โอเล็ก ทิงคอฟ: “วงการจักรยานมันล้าหลังเกินไป”

[dropcap letter=”บ่”]ายวันนี้ โอเล็ก ทิงคอฟ เจ้าของทีม Tinkoff-Saxo พูดถึงปัญหาของวงการจักรยานอาชีพในยุคนี้ และทางออกใน Facebook ส่วนตัวของเขาได้น่าสนใจหลายประเด็นครับ หลายๆ ข้อสะท้อนถึงปัญหาในวงการนักปั่นอาชีพได้ดีทีเดียว และข้อเสนอของเขาก็น่าสนใจ ในมุมของนักธุรกิจ เศรษฐีรัสเซีย เจ้าของธนาคารชื่อดังที่รักกีฬาจักรยาน เขาอยากจะเปลี่ยนวงการยังไง ลองมาดูกันครับ

ปัญหา

  • ทีมมีรายได้น้อยมาก ต้องพึ่งเม็ดเงินจากสปอนเซอร์ 100% ทีมไม่มีกำไร สปอนเซอร์ถอนตัวไป ทีมก็ต้องยุบ เหมือนกรณีของทีม Garmin-Sharp เมื่อปีที่ผ่านมา
  • สปอนเซอร์ถอนตัวเพราะยังมีข่าวการโด้ปทุกปี เสียภาพลักษณ์บริษัท ซึ่งปัญหาทีมแตกเพราะสปอนเซอร์หายไปนี้เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ในกีฬาอื่นๆ เป็นโมเดลธุรกิจที่ล้าหลังและไม่ยั่งยืน
  • ขณะเดียวกัน การที่ทีมพึ่งพาสปอนเซอร์เพื่อรายได้หมายความว่าทีมต้องมีผลงานเพื่อเอาใจสปอนเซอร์ ซึ่งทำให้นักปั่นหลายคนต้องหันไปพึ่งสารโด้ป…
  • จักรยานเป็นกีฬาที่มีคนดูมากเป็นอันดับสองของโลก (รองจากฟุตบอล) แต่ก็เป็นกีฬาที่จนที่สุดด้วยเช่นกัน

แล้วโมเดลใหม่ควรเป็นยังไง?

  • รายได้ของทีมส่วนหนึ่งต้องได้จากผู้ผลิตรายการและผู้จัดแข่ง อย่าง ASO ที่จัด Tour de France ก็ควรจะแบ่งค่ารายได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดให้ทีมด้วย เพราะถ้าพวกดาราดังไม่มาแข่งก็คงไม่มีใครอยากดูรายการของคุณ น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า
  • ผู้จัดแข่งเองก็ควรได้ค่าลิขสิทธิ์ราคาสูงขึ้นจากช่องทีวี
  • ช่องทีวี โปรโมตงานแข่งขันให้ดี ทันสมัยน่าชมกว่านี้ เพื่อเพิ่มยอดคนดู และโฆษณา
  • หมายความว่าต้องทำการแข่งขันให้น่าสนใจ เช่นเพิ่มลูกเล่นเหมือน F1 มีสถิตินักปั่นแบบ real time หรือจัดฟอร์แมตการแข่งให้สั้น กระชับ ตื่นเต้น เช่นโปรชื่อดังควรลงแข่งรายการเดียวกัน (เหมือนเทนนิส แกรนด์สแลม)

โอเล็กบอกว่าปัญหาหลักๆ ก็คือจักรยานเป็นกีฬาที่ยึดติดกับประวัติศาสตร์และวิถีปฏิบัติคร่ำครึ ทำไมยังต้องแข่งกันแค่ในยุโรป? ทำไมรูปแบบการแข่งถึงไม่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยที่มีมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว? ในเมื่อรูปแบบนี้เห็นได้ชัดว่าไม่ให้ผลทางธุรกิจเลย แข่ง 3000 กิโลเมตรมันอาจจะดูยิ่งใหญ่ แต่ถ้ามันทำให้นักปั่นต้องโด้ป ทำให้ทีมต้องแตกเพราะสปอนเซอร์หดหาย ก็ไม่น่าจะเป็นวิถีที่ยั่งยืน

เราอาจจะมีการแข่งสนามไครทีเรียมตามหัวเมืองใหญ่ให้มากขึ้น ที่คนดูเข้าชมได้สะดวก จัดเป็นพรีเมียมอีเวนท์ที่ขายบัตรค่าเข้าชม และเรียกสปอนเซอร์รายใหญ่ได้

จำนวนสนามแข่งที่มีปีละหลายร้อยสนามก็ควรจะลดลง เพื่อลดแรงกดดันของทีม และทำให้คุณภาพการแข่งขันดีขึ้น ระยะทางและระยะเวลาแข่งก็อาจจะปรับเปลี่ยนได้เพื่อไม่ให้การแข่งขันน่าเบื่อจนเกินไป

ถ่อนฮุคของทิงคอฟอยู่ตรงนี้ครับ

เขาบอกว่า มันหมดยุคสมัยของบียาร์น รีส์ หรือโยฮาน บรูนีล แล้ว ผู้จัดการทีมจากยุค 1990 ไม่เข้าใจว่าอะไรที่จะทำให้กีฬานี้เติบโตและยั่งยืน การบริหารทีมไม่ใช่แค่การวิทยุบอกแผนการแข่งให้นักปั่น ไม่ใช่การซ้อมจากยุคกร แต่คุณต้องใส่ใจในทุกรายละเอียดที่จะทำให้นักปั่นชนะ และแข่งขันในระดับสูงสุดได้ตลอดเวลา ใช้สถิติ เก็บข้อมูล วิเคราะห์​การฝึกซ้อม ทิงคอฟยกตัวอย่าง เดวิด เบรลส์ฟอร์ดจากทีม Sky และหวังว่า ผจก คนใหม่ของทีม สเตฟาโน เฟลทริน จะทำได้อย่างทีมคู่แข่งที่เขาชื่นชม

(อาห์ นี่คือเหตผลที่รีส์ถูกไล่ออกจากทีมสินะ…)

ทิงคอฟขอให้ทีมออกมาช่วยกันกดดัน UCI, ผู้จัดแข่ง ไม่ให้ถูกเอาเปรียบอีกต่อไป ถ้าไม่ทำวันนี้ ปัญหาเก่าๆ มันก็จะยังตามมาหลอกหลอนเหมือนเดิม และนักปั่นที่อุตส่าห์ซ้อมไต่เต้าขึ้นมาถึงดิวิชันหนึ่งไม่ควรมีชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้ายแบบนี้ (นึกถึงนิบาลิและทีม Astana ขึ้นมาเลยทีเดียว)

ผมว่าหลายๆ ไอเดียเป็นข้อเสนอที่ดีนะครับ ตาโอเล็กนี้กล้าคิดกล้าทำ สมเป็นนักธุรกิจนั่นแหละ สิ่งสำคัญคือสมดุล ที่ว่าทุกฝ่ายจะหาพื้นที่ๆ อยู่ร่วมกันได้ให้เหมาะเจาะได้อย่างไร ผมเห็นด้วยกับโอเล็กที่ว่าทีมถูกเอาเปรียบ และโมเดลธุรกิจที่ทีมใช้กันอยู่ไม่ยั่งยืนเอาเสียเลย ดูทีมที่มีผลงานดีที่สุด ส่วนใหญ่เป็นทีมที่ไม่ต้องห่วงเรื่องเงินหรือสปอนเซอร์ นักปั่นของเขาเลยทำผลงานได้ต่อเนื่องด้วย (EQS, BMC, Sky, Movistar…) แน่นอนว่าหลายคนอาจจะไม่ชอบไอเดียของโอเล็ก แต่ก็เป็นตัวเปิดประเด็นสนทนาที่ดีครับ

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *