เศรษฐีกับของเล่น: เมื่อโอเล็ก ทิงคอฟจะขายทีมทิ้ง

สัปดาห์นี้มีข่าวที่น่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่ง นั่นคือโอเล็ก ทิงคอฟ เจ้าของทีม Tinkoff-Saxo ประกาศชัดเจนว่าเขาจะขายทีมทิ้งหลังจบฤดูกาล 2016 (ซะแล้ว)

“ผมตัดสินใจขายทีมเพราะไม่มีใครพร้อมจะช่วยผมเปลี่ยนโมเดลธุรกิจของวงการจักรยาน 2 ปีที่ผ่านมา ผมพยายามต่อสู้กับ ASO และ UCI ผมพยายามหาช่องทางเพิ่มรายได้ให้ทีมไม่ว่าจะเป็นส่วนแบ่งกำไรจากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดในทีวี สินค้าของทีม และอีกหลายๆ อย่าง แต่ก็ไม่มีใครลุกขึ้นมาสู้กับผม”

ถ้าใครจำได้ ทิงคอฟเป็นคนที่ออกสื่อค่อนข้างบ่อย โด่งดังที่สุดในปีนี้คงเป็นเรื่อง “Grand Tour Challenge” ที่เขาท้าทายให้ยอดนักปั่น 4 คน คริส ฟรูม (Sky), ไนโร คินทานา (Movistar), อัลเบอร์โต้ คอนทาดอร์ (Tinkoff) และวินเชนโซ นิบาลิ (Astana) ลงแข่งรายการแกรนด์ทัวร์ทุกรายการพร้อมๆ กัน เพื่อให้การแข่งขันน่าสนใจและเป็นการดวลกันของตัวเต็งที่โลกต้องจับตามอง เขาอยากจะปฏิวัติรูปแบบการบริหารทีมจักรยานอาชีพ ให้มันทันสมัยมากขึ้นและยั่งยืน ไม่ต้องกังวลว่าสปอนเซอร์จะไปๆ มาๆ แบบที่เป็นอยู่ตอนนี้

ไม่ใช่แค่เรื่องรูปแบบการแข่งขันที่ตื่นตาตื่นใจ โอเล็กวิพากษ์วิจารณ์การบริหารของ UCI หลายต่อหลายครั้งว่าเป็นองค์กรที่คร่ำครึและไม่ทำให้วงการก้าวหน้า แม้แต่นักปั่นในทีมของเขาเองก็ไม่รอดพ้นจากคำวิจารณ์ โอเล็กเคยบ่นออกสื่อเสียงดังว่า เขาไม่เข้าใจว่าทำไมนักปั่นถึงได้เงินเดือนเท่าเดิมทุกปี ถึงแม้จะไม่มีผลงานอะไรเลยในฤดูกาลนั้น ซ้ำยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วย โดยเฉพาะตอนที่ปีเตอร์ ซากาน เอซของทีมที่ข่าวว่าทีมจ้างมาด้วยเงิน 4 ล้านยูโรต่อปี ไม่มีผลงานในสนามคลาสสิคตามที่ทีมต้องการ

“เวลาที่นักปั่นชนะ เขาอยากขอขึ้นเงินเดือน แต่เวลาเขาไม่มีผลงาน ทำไมเขาไม่ถูกตัดเงินเดือนบ้าง? ผมว่ามันจะดีกว่าถ้าเราเพิ่ม ลด เงินเดือนตามผลงานของนักปั่น ไม่ใช่ว่าเซ็นสัญญา 3 ปีราคาแพงมาเพราะฤดูกาลก่อนเขาชนะเยอะ แต่พอมาอยู่กับเราแล้วกลับไม่ชนะอะไรเลย”

ขณะเดียวกันในบทสัมภาษณ์กับ นสพ. กีฬาอิตาลี Gazzetta Dello Sport ว่า สำหรับเขา ทีมจักรยานก็เหมือนกับ “ของเล่น” ถ้าเบื่อ เขาก็พร้อมจะขายเช่นกัน

ดูเป็นคาแรคเตอร์ที่ย้อนแย้ง ในมุมหนึ่ง โอเล็กเป็นเสมือนนักปฏิวัติ ที่อยากจะพัฒนาวงการด้วยรูปแบบโมเดลธุรกิจจากกีฬาอื่นที่มั่นคงและมั่งคั่งอย่างฟุตบอลและ F1 แต่อีกมุมเขาก็ไม่ต่างอะไรกับเศรษฐีเงินล้านที่ซื้อทีมกีฬาเพื่อความบันเทิงเท่านั้น และพร้อมจะขายเมื่อมีคนยื่นข้อเสนอที่ดีที่สุดให้เขา ไม่ต่างอะไรกับธุรกิจอื่นๆ ที่เขาเป็นเจ้าของ

แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือความรักในกีฬาจักรยานของโอเล็ก เขาไม่ใช่ผู้เล่นหน้าใหม่ในวงการ แต่เคยพยายามสปอนเซอร์ทีม ทั้งระดับสูงสุดและระดับท้องถิ่นมาร่วม 10 ปีแล้ว ก่อนที่เขาจะเป็นนักธุรกิจใหญ่ เขาก็เคยลงแข่งจักรยานอย่างจริงจังมาก่อน หวังจะเป็นนักปั่นอาชีพให้ได้ (แต่ไม่สำเร็จ) ใน Giro d’Italia ปีนี้ โอเล็กปั่นเส้นทางเดียวกับที่นักแข่งต้องแข่งหลายสเตจจนจบสเตจทุกเช้าก่อนการแข่งเริ่ม

โอเล็กกล่าวว่า ที่ผ่านมาเขาลงทุนสปอนเซอร์ทีมจักรยานไปร่วม 60 ล้านยูโร หรือราว 2 พัน 3 ร้อยล้านบาท ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2000s จนถึงล่าสุดที่เขาเข้าซื้อทีม Saxo Bank จากบิยาร์น รีส์ในปี 2014

Tinkov-Contador_3141282k

ทำไมต้องทิ้งเราไป?

มีสัญญาณหลายอย่างที่ส่งกลิ่นว่าโอเล็กดูจะไม่ตั้งใจทำทีมเหมือนตอนที่เขาเพิ่งซื้อทีม Tinkoff ใหม่ๆ เขาเริ่มลดบทบาทในความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงระบบ เลิกพูดถึงทีมคู่แข่งที่เขาอยากจะเอาชนะอย่าง Sky และในฤดูกาลนี้ทีมก็แทบไม่มีการซื้อนักปั่นใหม่เลย

ดูท่าจะไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่นักปั่นในทีม Tinkoff-Saxo ชุดปัจจุบันจะสัญญาหมดหลังสิ้นฤดูกาล 2016 แทบทุกคน (ยกเว้นซากานและไมย์ก้า) คอนทาดอร์เองประกาศชัดว่าเขาจะเลิกแข่งหลังจบฤดูกาลหน้า

จากสถานการณ์ตอนนี้ ทีมมีแค่ซากานและคอนทาดอร์ที่เป็นเอซชูโรง เมื่อคอนทาดอร์จะลาออกไป หมายความว่าทีมต้องการเอซคนใหม่ในสนามแกรนด์ทัวร์และสเตจเรซมาแทน ไมย์ก้าอาจจะต้องขึ้นมารับหน้าที่นี้ ส่วนซากานเอง ถึงแม้จะย้ายทีมมานจาก Cannondale เพื่อหาตัวช่วยในสนามคลาสสิคและการสปรินต์ แต่ก็แทบไม่มีใครช่วยเขาทำผลงานได้ในรายการดังกล่าว ใครก็ตามที่จะมารับช่วงทีมต่อจากเขาต้องทำการบ้านกันหนักเพื่อฟอร์มทีมใหม่ที่พร้อมรับใช้เอซของทีม ที่แน่ๆ นักปั่น Tinkoff สามารถไปต่อได้ ไม่ต้องห่วงเรื่องทีมฉีกสัญญา เพราะยังไงก็สัญญาหมดกันตอนโอเล็กจะขายทีมอยู่แล้ว

สำหรับโอเล็กเอง มีหลายปัจจัยที่จะทำให้เขา “ไม่ไปต่อ” กับวงการจักรยาน

  • นอกจากเขาแล้ว ดูไม่มีใครกระตือรือร้นที่จะออกมาปรับปรุงรูปแบบการจัดการทีม โปรเจ็ค Velon ที่หวังจะสร้างรายได้ให้ทีมจากการขายลิขสิทธิ์วิดีโอที่มาจากกล้องติดจักรยานนักปั่นก็ดูจะไปไม่รอด
  • หลายทีมที่เรียกร้องให้ ASO เจ้าของสนามแข่งใหญ่อย่าง Tour de Frane และ Vuelta จ่ายค่าลิขสิทธิ์ที่ได้จากการถ่ายทอดสดการแข่งขันให้ทีมด้วย ก็ไม่น่าจะได้ผล เว็บไซต์ inrng เคยวิเคราะห์ว่าถึง ASO จะแบ่งให้ทุกทีม เงินที่ได้ก็น้อยนิด และไม่น่าจะช่วยให้ทีมอยู่รอดได้อยู่ดี สมมติถ้า ASO แบ่งมาจริง (และทำไมถึงจะยอมจ่ายกำไรตัวเองให้ทีมอาชีพ?) ก็จะได้เฉลี่ยทีมละ 4 ล้านยูโรเท่านั้น ไม่ถึงครึ่งงบประมาณที่ทีมส่วนใหญ่ใช้บริหาทีมด้วยซ้ำ ทีม Sky เองมีงบทำทีมปีละราว 25 ล้านปอนด์
  • โอเล็กเองก็ใช่ว่าจะร่ำรวยอะไรมากมาย ตอนนี้ธนาคาร Tinkoff Credit System ของเขามีมูลค่า market cap ที่ราว 500 ล้าน USD นั่นคือเขาไม่ใช่เศรษฐีพันล้านอย่างที่หลายคนเข้าใจ ค่าใช้จ่ายในการทำทีมของเขาคิดเป็น 1/3 ของรายได้บริษัท และยังไม่รวมส่วนที่เขาต้องแบ่งให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยด้วย
  • สำคัญที่สุดคือ เศรษฐกิจรัสเซียกำลังอยู่ในขั้นวิกฤติ ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียกำลังดิ่งลงเหว หุ้นของบริษัทโอเล็กตกลงกว่า 10% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และยังไม่มีทิศทางที่จะดีขึ้นเร็วๆ นี้ ธนาคารของโอเล็กคือธนาคารปล่อยกู้สินเชื่อ ยิ่งถ้าลูกหนี้เขาจ่ายไม่ไหว ยิ่งเป็นปัญหาเข้าไปใหญ่
  • แน่นอนว่าไม่มีเศรษฐีคนไหนจะควักเงินทำทีมได้ตลอดกาล แม้แต่คนที่รวยที่สุดในวงการอย่างแอนดี้ รีส์ เจ้าของทีม BMC ก็ยังบ่นอุบว่าอาจจะทำทีมต่อไม่ไหว เมื่อค่าใช้จ่ายของทีม BMC นั้นมากกว่ากำไรจากการขายจักรยาน BMC เสียอีก

Oleg_Tinkov_(Tinkoff-Saxo_event_in_Moscow)

จะเกิดอะไรขึ้นกับวงการ?

การจากไปของโอเล็กสะท้อนอะไรหลายๆ อย่างไม่ใช่แค่เศรษฐีรัสเซียเบื่อของเล่น แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของวงการจักรยานครับ

หนึ่งมันสะท้อนว่า วงการจักรยานเป็นยังไงก็ยังเป็นอย่างนั้น และยังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเร็วๆ นี้ เรายังคงต้องเจอสภาวะสปอนเซอร์ถอนตัว ทีมถูกยุบ กันต่อไป (ซึ่งจริงๆ แล้วเข้าใจได้ เพราะสปอนเซอร์ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ และแน่นอนว่าการลงทุนสนับสนุนทีมย่อมมีเป้าหมายทางธุรกิจ ถ้าเขาได้ exposure เต็มที่บรรลุเป้าหมายแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องสนับสนุนต่อไป) การที่ UCI จะออกนโยบายให้สปอนเซอร์ทีมต้อง commit สนับสนุนทีมอย่างน้อย 3 ปีอาจจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายสำหรับโอเล็กและเศรษฐีใจดีอีกหลายๆ ให้ถอนตัวไปจากวงการเร็วๆ นี้ก็ได้

สองคือ ลำพังคนๆ เดียวกับความตั้งใจ ไม่มากพอที่จะปฏิวัติวงการที่อยู่บนขนบธรรมเนียมมาร่วมร้อยปี แน่นอนว่าวิธีการของโอเล็กก็อาจจะไม่ใช่อะไรที่ทุกคนเห็นด้วย ท่าทีที่เล่นทีจริงของเขา กับวาทะหยาบและนิสัยพูดตรงไม่ไว้หน้าใครก็ไม่ช่วยให้อะไรๆ ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ใช้ว่าวงการนี้จะพังทลายหายไปในปีสองปีครับ เราอยู่กันมาแบบนี้ร้อยกว่าปีแล้ว สปอนเซอร์คนนี้จากไป คนใหม่ก็คงเข้ามาแทน คงต้องใช้เวลาอีกสักพักใหญ่ๆ กว่ารูปแบบการแข่งขันและการกระจายรายได้ของวงการจะพัฒนาได้เทียบเท่ากีฬาอื่นๆ อย่างฟุตบอล, NBA หรือ NFL

คำถามที่น่าสนใจกว่าคือ แล้วใครจะเข้ามาเป็นเจ้าของทีม Tinkoff หลังปี 2016? อาจจะเป็นบิยาร์น รีส์ที่รอกลับมาฮุบทีมใหม่อีกครั้ง พร้อมกับสปอนเซอร์คู่หูอย่าง Saxobank ก็ได้ครับ

* * *

 

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *