอเล็กคิดอย่างนั้นจริง (คือบางทีก็ไม่รู้ว่าตานี้พูดเล่นหรือพูดจริง) ก็ควรจะให้รางวัลนี้กับทุกคนที่แข่งแล้วหวังชนะเหมือนกัน

หรือถ้าคิดแบบทฤษฏีสมคบคิด จริงๆ แผนนี้อาจจะใช้ออกมาล่อให้คู่แข่งบ้ายุแล้วลงไปเหนื่อยทุกแกรนด์ทัวร์ ในขณะที่คอนทาดอร์สอยแชมป์ไปสบายๆ ก็เป็นได้!?

เอาเข้าจริงแล้วผมว่ายังไงก็ไม่มีคนทำอยู่ดี เพราะนักปั่นอาชีพก็ยังถูกจำกัดด้วยกรอบและแผนของทีม นักปั่นอย่างฟรูมคงเลือกทุ่มหมดหน้าตักกับสนามเดียวที่มีความหมายที่สุด (ตูร์ เดอ ฟรองซ์) ซึ่งการเตรียมตัวที่ดีที่สุดของเขาอาจจะไม่ได้แปลว่าต้องลงแข่งจิโร เขาอาจจะเลือกไปซ้อมเก็บตัวบนยอดเขาสูง หรือลงรายการเล็กๆ เหมือนทุกปีที่ผ่านมา

ท้ายสุด จริงๆ มีคนที่แข่งทุกแกรนด์ทัวร์ต่อกันมาสามปีแล้ว สงสัยโอเล็กจะลืมครับ

hansen

อดัม แฮนเซ็น (Lotto-Belisol) ไง แข่งสิบแกรนด์ทัวร์ต่อกันแล้วนะ ^^”

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *